ประชาธิปไตย...ตามใจกู!! พุทธทาสวิจารณ์ : สังคมระส่ำระสายเพราะ "ประชาธิปไตยตามใจกิเลส" ... ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง "เผด็จการด้วยธรรมะ"!!

รู้จริง...รู้แจ้ง...ทุกเรื่องราวแห่งปาฏิหาริย์ http://www.tnews.co.th

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ นับเป็นวันครบ ๑๑๑ ปี ชาตกาลของ "ท่านพุทธทาสภิกขุ" ซึ่งในปีนี้ทางหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้จัดแคมเปญกิจกรรม "๑๑๑ ปี พุทธทาส ... รู้จักท่านพุทธทาสได้อย่างไร" ด้วยการชักชวนให้เล่าถึงท่านพุทธทาสในแบบที่แต่ละคนได้เห็นได้สัมผัส

สำหรับในพื้นที่ตรงนี้จะขอหยิบยกแนวคิดทางการเมืองของท่านพุทธทาสในส่วนที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการปกครองแบบ "ประชาธิปไตย" จากแง่มุมของพุทธธรรมไว้อย่างละเอียด  พร้อมกันนั้น ท่านยังได้เสนอวิธีแก้ปัญหาที่ระบบประชาธิปไตยสร้างขึ้นอีกด้วย  รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่ในหนังสือเล่มหนึ่งของท่าน คือ "ธัมมิกสังคมนิยม" โดยมีเนื้อหาบางส่วนดังนี้ :

-----------------------------------------------------------------------------

 

คำว่า “ประชาธิปไตย” ก็เป็นคำที่ได้ยินกันอยู่ทุกๆ วัน และจะมากเกินจำเป็นไปแล้วก็ได้  แต่มันเป็นคำที่กำกวมหรือหลอกลวงที่สุดด้วย เพราะว่าคนที่มีกิเลสนั้นต่างคนต่างใช้กิเลสของตนให้ความหมายแก่คำว่า “ประชาธิปไตย”  ในทางหนึ่งก็เป็นเครื่องมือสำหรับเอาเปรียบหรือทำลายผู้อื่น ในอีกทางหนึ่งก็เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างสันติภาพ  ดังนั้น พิจารณาดูคำว่า “ประชาธิปไตย” นานาชนิดไปตามลำดับ จะดีกว่า

บัดนี้มีคำที่ใช้กันอยู่ว่า “ประชาธิปไตยพื้นฐาน” คือ ประชาธิปไตยกลางๆ หรือประชาธิปไตยเฉยๆ  อย่างนั้นแล้วก็มักจะใช้เป็นข้ออ้างว่า เราจะต้องนึกถึงสิ่งนี้ก่อน

อาตมารู้สึกว่า ประชาธิปไตยพื้นฐานนี้ยังพร่าหรือกว้างเกินไป หาความแน่นอนไม่ได้ เพราะว่าประชาธิปไตยพื้นฐานนี้ย่อมสร้างขึ้นมาได้พร้อมกันทั้งคู่เลย คือสร้างขึ้นมาได้ทั้ง “นายทุน” และทั้ง “ชนกรรมาชีพ” ซึ่งเราจะถือว่า คำทั้งสองคำนี้เป็นคำพูดสำหรับจะใช้เล็งถึงสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ดังนี้

- เพราะประชาธิปไตยพร่า จึงเกิดนายทุน

- เพราะประชาธิปไตยพร่า จึงเกิดสิทธิที่จะยื้อแย่งนายทุน เช่น สิทธิของชนกรรมาชีพ เป็นต้น

- เพราะประชาธิปไตยพร่า จนไม่รู้ว่าจะอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ ก็ปล่อยไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นเป็นกรณีๆ ไป

นี่เรียกว่า ประชาธิปไตยพื้นฐานอยู่ที่ตรงไหนกันแน่? มีบทบัญญัติอย่างไร? โลกเรามีประชาธิปไตยพื้นฐานกันมากี่สิบปีแล้ว แล้วโลกนี้เป็นอย่างไร? มันมุ่งหมายไปรวมที่จุดไหน? หรือว่าพร่าออกไปทุกที?

