"พระมงคลวิเสสกถา"!! พระธรรมเทศนาตามโบราณราชประเพณี...ที่ "สมเด็จพระสังฆราช" เทศน์ถวายต่อหน้าพระพักตร์ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"!!

รู้จริง...รู้แจ้ง...ทุกเรื่องราวแห่งพระอริยสงฆ์ http://panyayan.tnews.co.th

"พระมงคลวิเสสกถา" เป็นพระธรรมเทศนาสำคัญซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นธรรมเนียมพระราชประเพณีและมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน  พระสงฆ์ผู้ที่จะรับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนานี้ ส่วนใหญ่จะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าจะต้องเป็นสมเด็จพระสังฆราช  นอกเสียจากว่าพระสังฆราชประชวร จึงจะขอพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นสมเด็จพระราชาคณะองค์อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน  ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

หลักการสำคัญสำหรับพระสงฆ์มหาเถระที่จะยึดถือเป็นหลักในการถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถาคือ  เมื่อถวายพระธรรมเทศนาจะต้องพรรณนาพระราชจรรยาอันวิเศษโสภณที่พระเจ้าแผ่นดินได้ปฏิบัติแล้วเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและปวงประชาราษฎร์  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงสดับฟังแล้วก็ทรงพิจารณาอยู่เนือง ๆ  เมื่อพิจารณาอยู่เนือง ๆ แล้ว ทรงตระหนักรู้ถึงประโยชน์และผลดีของพระราชจรรยานั้น ๆ แล้วทรงเกิดพระปีติปราโมทย์ในคุณธรรมความดีนั้น ๆ  และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงเกิดปีติปราโมทย์ตื้นตันใจในผลดีแห่งพระราชจรรยานั้น ๆ แล้วก็จะเป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญปฏิบัติพระราชจรรยานั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป

นอกจากนี้ พระมงคลวิเสสกถายังมีนัยสำคัญที่ซ่อนเอาไว้ก็คือ เป็นพระธรรมเทศนาที่แยบคาย สอดแทรกด้วยกุศโลบาย เพื่อถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าแผ่นดิน

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสว่า

"อันพระเจ้าแผ่นดินย่อมเป็นผู้สูงสุดในมนุษยนิกาย ยากที่จะมีใครกล้าถวายโอวาทได้จังๆ  ถึงอย่างนั้น ผู้หวังประโยชน์ในพระองค์จึงหาช่องทางที่จะถวายด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง  อันการกล่าวพระราชจรรยานั้นเป็นอุบายถวายโอวาทอย่างละเมียด จึงเป็นแบบที่โบราณบัณฑิตได้ใช้มาประการหนึ่ง  เมื่อว่าถึงการพระศาสนาก็เป็นหน้าที่พระธรรมกถึกจะถือโอกาสนั้นๆ ชักประชุมชนตั้งแต่พระมหากษัตริยเจ้าเป็นต้นไป ให้ตั้งอยู่ในกุศลสมาทาน"

สำหรับเนื้อหาและรูปแบบในพระมงคลวิเสสกถาที่ได้ยึดถือเป็นหลักต่อ ๆ กันมาก็คือ เนื้อหาของพระธรรมใน "ทศพิธราชธรรม" โดยจำแนกมาอธิบายต่าง ๆ กันไป  ส่วนรูปแบบนั้น เดิมทีไม่ปรากฏชัดว่าจัดรูปแบบเป็นอย่างไร  แต่เริ่มมีการจัดรูปแบบที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามสืบต่อกันมาในสมัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นผู้ทรงริเริ่มขึ้น โดยแบ่งรูปแบบเนื้อหาออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้

๑. อัตตหิตสมบัติ  ได้แก่  การพรรณนาพระราชจรรยา พระคุณธรรมที่ได้ทรงยึดถือปฏิบัติและบำเพ็ญ เพื่อยังความแช่มชื่นเฉพาะพระองค์ โดยเป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลให้ทรงมีพระราชปณิธานในการประกอบพระราชกรณียกิจอันดีงามนั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป

๒. ปรหิตปฏิบัติ  ได้แก่  การพรรณนาพระคุณธรรมที่ได้ทรงยึดถือปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่พสกนิกร

๓. รัฏฐาภิปาลโนบาย  ได้แก่  การพรรณนาพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติแก่ประเทศและพสกนิกร

 

"พระมงคลวิเสสกถา"!! พระธรรมเทศนาตามโบราณราชประเพณี...ที่ "สมเด็จพระสังฆราช" เทศน์ถวายต่อหน้าพระพักตร์ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"!!

