น้อมคำสอนในหลวง ร.9 “มีสติ รู้ตัวเป็นวิธีอย่างหนึ่งที่จะทำให้ไม่มีภัย” ท่าน ว.วชิรเมธีแนะ ทำอย่างไรเมื่อถูกขับรถปาดหน้า

ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่ http://panyayan.tnews.co.th/

เมื่อปลายปีที่แล้ว ข่าวที่ฮือฮาในโซเชียล คือเรื่องกรณีของ ดาราพิธีกรดังทำร้ายร่างกายคู่กรณี ที่ขับรถเฉี่ยวชนกัน จนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย กลายเป็นที่มา วลีเด็ด “กราบรถกู”

จนมาวันนี้ ข่าวที่ฮือฮาที่สุดคงหนีไม่พ้น เรื่องลุงวิศวะ กับ เด็ก ม.4 “มึงเก๋าเหรอ”

 

นอกจากเรื่องราวที่เป็นข่าวดังซึ่งเราได้รับรู้ผ่านกันทางโลกโซเชียลแล้ว เรื่องราวความรุนแรงที่เกิดจากการใช้รถ ใช้ถนนมีให้เห็นในทุกวันในชีวิตประจำวัน ทางทีมปัญญาญาณ ทีนิวส์ จึงได้รวบรวมเรื่องราว ข้อคิด ในเรื่องของสติ และสุขภาพจิตมาฝากกัน     

น้อมคำสอนในหลวง ร.9 “มีสติ รู้ตัวเป็นวิธีอย่างหนึ่งที่จะทำให้ไม่มีภัย” ท่าน ว.วชิรเมธีแนะ ทำอย่างไรเมื่อถูกขับรถปาดหน้า

 

เริ่มจาก ท่าน ว.วชิรเมธี พระนักเทศน์และนักเขียนชื่อดัง เคยกล่าวเรื่องการใช้ธรรมะในการแก้ปัญหา ในการขับขี่รถยนต์ไว้ว่า

โดนขับรถปาดหน้า โมโหมาก?
(๑) บอกตัวเองว่าโกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ด่าคือมาร ระรานคือบาป
(๒) เปลี่ยนการด่าเป็นการแผ่เมตตาให้เขาถึงที่หมายโดยปลอดภัย
(๓) เตือนตนไว้ว่า อย่าขับรถปาดหน้าใคร เพราะอาจมีอันตรายรอบด้าน

ทั้งนี้ ทีมข่าว ปัญญาญาณ ทีนิวส์ ขอยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ มหาภูมิพล อดุลยเดช อันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องสติ เพื่อเตือนสติพวกเราชาวไทย ทั้งเรื่องการใช้รถใช้ถนน ตลอดไปจนถึงเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ใจความว่า

น้อมคำสอนในหลวง ร.9 “มีสติ รู้ตัวเป็นวิธีอย่างหนึ่งที่จะทำให้ไม่มีภัย” ท่าน ว.วชิรเมธีแนะ ทำอย่างไรเมื่อถูกขับรถปาดหน้า

สติคือธรรมะแห่งปัจจุบันขณะ 

... การทำดีนั้นมีหลายอย่าง  อย่างที่ท่านทำดีโดยที่ได้ร่วมกุศลเป็นเงินเพื่อที่จะแผ่ไปช่วยผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นก็เป็นการกระทำที่ดีอย่างหนึ่ง  การกระทำที่ดีอีกอย่างที่ได้กล่าวก็คือ มีความปรองดองสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อุดหนุนกัน แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน  โดยเฉพาะอย่างหมู่คณะที่ตั้งขึ้นมาอย่างนี้ก็ช่วยกันในทางวัตถุและในทางจิตใจ  ความสามัคคีนี้ก็เป็นการทำดีอย่างหนึ่ง

การทำดีอีกอย่างซึ่งจะดูลึกซึ้งกว่า  คือปฏิบัติด้วยตนเอง ปฏิบัติให้ตัวเองไม่มีความเดือดร้อน  คือพยายามหันเข้าไปในทางปัจจุบันให้มาก

อย่างง่ายๆ ก่อน  คือพิจารณาดูว่า ตัวเองกำลังคิดอะไร กำลังทำอะไร ให้รู้ตลอดเวลา แล้วรู้ว่าทำอะไร  อย่างนี้เป็นวิธีอย่างหนึ่งที่จะทำให้ไม่มีภัย  ถ้าเราคอยระมัดระวังตลอดเวลา ให้รู้ว่าตัวทำอะไร ให้รู้ว่าการทำนี้เราทำอะไรตลอดเวลา ก็จะไม่ผิดพลาด  เพราะว่าโดยมาก ความผิดพลาดมาจากความไม่รู้ในปัจจุบัน  บางทีเราก็เผลอ

