www.tnews.co.th

30พ.ค. รำลึก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ไร้พระเมรุมาศ ....

 

รำลึกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เผยพระราชประสงค์ก่อนสวรรคต "งานถวายพระเพลิง ไม่ต้องการพิธีเกียรติยศ ขอเพียงไวโอลินคันเดียวบรรเลงขณะถวายพระเพลิง”

 

หลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงพระประชวรมากด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ พระอาการประชวรของพระองค์กำเริบหนักขึ้นโดยลำดับตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2483 แต่ก็เริ่มทุเลาขึ้นเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระองค์เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ขณะที่มีพระชนมายุ 48 พรรษา

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกความทรงจำไว้ตอนหนึ่งว่า

 

"เหมือนจะทรงทราบดีว่าพระชนม์จะไม่ยืนยาวต่อไป จึงได้ทรงสั่งไว้ว่า ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงจัดการตามพระราชดำรัสสั่งทุกประการ"

รำลึกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เผยพระราชประสงค์ก่อนสวรรคต "งานถวายพระเพลิง ไม่ต้องการพิธีเกียรติยศ ขอเพียงไวโอลินคันเดียวบรรเลงขณะถวายพระเพลิง”

ตามหนังสือพระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ทรงบันทึกว่า คณะดนตรีได้บรรเลงเพลงสากลแบบคลาสสิค "เมนเดลโซนไวโอลินคอนแชร์โต" (Mendelssohn Violin Concerto) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่กดปุ่มให้หีบพระบรมศพเคลื่อนที่ช้า ๆ หายเข้าไปในผนัง แล้วการถวายพระเพลิงด้วยเตาไฟฟ้าก็ได้เริ่มขึ้น

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายในโดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วันซึ่งตามปกติจะอนุญาตเพียงวันเดียว เพื่อให้ประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย การจัดการพระบรมศพนั้นเป็นไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีการบำเพ็ญพระราชกุศลทางศาสนาพุทธเพราะไม่มีพระภิกษุ รวมทั้งไม่มีการพระราชพิธีอื่น ๆ ตามราชประเพณีด้วย

 

รำลึกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เผยพระราชประสงค์ก่อนสวรรคต "งานถวายพระเพลิง ไม่ต้องการพิธีเกียรติยศ ขอเพียงไวโอลินคันเดียวบรรเลงขณะถวายพระเพลิง”

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "เกิดวังปารุสก์" ตอนหนึ่งว่า

 

"ได้ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพซึ่งดูเหมือนบรรทมหลับอยู่ในพระหีบใหญ่บุนวมสีขาว ดูสบายดีกว่าที่จะต้องถูกจัดลงพระบรมโกศอย่างในเมืองไทยเรามากนัก ในห้องตั้งพระศพก็จัดการอย่างดี มีธงมหาราชประดับติดอยู่กับฝา"

รำลึกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เผยพระราชประสงค์ก่อนสวรรคต "งานถวายพระเพลิง ไม่ต้องการพิธีเกียรติยศ ขอเพียงไวโอลินคันเดียวบรรเลงขณะถวายพระเพลิง”

ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

: ส. พลายน้อย, "ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว"

: wikipedia