พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว!! "ธรรมราชา" ผู้ทรงศรัทธาในพุทธศาสนามาแต่ครั้งพระเยาว์ ... ตราบเท่าจนวันนี้ก็ยังไม่เคยจางหายไปจากพระราชหฤทัย!!

รู้จริง...รู้แจ้ง...ทุกเรื่องราวแห่งพระอริยสงฆ์ http://panyayan.tnews.co.th

ในหนังสือ "มหาบพิตร : ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ" ผู้เขียนคือคุณวีระวัฒน์ ชลสวัสดิ์ ได้กล่าวถึงความสนพระราชหฤทัยและเข้าพระทัยในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ ดังมีข้อความต่อไปนี้

-----------------------------------------------------------------------------------

 

ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นบทสนทนาพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามพระราชปุจฉาธรรมต่อพระอาจารย์ด้านสมถวิปัสสนาองค์ต่างๆ แล้ว ข้าพเจ้าก็รู้สึกทึ่งและประหลาดใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงสนพระราชหฤทัยในพระธรรมของพระพุทธศาสนาถึงเพียงนี้

ทั้งที่พระราชภารกิจที่มีอยู่มากมายนั้นน่าจะเป็นอุปสรรคในการศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นอย่างมาก แต่ในหลวงก็ยังทรงสละเวลาพักผ่อนส่วนพระองค์ที่มีอยู่น้อยนิดนั้น เอาเวลามาศึกษาและปฏิบัติธรรม  เห็นได้จากคำถามพระราชปุจฉาธรรมที่ตรัสถามพระอริยเจ้าเหล่านั้น ซึ่งคำถามเหล่านี้ไม่ใช่คำถามของผู้ไม่เคยสนใจธรรมะหรือไม่มีความรู้ทางธรรม  คำถามเหล่านี้บอกให้เรารู้อยู่ในตัวเนื้อหาของคำถามเองว่า ผู้ถามคือ "ผู้ที่มีธรรมะในใจ"

หากผู้ถามเป็นคนธรรมดาก็เรียกได้ว่า ผู้ถามคือ "อุบาสก" "อุบาสิกา" "พุทธศาสนิกชนที่ดีในพุทธศาสนา"  หากผู้ถามเป็นพระสงฆ์ก็เรียกได้ว่า ผู้ถามคือ "พระสงฆ์สุปฏิปันโน"  แต่หากผู้ถามคือพระราชาหรือพระมหากษัตริย์ เราก็เรียกได้ว่า ผู้ถามนั้นคือ "พระธรรมราชา" อย่างแน่นอน

นอกจากบทพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระอริยเจ้าแล้วก็ยังมี "พระธรรมเทศนาหน้าพระที่นั่ง" ซึ่งพระอริยเจ้าได้แสดงให้พระองค์ทรงสดับในโอกาสต่างๆ กัน  เนื้อหาอันลึกซึ้งของพระธรรมเทศนาที่ท่านเทศน์ต่อหน้าพระที่นั่งนั้นย่อมบ่งบอกให้เรารู้อีกเช่นกันว่า พระอริยเจ้าท่านเจตนาเตรียมมาสำหรับพระองค์เป็นการเฉพาะ เพราะรู้ว่าผู้ที่ฟังอยู่อันได้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงมีความรู้ในธรรมอยู่ในขั้นสูง  เช่น  พระธรรมเทศนาหน้าพระที่นั่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุรับพระราชทานถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "ธรรม" ซึ่งถือว่ามีอรรถลึกซึ้งมาก

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว!! "ธรรมราชา" ผู้ทรงศรัทธาในพุทธศาสนามาแต่ครั้งพระเยาว์ ... ตราบเท่าจนวันนี้ก็ยังไม่เคยจางหายไปจากพระราชหฤทัย!!

ในหลวงกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์)

อีกประการหนึ่งที่แสดงถึงความเป็น "พระธรรมราชา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ดีก็คือ พระบรมราโชวาทที่พระราชทานให้แก่คณะบุคคลในโอกาสต่างๆ กัน  เนื้อหาในพระบรมราโชวาทนั้นสามารถบ่งบอกได้ว่า พระองค์ทรงมีความเข้าใจในธรรมอย่างลึกซึ้งเพียงใด  เช่น  พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศ เรื่อง "ศึกษาธรรมเพื่ออะไร" เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓  นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงอธิบายหลักการปฏิบัติสมาธิได้อย่างลึกซึ้งมาก  แสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านไม่เพียงแต่ทรงศึกษาธรรมเท่านั้น แต่ยังทรงปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังด้วย

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฒโน) ได้บอกเล่าถึงความสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ดังนี้

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่พระชนมพรรษายังน้อย ดังที่ได้เคยทราบว่า ได้ทรงพอพระราชหฤทัยในการฟังเทศน์ที่มีอยู่เป็นประจำ  ในคราวบำเพ็ญพระราชกุศลถวายที่พระบรมศพรัชกาลที่ ๘  แม้จะเป็นเทศน์กัณฑ์ยาวก็ทรงพอพระราชหฤทัยฟัง  ทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนา  เมื่อได้ทรงพบปะกับพระมหาเถระผู้ใหญ่ก็มีพระราชปุจฉาและทรงสดับข้อธรรมนั้นๆ อยู่เนืองๆ  โดยเฉพาะได้มีโอกาสเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดบวรนิเวศวิหาร (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) ได้ทรงสดับฟังธรรมเป็นครั้งคราวตลอดมา ทำให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยในธรรมและสนพระราชหฤทัยในพุทธศาสนามากขึ้น"

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว!! "ธรรมราชา" ผู้ทรงศรัทธาในพุทธศาสนามาแต่ครั้งพระเยาว์ ... ตราบเท่าจนวันนี้ก็ยังไม่เคยจางหายไปจากพระราชหฤทัย!!

ในหลวงกับสมเด็จพระญาณสังวรฯ

เราจะเห็นว่า ความสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีมานานแล้ว และไม่เคยจางหายไปจากพระราชหฤทัยของพระองค์จวบจนถึงปัจจุบัน  ความศรัทธาที่แน่วแน่ในพระพุทธศาสนานี้เองที่ทำให้พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการพระอาจารย์ต่างๆ แม้ท่านเหล่านั้นจะอยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารก็ตาม

พระอริยเจ้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการนั้นมีหลายองค์  เช่น  พระป่าวิปัสสนากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นที่พระองค์ทรงนับถือเป็นพระอาจารย์  นอกจากนี้ก็มีหลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) เป็นต้น  ซึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการพระอริยเจ้าทั้งหลายนั้น พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารสนทนาธรรมกับพระอริยเจ้าอยู่เสมอๆ  เนื้อหาในการสนทนาธรรมระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระอริยเจ้าทั้งหลายนั้นเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง  บางครั้งลูกศิษย์ของพระอาจารย์ทั้งหลายก็ได้บันทึกเทปเอาไว้  บางครั้งพระอาจารย์ท่านก็เป็นผู้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังอีกทีหนึ่ง

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่บทสนทนาพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระอริยเจ้าที่ได้มีการถ่ายทอดและเก็บรักษาเอาไว้นั้นมีอยู่ไม่มากนัก  แต่เพียงแค่นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้เราได้รู้ว่า ในหลวงของเรานั้นทรงเป็น "พระธรรมราชา" อย่างแท้จริง

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการศึกษาบทพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมนี้ ซึ่งเพียงแค่ได้ศึกษาทำความเข้าใจอย่างละเอียดก็เสมือนหนึ่งได้ศึกษาหนังสือธรรมะเล่มใหญ่เล่มหนึ่งเลยทีเดียว

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว!! "ธรรมราชา" ผู้ทรงศรัทธาในพุทธศาสนามาแต่ครั้งพระเยาว์ ... ตราบเท่าจนวันนี้ก็ยังไม่เคยจางหายไปจากพระราชหฤทัย!!

ในหลวงกับหลวงปู่แหวน

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว!! "ธรรมราชา" ผู้ทรงศรัทธาในพุทธศาสนามาแต่ครั้งพระเยาว์ ... ตราบเท่าจนวันนี้ก็ยังไม่เคยจางหายไปจากพระราชหฤทัย!!

ในหลวงกับหลวงปู่ขาว

 

 

ที่มา : หนังสือ "มหาบพิตร : ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ", วีระวัฒน์ ชลสวัสดิ์