สมมติว่า มีใครมาพูดอะไรไม่ดี เราก็โกรธ  ถ้าโกรธแล้ว มันก็เป็นผลที่ไม่ดีต่อไป  เพราะว่าคนที่มาพูดไม่ดีนั้นก็อาจจะไม่ตั้งใจมาพูดไม่ดี  เขาเผลอไปเหมือนกัน  เราเผลอไปอีกทีก็ทำให้โกรธ อาจทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรงไปได้โดยใช่เหตุ

ถ้าสมมติว่า เรายืนฟัง  เราฟังเขาแล้วเวลานี้ก็ไม่พอใจ  แต่ว่าเราดูว่าเขาไม่พอใจ  รู้ว่าไม่พอใจแล้วก็นิ่งเสียครู่หนึ่ง นึกว่าทำไมเขาพูดอย่างนั้น  ในเวลานั้น เขาอาจจะอธิบายให้เราฟังได้แล้วว่า การทำนั้นหรือการที่เขาพูดนั้น เขาพูดทำไม  ซึ่งเขาไม่ได้มาพูดในทางที่จะรุกรานเรา

เช่น  เวลาเราทำอะไรอย่างหนึ่ง มีคนมาพูดว่าไม่ดี เราก็เคือง  เราเคืองนั้นก็เรียกว่าโกรธ  แต่ว่าเขาอาจจะพูดอย่างนั้นเพราะหวังดี เห็นว่าอันตรายที่ทำอย่างนั้น  อย่างเราจะก้าวลงข้ามถนน แล้วมีคนมาดึงแขนเราอย่างกระชากแขน  เขาทำร้ายเรา  แต่ความจริง เขากระชากแขนนั้น เขาไม่ได้ตั้งใจทำร้าย  เขาดึงเราเพราะกลัวว่าจะถูกรถชน  ถ้าเราเห็นอย่างนั้น เรารู้ เราไม่โกรธ  แต่ถ้าใครเขาจับแขนเรา  เราเคืองแล้วกระชากแขน ล้มลงไปให้รถชน ดีไหม

ฉะนั้น  ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ คือรู้ว่าทำอะไร รู้ว่าเป็นอะไร รู้ตัวว่าจะทำอะไร มีสติสัมปชัญญะ  ถ้าปฏิบัติเฉพาะสติสัมปชัญญะ แล้วเข้าใจคำว่า “สติสัมปชัญญะ” นี้  อย่างอื่นของธรรมะ ปฏิบัติธรรมะนี้ ก็เป็นการปฏิบัติซึ่งเริ่มต้น  แล้วต่อไปจะไปนั่งสมาธิ ...

 

สติคือความดีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ทันที 

 

... ท่านทั้งหลายสนใจในการอยู่ดีกินดี และสนใจในความดีในจิตใจ สามารถที่จะดำรงชีวิตด้วยความสงบสุข คืออยู่ดีกินดี  ก็หมายความว่าทำหน้าที่อาชีพอย่างสุจริต

และจิตใจที่มีความสุขนั้นทำด้วยการฝึกจิตใจแต่ละบุคคลให้เห็นความดีด้วยสติสัมปชัญญะ  ถือว่าเป็นขั้นที่จะไปสู่ความสงบ  ไม่ใช่ว่าไปนั่งวิปัสสนาในวัดเท่านั้นเอง  นั่นนะ ส่วนหนึ่งนั่งวิปัสสนา นั่งกรรมฐาน

แต่การปฏิบัติทุกวันทุกเวลาที่ตื่นมีสติสัมปชัญญะก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนทำได้ถ้าตั้งใจ  อันนี้เป็นความดี ความอดทน และก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนา ...

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยพบเจอคนอารมณ์รุนแรงมากขึ้น จากความเครียดสะสม ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาและกำลังจะกลายเป็นสังคมที่ลุแก่โทสะ โมโหจนขาดสติ

การเห็นสิ่งของสำคัญกว่าชีวิต ต้องดูลึกลงไปถึงต้นทุนชีวิต ความกดดัน ความเครียดสูง ทำให้เห็นใจคนอื่นน้อยลง นึกถึงแต่ตัวเองและความสูญเสียทรัพย์สิน

วิธีแก้ความโมโห ต้องมีสติรู้เท่าทันตัวเองเติมความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจ ต้องรู้จักควบคุมการแสดงออกคิดถึงผลที่จะตามมาให้มาก

ไญยิกา เมืองจำนงค์ (ทีมข่าวปัญญาญาณ ทีนิวส์)