ในหลวง...ในรอยธรรม!! ผลของการฝึก "สมาธิ" ทำให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ สามารถทรงงานหนักได้อย่างต่อเนื่อง...โดยไม่มีอาการง่วงหรือเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย!!

รู้จริง...รู้แจ้ง...ทุกเรื่องราวแห่งพระอริยสงฆ์ http://panyayan.tnews.co.th

ผลของการฝึกสมาธิทำให้ในหลวงสามารถทรงงานหนักต่อเนื่อง

โดยมิทรงเกิดอาการง่วง เหน็ดเหนื่อย หรือเบื่อหน่าย

--------------------------------------------------

 

"เท่าที่ผมสังเกตเอานะครับ... พระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงทรงศึกษาสมาธิแต่อย่างเดียว แต่ได้ทรงนำสมาธิมาใช้ในพระราชกรณียกิจประจำด้วย

ในเรื่องนี้เราจะสังเกตเห็นว่า  ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตามที่โดยปกติแล้ว อย่างพวกเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่น่าจะทำได้ แต่พระองค์ทรงทำได้  อย่างงานที่ต้องประทับเป็นเวลานาน ๆ ติดต่อกันถึง ๒-๓ ชั่วโมง จะทรงปฏิบัติได้อย่างไม่น่าเชื่อ คือไม่ทรงมีอาการเหนื่อยหรือง่วงเลยแม้แต่น้อย

ตลอดเวลาที่ผมอยู่ในตำแหน่ง ๑๑ ปี ๑๑ เดือน ผมยังไม่เคยเห็นเลยว่า เวลาเสด็จพระราชดำเนินที่ใดแล้วจะทรงแสดงอาการเหนื่อยจนถึงขนาดนั่งหลับ...ไม่มี แม้จะเป็นการทรงงานทั้งวันก็ตาม  ดังเรื่องที่จำได้และจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้"

ทรงขับรถพระที่นั่งเองทั้งขาไปและกลับ...แม้ระยะทางไกลเพียงไหนหรือเวลานานเท่าใด

"คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า  เวลาเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดทรงขับรถยนต์ด้วยพระองค์เอง

ผมได้เคยตามเสด็จฯ ทั้งในและนอกรถพระที่นั่งมาหลายต่อหลายครั้ง เป็นระยะทางทั้งใกล้และไกล ถนนเรียบบ้าง ขรุขระบ้าง ลุ่มดอนบ้าง ตามสภาพภูมิประเทศ  บางครั้งเมื่อเสด็จฯ ถึงที่หมายแล้ว ทรงจอดรถพระที่นั่งและเสด็จฯ ลงไปประกอบพระราชกรณียกิจด้วยความตรากตรำพระวรกาย  เช่น  พระราชดำเนินเป็นระยะทางไกลและเป็นเวลาหลายชั่วโมง  ขากลับนึกว่าจะทรงพักผ่อนพระวรกายและให้นายสารถีทำหน้าที่ขับรถพระที่นั่งถวายก็เปล่า ... กลับทรงขับเองอีกโดยไม่ทรงแสดงพระอาการเหนื่อยหรือง่วง!!

เจ้าหน้าที่ผู้ตามเสด็จฯ นั้น พอกลับขึ้นไปบนรถก็ต้องผลัดกันทำหน้าที่และผลัดกันหลับไปในรถเพราะความเหน็ดเหนื่อย!!"

 

ในหลวง...ในรอยธรรม!! ผลของการฝึก "สมาธิ" ทำให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ สามารถทรงงานหนักได้อย่างต่อเนื่อง...โดยไม่มีอาการง่วงหรือเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย!!

