ห้าม..ลบหลู่เด็ดขาด!! "หม้อยายกุเลา" ..ผีบรรพบรุษ  ความเชื่อของชาวบ้านหนองขาว กาญจนบุรี ที่นับถือกันทุกหลังคาเรือน ต้องสืบทอดต่อๆกันไป !!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

          ดูเหมือนว่าคนไทยกับความเชื่อเรื่องผีจะตัดกันไม่ตาย ขายกันไม่ขาด ไม่ว่าจะเป็นผีเจ้ากรรมนายเวร ผีบ้านผีเรือน หรือผีบรรพบุรุษ อย่างเช่น "หม้อยายกุเลา" ที่ชาวบ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี นับถือกันอยู่ทุกหลังคาเรือน

           เมื่อเอ่ยถึงชื่อ "หมู่บ้านหนองขาว" อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูหรือเคยได้ยินมาก่อนของใครหลายๆ คน หมู่บ้านหนองขาว ตั้งอยู่ที่ ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี  ซึ่งอันที่จริงแล้วหมู่บ้านหนองขาวแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีมากนัก แค่เพียง 11 กิโลเมตร จากตัวเมืองก็จะถึงหมู่บ้านหนองขาว ที่ยังคงความเป็นหมู่บ้านชนบทไทย ที่รักษาเอกลักษณ์ทางด้านประเพณีวัฒนธรรม และรูปแบบการดำรงชีวิตที่ค่อนข้างเรียบง่ายของผู้คนในสังคมเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี

ห้าม..ลบหลู่เด็ดขาด!! "หม้อยายกุเลา" ..ผีบรรพบรุษ  ความเชื่อของชาวบ้านหนองขาว กาญจนบุรี ที่นับถือกันทุกหลังคาเรือน ต้องสืบทอดต่อๆกันไป !!

                หัวนอนของชาวบ้านที่นี่จะมีหม้อดินแขวนเรียงราย หม้อดินแต่ละใบบรรจุขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปคนตัวเล็กๆ อยู่ภายใน จำนวนของหม้อดินที่แขวนอยู่ในแต่ละบ้านจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่ที่ว่าต้นตระกูลจะสืบสายมายาวนานแค่ไหน หม้อยายกุเลาหรือที่ชาวหนองขาวเรียกกันง่ายๆ ว่า "ยาย" นี้ เชื่อกันว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่คอยดูแลปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข

                อาจารย์สารภี  มณีจินดา อาจารย์โรงเรียนวัดอินทาราม “โกวิทอินทราทร” ลูกบ้านหนองขาวเล่าให้ฟังว่า เมื่อลูกแต่งงานแยกครอบครัวไปอยู่บ้านหลังใหม่ แม่จะปั้นขี้ผึ้งเท่ากับจำนวนเดิมที่มีอยู่เตรียมไว้ให้ลูกมารับไป เพื่อที่จะให้ยายคอยดูแลคุ้มครอง  ถ้าแม่มีหม้อยายอยู่ ๑๖ ใบ เมื่อลูกแต่งงานก็จะต้องรับเอาหม้อยายทั้ง ๑๖ ใบไปด้วย หากลูกแต่งงานกับคนหมู่บ้านอื่นก็จะมีหม้อยายเท่าเดิม แต่หากแต่งงานกับคนหนองขาวด้วยกัน ก็จะมีหม้อยายจากฝั่งของคู่สมรสมาเพิ่มอีก ถ้าต่างฝ่ายต่างมีหม้อยายอยู่ ๑๖ ใบ เมื่อแต่งงานกันแล้ว ก็จะต้องรับหม้อยายมาไว้ที่บ้านรวม ๓๒ ใบ       

