๒๒ พฤษภาคม วันละสังขาร "หลวงพ่อเดิม" พระอริยเจ้าผู้รู้ล่วงหน้า เก่งในทุกด้าน คาถาอาคมไม่เป็นรองใคร อาจารย์แต่ละท่าน ไม่ธรรมดาทั้งนั้น!!

ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่www.tnews.co.th

หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ นครสวรรค์

๏ สู่ความเป็นพระพุทธบุตร

เมื่อท่านอายุครบบวชแล้ว โยมบิดา-มารดาได้สอบถามความสมัครใจของท่านในการจะอุปสมบท ท่านไม่ขัดข้อง โยมบิดา-มารดาจึงจัดเตรียมอัฐบริขารการอุปสมบทเข้าเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา

ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเขาแก้ว ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง โทศก ตรงกับวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ โดยมี

(๑) หลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม (วัดใน)

ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นพระอุปัชฌาย์

(๒) หลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง

ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นพระคู่สวด

(๓) หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล

ต.สระทะเล อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นพระคู่สวด

ได้รับนามฉายาว่า “พุทฺธสโร” ซึ่งแปลว่า “ผู้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า”

ครั้นเมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามทางที่พระนวกะจะพึงได้รับ

๏ ความยิ่งยงแห่งพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด

๑. หลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม (วัดใน) ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นพระเถระที่มีความคงขลังเป็นที่เคารพนับถือของชาว จ.นครสวรรค์ เชี่ยวชาญพระเวทย์วิทยาการ วิปัสสนากรรมฐาน อิทธิปฏิหารย์มากมาย หลวงพ่อเดิมไปศึกษากับหลวงพ่อแก้วหลายอย่าง (โดยเฉพาะ วิชานะปัดตลอดหรือคาถากันระเบิด)

๒. หลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ในขณะนั้นท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นผู้มีความยิ่งยงในพุทธาคมเป็นอันมาก โดยเป็นลูกศิษย์องค์หนึ่งของ หลวงพ่อเฒ่า (รอด) วัดหนองโพ เชี่ยวชาญทางด้านอาคม ด้านวิปัสสนากรรมฐาน มีวิชาที่ยอดเยี่ยมเป็นเอก คือ น้ำมนต์มหาจินดามณีสารพัดนึก ใครได้รดน้ำมนต์จากท่านแล้วจะมีโชคชัย เคราะห์ร้ายกลายเป็นดี ปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จได้ดังประสงค์ทุกประการ เมื่อคราว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ได้ทรงแวะที่วัดพระปรางค์เหลืองและโปรดให้หลวงพ่อเงินรดน้ำมนต์ถวาย ดังมีพระราชหัตถ์จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๔๙

๓. หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นพระเถระที่เป็นอมตะ อาคมขลัง วาจาสิทธิ์เป็นที่ยำเกรง เชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน น้ำมนต์ ตลอดจนมหาอุตม์ ไม่เคยออกของมงคลเป็นรูปท่านนอกจากพระเครื่องบ้างเป็นครั้งคราว ว่ากันว่าเมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว รูปหล่อก็ถ่ายรูปไม่ติด และมีการแห่รูปของท่านไปดูงิ้วในงานประจำปีของ จ.นครสวรรค์เป็นประจำ มีเรื่องเล่าว่า ทางกรรมการวัดทำเหรียญของท่านไปให้หลวงพ่อเดิมปลุกเสกเพื่อให้เกิดความขลัง เอาใส่ห่อผ้าขาววางไว้บนพานนำไปถวาย หลวงพ่อเดิมรับมาแล้วไม่ได้แก้ห่อออก ยกขึ้นเหนือศีรษะของท่านแล้วส่งคืน พร้อมกำชับว่า “ของดีแล้วไม่ต้องปลุกเสก ดีอยู่ที่ตัว” ทั้งๆ ที่กรรมการวัดไม่ได้บอกท่านเลยว่าเป็นของหลวงพ่อเทศ กรรมการวัดไม่เชื่อเอากลับไปลองยิง ปรากฏว่าปืนด้านหมด

๒๒ พฤษภาคม วันละสังขาร "หลวงพ่อเดิม" พระอริยเจ้าผู้รู้ล่วงหน้า เก่งในทุกด้าน คาถาอาคมไม่เป็นรองใคร อาจารย์แต่ละท่าน ไม่ธรรมดาทั้งนั้น!!