 

ในหลวงทรงสามารถประทับเก้าอี้ติดต่อกัน ๒-๓ ชั่วโมง และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตถึง ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ คน

"ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่เคยรับพระราชทานปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตรจากพระหัตถ์ คงจะเคยตระหนักและอัศจรรย์ใจกันมาแล้วว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนั่งอยู่บนพระเก้าอี้ที่ประทับได้เป็นเวลาติดต่อกัน ๒-๓ ชั่วโมง  ทรงรับปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตรที่เจ้าหน้าที่ทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วพระราชทานให้แก่บัณฑิตเหล่านั้นคนแล้วคนเล่า บางครั้งรวมเป็นจำนวน ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ คน โดยไม่ทรงมีพระกิริยาที่ส่อความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหรือเบื่อหน่ายพระวรกาย และอยู่ในท่าตรงเช่นนั้นจนเสร็จพระราชกรณียกิจ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นการพระราชทานปริญญาบัตรเหมือนกัน  ผมได้เดินทางไปล่วงหน้าเพื่อดูความเรียบร้อยก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ  ซึ่งโดยปกติแล้วก่อนที่จะมีพิธีรับพระราชทานปริญญาแต่ละครั้งนั้น เขาจะต้องมีการซ้อม จะมีการเกณฑ์เอาอาจารย์มานั่งแทน มีการผลัดเปลี่ยนกัน ๓-๔ คน กว่าการซ้อมจะแล้วเสร็จ และทุกคนก็ต้องบ่นว่าปวดเมื่อยเหมือนกันหมด

ทีนี้มาลองคิดดู ... พอถึงวันพระราชทานจริง ๆ ช่วงเวลาที่ครูบาอาจารย์ต้องผลัดกัน ๓-๔ คน ในเวลาซ้อมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวเท่านั้น พระราชทานจนเสร็จพระราชกรณียกิจ ไม่ได้เปลี่ยนเลย!!

มิหนำซ้ำ บางครั้งพอกลับจากพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว กลับถึงพระตำหนักสวนจิตรลดาก็ยังเสด็จไปวิ่งบริหารกายอีกด้วย!!"

 

ในหลวง...ในรอยธรรม!! ผลของการฝึก "สมาธิ" ทำให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ สามารถทรงงานหนักได้อย่างต่อเนื่อง...โดยไม่มีอาการง่วงหรือเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย!!

เรื่องอัศจรรย์ในวันครบรอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส

"วันที่ ๒๘ เมษายน มีความสำคัญอย่างยิ่งอยู่ประการหนึ่งคือ...เป็นวันครบรอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ในวันนั้นนอกจากจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ตามประเพณีแล้ว ตอนค่ำก็มักจะมีงานพระราชทานเลี้ยงอาหารแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และข้าราชบริพารที่ไปเฝ้าฯ ถวายพระพรในโอกาสนี้

ถ้าเป็นขณะที่ประทับอยู่ที่วังไกลกังวล การพระราชทานเลี้ยงก็มักจะจัดที่สนามหญ้าริมทะเล หน้าพระตำหนัก  นอกจากโต๊ะเสวยซึ่งใช้มหาดเล็กเชิญพระกระยาหารและนำอาหารไปวางให้ผู้รับพระราชทานจนถึงโต๊ะแล้ว ผู้รับพระราชทานเลี้ยงคนอื่นจะลุกไปตักอาหารเองแบบบุฟเฟต์แล้วยกไปนั่งรับประทานตามโต๊ะต่าง ๆ ที่จัดไว้รอบ ๆ โต๊ะเสวย

สมัยนั้น (พ.ศ. ๒๕๑๓) เป็นธรรมเนียมที่พอเสวยเสร็จ พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังเวทีที่จัดเตรียมไว้ แล้วทรงดนตรีร่วมกับนักดนตรีสมัครเล่นวง อ.ส. (ย่อมาจาก 'อัมพรสถาน' ซึ่งเป็นชื่อพระที่นั่งอัมพรสถานในพระราชวังดุสิต) พระราชทานแก่ผู้ที่ไปเฝ้าฯ รับพระราชทานเลี้ยงในงานนั้น โดยเริ่มทรงดนตรีเมื่อเวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา  และครั้งหนึ่งประทับอยู่บนเวทีโดยไม่ทรงลุกหรือเสด็จฯ ลงไปที่ไหนเลย จนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น  ระหว่างนั้น นักดนตรีของ อ.ส. ได้ผลัดกันถวายบังคมแล้วถอยออกไปเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนอิริยาบถกันเป็นครั้งคราว

