ธรรมะจากพระโอษฐ์(4): "ศีล" ไม่ใช่ข้อบังคับ! ไม่ใช่กรงขัง! แต่เป็นเครื่องป้องกันจาก "สิ่งนี้"!

ธรรมะจากพระโอษฐ์ ตอนที่(4): "ศีล" ไม่ใช่กรงขัง! แต่เป็นเครื่องป้องกันจาก "สิ่งนี้" ที่มนุษย์จะต้องเจอ

ศีลไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็นหลักปฏิบัติที่มีไว้ป้องปรามความชั่วร้ายมิให้หลั่งไหลเข้ามาสู่ชีวิต [1]

 

... ท่านสอนว่า มีศีล สมาธิ ปัญญา  ศีลก็หมายความว่า เราต้องระวังตัวไม่ให้ทำอะไรที่ผิดไป  เป็นกฎเกณฑ์ที่ท่านวางเอาไว้  เพราะว่าถ้าเราคิดพิจารณา เราก็รู้ว่า  ที่ท่านวางเป็นศีลนั้นก็เป็นกฎเกณฑ์ที่ช่วยเรา ช่วยเราไม่ให้ผิดพลาดเสียหาย  ไม่ใช่ขังเราในกรง

ศีลนั้นนะเหมือนกรง  เราอยู่ในกรง ทำนี่ก็ไม่ได้ ทำโน่นก็ไม่ได้ เพราะว่าท่านบอกว่าไม่ให้ทำ  จะหยุดข้ามไปก็ไม่ได้ เพราะว่าผิดศีล  เราเหมือนว่าอยู่ในกรง เราออกมาไม่ได้

แต่ถ้านึกดู  สมมติว่า เราอยู่ในที่ที่มีสัตว์ร้ายเต็ม  อย่างที่เคยเห็นในภาพยนตร์  เขาหย่อนคนที่ใส่เครื่องประดาน้ำลงไปในน้ำในที่ที่มีปลาฉลามแยะๆ  เขาเอาปลาฉลามใส่กรงไม่ได้ ก็เอาตัวผู้เป็นประดาน้ำลงไปในกรงเพื่อไม่ให้ปลาฉลามกัด

ศีลนี้ก็กลายเป็นกรงเพื่อไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีมาแตะต้องเราได้  ก็เป็นกฎเกณฑ์เหมือนกัน

ในเวลานั้น  ตอนแรกเราต้องให้ศีลมาควบคุมตัวเรา  แล้วทีหลัง ศีลนั้นจะเป็นการป้องกันตัวเราไม่ให้เดือดร้อน  เพราะว่า ถ้าไปทำผิดศีลนั้นนะเดือดร้อน เป็นการกระทำที่เป็นกรรมที่เดือดร้อน ก็เป็นอกุศลกรรม เป็นสิ่งที่จะทำให้เรารับกุศลที่ไม่ดี  ก็หมายความว่า ศีลนี่เป็นส่วนที่ท่านตั้งเอาไว้เพื่อที่จะป้องกันเรา

แล้วก็มาถึงสมาธิ  สมาธิก็เพื่อที่จะให้จิตใจเราเข้มแข็ง สามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะ  เมื่อมีสติสัมปชัญญะแล้ว เราเห็นอะไรทุกอย่าง ทำอะไรก็เกิดผล จะเกิดผลอะไรเราก็รู้ อะไรที่ถูกต้องเราก็รู้ อะไรที่ไม่ถูกต้องเราก็รู้

เป็นอันว่า  สมาธิและมีสตินี่ก็รู้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  ก็เกิดความรู้ซึ่งมีผลเป็นปัญญา รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แล้วบังคับจิตใจเราอยู่เสมอ  ก็เป็นปัญญาขึ้นมา ...

 

 

 

 

 

 

 

[1] พระราชดำรัส ในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก (ถานุตฺตโร) และคณะ เฝ้าถวายเงินและต้นเทียนพรรษา  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  วันจันทร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕.