               พิธีรับหม้อยายกุเลาจะต้องทำเฉพาะในเดือน ๖ โดยลูกจะต้องไปหาหม้อดินมาตามจำนวนหม้อยายที่แม่มีอยู่ จากนั้นก็จะเอาใส่ตะกร้า  พร้อมหัวข้าวหัวแกง (สำรับกับข้าว)  ขนมต้มขาวขนมต้มแดง  หมากพลู  หาบของทั้งหมดมาที่บ้านแม่ เอาอาหารที่เตรียมมาไปไหว้ยาย จากนั้นแม่ก็จะเอาขี้ผึ้งที่ปั้นเตรียมไว้ใส่ในหม้อดินที่ลูกเตรียมมา ปิดปากหม้อด้วยผ้าขาวแล้วมัดปากหม้อด้วยด้ายดิบ แล้วให้ลูกนำกลับไปแขวนไว้ที่หัวนอนที่บ้าน  เมื่อรับหม้อยายมาไว้ที่บ้านแล้ว ให้เอาหมากพลูคำหนึ่งวางบนผ้าขาวที่ปิดปากหม้อแต่ละใบ แล้วจุดธูปบูชาตลอด ๓ วันแรกที่รับมา หลังจากนั้นจะบูชาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน  เมื่อถึงเดือน ๖ ของทุกปี ก็ต้องเปลี่ยนหมากพลูบนปากหม้อ

                อาจารย์สารภีเล่าถึงความเชื่อของการไม่รับยายว่า จะมีคนในบ้านล้มเจ็บอย่างไม่รู้สาเหตุ ตอนแรกที่อาจารย์แต่งงานไปก็ยังไม่ได้รับยายเช่นเดียวกับคนในรุ่นราวคราวเดียวกันที่ไม่คิดว่าการรับหรือไม่รับยายจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต่อมาลูกชายของอาจารย์ล้มเจ็บอย่างไม่มีสาเหตุ อาเจียนและนอนอยู่กับพื้นจับให้ตั้งลำตัวขึ้นมาทีไรก็ล้มลงไปตลอดเวลา จนกระทั่งแม่ของอาจารย์ไปถามคนทรงเจ้า ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นเพราะไม่รับยาย ครั้นเมื่อไปจุดธูปบอกยายว่าจะรับยายไปไว้ที่บ้านลูกชายของอาจารย์ก็หายเป็นปกติ อาจารย์จึงรับยายมาไว้ที่บ้านตั้งแต่นั้นมา และไม่ใช่เฉพาะอาจารย์สารภีเท่านั้นที่พบเรื่องเช่นนี้ ชาวหนองขาวจำนวนมากที่ไม่ได้รับยายในตอนแรกก็พบเรื่องราวทำนองนี้จนต้องกลับมารับหม้อยายกุเลาไปไว้ที่บ้านในที่สุด

               อาจารย์สารภีเล่าต่อไปอีกว่า ยายเขาชอบเด็กและลูกสะใภ้ ชอบมาหยอกล้อหรือเล่นด้วย ตอนที่พี่สะใภ้ของอาจารย์ซึ่งเป็นคนหมู่บ้านอื่นแต่งงานเข้ามาอยู่ในบ้านใหม่ๆ แล้วทุกคนก็ลืมที่จะจุดธูปบอกยาย ปรากฏว่าเมื่อใดที่หัวถึงหมอน พี่สะใภ้ของอาจารย์จะเจอหญิงแก่ผมขาวทั้งหัว นุ่งขาวห่มขาว และกินหมากมาหาทุกคืน จนไม่เป็นอันหลับอันนอน กว่าแม่สามีจะนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้บอกยาย ก็เล่นเอาพี่สะใภ้ซูบผอมลงไปถนัดตา                                                  