ครั้งนั้นจำได้ว่า  พอสว่างจึงเสด็จฯ ลุกจากเวที ทรงเป่าแตรนำขบวนนักดนตรีและผู้ที่ยังเหลือเฝ้าฯ อยู่ เดินลงไปยังชายหาดหน้าวังไกลกังวล แล้วประทับบนเรือใบเพื่อทรงเรือใบต่อ!!

ผมจำได้ว่า  เมื่อเห็นเหตุการณ์ครั้งแรก ผมมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งในพระอนามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนถึงกับต้องปรารภกับ พล.ท. ม.จ.จินดา สนิทวงศ์ นายแพทย์ประจำพระองค์ผู้หนึ่ง ว่าประทับอยู่เป็นเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมงโดยไม่ทรงลุกและเสด็จห้องสรงเลยอย่างนั้นจะไม่ทำให้ทรงพระประชวรด้วยพระโรคพระวักกะอักเสบดอกหรือ ... คุณหมอจินดาได้แต่ยิ้มและเฉยอยู่

ต่อมาเมื่อได้ตามเสด็จฯ และสังเกตเห็นมากและบ่อยขึ้น ผมจึงได้เริ่มรู้ว่า  ที่ทรงสามารถอดทนปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เป็นเวลานานติดต่อกันโดยไม่ทรงมีพระอาการเหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่ายเลยนั้น...เป็นผลของพระราชสมาธิโดยแท้!!"

 

ในหลวง...ในรอยธรรม!! ผลของการฝึก "สมาธิ" ทำให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ สามารถทรงงานหนักได้อย่างต่อเนื่อง...โดยไม่มีอาการง่วงหรือเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย!!

 

เวลาทรงเรือใบหรือวิ่ง... ในหลวงทรงสามารถทำได้เป็นเวลานานโดยที่พระอัสสาสะและพระปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า-ออก) ยังคงมีความสม่ำเสมอ

"ผู้ที่เคยเฝ้าฯ ดู หรือตามเสด็จฯ เวลาทรงเรือใบหรือทรงกีฬาอย่างอื่น ย่อมตระหนักด้วยกันทุกคนในพระราชสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว เพราะทรงด้วยความตั้งพระราชหฤทัย เช่นเดียวกับในการประกอบพระราชกรณียกิจอย่างอื่นโดยทั่วไป ... เรือใบนั้นประทับอยู่ได้นานเป็นเวลาหลายชั่วโมง อย่างเมื่อครั้งเสด็จฯ ทรงแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทยจากหัวหินไปพัทยา เป็นต้น

เมื่อก่อนนี้โปรดการบริหารพระวรกายด้วยการวิ่ง  ถ้าเป็นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานก็ทรงวิ่งในศาลาดุสิดาลัย  ครั้งหนึ่ง ๆ เป็นระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร

เมื่อยังปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจราชสำนักประจำอยู่นั้น ผมเคยตามเสด็จเป็นประจำเวลาทรงวิ่ง  สังเกตเห็นทุกครั้งที่ตามเสด็จฯ ว่าทรงก้าวยาวและพระองค์ลอย พระอัสสาสะและพระปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า-ออก) สม่ำเสมอ  ในขณะที่พวกเราตามเสด็จฯ ซอยเท้าถี่ยิบเพื่อให้ทัน และหอบกันอย่างไม่อับอาย"

 

ในหลวง...ในรอยธรรม!! ผลของการฝึก "สมาธิ" ทำให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ สามารถทรงงานหนักได้อย่างต่อเนื่อง...โดยไม่มีอาการง่วงหรือเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย!!

 

[พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร]

------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

ที่มา : หนังสือ "สองธรรมราชา", อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์