จากก้นบึ้งหัวใจ เลือดศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี  "ดอยธิเบศร์ ดัชนี" สู้ไม่ท้อเพราะ "บ้านดำ" คือลมหายใจของพ่อผมที่ฝากไว้กับแผ่นดิน !!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

      จากก้นบึ้งหัวใจ เลือดศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี  "ดอยธิเบศร์ ดัชนี" สู้ไม่ท้อเพราะ "บ้านดำ" คือลมหายใจของพ่อผมที่ฝากไว้กับแผ่นดิน !!

      "บ้านดำ”  บ้าน ศิลปะแบบล้านนา และรวบรวมผลงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์เอาไว้ ซึ่งทุกหลังทาด้วยสีดำ อันเป็นที่มาของคำว่า บ้านดำ ถึงแม้อ.ถวัลย์ จะถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว แต่บ้านดำ ก็ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามา สัมผัสความงดงามของที่แตกต่างไม่เหมือนใครของที่นี่

 

โดยเมื่อวันที่6เมษายน 2560 ที่ผ่านมา คุณดอยธิเบศร์ ดัชนี  บุตรชายคนเดียวของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ได้เผยแพร่ข้อความ ผ่านทางเฟสบุ๊คส่วนตัว เผยความในใจ ที่มีต่อ “บ้านดำ” แห่งนี้ว่า...

"บ้านดำจะอยู่ได้ยังไง"

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ผมถามพ่อว่าอีกหน่อยบ้านดำจะอยู่ได้ยังไง พ่อทำงานหนักขนาดนี้เงินทั้งหมดก็เอามาสร้างบ้านดำและเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา...พ่อตอบผมสั้นๆว่า..."กูไม่รู้เพราะกูคงตายแล้ว มันหมดหน้าที่ของกูแล้ว"

ผมได้ยินแล้วรู้สึกสะเทือนใจมาก ในใจก็ถามตัวเองว่า บ้านดำจะอยู่ได้อย่างไรในอนาคต เพราะบ้านดำมีแต่รายจ่ายที่ต้องจ่ายอย่างน้อยเดือนละ 1 ล้านบาท ผมคิดถึงคำถามนี้อยู่ในหัวตลอดมา พื้นฐานครอบครัวของเราคือศิลปินที่ทำงานศิลปะ ไม่เคยเข้าใจเรื่องกำไรขาดทุนหรือทำธุรกิจใดๆ

ผมจึงตัดสินใจไปศึกษาเรื่องการบริหารจัดการและดูแลพิพิธภัณฑ์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงนั้นผมได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ใหม่ในวงการพิพิธภัณฑ์ ผมได้เดินทางไปหลายทวีปทั่วโลกเพื่อดูพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ได้ศึกษาเรียนรู้จากครูบาอาจารย์และจากภัณฑารักษณ์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ทำให้ผมเข้าใจถึงวิธีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาโท ผมกลับมาบริหารจัดการบ้านดำ โดยการก่อตั้ง Baandam Art space (Bas) ในปี 2007 โดยตั้งใจให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของพิพิธภัณฑ์บ้านดำ และเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานเราสืบไปในอนาคต

ผมได้ทุ่มเทชีวิตคิดค้นและสร้างสรรค์ ออกแบบของต่างๆให้เป็นของที่ระลึกเพื่อสร้างรายได้ให้กับบ้านดำ จากที่บ้านดำไม่เคยมีรายได้ ก็เริ่มมีรายได้เข้ามา พอให้เป็นค่าน้ำค่าไฟต่างๆและเลี้ยงดูคนงานได้บางส่วน