รักษาศีลให้สมดุลทั้งทางโลกและทางธรรม [2]

 

... แต่ก็ขอที่จะแหย่หน่อย หรือขอมีข้อสังเกตหน่อย  อย่างเช่น  โครงการให้หยุดบริโภคเหล้าในวันพระ  อันนี้ก็ไม่เสียหายอะไร  แต่ว่าเป็นปลีกย่อยมาก  เพราะว่าอาจเป็นอุบายที่จะให้กำลังใจ

เพราะว่า ถ้าเห็นว่าการดื่มเหล้าไม่มีตามศีลของทางพุทธศาสนาก็ควรจะระงับเลย  ถ้าเห็นว่าเป็นเพียงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็บอกได้ว่า วันพระถวายวัยรุ่นสักวันยังดี  แต่อันนี้มันอยู่ที่จำนวน

ถ้าสมมติว่า ในวันพระเราไม่ดื่ม ก็เป็นการแสดงอย่างหนึ่งว่ามีกำลังจิตแรงที่จะระงับทั้งวัน  แต่ก็ดูนาฬิกาตลอดเวลา  พอถึงเวลาก็จะดูแบบว่า วันพระนี่ก็ต้องดูว่ารุ่งอรุณแล้วก็เป็นวันใหม่  ไม่ใช่วันพระแล้วดื่มเหล้าได้  จะทำให้เสียยิ่งกว่าที่จะได้  อันนี้พูดเล่น  ประเดี๋ยวไปเอาจริง  เดี๋ยวก็เมาแอ๋กันใหญ่

แต่ว่าถ้าดูอีกแง่หนึ่ง  สมมติว่า เราตั้งใจอยากที่จะไม่ดื่มเหล้า แต่ว่าไม่ได้  หรือเพราะว่ามีเหตุการณ์บังคับ เช่น งานสังคม  ซึ่งเราก็อยู่ในสังคม เราก็จะต้องปฏิบัติตามที่เขาทำกันในสังคมพอควร  เกิดมีงานเลี้ยงกันในวันพระ เราบอกว่าวันนี้วันพระ ไม่ดื่ม ไม่แตะเหล้า  มันจะมีผลเสียเหมือนกันในทางที่แสดงถึงว่า เราไปขัดจังหวะของงานสังคมเขา  เราก็ไม่ควรจะไปในงานสังคมนั้น  เมื่อไม่ไปในงานสังคมนี้ก็กลายเป็นไม่ร่วมสังฆกรรม ไม่ร่วมชีวิต  อันนี้ก็เสียหายเหมือนกัน

เราก็อาจมานึกดูงานสังคมนี้ว่าเป็นของต่ำต้อย เป็นเรื่องของโลก  แต่เราก็อยู่ในโลก  ถ้าเราถือตัวอยู่ในสังคม เราก็ต้องปฏิบัติ  ถ้าไม่แตะเหล้าเลยตามที่เขาดื่มเหล้ากัน เราก็กลายเป็นคนนอกสังเวียน  แล้วก็อีกอย่างที่เสีย ก็ต้องไปบอกเขาว่าวันนี้วันพระ เราถือ  เราปฏิญาณตนมาแล้วก็กลายเป็นเราโกหกตนเอง ก็เสียหายอีกเหมือนกัน

ฉะนั้น  โครงการที่ว่าไม่ดื่มเหล้าในวันพระก็ดูจะมีผลเสียหายเหมือนกัน  แต่ว่าที่ไม่ขัดคอเพราะว่า คนเราต้องมีกำลังใจ ต้องถือว่าวันนี้วันพระ เรามีกำลังใจที่จะเว้นจากดื่มเหล้า

สิ่งที่จะดีที่สุดก็คือ เราดื่มเหล้าได้ ไม่มีใครมาห้ามเรา  มีผิด แต่อย่าดื่มเหล้าจนเมา อย่าดื่มเหล้าจนเกินไปจนเดือดร้อนหรือสิ้นเปลือง  ดื่มเหล้านี่สิ้นเปลือง  เราทำแต่น้อยพอควร  ไม่ใช่ตนไม่ดื่มเหล้าเลย  เพราะว่าเราก็ไม่ใช่ไปถือศีล  เรายังมีหน้าที่  แล้วก็ไม่ได้ไปอาราธนาศีลทุกวัน  แล้วก็แม้จะอาราธนาศีลจะไปทำอย่างเกินไปก็ไม่ถูกต้อง

ฉะนั้น  ถ้าคนที่มีกำลังใจจริงๆ ดื่มเหล้าก็ดื่มไปตามโอกาส  แต่ไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้ติด ไม่ให้สิ้นเปลืองจนเกินไป

ที่มายกเรื่องนี้เป็นตัวอย่างเพราะว่ามันต่อเนื่องไปได้ว่า การกระทำของเราทำอะไรอย่าให้เกินไป  อันนี้เป็นด้านค้นคว้าหลักของพุทธศาสนาในการปฏิบัติทุกวัน ...