สำหรับในรัชกาลปัจจุบันนั้น  "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ทรงมีความผูกพันกับ "สมเด็จพระญาณสังวรฯ" เพราะทรงเคยเป็น "พระอภิบาล" หรือ "พระพี่เลี้ยง" (ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นเทพ โดยมีชื่อตามสมณศักดิ์คือ "พระโศภณคณาภรณ์") ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกผนวชเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ก่อนหน้าที่สมเด็จพระญาณสังวรฯ จะทรงดำรงตำแหน่งพระสังฆราช (ในช่วงเวลานั้นยังคงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะอยู่) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระญาณสังวรฯ รับพระราชทานถวาย "พระมงคลวิเสสกถา" ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาหน้าพระที่นั่งในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๕

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระญาณสังวรฯ จึงทรงทำหน้าที่รับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์พิเศษนี้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำเรื่อยมา  จนเมื่อสุขภาพของสมเด็จฯ ท่านไม่เอื้ออำนวย จึงไม่ได้รับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนาในพระราชพิธีนี้อีก

 

"พระมงคลวิเสสกถา"!! พระธรรมเทศนาตามโบราณราชประเพณี...ที่ "สมเด็จพระสังฆราช" เทศน์ถวายต่อหน้าพระพักตร์ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"!!

พระมงคลวิเสสกถา

พระธรรมเทศนาในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

วันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐

สมเด็จพระญาณสังวรฯ รับพระราชทานถวาย

---------------------------------------------------------------------

 

...  "ขันติ" เป็นประธาน เป็นเหตุแห่งคุณ คือ ศีลและสมาธิ  กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญเพราะขันติเท่านั้น

ขันติเป็นธรรมเครื่องทำให้งามคู่กับ "โสรัจจะ" ซึ่งเป็นธรรมเครื่องทำให้งามเช่นกัน  ขันติเป็นความอดทน โสรัจจะเป็นความเสงี่ยม  ผู้มีขันติ ความอดทน และมีโสรัจจะ ความเสงี่ยม นั้นเป็นผู้งาม  ธรรมสำคัญสองประการนี้เป็นที่ปรากฏเด่นชัดในสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าตลอดมา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพระชนม์ชีพมากมายเกินกว่าจะนำมารับพระราชทานกล่าวถึงได้หมดสิ้น  แต่ย่อมเป็นที่ประทับจับใจทุกผู้ที่ได้รับรู้รับเห็นทั้งปวง  บางเหตุการณ์ก็หนักหนาใหญ่หลวงยิ่งนัก ยากที่ผู้ใดจักรับได้อย่างมีความอดทน ด้วยขันติมั่นคง มิได้ปรากฏความหวั่นไหวให้เป็นที่รู้เห็น เช่นที่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงรับได้ตลอดมา

พระขันติธรรมที่เลิศล้ำนักหนาปรากฏแก่สายตาแก่จิตใจพสกนิกรไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง  ยิ่งวัน พระขันติธรรมยิ่งใหญ่หลวงพ้นพรรณนา

วิกฤตการณ์บ้านเมืองที่พากันวิตกกังวลไปทุกหนทุกแห่งจนปรากฏเป็นความชุลมุนวุ่นวาย หวาดกลัว ไม่กล้าเผชิญชีวิตต่อไป ก็มีอยู่ไม่น้อย  เหตุเพราะขันติความอดทนไม่เพียงพอที่จะรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าจะเป็นอยู่ช้านานเพียงใด

วิกฤตการณ์นี้ที่ประกาศรับรองพระขันติธรรมล้ำเลิศเป็นอัศจรรย์แห่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐแท้จริง ทรงสงบนิ่งด้วยพระขันติธรรมและพระโสรัจจธรรม  ขณะที่แทบทุกผู้ทุกคนกล่าวโทษใครต่อใครว่าเป็นเหตุ จนแทบไม่เหลือคนดีที่ไม่ถูกกล่าวโทษจากคำของผู้นั้นบ้าง ผู้นี้บ้าง  ขณะที่ทรงสงบอยู่อย่างงดงามยิ่ง ทั้งที่ประจักษ์แก่ใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวงว่า ทรงมีพระราชหฤทัยเป็นห่วงพสกนิกรอย่างยากจะประมาณได้

ขันติเป็นประธาน คือ ขันติเป็นใหญ่ เป็นเหตุนำ  และสิ่งที่ขันตินำให้เกิดคือ "ศีล" และ "สมาธิ" อันเป็นคุณทั้งสองประการ  ศีลก็ตาม สมาธิก็ตาม จักไม่เกิดจากความไม่อดทนหรือไม่มีขันติ