๏ การศึกษาหาความรู้ของหลวงพ่อเดิม

ดังได้กล่าวไว้แต่ต้นไว้แล้วว่า ตั้งแต่วัยเด็กมาจนกระทั่งรุ่นหนุ่ม หลวงพ่อเดิมมิเคยได้รับการศึกษาเป็นชิ้นเป็นอันมาก่อนจนกระทั่งได้บวชเรียน ครั้นได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองโพ ท่านจึงมาเรียนเป็นล่ำเป็นสัน ท่านมีความมานะพยายามเล่าเรียนศึกษาดังได้เล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า

๑. เล่าเรียนคัมภีร์พระธรรมวินัย และท่องคัมภีร์พระธรรมวินัย ๑๐ ผูก อันเป็นหลักสำคัญของพระนวกะในสมัยนั้นจะต้องเรียน เป็นรากฐานการศึกษาต่อไปในการเป็นนักเทศนา แตกฉานในภาษาบาลีอันเป็นแกนไปสู่การกระทำวิปัสสนากรรมฐานต่อไป ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการนี้กับ หลวงตาชม เจ้าอาวาสวัดหนองโพ (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นศิษย์เอกของ หลวงพ่อเฒ่า (รอด) หลวงตาชมชื่นชอบความมานะพยายามของหลวงพ่อเดิมมาก จึงได้ทุ่มเทพลังการอบรมวิชาความรู้ที่มีอยู่ให้หลวงพ่อเดิมอย่างหมดไส้หมดพุง อีกทั้งยังแนะนำสถานศึกษาให้ไปศึกษาเพิ่มเติมอีกด้วย รวมเวลาเรียน ๗ พรรษานับแต่บวชพรรษาแรก

๒. เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และคาถาอาคมเบื้องต้น นอกจากจะศึกษากับหลวงตาชมแล้ว หลวงพ่อเดิมยังได้ไปมอบตัวเป็นศิษย์ของ อาจารย์พันธ์ ชูพันธ์ ซึ่งเป็นฆราวาสและเป็นลูกศิษย์สายตรงของหลวงพ่อเฒ่า (รอด) ดังกล่าวแล้วเบื้องต้น อาจารย์พันธ์เชี่ยวชาญมากทางพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น ในละแวกใกล้เคียงหาตัวจับยาก เมื่อหลวงพ่อเดิมได้รับการศึกษาจากอาจารย์พันธ์ (ฆราวาส) เป็นบันไดก้าวแรก ก็ทำให้หลวงพ่อเดิมแตกฉานยิ่งขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียด้ายว่า เมื่อหลวงพ่อเดิมได้เล่าเรียนได้ไม่นานนัก อาจารย์พันธ์ก็ถึงแก่กรรม หลวงพ่อเดิมจึงคงเล่าเรียนกับหลวงตาชม จนในที่สุดก็ได้รับการแนะนำให้ไปศึกษาเรียนกับครูบาอาจารย์ดังต่อไปนี้

๓. หลวงพ่อมี วัดบ้านบน ต.ม่วงหัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนทางด้านพระปริยัติธรรมต่อกับหลวงพ่อมี วัดบ้านบน โดยได้รับการถ่ายทอดจนก้าวหน้าแตกฉานออกไปอีกจนสิ้นความรู้ของหลวงพ่อมี ซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านก็ไม่ละความเพียรพยายาม ได้เสาะแสวงหาสำนักเรียนต่อ หลังจากได้ศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อมี ๒ พรรษา ท่านก็ได้ย้ายไปศึกษาเล่าเรียนต่อไป

๔. อาจารย์แย้ม (ฆราวาส) วัดสระทะเล ได้เข้าเรียนพระปริยัติธรรมขั้นสูงต่อไปกับอาจารย์แย้ม (ฆราวาส) ซึ่งหลวงพ่อเดิมได้ตั้งอกตั้งใจเรียนจนเข้าใจแจ่มแจ้ง สามารถแปลเข้าสอบเปรียญในสนามหลวงได้ทีเดียว แต่ท่านกลับหลีกเลี่ยงการแปลธรรมในสนามหลวง ท่านเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้เท่านั้นมิได้หวังเปรียญหรือเป็นมหาแต่อย่างใด เมื่อเรียนพระปริยัติธรรมได้สมบูรณ์แล้ว ท่านได้รับคำแนะนำให้ไปเรียนการเทศนาเพื่อเผยแผ่ความรู้ให้แก่ญาติโยมสาธุชน พ่อแม่ พี่ป้า น้าอา ท่านได้ไปศึกษาวิชาการเป็นนักเทศน์กับพระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทอง

๕. พระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทอง ครั้นได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทองแล้ว หลวงพ่อเดิมก็ได้รับการสั่งสอนถึงการเทศน์ การอ่านใบลานเทศน์ และทำนองเทศน์อันเป็นอักขระภาษาบาลีเป็นหลักสำคัญ เนื่องจากท่านมีพื้นฐานความมั่นคงอยู่แล้วทำให้ง่ายแก่การเรียน ท่านเล่าเรียนอย่างเอาใจใส่จนสิ้นความรู้ของพระอาจารย์นุ่ม ต่อมาท่านจึงเดินทางกลับสู่วัดหนองโพตามเดิม

๖. หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เมื่อหลวงพ่อเดิมเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว ต่อมาก็ได้ไปศึกษาหาความรู้ทางวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ซึ่งเป็นพระคู่สวดของท่าน หลวงพ่อเดิมได้รับการถ่ายทอดวิชาการทางวิปัสสนาคาถาอาคม การปลุกเสกเครื่องรางของขลังตามที่หลวงพ่อเทศถนัดทุกประการ จะเรียนอะไรบ้างนั้นหลวงพ่อเดิมไม่ได้บอกไว้โดยละเอียด คงรู้แต่เพียงว่าท่านเรียนกับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล

๗. หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง หลวงพ่อเดิมได้ไปศึกษาหาความรู้ทางวิปัสสนากรรมฐานและการเจริญกสิณกับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง และที่แน่นอนก็ได้ศึกษาวิชา “น้ำมนต์จินดามณีสารพันนึก” ด้วย เพราะน้ำมนต์ของหลวงพ่อเดิมต่อมามีความคล้ายคลึงกับของหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง

๘. หลวงพ่อวัดเขาหน่อ ต.ชนแดน อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ไม่ทราบชื่อหลวงพ่อแน่นอนแต่ท่านได้ศึกษาวิชาด้วย ส่วนจะเป็นวิชาใดนั้นไม่ปรากฏชัดแน่นอน เพียงแต่หลวงพ่อเดิมท่านพูดถึงอยู่เสมอ

๙. หลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ได้ทราบมาจากบางแหล่งว่า ท่านได้ไปเรียนวิชามีดหมอกับหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว เพราะต่อมาหลวงพ่อเดิมมีความชำนาญในเรื่องมีดหมอและมีชื่อเสียงมาก พอท่านเรียนสำเร็จ หลวงพ่อขำก็มรณภาพขาดทายาทสืบต่อไประยะหนึ่ง ต่อมา หลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว จึงตามมาเรียนกับหลวงพ่อเดิม แล้วกลับไปทำมีดหมอที่วัดเขาแก้ว

การศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ ของหลวงพ่อเดิม นับแต่พระปริยัติธรรม คาถาอาคม วิปัสสนากรรมฐาน และการทำของขลัง สรุปรวมแล้วกินเวลาถึง ๑๒ ปีนับแต่บวชมา ทำให้ท่านมีความรู้มากมาย เป็นที่เคารพรักของชาวหนองโพทุกคน ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่มักจะคิดกันว่า “หลวงพ่อเฒ่า (รอด) กลับชาติมาเกิดเพื่อดูแลวัดของท่าน”

๒๒ พฤษภาคม วันละสังขาร "หลวงพ่อเดิม" พระอริยเจ้าผู้รู้ล่วงหน้า เก่งในทุกด้าน คาถาอาคมไม่เป็นรองใคร อาจารย์แต่ละท่าน ไม่ธรรมดาทั้งนั้น!!

๏ หลวงพ่อรับสมณศักดิ์

เนื่องจากคุณงามความดีของหลวงพ่อเดิมเป็นที่เลื่องลือมาก ทางราชการจึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในการนี้ท่านมิได้ไปรับพัดยศเอง คงให้ลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือ เช่น นายอำเภอและกรรมการวัดไปรับมา เมื่อมาถึงสถานีรถไฟมีการแห่แหนสัญญาบัตรพัดยศด้วยขบวนช้างม้า ตลอดจนพ่อค้าประชาชนและลูกศิษย์ลูกหาที่พากันชื่นชมยินดี หลวงพ่อเดิมรับพัดเก็บไว้ในที่อันสมควรแล้ว จึงให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายรดน้ำท่านเป็นการแสดงมุทิตาจิต และแจกของที่ระลึกให้ทั่วกัน ท่านย้ำให้ลูกศิษบ์ลูกหาทราบทั่วกันว่า ท่านยินดีที่ได้มาแสดงมุทิตาจิตกัน แต่สำหรับท่านแล้วคือ พระครูเดิม หรือหลวงพ่อเดิม หรือหลวงปู่เดิม ของลูกศิษย์เหมือนเดิมที่เคยมา “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” นั้นคือสัญญาบัตรพัดยศเท่านั้น หลวงพ่อเองก็ดำเนินชีวิตตามธรรมดาของท่านไปโดยมิได้ใยดีในลาภยศแต่ประการใด

ต่อมา ท่านพระครูพยุหานุศาสก์ (สิทธิ์) เจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรี ได้มรณภาพลง ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจึงว่างลง ทางราชการได้ประชุมเจ้าคณะสงฆ์ประจำจังหวัดเพื่อเสาะหาพระครูสัญญาบัตรที่เหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งสืบแทน มติของที่ประชุมเป็นเอกฉันท์ให้ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ เจ้าอาวาสวัดหนองโพ ผู้เชี่ยวชาญในพระเวทย์และมีพระกิตติคุณเป็นที่เลื่อมใสของบรรดาสาธุชนทั้งในและนอกจังหวัด เป็นเจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรีสืบต่อไป เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอแล้วก็ได้สร้างความเจริญเป็นเอนกประการ

ครั้นเมื่อหลวงพ่อเดิมได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรีไม่นานนัก พระอุปัชฌาย์ในเขตอำเภอพยุหะคีรีมีไม่เพียงพอกับจำนวนกุลบุตรที่จะอุปสมบท อีกทั้งหลวงพ่อเดิมมีอายุพรรษามากและได้รับความเคารพนับถือจากบรรดาสาธุชนอย่างกว้างขวาง ทำให้ทางคณะสงฆ์ประจำจังหวัดมอบตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ให้กับท่านเพื่อทำการอุปสมบทกุลบุตร นับแต่ท่านได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านก็ได้รับนิมนต์ไปนั่งอุปัชฌาย์ไม่เว้นว่าง ทำให้หลวงพ่อเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก การให้อุปสมบทตั้งแต่รุ่นพ่อมาจนกระทั่งถึงรุ่นลูกก็มีด้วยท่านมีอายุพรรษากาลมาก ท่านได้รับการยกเป็นกิติศักดิ์เมื่อมีอายุล่วงมาถึง ๙๐ ปี

๏ ล่วงรู้วาระสุดท้าย

ด้วยเหตุที่หลวงพ่อเดิมท่านชราภาพมากแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาทุกคนก็พยายามประคับประคองหลวงพ่อเพื่อให้ท่านอยู่เป็นมิ่งขวัญให้นานที่สุด ถึง ๑๐๐ ปีได้ยิ่งดีใหญ่ ซึ่งหลวงพ่อก็ยังมีสุขภาพแข็งแรงดีไม่มีวี่แววจะเจ็บป่วยแต่อย่างใด ลูกศิษย์ลูกหาทุกคนก็ไม่มีใครคาดคิดว่าหลวงพ่อจะจากไปในเวลาอันใกล้นี้

ต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๔ หลวงพ่อเดิมมีอายุได้ ๙๒ ปีพอดี วันหนึ่งหลวงพ่อเดิมได้เรียกกรรมการวัด ตลอดจนถึงคณะศรัทธาญาติโยมที่ใกล้ชิดของท่านมาประชุมพร้อมกัน เมื่อทุกคนมาพร้อมหน้ากันแล้ว หลวงพ่อได้กล่าวขึ้นในที่ประชุมปรารภถึงมรณสัญญาณของท่าน ซึ่งทำให้ทุกคนตะลึง แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่าหลวงพ่อจะมรณภาพเร็วถึงปานฉะนี้ หลวงพ่อเดิมมีคำขอร้องต่อผู้ที่มาร่วมประชุมทุกคนว่า