              ความเชื่อของชาวหนองขาวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เวลาทำขนมจีน เมื่อนวดแป้งเสร็จแล้วก่อนที่จะนำไปกดเป็นเส้น จะต้องแบ่งแป้งมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ กลมๆ แบนๆ ๓ หรือ ๕ ก้อน แล้วเอาไปย่างไฟ เรียกว่าแป้งจี่  เอาแป้งจี่เหล่านี้ไปให้ยายกินก่อน โดยเอาใส่จานไปวางไว้ พร้อมน้ำ ๑ แก้ว แล้วจุดธูปเรียกให้ยายมากินแป้งจี่พร้อมกับบอกยายว่าลูกหลานจะทำขนมจีน ขอให้ยายช่วยให้ขนมจีนเป็นเส้นด้วย ถ้าไม่บอกยายไม่เอาแป้งจี่ไปให้ยายกิน ขนมจีนก็จะไม่เป็นเส้น เรื่องนี้ชาวหนองขาวรู้ดีอยู่แก่ใจ เพราะผ่านการพิสูจน์มาหลายครั้ง ถึงแม้ไม่มีใครอธิบายเหตุผลได้ชัดเจน แต่ความเชื่อนี้ก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการทำขนมจีนสำหรับชาวหนองขาวไปแล้ว

             อาจารย์สารภียังบอกอีกว่า ยายบางบ้านกินเต่า เช่น ยายที่บ้านอาจารย์ ถ้าลูกหลานในบ้านไปเจอเต่าจะต้องเอามาแกงให้ยายกิน  เพราะเชื่อว่ายายอยากกินและเป็นผู้ดลให้ลูกหลานไปเจอ  พ่อของอาจารย์เคยบอกกับลูกๆ ว่า พ่อเสียใจทุกครั้งที่เจอเต่า เพราะจะต้องไปเอาชีวิตเขา แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะยายอยากกิน เลยต้องเอามาแกงทุกครั้ง แต่มีวิธีแก้อยู่ว่า ถ้าเมื่อไหร่ไปเจอเต่าแล้วไม่อยากแกง ให้พูดว่า “เต่าเน่า” แล้วเดินหนีไปให้ไกล แต่ถ้าเจอเต่าแล้วไม่เลือกทำวิธีใดวิธีหนึ่งที่กล่าวมา คนในบ้านจะล้มเจ็บอย่างไม่มีสาเหตุ จนกว่าจะไปหาเต่ามาแกงให้ยายในที่สุด

ห้าม..ลบหลู่เด็ดขาด!! "หม้อยายกุเลา" ..ผีบรรพบรุษ  ความเชื่อของชาวบ้านหนองขาว กาญจนบุรี ที่นับถือกันทุกหลังคาเรือน ต้องสืบทอดต่อๆกันไป !!

                หนองขาว ยังมีความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีที่น่าสนใจศึกษา รวบรวมและอนุรักษ์ไว้อีกมากมาย ชาวหนองขาวมีความต้องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนขึ้น โดยจะใช้อาคารทรงยุโรปที่เคยเป็นตึกเรียนเดิมและถูกทิ้งร้างไปกว่า ๒๐ ปี ซึ่งอยู่ในบริเวณวัดอินทารามเป็นสถานที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์  แต่ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการเริ่มต้น เพราะอาคารเรียนเดิมชำรุดลงมาก รายได้จากการทอดผ้าป่าเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมอาคาร ทางวัด โรงเรียน และชาวบ้านจึงต้องร่วมกันระดมความคิดและกำหนดแนวทางในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองขาวต่อไป เพื่อที่ภูมิปัญญา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ของหนองขาวจะคงอยู่ควบคู่กับสภาพชีวิตอันปกติสุขในท้องถิ่นอย่างมั่นคง

              วัฒนธรรมและประเพณีนี้เป็นเรื่องที่ดี ที่ควรอนุรักษ์ไว้... ในความเชื่อเรื่อง "หม้อยาย" คือ เป็นความเชื่อซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ ลูกหลานกระทำแต่สิ่งที่ดี หากกระทำสิ่งที่ผิดหรือไม่ดีจะมีสิ่งที่รับรู้คือ "หม้อยาย" ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษจะรับรู้ในการกระทำของลูกหลาน

 

 

 

ที่มาจาก : http://lek-prapai.org/home

จดหมายข่าว ฉ.๘ (กันยายน-ตุลาคม ๒๕๔๐)