คำว่า “ประชาธิปไตยพื้นฐาน” นี้ ยังเป็นที่พึ่งไม่ได้ คือว่าใครจะดึงไปทางไหนก็ได้นั่นเอง

ทีนี้เขยิบดูไปให้แคบเข้าว่า  ประชาธิปไตยที่เป็น “เสรีนิยม” นี้ เราควรจะระลึกถึงคำคู่หรือคู่ของมัน คือคำว่า “สังคมนิยม” พร้อมกันไปในตัว

ประชาธิปไตยเสรีนิยมก็เปิดเสรีเต็มที่ แล้วก็ไม่ได้จำกัดความไว้ชัดว่าเสรีอย่างไร แล้วกิเลสของคนมันก็ฉวยโอกาสที่จะเสรีไปตามอำนาจของกิเลส  พอมีอำนาจอยู่ในมือแล้ว กิเลสมันก็เข้าสวมรอยที่จะใช้เสรีภาพตามอำนาจของกิเลส  แม้อุดมคติจะวาดไว้สวยงามทางปรัชญา แต่การปฏิบัตินั้นก็เป็นไปไม่ได้  ปรัชญาไม่มีกำลังพอที่จะต้านทานกิเลสได้

เดี๋ยวนี้เมื่อดูถึงคำพูดคำนี้แล้ว มันก็แสดงความกำกวมอย่างยิ่งอยู่แล้วว่า ทำอะไรก็ได้  ฉะนั้น เสรีประชาธิปไตยนี้จะต้องระวัง มันเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงได้ เพราะว่าคนคนไหนก็อ้างเสรีภาพได้ คนพาลก็อ้างได้ บัณฑิตก็อ้างได้  ถ้าไม่ให้เขาก็ต้องเรียกว่าไม่มีเสรีภาพ

ตัวอย่างเช่น  มีปัญหาว่า จะสมัครเป็นผู้แทนจะต้องมีพรรคไหม?  ถ้าว่าต้องสังกัดพรรค มันก็ไม่ใช่เสรีภาพที่สมบูรณ์ ยังถูกกักกันไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง  อย่างนี้เป็นต้น

นี่เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ พูดพอให้เป็นตัวอย่างว่า เสรีภาพนี้ทำยาก เพราะมันยังอยู่ใต้อำนาจของกิเลสของแต่ละคนอยู่นั่นเอง

อนึ่ง  ถ้าจะถามว่าคนในโลกนี้เขาหมดกิเลสกันหรือยัง...ก็ยอมรับว่ายังมีกิเลส  ถึงแม้จะรวมกลุ่มกันทั้งโลกก็เป็นกลุ่มของคนมีกิเลส ก็ใช้กันอย่างมีกิเลส  ฉะนั้น ประชาธิปไตยชนิดนี้ยังไม่ปลอดภัย เพราะสำหรับคนที่มีกิเลสก็ย่อมรวมหัวกันเพื่อให้กิเลสได้โอกาสบัญญัติอุดมคติของมันนั่นเอง

 

ประชาธิปไตย...ตามใจกู!! พุทธทาสวิจารณ์ : สังคมระส่ำระสายเพราะ "ประชาธิปไตยตามใจกิเลส" ... ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง "เผด็จการด้วยธรรมะ"!!

ทีนี้ เราจะดูต่อไปโดยจำกัดให้แคบเข้ามา อย่าให้มันใช้กิเลสชนิดนั้นได้ เราก็จะนึกถึงคำว่า “สังคมนิยม” ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับเสรีนิยมที่เล็งถึงบุคคล

ปัจเจกชนต่างคนต่างมีเสรี แต่พอมาถึงคำว่า “สังคมนิยม” จะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะต้องดูประโยชน์ของสังคม ต้องดูปัญหาของสังคม แล้วก็ทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาของสังคม  นี้จึงเป็นสังคมนิยมที่ปลอดภัยเข้ามาชั้นหนึ่ง คือปลอดภัยยิ่งขึ้น หรือปลอดภัยกว่าเสรีนิยม โดยจะมุ่งทำประโยชน์แก่สังคม  เสรีนิยมนั้นทำไม่ได้เนื่องด้วยความเห็นแก่ตัว เพราะเสรีนิยมเป็นโอกาสของความเห็นแก่ตัว เพราะมีเป้าหมายอยู่ที่ตัว มิได้อยู่ที่สังคมเหมือนสังคมนิยม