 

ธรรมะจากพระโอษฐ์(4): "ศีล" ไม่ใช่ข้อบังคับ! ไม่ใช่กรงขัง! แต่เป็นเครื่องป้องกันจาก "สิ่งนี้"!

 

[2] กระแสพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะกรรมการสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  วันอังคารที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖.

การทำผิดศีลเพราะความจำเป็น [3]

 

... บางคนอาจจะว่า  ถ้าทำอยู่ในศีลตลอดเวลา ไม่ปล่อยอะไรไปในทางที่เรียกว่าผิดๆ  แม้แต่ทำการค้าก็ว่าไปอาจจะผิดศีลไปได้บ้าง

ถ้าเราคิดๆ ดู  เพราะว่า สมมติว่าค้าขาย เราก็จะต้องบอกว่าสินค้าของเรามีคุณภาพดี แล้วก็ราคาถูก  แท้จริง ถ้าราคาถูก ให้เขาไปเฉยๆ ก็ทำมาหากินไม่ได้ ไม่มีกำไร  ก็เหมือนว่าเป็นผู้ที่ผิดศีลมุสา  แต่ว่ามันอยู่ในขอบเขต ไม่ได้ทำล่วงเกินมากไป  อย่าไปถือว่าเป็นมุสา  ก็ต้องทำหน้าที่คนที่ค้าขาย ก็จำเป็นที่จะมีกำไร

สิ่งเหล่านี้ก็เป็นที่ลำบาก  ถึงถ้าจะปฏิบัติก็ตามฐานะของตัว  แต่ว่าอย่าไปโกงเขา อย่าไปขโมยเขา อย่าไปฆ่าเขา อย่าไปผิดในทางศีล ๕ ที่มีอยู่  ถ้าไม่ผิดอันนั้น ความเจริญก็มา  อาจจะเหมือนเสียเปรียบ

ไปงานเฮฮา เขาก็ดื่มเหล้าเมาแอ๋ เขามีความสุขสบายดี  เวลาเมาสบาย  แต่ถ้าหากว่าจำเป็นหรือนึกว่าจำเป็นที่จะเข้าสังคมบ้างก็เข้า ไปกินเหล้าบ้าง ก็ผิดศีลละ  ไม่แก้ตัวไปได้ว่าไม่ผิดศีล  ยังดี  ควบคุมจิตใจให้ได้ ให้อยู่พอควร ไม่มาก  คือว่าแม้แต่ฐานะของแต่ละคน เราก็จะได้พิจารณา ...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“ศีล” กับ “ธรรม” ต่างกันตรงไหน [4]

 

... เนื่องมาจากที่แต่ละคนมีศรัทธาจิตที่จะบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างดี  เริ่มต้นอันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้มีความเจริญตั้งแต่เริ่มแรก ที่แต่ละคนปฏิบัติตัวดีในศีลและในธรรม

ศีลคือเป็นข้อที่ให้เว้น ไม่ควรที่จะปฏิบัติ  เพราะว่าไม่เป็นสิ่งที่ควรจะปฏิบัติ ก็ให้เว้น  เพราะถ้าทำถ้าปฏิบัติที่ควรเว้นนั้นก็ทำให้ไม่เจริญ ทำให้เสื่อมลงไป

ธรรมนั้นก็เป็นข้อที่ควรปฏิบัติ ก็ควรจะทำให้เกิดขึ้น เพื่อจะได้มีความเจริญรุ่งเรือง ...

 

จากหนังสือ ธรรมะจากพระโอษฐ์ เรียบเรียงโดย ณัฐวุฒิ แจ๊สสูงเนิน

ธรรมะจากพระโอษฐ์(4): "ศีล" ไม่ใช่ข้อบังคับ! ไม่ใช่กรงขัง! แต่เป็นเครื่องป้องกันจาก "สิ่งนี้"!

 

 

[3] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตะโร วัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และคณะ เฝ้าถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยและต้นเทียนพรรษา  วันจันทร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘.

[4] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตะโร วัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และคณะ เฝ้าถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยและต้นเทียนพรรษา  วันจันทร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘.