เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก!  "พระราชาผู้เป็นหนึ่งเดียวในโลก" ที่ทรงงานหนักเพื่อประชาชน

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http:/panyayan.tnews.co.th

ได้ยินกันมานานเรื่อง “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมานานกว่า 4 ทศวรรษ และเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนทั่วโลกแล้วว่า หลักปรัชญานี้กลายเป็นหลักพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ดั่งที่องค์กรระดับโลกอย่าง “สหประชาชาติ” ได้ประกาศทิศทางการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน จะเน้นการเจริญเติบโตอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพยาวไกล ทรงตระหนักถึงปรัชญานี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ หลังจากที่เถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
     ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองราชย์สมบัติครบ ๗๐ ปีในปี พ.ศ.๒๕๕๙ และยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์มายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทรงนำทฤษฎีความพอเพียงที่เพียงพอจะนำพาประเทศไทยให้พัฒนาไปอย่างยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริที่ทรงค้นพบและคิดค้นขึ้นมา
       หลักปรัชญาสั้น ๆ แต่ทว่าลึกซึ้งด้วยความหมายและคุณค่าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของคนทั่วไป ของชุมชนและองค์กร รวมไปถึงประเทศชาติ ตามที่ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวในฐานะประธานกรรมการสถาบันมั่นพัฒนา มูลนิธิมั่นพัฒนา ที่ทำงานสนองพระราชดำริและนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ และทำหน้าที่เผยแพร่หลักปรัชญานี้ไปทั่วโลก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทย
      ดังนั้น การเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติ ๗๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีนี้ คงไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการนำแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่ใช่แค่การพูดถึง แต่นำไปปฏิบัติให้ปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนทั่วโลกมาแล้ว
      “ระยะเวลาครองราชย์ ๗๐ ปี คงจะหาประเพณีโบราณในอดีตมาเป็นแบบอย่างในการจัดพิธีเฉลิมพระเกียรติไม่ได้ เพราะไม่มีใครเคยครองราชย์ยาวนานขนาดนี้ ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่าสำคัญ แต่จะจัดงานอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานนั้น ๆ ส่วนมูลนิธิมั่นพัฒนาจะมุ่งโฟกัสที่พระราชกรณียกิจที่ทรงครองราชย์มา ๗๐ ปี” ดร.จิรายุกล่าว
       เพื่อให้เห็นภาพ ดร.จิรายุ ย้อนไปสู่ห้วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ระยะเวลา ๒๕ ปี หลังจากนั้นมีเพียง ๑๓ ประเทศทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ไทยเป็นหนึ่งในนั้นสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้หลายล้านคน แต่ในความสำเร็จนั้นก็แลกมาด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่มีการพัฒนาที่ทั่วถึง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ความเจริญที่ไม่สมดุลของเมืองกับชนบท ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
       นี่คือปัญหาของยุคมิราเคิลโกรท หรือยุคการเจริญเติบโตที่มหัศจรรย์ แต่หาความมั่นคงและยั่งยืนไม่ได้
        ระหว่างการเจริญเติบโตที่หาความยั่งยืนไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพยายามเสด็จพระราชดำเนิน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อสร้างความเจริญให้ทั่วถึง ทรงมีพระราชดำริเสมอมาเกี่ยวกับความมั่นคงและยั่งยืน
        ดูจากพระกระแสรับสั่งให้สร้างศูนย์ศึกษาขึ้นแห่งแรกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา และพัฒนาต่อเนื่องไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรให้ราษฎรได้เรียนรู้ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ฟื้นชีพให้ดินที่แห้งแล้งกลับมามีชีวิตชีวาใหม่อีกครั้ง เพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน

เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก!  "พระราชาผู้เป็นหนึ่งเดียวในโลก" ที่ทรงงานหนักเพื่อประชาชน


   

“คำแนะนำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง คือ แนะนำให้รัฐบาลตั้งศูนย์ศึกษาในแต่ละภูมิภาค เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกรได้พัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งศูนย์เหล่านั้นยังอยู่ยงคงกระพันมาถึงตอนนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของ กปร. (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) ที่มีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมารองรับ วิจัย ถอดแบบ เผยแพร่ สร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตขึ้นมา”
        หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ศาสตร์แห่งการบริหารที่สามารถจัดการแก้ไขทุกช่องโหว่ของปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เพียงภาคการเกษตร
        ดร.จิรายุ อธิบายเรื่องนี้ว่า แม้ในยามวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ค.ศ. ๑๙๙๗ ระบบการเงินพังครืน ผู้คนตกงานนับล้านคน หลายคนต้องหันกลับไปอยู่ชนบท และผู้คนก็เริ่มหันมาเห็นดีเห็นงามกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดให้อยู่ในแผนแม่บท เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้สังคมยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง จนมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย
        เมื่อหลักปรัชญานี้เริ่มกระจายออกไปในวงกว้าง ความพยายามของมูลนิธิมั่นพัฒนา ที่อยากเห็นการสานต่อหลักการนี้ออกไปไม่ใช่แค่ในประเทศ จึงได้มีการแบ่งปันองค์ความรู้นี้แก่ประเทศสมาชิกในกลุ่ม “จี ๗๗″ ซึ่งปีนี้ประเทศไทยได้เป็นประธาน
        “ผมคิดว่า ค.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๓๐ ระยะเวลา ๑๕ ปี หลายประเทศยังไม่รู้เลยว่าจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างไร ผมเชื่อว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะขับเคลื่อนได้ตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะแบ่งปันแง่คิดนี้ให้กับชาติอื่น ๆ ด้วย”
       อีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่ทำถวายพระองค์ คือ การทำหนังสือฉบับภาษาอังกฤษ Thailand Sustainable Development Sourcebook (การพัฒนาที่ยั่งยืน) เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้ทางวิชาการและภาษาที่เข้าใจง่าย ตามแบบฉบับของหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหนังสือที่ออกมาได้ตรงเวลากับการประกาศขององค์การสหประชาชาติที่กำลังสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน
       หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์ของคนที่ต้องการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้อย่างถ่องแท้
       คนต่างชาติให้ความสนใจหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างมาก วัดจากยอดขายที่เป็นหนังสือขายดีของร้านหนังสือชั้นนำอย่าง คิโนะคุนิยะ แม้จะมีราคาสูงถึง ๑,๗๐๐ บาทก็ตาม
        ลำดับต่อไป ที่ประธานมูลนิธิมั่นพัฒนาต้องการขับเคลื่อนให้เกิดผลคือ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บรรจุเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาของไทย
   เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก!  "พระราชาผู้เป็นหนึ่งเดียวในโลก" ที่ทรงงานหนักเพื่อประชาชน

  “ถ้าเราขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้อยู่ในระบบการศึกษา บรรจุในหลักสูตรการศึกษา ก็จะเป็นตัวทดสอบว่า เยาวชนของเราจะเติบโตขึ้นมาด้วยจิตวิญญาณแห่งความพอเพียง แต่ถ้าบรรจุเข้าไปแล้วคนยังเป็นเหมือนเดิม แสดงว่าไม่ประสบความสำเร็จ ตอนนี้เดินมาได้ครึ่งทางแล้ว ยังไม่แน่ใจว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ก็ดีกว่าไปนั่งชื่นชมกับมิราเคิลโกรท แล้วไม่ทำอะไรเลย”
       ประธานมูลนิธิมั่นพัฒนายังกล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ มีการประกาศจะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปพัฒนาประเทศ โดยมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูแลแต่ละภาคส่วน เช่น ภาคเกษตร มีกระทรวงมหาดไทย กปร. และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนกว่า ๒๔,๐๐๐ หมู่บ้านในชนบท ซึ่งจะทำในปีนี้ โดยมีงบประมาณและระยะเวลาที่ชัดเจนคือ ๑ ปี
       นอกจากนี้ยังมีอนุกรรมการที่ดูแลภาคส่วนของอื่นๆ เช่น ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ เป็นต้น
      “ตรงนี้ต้องไปดูว่าเขาไปปฏิบัติแล้ว ได้ผลหรือไม่ได้ผล เพราะถ้าแค่พูดก็ดีหมด แต่นำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเป็นเรื่องดีนะ เพราะจะได้เห็นผลว่ายั่งยืนหรือไม่”
      ในส่วนของมูลนิธิมั่นพัฒนารับผิดชอบก็คือ ภาคประชาสัมพันธ์ โดยมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าภาพ ออกแคมเปญใหม่เข้าถึงคนรุ่นใหม่อย่าง การปราบคอร์รัปชั่น การทิ้งขยะไม่เลือกที่ นิสัยไม่ดีในการขับรถ และความฟุ้งเฟ้อ โดยการทำคลิปวิดีโอผ่านโซเชียลมีเดีย โดยปีนี้จะเน้นเรื่องความฟุ้งเฟ้อ
      “ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ คือ อย่ากินอยู่เกินตัว ระยะเวลา ๗-๘ ปีที่ผ่านมาเราพบว่า ปัญหาที่อันตรายตอนนี้คือ หนี้ครู จากงานวิจัยพบว่า ระบบส่งเสริมให้ครูเป็นหนี้ คือคนเข้าทำงานวันแรก มีคนมาอธิบายว่าจะกู้ได้ที่ไหนบ้าง คนจากเอชอาร์มาทำเรื่องสวัสดิการ เพราะคนที่อยู่ในระบบได้คอมมิสชั่นจากการเป็นหนี้ด้วย ไล่ไปเรื่อย ๆ พบว่าเรื่องการศึกษาสำคัญมาก เรามาได้ไกลแล้ว แต่ต้องทำให้สำเร็จเพื่อลูกหลานในอนาคต เรื่องนี้กระทรวงศึกษาฯอนุโมทนาด้วยว่า ช่วยทำให้หน่อย”
      การกู้ยืมเป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ในระบบ ไม่ว่าใครก็อาจจะมีโอกาสเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้
      “ผมว่าทุกคนมีโอกาสถูกยืมเงิน แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ถูกยืมเงิน มีสมุดปกขาวเล่มหนึ่งบันทึกไว้ว่า มีมหาดเล็กคนหนึ่งจะมายืมเงิน แต่ท่านไม่ให้ เขาก็กลับมาใหม่ โดยเอาหัวเข็มขัดมามอบไว้ให้ มหาดเล็กคนนั้นคงนึกว่า ที่ท่านไม่ให้ เพราะไม่มีทรัพย์สินค้ำประกัน พอมีรายที่สองมายืมเงินอีก แต่คนนี้ท่านพิจารณาดูแล้วให้ได้ เพราะเอาเงินไปให้กับภรรยาซื้อจักรเย็บผ้าแล้วมาทำผลิตภัณฑ์ขาย แล้วท่านก็บอกว่า อีกไม่นาน พอมีรายได้เขาก็เอาเงินมาคืน แต่รายแรกไม่ให้เพราะดูจากอดีตแล้วใช้จ่ายฟุ่มเฟือยท่านไม่ให้ ขนาดพระเจ้าอยู่หัวยังมีคนไปยืมเงินเลย” ดร.จิรายุเล่าให้ฟัง
      หากปรัชญาความพอเพียงสามารถเคลื่อนไหวอยู่ในทุกระดับชั้นของสังคม เชื่อว่ากระบวนการขับเคลื่อนของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะสร้างการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับประเทศได้ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสทรงครองราชย์ ๗๐ ปี

เช่นเดียวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ประสบความสำเร็จจากการทำให้คนในองค์กรรู้จักการออม

เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก!  "พระราชาผู้เป็นหนึ่งเดียวในโลก" ที่ทรงงานหนักเพื่อประชาชน

(ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)

ขอขอบคุณ http://www.chaoprayanews.com