เอาละ... ทีนี้เราจะยอมรับหรือยอมให้อีกชั้นหนึ่งว่า แม้แต่สังคมนิยมนี้ก็ยังจะต้องถูกจำกัดให้ชัดเจนลงไปว่าเป็นสังคมนิยมที่ประกอบด้วยธรรมหรือไม่ประกอบด้วยธรรม

ถ้าเป็นภาษาบาลีก็มีคำว่า “ธมฺมิก”

“ธมฺม” นั้นก็แปลว่า “ธรรม”

“อิ-ก” ท้ายศัพท์นี่มีความหมายว่า “ประกอบอยู่ด้วย” หรือ “เป็นไปกับ” และอื่นๆ ได้หลายๆ อย่าง

ถ้า “ธมฺมิก” แปลว่า “ประกอบอยู่ด้วยธรรม” เป็นต้น  แล้วสังคมนิยมที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมเท่านั้นแหละจะช่วยโลกได้  ถ้ามิได้ประกอบอยู่ด้วยธรรมเพราะความโง่ ความเขลา หรือความอะไรต่างๆ มันก็ช่วยไม่ได้  แต่มันก็ยังดีกว่าเสรีนิยมในแง่ที่ว่า เสรีนิยมนั้นแม้จะประกอบอยู่ด้วยธรรมด้วยกัน มันก็ยังเปิดช่องโหว่ไว้มาก เพราะว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบุคคลได้  เสรีนิยมจะใช้ได้จริงก็แต่เรื่องไปนิพพานเท่านั้น

ถ้าเราจะมีเสรีกันให้สุดเหวี่ยง ถ้าเป็นเสรีเพื่อไปนิพพานละก็ได้ ไม่มีทางที่จะผิด  แต่ถ้าว่าเสรีเพื่อจะอยู่กันในโลกแล้ว ระวังให้ดี มันมีช่องโหว่สำหรับอันตราย  ฉะนั้น ถ้าเราจะเอาสังคมนิยมกันแล้วก็จะต้องใช้คำว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” มีความหมายเต็มรูป คือประกอบอยู่ด้วยธรรมเสมอ

 

ประชาธิปไตย...ตามใจกู!! พุทธทาสวิจารณ์ : สังคมระส่ำระสายเพราะ "ประชาธิปไตยตามใจกิเลส" ... ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง "เผด็จการด้วยธรรมะ"!!

ทีนี้...อยากจะให้มองดูเลยไปถึงคำที่อาจจะถูกหาว่าบ้าๆ บอๆ อีกคำหนึ่งว่า “ประชาธิปไตยเผด็จการ”

ที่จริงประชาธิปไตยเผด็จการเป็นคำที่ถูกต้องหรือไพเราะที่สุด  แต่คนเขาเกลียดเสียงของคำว่า “เผด็จการ” เพราะเรากำลังเมาเสรีนิยม  นั่นก็เพราะเข้าใจคำว่า “เผด็จการ” ผิดๆ อยู่บางอย่าง

คำว่า “เผด็จการ” นี้ ขอให้แยกออกเป็น ๒ ความหมาย  ถ้าเป็นหลักปฏิบัติหรืออุดมคติในฐานะอุดมคติทางการเมืองนี้ มันก็ใช้ไม่ได้  แต่ถ้าเป็นเพียงวิธีปฏิบัติงานดำเนินงานเท่านี้จะใช้ได้ คือ มันทำให้เร็วกว่า

ถ้าว่าประชาชนเป็นสังคมนิยม เป็นประชาธิปไตยเต็มที่แล้ว เห็นว่าปัญหานี้มันอืดอาดนักก็มอบให้เผด็จการ ก็คือประชาธิปไตยเผด็จการ ประชาชนเผด็จการ อย่างนี้มันดีกว่า

ขอให้ระวังความหมายของคำว่า “เผด็จการ” ให้ดีๆ อย่าเอาแต่เสียงหรือคำพูดที่พูดๆ กันอยู่ เพราะว่าเรากำลังจะต้องขึ้นไปจนถึงประชาธิปไตยชนิดธัมมิกสังคมนิยม และก็ใช้วิธีเผด็จการด้วย

