ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

เกษตรกรหมู่บ้านชาวสวนยาง  บ้านคลองหันแดง หมู่ 7 ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ครวญผ่านสื่อมวลชน !!! ชาวสวนยางพารากำลังย่ำแย่  เผชิญปัญหาราคายางพาราตกเหลือแค่ 18.50 บาท  แจงช้ำที่สุดในรอบ 5 ปี  พบแนวโน้วมีแต่ลงกับลง  แทบไม่อยากกรีดยาง   แต่ชีวิตต้องกินต้องใช้  จึงฝืนกัดฟันทนขายน้ำยาง (ขี้ยาง)  ให้พ่อค้าคนกลาง ในพื้นที่ ต.วังท่าช้าง  ชี้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรเยอะที่สุดในอำเภอ     พืชผลการเกษตรปลูกมากที่สุดได้แก่อ้อย มันสำปะหลัง และ ยางพารา 

วันนี้ 11 พ.ย.60  ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งชาวบ้าน  เกษตรกรชาวสวนยางพารากำลังมีปัญหาราคากำลังตกต่ำจึงลงพื้นที่พบ  นางอุบล ประดิษผล อายุ 63 ปี เลขที่ 91 หมู่ 7 ต.วังท่าช้าง  อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี  กล่าวว่า  “ราคายางพาราปีนี้ตกต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี   มีแต่ลงกับลงไม่คุ้มค่าปุ๋ยค่าแรงคนกรีดยาง ตนปลูกยางพาราตั้งแต่ ปี 48 ในเนื้อที่ 37ไร่ เป็นเกษตรกรรายใหญ่รายหนึ่งที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำขายขี้ยางได้กก.ละ19.00 บาท   เดือนที่แล้ว   และนับวันมีแต่ลงกับลง   รายวันและลดลงมาอยู่ที่ 18.50 บาท   และคาดว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างน่าตกใจ ตั้งแต่เริมกรีดยางได้เคยขายได้ กก.ละ 70 บาทปีแรก และลดมา50-30 บาทหรือ  มากกว่านี้พออยู่ได้ ค่าปุ๋ยก็มีต้นทุนสูงตันละ หมื่นแปดพันบาท กรีดยางในช่วงแรก เดือน ก.ย.ที่ผ่านมาขายขี้ยางได้ กก.ละ 20กว่าบาท   ก็ต้องรีบกรีดเกรงว่าราคาจะลง รวมได้ประมาณ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 พันกว่าบาทเฉลี่ยรายได้ หมื่นกว่าบาท 

  ตายลูกเดียว..!! ชาวสวนยางปราจีน โอดขี้ยางโล 18.50 บาท ขาดทุนตั้งแต่ยังไม่กรีด เกิดมาเพิ่งเคยเห็น!? (มีคลิป)

 

หักแล้วเหลือไม่กี่พันบาท หมดหน้ายาง ม.ค.-เม.ย.ของทุกปี   รายได้หมื่นกว่าบาทไม่ได้รับเต็มๆ จ่ายค่าแรงคนกรีดครึ่งหนึ่งแทบไม่เหลืออะไรเลย  ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรราคายางถึงตกต่ำขนาดนี้  และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  ใครจะมาช่วยแก่ไขราคายางพาราตกต่ำได้  เกษตรกรแทบจะร้องไห้อยู่แล้ว”นางอุบลกล่าว

ด้านนางระเบียบ นิลพลอยอายุ 64 ปี  กล่าวว่า  “เป็นอีกรายที่ปลูกยางพารามาตั้งแต่ปี 49 ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรราคายางถึงตกต่ำถึงขนาดนี้    กินไม่ได้นอนไม่หลับเลย   กรีดยางขายขี้ยางไปรับเงินมาแทบไม่เหลือเลยก็ต้องทำใจ”นางระเบียบ กล่าว

ขณะที่  นายมานพ ชัยสิทธิ์  กล่าวว่า  “เป็น อีกรายที่ปลูกยางพารารายใหญ่ที่สุดกว่า 100 ไร่ ปีนี้ช้ำสุดๆที่มาเจอปัญหา   การทำสวนยางของเกษตรกรในพื้นที่จะขายให้กับพ่อค้าคนกลาง(ขายขี้ยาง)  ไม่ได้ขายน้ำยางดิบแต่อย่างใด  เพราะถ้าขายน้ำยางดิบมีขั้นตอนมากต้องเพิ่มขั้นตอนซื้อเครื่องรีดที่พักน้ำยางที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยเหลือดูแลแต่อย่างใด   ทำเองขายเองตามลำพังแต่ยังข้องใจว่า   ราคายางตกต่ำแต่สิ่งที่ทำจากยางพาราทำไมถึงมีราคาสูงมาก” นายมานพกล่าว

และกล่าวต่อไปว่า  “การขายขี้ยางของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในตำบลนี้  จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงสวน   การกรีดยาง(ขี้ยาง) ทำไม่ยุ่งยาก คนกรีดยางจะออกกรีดยางในช่วงกลางคืน   น้ำยางจะออกเยอะดีมาก กลังจากเปิดปากแผลแล้ว  น้ำยางก็จะค่อยๆไหลออกมาใส่กระป๋องที่เสียบไว้ด้านล่าง  น้ำยางจะค่อยๆไหลออกมา จากนั้นคนกรีดก็จะวนมาคนหนึ่งรอบ  พร้อมกับหยอดน้ำกรดผสมน้ำใส่ลงในกระป๋อง 2-3 หยด เพื่อให้น้ำยางเกาะตัวแข็งเป็นก้อนแล้วก็แคะออกใส่ภาชนะส่งขาย ซึ่งคนกรีดยางในหมู่บ้านมีอยู่แค่ 2 คน”นายมานพ กล่าว

ด้านนายณรงค์ รัตนวิจิต  กล่าวว่า  “เป็นมือกรีดยาง  และเป็นเกษตรกรอีกรายหนึ่ง  ที่ปลูกยางพารารายย่อย กรีดยางตั้งแต่ 3 ทุ่มไปจนถึงหกโมงเช้า  ถึงจะเก็บขี้ยางเสร็จถึงจะหมดหน้าที่   การกรีดยางของแต่ละรายๆในหมู่บ้านคลองหันแดง เกษตรกรสวนยางในหมู่บ้านนี้ปลูกยางเชิงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่และต้องการให้หน่วยงานราชการลงมาดูแลเรื่องราคายางบ้างที่ผ่านมาทำกันเอง”นายณรงค์กล่าวในที่สุด

  ตายลูกเดียว..!! ชาวสวนยางปราจีน โอดขี้ยางโล 18.50 บาท ขาดทุนตั้งแต่ยังไม่กรีด เกิดมาเพิ่งเคยเห็น!? (มีคลิป)

ภาพ - ข่าว  มานิตย์  สนับบุญ /ทองสุข   สิงห์พิมพ์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.ปราจีนบุรี