ตลอดระยะเวลา 12 ปี ผมทุ่มเททำหน้าที่อย่างดีที่สุด จนก่อตั้งโครงการต่างๆขึ้นมาหลายโครงการ ซึ่งหลายคนไม่เคยทราบมาก่อน ในทุกๆวันของบ้านดำเรามีค่าใช้จ่ายต่างๆมากมาย รายจ่ายมาจากเงินของพ่อและเงินผม ผมกับพ่อเราคุยกันตลอดถึงกิจกรรมและโครงการต่างๆ ผมรู้ว่าพ่อสร้างที่นี่ขึ้นมาเพื่อเป็นของขวัญแก่บ้านเกิด แก่ประเทศ แก่โลก ทุกวันนี้บ้านดำคือจุดหมายที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกตั้งใจมาชม ทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของชุมชน ของจังหวัด ของประเทศ

หลังจากพ่อตาย ผมเหนื่อยเป็นสามเท่า ต้องหาเงินเพียงคนเดียวเพื่อเอามาใช้จ่าย เราไม่มีทุนสำรอง ลองคิดดูว่า ถ้าเราต้องจ่ายเดือนละ 1 ล้าน 1 ปีเราต้องจ่าย 12 ล้าน บางเดือนก็มากกว่าหากมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ บ้านดำอายุร่วม 50 ปีแล้ว บ้านส่วนใหญ่ทำจากไม้เก่าซึ่งต้องมีการดูแลอยู่ตลอด หลายคนอาจจะมองเห็นผมแต่ภายนอก ลองคิดภาพตามว่า เด็กคนนึงกำพร้าพ่อที่ป่วยหนักและจากไปอย่างกระทันหัน ภายในเวลาสั้นๆ ต้องถูกขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะมีคนมาขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีการบอกกล่าว ทำให้ทรัพย์มรดกทั้งหมดไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ เพราะคดียังไม่สิ้นสุด บริษัทของผมในกรุงเทพลูกน้องขอลาออกทั้งหมดไปตามหาฝัน การเรียนในระดับปริญญาเอกของผมก็เกิดปัญหา อาจารย์สั่งให้ไปดรอป เนื่องจากขาดเรียนไป 3 ครั้ง เพราะไปจัดงานศพพ่อ เงินสำรองของผมต้องถูกนำออกมาใช้จนหมด ผมขายสมบัติส่วนตัวและขายรถของผมไป 5 คันเพื่อนำเงินมาหมุน ในแต่ละเดือนที่เราต้องจ่ายเป็นล้านๆ ซึ่งแต่ก่อนพ่อยังจ่ายในส่วนของพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ผมจ่ายส่วนของบ้านดำอาร์ตสเปซ พอพ่อตายผมต้องเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด

ถามว่าผมต้องลำบากทำไม ทั้งๆที่มีสมบัติจากพ่อ มีรูปเป็นพัน มีบ้านหลายสิบ มีทรัพย์สมบัติต่างๆมากมายที่พ่อสร้างไว้ให้ ผมตอบจากใจจริง ผมเป็นลูกผู้ชายพอที่ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองตั้งแต่มหาวิทยาลัยปี1 จนถึงทุกวันนี้ ผมไม่เคยแบมือขอเงินพ่อ ถ้าพ่อเมตตาให้ผมถึงจะรับ ผมมีผมเป็นจาก 1 สมองและสองมือของผมเอง ส่วนใครจะคิดหรือมองผมยังไงผมไม่ว่ากันเพราะทุกคนล้วนแล้วแต่มีมุมมองของตนเอง ถ้าผมอยากสบายผมคงขายรูปที่ผมมี ขายทีละล้อต ได้เงินมาก้อนนึงก็ใช้จนหมดและขายใหม่ หรือถ้าขี้เกียจดูแลก็ยกบ้านขายทั้งหมดนั่น ผมคงได้เงินหลายพันล้าน ใช้สบายๆยันชาติหน้า

แต่ถามสิว่าทำไมผมไม่ทำ และไม่คิดที่จะทำ เพราะผมคิดเสมอว่าบ้านดำคือมรดกของชาติ คือบ้านของแผ่นดิน เป็นบ้านของคนไทยทุกคน ผมเป็นเพียงผู้ดูแลเท่านั้น หลายปีมานี้บ้านดำทรุดโทรมอย่างหนัก ผมเองก็ทุ่มเทปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อให้มันอยู่ในสภาพที่ดี