สรุปแล้ว  ประชาธิปไตยมีหลายแบบ คือเป็นเสรีนิยมบ้าง สังคมนิยมบ้าง  ถ้าเราจะเอาอย่างสังคมนิยมแล้ว คำก็ยังกำกวม  เราจะต้องเอาสังคมนิยมอย่างที่ประกอบไปด้วยธรรมะ  ที่แม้ประกอบไปด้วยธรรมะนั้นก็ยังกำกวมในกรณีที่จะทำให้ช้าหรือเร็วได้อย่างไร  เราจึงต้องเอาวิธีดำเนินการหรือปฏิบัติงานอย่างเผด็จการเข้ามาใส่ให้ จึงจะเป็นผลเกิดขึ้นทันใจ นี้มันจะช่วยโลกได้

เดี๋ยวนี้ประเทศเรากำลังสับสนหมด ไม่รู้ว่าจะจัดลงไปอย่างไร...ที่ตรงไหน?  ถ้าใช้เผด็จการที่ประกอบไปด้วยธรรมแล้วจะดี จะเร็ว จะหมดปัญหาได้เร็ว  เดี๋ยวนี้กำลังควันเข้าตา หรืออะไรเข้าตา หรือแสงสว่างสีขาวมันเข้าตา ความมืดสีขาวมันเข้าตา จึงไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร

อยากจะเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เราจะต้องมีประชาธิปไตยอย่างที่เป็นธัมมิกสังคมนิยมและต้องเผด็จการด้วย ให้มันหมดความกำกวมกันเสียที

ถ้าไล่มาดูก็จะเห็นว่า ประชาธิปไตยพื้นฐานพร่าเหลือเกิน ประชาธิปไตยเสรีนิยมก็มีช่องโหว่มากเหลือเกิน ประชาธิปไตยสังคมนิยมค่อยยังชั่วหน่อย แต่ก็จะต้องเป็นธัมมิกะ  ทีนี้ธัมมิกะเข้าไม่ทันใจก็จะต้องใช้วิธีดำเนินการอย่างเผด็จการ  ถ้าเผด็จการอย่างทรราชย์หรืออะไรนั้นก็เรียกว่าใช้ไม่ได้  ถ้าเผด็จการเป็นวิธีดำเนินการที่ประกอบด้วยธรรมแล้วก็ใช้ได้เต็มที่

ถ้าเป็นเผด็จการทางจิตใจ เป็นเรื่องของธรรมะ ของศาสนา มันเผด็จการแก่กิเลส แล้วก็ยิ่งวิเศษแน่  ถ้าเราใช้วิธีเผด็จการแก่กิเลสกันจริงๆ ไม่เท่าไรคนเราก็จะมีกิเลสเบาบางหรือไม่มีกิเลสเสียเลย ก็เลยดีมากหรือวิเศษมาก จนถึงกับว่าไม่ต้องมีระบบการปกครองก็ได้  แต่ดูจะเป็นความหวังที่เลื่อนลอยที่ว่า มนุษย์จะอยู่กันโดยไม่มีระบบการปกครอง  นี้จะมีได้ก็แต่ในโลกของพระอริยเจ้าเท่านั้น  ถ้าเป็นโลกของพระอริยเจ้าก็อยู่กันได้โดยไม่ต้องมีระบบการปกครอง เพราะว่าศีลธรรมมันถึงภาวะสูงสุดของมัน

ขอทบทวนว่า “ประชาธิปไตย” นี้ เราจะต้องดูกันให้ดีๆ ในความหมายที่สับสนกำกวมกันหลายขนาดในลักษณะอย่างที่กล่าวมานี้

 

ประชาธิปไตย...ตามใจกู!! พุทธทาสวิจารณ์ : สังคมระส่ำระสายเพราะ "ประชาธิปไตยตามใจกิเลส" ... ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง "เผด็จการด้วยธรรมะ"!!

ประชาธิปไตย...ตามใจกู!! พุทธทาสวิจารณ์ : สังคมระส่ำระสายเพราะ "ประชาธิปไตยตามใจกิเลส" ... ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง "เผด็จการด้วยธรรมะ"!!

---------------------------------------------------------------------------

 

ที่มา : "ธัมมิกสังคมนิยม" โดย พุทธทาสภิกขุ