เปิดตำนาน!! "ดำ หัวแพร" จอมโจรหนึ่งเดียวที่ผู้คนกราบไหว้ ถึงขั้นมีอนุสารีย์ให้!!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://panyayan.tnews.co.th

ชุมโจรบ้านดอนทราย :ประวัติดำหัวแพร

 

เปิดตำนาน!! "ดำ หัวแพร" จอมโจรหนึ่งเดียวที่ผู้คนกราบไหว้ ถึงขั้นมีอนุสารีย์ให้!!

            จังหวัดพัทลุง ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เกิดชุมโจร ชื่อดัง ทั้งประเภทนักเลงหัวไม้ และระดับขุนโจรใจดำเหี้ยมโหด สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ประมาณนับได้ไม่น้อยกว่า 30 คน ในจำนวนนี้ปรากฏชื่อดังที่สุดในก๊กโจรด้วยกันได้แก่ รุ่งดอนทราย เป็นหัวหน้า และดำหัวแพรเป็นระดับรอง มีสมญานามเรียกว่า “ ขุนอัสดงไพรวัน “ เลียนแบบ บรรดาศักดิ์ ขุนนาง จากการสืบทราบประวัติส่วนตัว ของดำหัวแพร เกิดที่บ้านข่อยม้า ( ตำบลชะม่วง ) เขตอำเภอควนขนุน ประมาณ ปี พ.ศ. 2428 – 2429 ชีวิตเบื้องต้นไม่มีใครทราบ รู้เพียงแต่ว่ามีนิสัยเป็นนักเลงหัวไม้ ไม่กลัวใคร ตั้งตัวเป็นโจรครบถ้วนสมบูรณ์แบบนับแต่อายุย่างเข้าเบญจเพสเป็นต้นมา

 

 

                  การที่โจรหลายกลุ่มมารวมตัวกัน โดยเฉพาะหัวหน้าโจร รุ่งดอนทราย ได้ปฏิบัติการทำลายล้าง ปล้นจี้ ฆ่าเจ้าทรัพย์ จนกระทั่งบังอาจท้าทายเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ดวลปืนกันก็เป็นเรื่องหนักใจเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่น้อย นายแก้ว บัวขาว หรือ แก้ว เหงือก ได้แต่งกลอนเล่าสภาพบ้านเมืองสมัยนั้นว่า

 

“ขอแถลงแจ้งเรื่องเมืองลุง

มีนายรุ่ง ดอนทรายหัวไม้ใหญ่

ประพฤติแต่การชั่ว

ไม่กลัวใคร ทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่ ไม่นำพา

มันยกตัวเป็นใหญ่อยู่ในที

 ถือว่ามีอำนาจ วาสนา

เที่ยวดุร้ายลำพองถึงวัดวา

ชาวประชาราษฎรพาร้อนใจ

……………ฯลฯ……………………

 

 

                  สาเหตุที่มาของชุมโจรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีผู้วิเคราะห์ว่าเกิดจากสภาพบ้านเมือง โดยสรุปคือ

 

                  1. ความหย่อนยานของอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ไม่อาจให้ความคุ้มครองชาวบ้านได้ เป็นเหตุให้แต่ละชุมชนพยายามสร้างอิทธิพลเพื่อคุ้มครองหมู่บ้านตนเอง

                  2. วัฒนธรรมการยกย่องคนมีอิทธิพล เป็นนักเลง หรือร่ำรวย มากกว่าการยกย่องคนพอมีพอกิน แต่เป็นคนดีมีศีลธรรม กลุ่มนักเลงลืมตัวจนกระทั่งประพฤติตนเยี่ยงโจรในเวลาต่อมา

                  3. ค่านิยมคนพัทลุงในยุคนั้นมีว่า “ เมียฉุด วัวลัก” ยังคงอยู่ในใจชาวบ้านเพราะคนพวกนี้สามารถพาพี่น้อง ครอบครัวให้อยู่รอด ปลอดภัยได้ จึงเท่ากับเป็นการยกย่องคนชั่วไปในตัว

 

 

 

                  เมื่อรุ่ง ดอนทรายประกาศตัวให้ความคุ้มครองชาวบ้าน ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าพึ่งพาอำนาจรัฐ ประกาศิตขุนโจรถึงตายทุกคน รุ่งดอนทรายถึงกับสร้างปืนปลอกเงินเป็นเครื่องหมายประจำตัวหัวหน้า การสั่งการใดๆ หากไม่ได้ด้วยตนเอง ก็จะมอบปืนปลอกเงินถือไปแทนตัวได้ ใครจะมาอ้างคำสั่ง ถ้าไม่มีปืนดังกล่าวแสดงว่าไม่ต้องฟัง

                 รุ่ง ดอนทราย ร่วมกับดำหัวแพร ประกาศตนเพื่อแสวงหาแนวร่วมเข้ามาเป็นพวกพ้อง เรียกว่า

“สัจจะโจร ” กำหนดให้ทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 3 ประการคือ

1. ห้ามทำร้ายเจ้าทรัพย์ที่ไม่ต่อสู้ ขัดขวางการปล้น

2. การปล้นแต่ละครั้ง จะเก็บเฉพาะทรัพย์สินที่เก็บไว้เท่านั้น เช่น เสื้อผ้า เงินทอง ทรัพย์สินที่ติดตัว ห้ามเด็ดขาด

3. ไม่ทำร้าย สตรีเพศ และเด็ก บ้านหลังใดที่เคยให้การช่วยเหลือ พักพิง หลบแดด หลบฝน หรือร่มเงา จะไม่ทำการปล้นอย่างเด็ดขาด

 

                  คุณแม่ ของผู้เขียน ( อายุ 98 ปี ถึงแก่กรรมปี 2541 ) เล่าให้ฟังว่า กลุ่ม โจร รุ่งดอนทราย ประกาศล่วงหน้าว่าจะปล้นบ้านคุณตา ( ขณะนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน ) ฤกษ์โจรตอนหัวค่ำ ได้ชักชวน ดำหัวแพร มาร่วมปล้นด้วย ก่อนปล้นได้ปลูกสร้าง ปะรำหน้าบ้านสูงเมตรเศษ แต่เมื่อดำหัวแพรรู้ว่าเป็นบ้านที่ตนเคยหลบแดด หลบฝน ถึงกับประกาศปฏิเสธการปล้นทันที เรื่องของดำหัวแพรคุณแม่จึงรู้จักเป็นส่วนตัวดีพอสมควร

 

                  ประมาณปี 2462 รุ่งดอนทรายถูกฆ่าตาย บางกระแสว่าเป็นไข้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่นำศพไปมัดกับต้นตาลที่วัดกุฎ ( วัดสุวรรณวิชัย อ. ควนขนุน ) หลังจากนั้น ดำ หัวแพรได้สืบตำแหน่งหัวหน้าโจร เต็มรูปแบบ เขาได้แผ่อิทธิพลไปทั่วหมู่บ้าน อำเภอตลอดจนต่างจังหวัดใกล้เคียง

เปิดตำนาน!! "ดำ หัวแพร" จอมโจรหนึ่งเดียวที่ผู้คนกราบไหว้ ถึงขั้นมีอนุสารีย์ให้!!

เอกลักษณ์ ที่เป็นส่วนตัว ดำหัวแพรมีอาวุธ พร้าลืมงอ ปลายสุดถึงด้ามพร้ายาวประมาณ 120 ซม. ตัวพร้าเป็นเหล็กกล้าคมกริบ ท่าแบกพร้าตรงกลางวางบนบ่า ด้ามชิดลำตัว คมพร้าบังหูมิดพอดี ไม่มีใครโดยเฉพาะชาวบ้านแบกพร้าทำนองนี้ เพราะกลัวเขาจะว่าเป็นพวกโจรดำหัวแพร พร้าลืมงอด้ามนั้น ชื่อว่า “ อ้ายใจดำ ” ดำหัวแพรใช้เชือดคอศัตรูเมื่อล้มลงทุกครั้งไป

 

เปิดตำนาน!! "ดำ หัวแพร" จอมโจรหนึ่งเดียวที่ผู้คนกราบไหว้ ถึงขั้นมีอนุสารีย์ให้!!

                ก่อนสิ้นชื่อดำหัวแพร ทางราชการโดย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิคัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ อุปถัมภ์มณฑลปักษ์ใต้ กล่าวกันว่าทรงมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จคือ “ มือขวาถือหวาย มือซ้ายถือถุงเงิน ” ทรงอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้กลางสนาม ทรงรับสั่งให้นายพันตำรวจโท พระวิชัยประชาบาล ( บุญโกย เอโกบล ) ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช

 

              

               เป็นผู้อำนวยการปราบโจรในท้องที่จังหวัดพัทลุง เริ่มต้นโดยจัดกลุ่มชาวบ้านที่อาสาสมัครร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ดูแลความสงบสุขของหมู่บ้าน และประกาศให้โจรอาชีพและระดับนักเลงหัวไม้ธรรมดาเข้ามามอบตัวสะสางยกเว้นคดีให้ ทำหน้าที่ฝึกแถว ฝึกยุทธวิธีการรบ เฝ้าเวรยาม ตลอดจนการหาข่าวรายงานทางราชการ เรื่องนี้กล่าวกันว่า พระวิชัยฯ รู้เรื่องต่างๆของโจรในพื้นที่ได้ดีมาก จนชาวบ้านเข้าใจว่าท่าน หูทิพย์ – ตาทิพย์ ครั้งหนึ่งรู้ว่า ดำหัวแพรกับเพื่อนร่วมวงกินหวาก ( กะแช่ ) ที่บ้านหนองคลอด ( หนองช้างคลอด ) ทุ่งหัวคด ( ตำบลโตนดด้วน) จึงมอบหมายให้ เจ้าหน้าที่ 3 นายไปจับกุมคือ สตต. สิริ แสงอุไร , สตต. นำ นาคะวิโรจน์ และพลตำรวจ ร่วง สามารถ พร้อมอาวุธครบมือไปล้อมจับ ดำหัวแพร ทั้งสองฝ่ายสู้รบยิงปืนเป็นสามารถ จนเวลาพลบค่ำ เล่ากันว่า สตต. สิริ ยิงจนกระสุนเหลือนัดเดียว จึงแกล้งล้มลง ดำหัวแพรเข้าใจว่าเป็นปืนที่ตนยิง จึงวิ่งตะลุยเข้าไปส่งเสียง “ ปีบ” อ้ายเสือ เป็นเสียงตะโกนหวังข่มคู่ต่อสู้ ถือพร้าลืมงอเข้าไปเฉียดคอ ทันใดนั้นเสียงปืนนัดสุดท้ายดังก้องถูกตรงปลายคางดำหัวแพรล้มลง ทั้งเจ้าหน้าที่ และฝ่ายโจรวุ่นไม่รู้ใครเป็นใคร สมุนดำหัวแพรคนหนึ่งประคองหัวหน้าหนีนำร่างไปซ่อนไว้ที่กอไผ่

เปิดตำนาน!! "ดำ หัวแพร" จอมโจรหนึ่งเดียวที่ผู้คนกราบไหว้ ถึงขั้นมีอนุสารีย์ให้!!

                เพื่อเยียวและส่งอาหาร รุ่งเช้าพบว่าดำหัวแพรผูกคอตาย แต่ผู้เขียนยังจำคำบอกเล่าคุณแม่ ที่แต่งเป็นเพลงกล่อมเด็ก ความตอนหนึ่งว่า

 

“สิบตรีนำเหอ ยิงดำหัวแพร

ที่หนองช้างคลอด ออกไปสามวา นอนตั้งท่าหงูนหมาน “ ( ท่าหนุมาน )

 

                มีหลักฐานปรากฏ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 38 วันที่ 8 พฤษภาคม 2464 หน้า 316 ประกาศขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นความดีความชอบเจ้าหน้าที่ 3 นายดังนี้

1.จ่านายสิบตำรวจ สิริ แสงอุไร ได้รับพระราชทานเหรียญทองช้างเผือก

2.นายสิบตำรวจโท นำ นาคะวิโรจน์ ได้รับพระราชทานเหรียญทองมงกุฎไทย

3.ว่าที่สิบตำรวจตรี ร่วง สามารถ ได้รับพระราชทานเหรียญทองมงกุฎไทย

 

                ศพของดำหัวแพร ได้ถูกนำไปผูกมัดกับต้นตาลที่วัดกุฎ ประจานไม่ให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง ตลอดจนเป็นการเรียกขวัญชาวบ้าน ให้รู้ถึงการสิ้นชื่อขุนโจรดำหัวแพร ประมาณปี 2462 เช่นกัน ส่วนเรื่องรูปปั้นที่เป็นข่าวนั้น อาจารย์ เทพ บุณยประสาท อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพัทลุง เคยเล่าว่าสมัยพระคณาศัยสุนทร เจ้าเมืองพัทลุง สร้างพระพุทธรูปไว้ที่ถ้ำเขากัง ( ใกล้โรงพยาบาลพัทลุง) บังเอิญปูนเหลือจึงสั่งให้ช่างปั้นรูปผู้ร้าย เรียกว่า “ อ้ายจังกั้ง” ( คนเกเร ) มีข้อความที่ฐานรูปปั้นว่า “อย่าเอาอย่างไอ้จังกั้งโว๊ย” มีรูปปั้นที่บริเวณเขา วังเนียง ( ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะเทศบาล) ได้มีผู้เขียนว่า “ รูปดำหัวแพร “ กลายเป็นความเข้าใจผิดว่าเมืองพัทลุงสร้างอนุสาวรีย์โจร จนเกิดกระแสต่อต้านจากบางกลุ่มคน แต่บางกลุ่มยังสนับสนุนให้คงรูปปั้นไว้ ขณะเขียนต้นฉบับนี้

 

เปิดตำนาน!! "ดำ หัวแพร" จอมโจรหนึ่งเดียวที่ผู้คนกราบไหว้ ถึงขั้นมีอนุสารีย์ให้!!

"

ภายหลังมีคนทำรูปปั้นนี้ตั้งไว้หน้าเรือนจำพัทลุง
ทั้งนักโทษ ทั้งผู้ตุมต่างนับถือกลัวยืนตากแดดถึงกับทำหลังคาให้

ว่ากันว่าทางการชักรำคาญ เลยทำพิธีแห่เอาไปที้งทะเลเสียเลย
โดยแห่รอบเมืองประจานแล้วล่ามโซ่ให้เหมือนนักโทษ
ตอนแห่มีทั้งพายุเกรี้ยวกราดสมเป็นโจรใจหาญ

"

                อาจารย์สมคิด ทองสง ได้นำรูปปั้นไปเก็บไว้ที่ที่ดินส่วนตัว ใกล้ๆ โรงเรียนปัญญาวุธ เป็นการชั่วคราว

ชีวิตครอบครัวของดำหัวแพร ทราบว่ามีภรรยาที่เป็นตัวตน 3 คนชื่อ นางผลี้ นางร่ม ทั้งสองคนไม่ทายาท คนที่สามชื่อนางจัน มีลูกสาว 1 คน ปัจจุบันยังคงมีชีวิต แต่ไม่ทราบประวัติของบิดา เพราะเสียชีวิตตั้งแต่มีอายุเพียง 2 ขวบเท่านั้น ส่วนคำว่า “ หัวแพร” คุณแม่ผู้เขียนเล่าว่า

เพราะผมดำคล้ายขนกา เป็นคนร่างสูงใหญ่ ผมดำเป็นลอนผิดจากชาวบ้านทั่วไป บางกระแสกล่าวว่า มีผ้าแพรสีดำโพกหัว เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะผ้าแพรอย่างดีนี้จะใช้เวลาคัดเลือด / ห้ามเลือดได้อีกด้วย

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก : http://www.clipmass.com/story/12315