สมเด็จพระสังฆราช เสด็จเปิดประชุมสัมนาวิชาการพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา พร้อมประทานธรรมกถา

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

สมเด็จพระสังฆราช เสด็จเปิดประชุมสัมนาวิชาการพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา พร้อมประทานธรรมกถา

การประชุมวิชาการนานาชาติสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติครั้งที่ ๓ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก

วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ หอประชุม มวก. ๔๘ พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อมฺพรมหาเถร) เสด็จเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติครั้งที่ ๓ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ระหว่างวันที่ ๖ - ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ภายใต้หัวข้อ สติ:วิถีปฏิบัติและวิถีแห่งการประยุกต์บนฐานแห่งความกรุณา มีพันตำรวจโท พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และคณะผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ เข้าร่วม ๘๕ ประเทศ กว่า ๒,๐๐๐ รูป/คน

ในการนี้ สมเด็จพระสังฆราช ประทานธรรมกถาความว่า ในนามคณะสงฆ์ไทยขอต้อนรับพระเถรานุเถระเพื่อนสหธรรมิกจากนานาประเทศด้วยไมตรีจิต ขออนุโมทนาสาธุการ ในการที่ท่านทั้งหลายทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์ ได้มาร่วมประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก และเปิดงานประชุมวิชาการ สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ครั้งที่ ๓ ประจำปี ๒๕๖๐

สมเด็จพระสังฆราช เสด็จเปิดประชุมสัมนาวิชาการพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา พร้อมประทานธรรมกถา

โลก โดยปริยายหมายถึง แผ่นดิน หรือหมู่มนุษย์ตามธรรมชาตินั้น มนุษย์มีความสามารถในการมองเห็นได้ ตราบเท่าที่มีแสงสว่างนำพาให้ก้าวเดินไป หากโลกมีแต่ความมืด ก็อาจทำให้ผู้คนเดินไปกระทบกระทั่งกันบ้าง ชนสิ่งกีดขวางเป็นอันตรายบ้าง นั่นเป็นลักษณะของความมืดทางโลก ส่วนโลกในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง โลกในสภาพปรุงแต่ง ความคิด และอารมณ์ หากความคิดของผู้คนดำเนินไปในทางมืดบอดแล้ว ผลร้ายได้แก่ ความเบียดเบียนกัน ความเดือดเนื้อร้อนใจย่อมบังเกิดขึ้น ไม่ต่างจากการเดินดุ่มไปท่ามกลางขวากหนามในความมือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนเราทั้งหลายไว้ว่า ปญฺญา โลกสฺมํ ปชฺโชโต ความว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในทางโลก แม้ปัญญาในทางโลกมีความสำคัญ แต่ปัญญาที่มีความสำคัญยิ่งกว่า คือ ปัญญาในทางธรรมอันเกิดจากการอบรมจิตภาวนา จนเกิดความสามารถหยั่งรู้สภาพความเป็นจริงของชีวิต เป็นปัญญาที่ทำให้เกิดการดับทุกข์ ทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากการเวียนอยู่ในกองทุกข์ ประเสริฐยิงกว่าประดิษฐกรรมใดๆในทางโลก

สมเด็จพระสังฆราช เสด็จเปิดประชุมสัมนาวิชาการพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา พร้อมประทานธรรมกถา

เมื่อชาวโลกต่างพากันตระหนักคุณวิเศษของพระพุทธศาสนา ประกาศให้วิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก จึงนับเป็นวันสำคัญของคนทุกชาติทุกศาสนา ไม่ได้จำกัดความสำคัญอยู่ในหมู่พุทธบริษัทแต่เพียงเท่านั้น ฉะนั้นพุทธบริษัทควรที่จะอบรมบ่มเพาะปัญญาให้งอกงามยิ่งขึ้น เพื่อให้รู้จักโลกอย่างถ่องแท้ทั้งสองนัย และจงเตือนใจตนให้ซาบซึ้งในพระพุทธคุณ เพื่อจะได้พากเพียรตามรอยพระยุคลบาท พระผู้ทรงเป็น โลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก และจะได้นำแสงสว่างที่แท้จริงมาสู่โลกนี้ให้ก้าวผ่านความมืดมนด้วย สติ คือความระลึกได้ สามารถคุมจิตไว้ได้ ด้วยปัญญา คือ ความรู้ถึงเหตุผล สามารถเข้าใจความเป็นไปของสรรพสิ่ง อันเป็นบ่อเกิดแห่งความผาสุกสันติได้อย่างแท้จริง เนื่องในวิสาขบูชา พุทธศักราช ๒๕๖๐ ขอตั้งความปรารถนาดีอำนวยพรให้เพื่อนสหธรรมิกและสาธุชน จงถึงพร้อมด้วยกำลังปัญญาอันเป็นแสงสว่างของโลก ให้งอกงามไพบูลย์ในธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งๆขึ้นไป.

สมเด็จพระสังฆราช เสด็จเปิดประชุมสัมนาวิชาการพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา พร้อมประทานธรรมกถา

ด้านพระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมจร. กล่าวว่า ในวันที่ ๖ - ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ มจร.ได้จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติ และเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก จากผู้นำชาวพุทธ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ และสรุปแนวทางเลือกการประยุกต์ใช้พระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ ในหัวข้อ " สติ : วิถีปฏิบัติและวิถีแห่งการประยุกต์บนฐานแห่งความกรุณา " โดยในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๔.๐๐ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงเปิดงาน เฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีสุนทรพจน์จากบุคคลสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี เลขาธิการศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กทม.เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เลขาธิการองค์การยูเนสโก เป็นต้น อย่างไรก็ตามวิสาขบูชาปีนี้ ถือเป็นวาระสำคัญ ที่ประชาคมชาวพุทธ ได้มีมติ ให้มจร.ดำเนินการจัดทำ พระไตรปิฎกสากล ฉบับแรกของโลกสำเร็จ ถือเป็นพระไตรปิฎกฉบับประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา รวบรวมจาก ๓ นิกายหลัก คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน แปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษานานาชาติ ที่ชาวพุทธทั่วโลกใช้อ้างอิงและสามารถศึกษาหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็นสากลอีกด้วย.

 

 

ที่มา : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