ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

จาก Facebook Fanpage เรื่องเล่า ภาพเก่า ในอดีตราชบุรี. ได้โพสต์เกี่ยวกับวันสำคัญในอดีต ถึงวันที่ ๒๘ เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พร้อมกับคลิปหาชมยากในวันประกอบพระราชพิธี ข้อความว่า

วันนี้(๒๘ เมษายน)ในอดีต ปีพุทธศักราชที่ ๒๔๙๓ หรือปี ค.ศ. 1950 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสมรส กับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)

เพิ่มเติ่มความรู้กันครับ : พระนาม "สิริกิติ์" นั้นทรงได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เช่นเดียวกับ คำว่า ภูมิพล ของรัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระปกเกล้าก็ทรงพระราชทานพระนามนี้.  สิริกิติ์ มีความหมายว่า "ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร" เรียกโดยลำลองว่า "คุณหญิงสิริ" ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเรียกว่า "แม่สิริ".

อ้างถึงเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ปีพ.ศ. ๒๔๙๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในขณะนั้นทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยมีหม่อมหลวงบัว (พระมารดาของหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์) และหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ และในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามในเวลานั้น) ได้ทรงรับเป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากอาการประชวรแล้ว ก็ได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นการภายในเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒.

หลังจากทรงหมั้นแล้ว หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ยังคงศึกษาต่อ กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ พระองค์ท่านโปรดฯ ให้หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับด้วย

เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ปีพ.ศ. ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จเป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรส และโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรพร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนนั้น

 

หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย

ต่อมา ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชดำริว่า

 

"ตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี "

ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นพระองค์ที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕ (ภายหลังคือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) คือสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของสยาม.

หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ จนกระทั่ง พระองค์มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีและเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมีพระชันษาได้ ๓ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระบรมราชินี จึงเสด็จนิวัติประเทศไทย.

บัดนี้วันที่ ๒๘ เมษายน ปีพุทธศักราช ๒๕๖๐. จึงเป็นวันคล้ายวันพิธีราชาภิเษกสมรส ของทั้ง ๒ พระองค์ผู้เป็น พ่อ และ แม่ของแผ่นดิน ทรงเหน็ดเหนื่อยในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ออกเยี่ยมเยื่อนพสกนิกรของพระองค์ตลอดรัชสมัยของพระองค์ท่าน

สำหรับทะเบียนสมรสของในหลวง รัชกาลที่ ๙ และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร นั้นสามารถชมได้ที่ผมคอมเม้นต์ใต้โพสต์นี้ครับ.

ขอทุกท่านร่วมกันระลึกนึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ทั้งสองกันด้วยครับ.

 

ที่มาจาก :  Facebook Fanpage เรื่องเล่า ภาพเก่า ในอดีตราชบุรี.