แล้วผมก็มานั่งถามตัวเองอีกรอบว่า ที่ผ่านมา 12 ปีเราทำได้ แต่ต่อไปล่ะเราจะต้องเหนื่อยแบบนี้จนตายเหรอ เราจะต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาจ่ายจนตายไปแบบพ่อเหรอ ตอนนี้เราทำได้แล้วต่อไปล่ะใครจะมาทำต่อจากเรา ผมถึงต้องเก็บค่าเข้าชม เพื่ออย่างน้อยให้บ้านดำพอดูแลตนเองได้ เงินส่วนหนึ่งผมเอามาตั้งเป็นมูลนิธิพิพิธภัณฑ์บ้านดำ เพื่ออีกหน่อยผมตายไปจะได้มีมูลนิธิดูแลแทนได้ ทุกวันนี้รายได้ของเราก็ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

ค่าบัตร 80 บาท

#ยกเว้นค่าเข้าชม

-เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร

-นักเรียน/นักศึกษา ในเครื่องแบบหรือแสดงบัตรนักศึกษา

-ข้าราชการ ในเครื่องแบบ

-มักกุเทศก์ ที่แสดงบัตรประจำตัว

-พระภิกษุสงฆ์ ผู้ทรงศีลทุกศาสนา

-สตรีมีครรภ์

-ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

-ผู้พิการทุกประเภท

-องค์กร/หน่วยงาน ของภาครัฐและเอกชนผู้ซึ่งติดต่อมาล่วงหน้า

-โรงเรียน/สถาบันการศึกษาที่มาทัศนศึกษา

วันเปิดเก็บค่าเข้าชมวันแรก ผมทำภาพพิมพ์แจก 100,000 แผ่นมูลค่าแผ่นละ 550 บาท ถ้าผมขายผมจะได้เงิน 55,000,000 บาท

ปีใหม่ไทยผมทำปฏิทินแจก 100,000 แผ่น มูลค่า 250 ถ้าผมขายผมจะได้เงิน 25,000,000 บาท ถามหน่อยผมทำไมคิดให้คนอื่นก่อน สิ่งที่ผมทำให้มันมากกว่าเงินที่ได้รับ 80 บาท ทุกวันเสาร์อาทิตย์เรามีการแสดง สองคณะ วันละสามรอบ ค่าใช้จ่ายนักแสดงเดือนละหลายแสนบาท ต้นไม้ที่เราปรับปรุงมากกว่าพันต้น คิดเป็นเงินหลายล้านบาท คนนำชม เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และบ้านที่เราต้องปรับปรุงตลอดเวลา ถนนทางเดิน ห้องน้ำ ทางลาดคนพิการ คนงานอีกกว่า 60 ชีวิต ระบบกล้องวงจรปิด ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบดับเพลิง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คนอาจคิดไม่ถึงว่าค่าใช้จ่ายต่างๆในแต่ละเดือนจะมากมายขนาดไหน

ถามว่าทำไมผมตัองเหนื่อย? ทำไมไม่ขายรูปขายบ้านไปเลยล่ะ ทำไมผมไม่ทำ คำตอบคือ "เพราะผมรักที่นี่ ที่นี่คือลมหายใจของพ่อผมที่ฝากไว้กับแผ่นดิน ผมจะรักษาที่นี่ด้วยลมหายใจของผม"

ถ้าทุกคนรักที่นี่ขอร้องให้พวกเราช่วยกันดูแล ช่วยกันทะนุถนอมรักษาเอาไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลานของเราสืบไป

ด้วยความเคารพ

ดอยธิเบศร์ ดัชนี

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บ้านดำ

จากก้นบึ้งหัวใจ เลือดศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี  "ดอยธิเบศร์ ดัชนี" สู้ไม่ท้อเพราะ "บ้านดำ" คือลมหายใจของพ่อผมที่ฝากไว้กับแผ่นดิน !!