จากโศกนาฏกรรมความรัก "นางสาวสามมุข" สู่ "เจ้าแม่สามมุข" ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ณ หาดบางแสน แม้แต่"สุนทรภู่" บรมครูสยามประเทศยังเคารพนับถือ!!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

จากโศกนาฏกรรมความรัก "นางสาวสามมุข" สู่ "เจ้าแม่สามมุข" ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ณ หาดบางแสน แม้แต่"สุนทรภู่" บรมครูสยามประเทศยังเคารพนับถือ!!

           “เขาสามมุก” เป็นเนินเขาที่อาศัยของฝูงลิง ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างบ้านอ่างศิลาและหาดบางแสน ขับรถไปตามถนนเลียบริมหาดจากอ่างศิลาเป็นทางลาดขึ้นไปนั่นก็คือบริเวณที่เรียกกันว่าเขาสามมุก และที่เป็นที่เลื่องลือในหมู่คนท้องถิ่นและคนนอกท้องถิ่นคือ “ศาลเจ้าแม่สามมุก”ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา อันเป็นสัญลักษณ์แห่งโศกนาฏกรรมความรัก ตามตำนานดังต่อไปนี้...

              เมื่อปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยาบริเวณบางแสนและเขาสามมุข ยังไม่มีบ้านเรือนและผู้คนหนาแน่นเหมือนปัจจุบันนี้ ชื่อบางแสนและเขาสามมุขก็ยังไม่ปรากฏ จะมีก็แต่ตำบลอ่างหิน ในปัจจุบันก็คือตำบลอ่างศิลาอันเป็นชุมชนของชาวประมงริมทะเล   ณ ตำบลอ่างหินนี่เอง (อ่างศิลา) มีเจ้าของชื่อโป๊ะ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนามว่า “กำนันบ่าย” มีลูกชายชื่อว่า “แสน” ห่างจากตำบลอ่างหินออกไปพอประมาณมียายหลานอาศัยกันอยู่คู่หนึ่ง ยายมีชื่อเสียงเรียงนามใดไม่ได้ปรากฏไว้ ส่วนหลานสาวนั้นมีชื่อว่า “สามมุข” อาศัยอยู่ในเมืองปลาสร้อย (จังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน) เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตลง ก็ได้มาอาศัยอยู่กับยายจนกระทั่งโต “สามมุข” มักจะชอบมานั่งเล่นดูหนุ่มสาวรวมทั้งเด็กที่มาเล่นว่าวในหน้าลมว่าวอยู่ริมเชิงเขาเป็นประจำ และมีเพื่อนที่คอยหยอกล้อเล่นเป็นประจำก็คือลิงป่าที่ลงมาจากเขา

             อยู่มาวันหนึ่งขณะที่ “สามมุข” กำลังนั่งเล่นอยู่ ก็ได้มีว่าวตัวหนึ่งขาดลอยลงมาตกอยู่ที่หน้าของสามมุข เธอจึงเก็บว่าวตัวนั้นไว้และมีเด็กหนุ่มชื่อแสนวิ่งตามว่าวที่ขาดลอยมาจึงได้พบกับสามมุข เขาทั้งสองได้รู้จักกันและแสนก็ได้มอบว่าวตัวนั้นไว้เป็นที่ระลึก หลังจากนั้นทั้งสองก็ได้พบปะกันเรื่อยมาจนเกิดเป็นความรัก และได้สาบานต่อหน้าขุนเขาแห่งนี้ว่า

ทั้งสองจะครองรักกันชั่วนิรันดร หากใครผิดคำสาบานนี้จะกระโดดหน้าผาแห่งนี้ตายตามกัน

              และแสนได้มอบแหวนวงหนึ่งให้แก่สามมุขไว้เพื่อเป็นพยาน   เมื่อกำนันบ่ายซึ่งเป็นพ่อของแสนได้ทราบเรื่องเข้าก็เกิดความไม่พอใจ แสนได้พยายามขอร้องผู้เป็นพ่อให้ไปสู่ขอสามมุข แต่กำนันบ่ายก็กีดกันและกักบริเวณแสนไว้ จึงทำให้ทั้งสองไม่ได้พบหน้ากัน

              หลังจากนั้นกำนันบ่ายก็ได้ไปสู่ขอลูกสาวคนทำโป๊ะให้กับแสนและกำหนดพิธีการแต่งงานขึ้น ข่าวนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วอ่างหิน (อ่างศิลา) จนสามมุขเองก็ได้รับรู้ถึงข่าวนี้ด้วย ในวันแต่งงานของแสนได้มีการจัดงานกันอย่างใหญ่โตสมเกียรติกับที่เป็นงานของกำนันบ่าย   