ขันติทำให้ยับยั้งการทำลายชีวิต เพราะอดทนได้ต่อความยั่วทางอารมณ์ เช่น ความโกรธ ความปรารถนา ต้องการที่จะผิดศีลธรรมอย่างรุนแรง จนถึงอาจจะทำลายชีวิตกันได้เพียงเพื่อให้สมปรารถนา

ขันติทำให้รักษาศีลข้อ ๒ ได้  ศีลข้อ ๒ คือ เว้นจากการถือเอาของที่ไม่ใช่ของตน  เมื่อความปรารถนาต้องการเกิดขึ้น แม้ไม่มีขันติความอดทนเพียงพอก็ยอมละเมิดศีลข้อ ๒

ขันติทำให้รักษาศีลข้อ ๓ คือ เว้นจากการประพฤติผิดประเวณี  ก็มีเหตุผลเช่นเดียวกันว่า รักษาศีลข้อนี้ไม่ได้ แม้ไม่รู้จักอดทนต่อความใคร่ความปรารถนาที่ผิดศีลผิดธรรม  ต้องมีขันติ อดทนต่อความใคร่ความปรารถนาที่ผิดศีลผิดธรรมได้ จึงจะรักษาศีลข้อ ๓ ได้

ขันติทำให้รักษาศีลข้อ ๔ ได้ คือ  มีความอดทน เอาชนะความรู้สึกที่อยากจะพูดความไม่จริงเพื่อทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดได้ จึงจะรักษาศีลข้อ ๔ ได้  ทุกคนอาจจะมีเวลาต้องการบิดเบือนความจริงบางอย่างเพื่อประโยชน์ของตน  แต่ถ้าอดทน สามารถเอาชนะความต้องการนั้นได้ ก็จะรักษาศีลข้อ ๔ ได้ ได้เป็นผู้มีวาจาสัตย์ ซึ่งเป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งปวง

และขันติทำให้รักษาศีลข้อ ๕ ได้  ผู้ที่เสพของเมาคือผู้ที่ไม่สามารถอดทนเอาชนะความรู้สึกที่ต้องการอารมณ์มึนเมาได้ จึงไม่สามารถรักษาศีลข้อ ๕ ได้  แม้จะเคยได้รับรู้รสชาติของสิ่งมอมเมามาก่อน เคยรู้สึกเป็นสุขกับความเคลิบเคลิ้มที่เกิดแต่อำนาจของสิ่งเสพติดทั้งหลาย แต่ถ้ามีขันติเกิดขึ้น เอาชนะความปรารถนาต้องการจะได้รับอารมณ์มึนเมาได้ ก็จะสามารถรักษาศีลข้อ ๕ ได้ เลิกละการเสพสิ่งมอมเมาทั้งหลายได้

ผู้มีขันติ อดทนได้ เอาชนะความโกรธ ความปรารถนาต้องการที่ผิดศีลธรรม ความใคร่ ความมีเจตนาให้เกิดความเข้าใจผิดจากความจริง และความต้องการเคลิบเคลิ้มมึนเมาได้ จักเป็นผู้มีศีลได้และมีสมาธิได้ เพราะใจที่มีศีลสะอาดนั้นเป็นใจที่สมาธิเกิดง่าย จึงเป็นใจที่มีสมาธิได้

ผู้มีศีล มีสมาธิ ย่อมเป็นผู้ที่สามารถยังกุศลธรรมคือความดีทั้งปวงให้เจริญได้  ท่านจึงแสดงไว้ว่า กุศลธรรมย่อมเจริญเพราะขันติเท่านั้น

สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงทำพระคุณได้ใหญ่หลวง เกินความสามารถ เกินความเข้าใจของคนทั้งหลายทั้งนั้น นั่นเป็นเพราะทรงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ อันเกิดแต่ทรงบริบูรณ์ด้วยพระขันติธรรมสม่ำเสมอ ทั้งเพิ่มพูนยิ่งขึ้นตามกาลเวลา ตามความทรงพระเจริญแห่งพระชนมายุกาล

เหตุการณ์แรงร้าย น่าประหวั่นพรั่นพรึงเพียงใด มิอาจเอาชนะพระขันติธรรมได้ ดังปรากฏประจักษ์แจ้งชัดแล้วในปัจจุบัน  วิกฤตการณ์เลวร้ายนักหนาหาอาจยังความเศร้าหมองให้เกิดแก่ศีล สมาธิ กุศลธรรมใดๆ ในพระราชหฤทัยได้  ...

------------------------------------------------------------------------

 

"พระมงคลวิเสสกถา"!! พระธรรมเทศนาตามโบราณราชประเพณี...ที่ "สมเด็จพระสังฆราช" เทศน์ถวายต่อหน้าพระพักตร์ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"!!

 

ที่มา : หนังสือ "มหาบพิตร : ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ", วีระวัฒน์ ชลสวัสดิ์