๑. ขอมอบภารกิจในการบริหารกิจการของวัดหนองโพตามที่หลวงพ่อได้กระทำมา (เป็นการปลงบริขาร) ให้กับ หลวงพ่อน้อย (ต่อมาได้เป็น ท่านพระครูนิพันธ์ธรรมคุต เจ้าอาวาสวัดหนองโพรูปถัดมา) ให้ช่วยดูแลรักษาแทนท่านให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป ขอให้ชาวบ้านญาติโยมช่วยกันอุปถัมภ์หลวงพ่อน้อย ช่วยกิจการวัดตามเคยที่ช่วยท่านมาเพื่อให้เกิดความประสานสามัคคีระหว่างวัดและชาวบ้านญาติโยม

๒. หลวงพ่อจะมรณภาพในไม่ช้านี้แล้ว อย่าเสียใจในมรณกรรมของท่านเพราะเป็นกฎแห่งกรรม ขอให้ช่วยกันต่อโลงศพให้หลวงพ่อเพื่อจะได้ไม่เป็นธุระรบกวนหรือยุ่งยากจัดหาเมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว คนข้างหลังจะได้ไม่เดือดร้อน เพราะการเตรียมล่วงหน้าเป็นการไม่ประมาทในการทั้งปวง ดังพระดำรัสแห่งพระบรมศาสดา

๓. ให้ช่วยกันสร้างเมรุเพื่อพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อตามกำลังศรัทธาของญาติโยม เวลาท่านมรณภาพแล้วจะได้สะดวก ไม่ต้องมาทำทีหลังให้เป็นการเร่งรีบและเหน็ดเหนื่อย โดยใช้เหตุสำหรับข้อ ๓ นี้ กรรมการวัดคิดว่าหลวงพ่อคงจะไม่มรณภาพในเวลาอันใกล้ จึงมิได้สั่งจัดสร้างเมรุพร้อมกับโลงศพ จนหลวงพ่อแสดงอาการว่าจะมรณภาพแน่แล้ว จึงสั่งจัดสร้างเมรุนั้นจึงแล้วเสร็จหลังจากหลวงพ่อมรณภาพไปแล้ว

๏ มรณสัญญาณมาถึงหลวงพ่อ

จากเดือนมกราคมเรื่อยมาจนถึงเดือนเมษายน งานวันสงกรานต์สรงน้ำหลวงพ่อผ่านไปแล้ว หลวงพ่อก็ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง อีกทั้งยังไปเป็นประธานในการก่อสร้างอุโบสถวัดอินทราราม (วัดใน) หลวงพ่อเคยพูดแย้มๆ ว่างานนี้จะเป็นงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของท่าน เพื่อสนองคุณของ หลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม (วัดใน) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ล่วงมาถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ เมื่อหลวงพ่อเดิมกลับมาจากการเป็นประธานในการก่อสร้างอุโบสถวัดอินทราราม (วัดใน) พอมาถึงวัดหนองโพ ท่านก็มีอาการโรคลมปัจจุบันเข้าแทรก ทำให้หลวงพ่อถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ ลุกไปไหนมาไหนไม่ได้ และมีอาการโรคชราเข้าแทรกด้วย ลูกศิษย์ลูกหาและคณะศรัทธาญาติโยมได้จัดหมอทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณมารักษาอาการของท่าน ต่อมาเมื่อสาธุชนโดยทั่วไปทราบข่าวหลวงพ่อเดิมอาพหนัก ก็ต่างพากันมากราบเยี่ยมเยียน ซึ่งหลวงพ่อท่านมีอาการทรงกับทรุดอยู่ตลอดเวลา ไม่ดีขึ้นจนกระทั่งมรณภาพในที่สุด

๒๒ พฤษภาคม วันละสังขาร "หลวงพ่อเดิม" พระอริยเจ้าผู้รู้ล่วงหน้า เก่งในทุกด้าน คาถาอาคมไม่เป็นรองใคร อาจารย์แต่ละท่าน ไม่ธรรมดาทั้งนั้น!!

ขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพ ที่มา www.dhammajak.ne