               ตลอดระยะเวลาที่แขกได้ทยอยเข้ามารดน้ำสังข์อวยพรให้คู่บ่าวสาวทั้งสอง แสนได้แต่ก้มหน้านิ่งเสียใจอยู่กับตัวเองที่ไม่สามารถทำอะไรได้ จนกระทั่งแสนรู้สึกว่ามีน้ำสังข์ลดลงมาพร้อมกับแหวนวงหนึ่งตกลงมาด้วย แสนจำได้ดีว่าแหวนวงนี้เขาเป็นคนมอบให้สามมุขแต่พอเงยหน้าขึ้นสามมุขก็ได้วิ่งจากออกไปแล้ว แสนได้หวนคิดถึงคำสาบานที่ได้ให้กับสามมุขไว้ จึงรีบวิ่งไปที่เชิงเขาแต่ก็สายไปเสียแล้ว สามมุขได้ขึ้นไปที่หน้าผานั้นแล้วทิ้งร่างที่ไร้หัวใจลงดิ่งสู่ก้นผาสิ้นชีพอยู่ริมทะเล แสนผู้ที่ให้คำสาบานไว้กับสามมุขเขาจึงกระโดดลงหน้าผาตามสามมุขหญิงสาวสุดที่รักไป

              จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านที่ทราบข่าวพากันเศร้าสลดใจเป็นอย่างมาก จึงพากันสาปแช่งกำนันบ่าย ต่อมากำนันบ่ายได้นำถ้วยชามสิ่งของต่างๆ มาไว้ในถ้ำตรงหน้าผาแห่งนั้นและตั้งชื่อภูเขาลูกนี้ว่า “เขาสามมุข” และชายหาดที่ติดกันว่า “หาดบางแสน” เพื่อเป็นอนุสรณ์รักแด่คนทั้งสองจนถึงปัจจุบัน

จากโศกนาฏกรรมความรัก "นางสาวสามมุข" สู่ "เจ้าแม่สามมุข" ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ณ หาดบางแสน แม้แต่"สุนทรภู่" บรมครูสยามประเทศยังเคารพนับถือ!!

            ต่อมาชาวบ้านในแถบนั้นเล่าว่า “เมื่อตกดึกได้พบเห็นร่างของหญิงสาวมายืนอยู่ตรงหน้าผานั้นเป็นประจำทุกคืน” ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างศาลนี้ขึ้น เพื่อเป็นที่สิงสถิตและเป็นที่เคารพสักการะแก่ชาวบ้านและชาวประมงเมื่อเวลาที่จะออกเรือไปหาปลามักจะมีการมาจุดประทัดบนบานขอให้ได้ปลากลับมาเต็มลำเรือ อย่าต้องเผชิญกับลมพายุบางครั้งเจอลมพายุกลางทะเลก็จุดธูปบนเจ้าแม่สามมุขให้รอดปลอดภัยจากอันตรายก็สัมฤทธิ์ผลเรื่อยมา จากนั้นเมื่อเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ของเจ้าแม่สามมุขนั้นแพร่กระจายออกไป ก็มักมีคู่รักชายหญิง มาอธิษฐานขอให้ความรักของตนสมหวัง

จากโศกนาฏกรรมความรัก "นางสาวสามมุข" สู่ "เจ้าแม่สามมุข" ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ณ หาดบางแสน แม้แต่"สุนทรภู่" บรมครูสยามประเทศยังเคารพนับถือ!!

         แม้แต่ “สุนทรภู่” ยอดกวี ยังจารึกความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่เขาสามมุกไว้ เมื่อครั้งสุนทรภู่เดินทางมาเมืองแกลง (ระยอง)  เพื่อเยี่ยมบิดา  ในปี พ.ศ. 2350     พอแล่นเรือผ่านเมืองปลาสร้อย (จ.ชลบุรี)  ก็ได้เกิดพายุขึ้น   ท่านสุนทรภู่จึงได้ออกปากบนบานเจ้าแม่สามมุขก็เป็นสัมฤทธิ์ผลเช่นกัน และได้เดินทางต่อไปอย่างปลอดภัย   ท่านสุนทรภู่จึงเขียนนิราศพรรณนาถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่สามมุขไว้ดังนี้

 

         "... พี่แข็งขืนฝืนภาวนานิ่ง                 แลตลิ่งไรไรยังไกลเหลือ

     เห็นเกินรอยบางปลาสร้อยอยู่ท้ายเรือ   คลื่นก็เฝือฟูมฟองคะนองพราย

    เห็นจวนจนบนเจ้าเขาสำมุก                   จงช่วยทุกข์ถึงที่จะทำถวาย

    พอขาดคำน้ำขึ้นทั้งคลื่นคลาย               ทั้งสายนายหน้าชื่นค่อยเฉื่อยมา.."

(จากหนังสือภาษาไทยมัธยมปลาย เมื่อครั้งที่สุนทรภู่เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลงครั้งแรกปี พ.ศ.๒๓๕๐)

 

 

ที่มา : http://oknation.nationtv.tv/blog/supercnx/2010/02/01/entry-1 และ
http://khaosammukcommunity.blogspot.com/2013/05/blog-post_29.html