ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

           ในงานประชุมครบ ๑๐ ปี ที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงดำเนินงานโครงการ 'กำลังใจ' เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง ทรงมีพระดำรัสว่า

"...ข้าพเจ้าเริ่มโครงการนี้ ประการหนึ่งเพราะได้แรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงงานเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย..."

          และพระดำรัสอีกตอนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนชัดเจนถึงพระปณิธานที่ไม่ทรงย่อท้อ เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำพระทัยต่อพสกนิกร ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของทูลกระหม่อมปู่ว่า

"เราคงมากันถูกทาง..แต่คงต้องเดินกันอีกไกล และที่สำคัญ...ทำอย่างไรประชาชนชาวไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากงานนี้อย่างเต็มที่"

ทูลกระหม่อมปู่ คือแรงบันดาลใจ!! ต้นแบบจากพระเมตตาบารมี "ในหลวง ร.๙" สู่โครงการ "กำลังใจ" ตามพระดำริ "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา"

 

ทูลกระหม่อมปู่ คือแรงบันดาลใจ!! ต้นแบบจากพระเมตตาบารมี "ในหลวง ร.๙" สู่โครงการ "กำลังใจ" ตามพระดำริ "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา"

            พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีพระอัจริยะภาพและทรงมีพระวิสัยทัศน์ตั้งแต่ครั้นยังทรงศึกษาด้านกฎหมายในระดับปริญญาตรี โดยได้ทรงเคยไปเยี่ยมผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง จึงเป็นเหตุให้เกิดแรงบันดาลพระทัยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาเอกกลับมาประเทศไทย และได้ทรงงานเป็นพนักงานอัยการ ก็ยิ่งเป็นประเด็นที่เสริมให้พระเจ้าหลานเธอฯได้มีมุมมองและกรอบความคิดที่กว้างและเฉียบแหลมมากยิ่งขึ้นในด้านสิทธิของผู้หญิงและโดยเฉพาะผู้หญิงในเรือนจำ 
           ดังนี้ ในปี 2549 จึงได้ทรงริเริ่มโครงการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังหญิงภายใต้โครงการกำลังใจ ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ และจากนั้นโครงการกำลังใจฯ ภายใต้พระดำริของพระเจ้าหลานเธอฯได้แพร่ขยายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ต่างๆ อาทิ เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี เป็นต้น

โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

             จากความสำเร็จของโครงการกำลังใจ พระเจ้าหลานเธอฯ ได้นำผลงานและรูปแบบในการดูและผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง ในด้านการสร้างความผูกพันระหว่างแม่และบุตร และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อนไปนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติในการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ CCPCJ สมัยที่ 17 ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเช่นกัน ซึ่งผลจากการนำเสนอในครั้งนั้นก่อให้เกิดความตื่นตัวของนานาประเทศ และความชื่นชมต่อประเทศไทยที่มีเจ้าหญิงนักกฏหมายที่ทรงเห็นถึงช่องว่างของการที่ภาครัฐยังเข้าไปช่วยเหลือหรือดูแลได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งภายหลังจากการกลับมาจากการประชุม CCPCJ สมัยที่ 17 จึงได้ทรงริเริ่มโครงการการจัดทำมาตรฐานผู้ต้องขังหญิง (Enhancing Lives of Female Inmate หรือ ELFI) ขึ้น

           โครงการ ELFI ที่ทรงริเริ่มขึ้น มีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุนช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงซึ่งมาตรฐานของสหประชาชาติได้จัดทำมาตั้งแต่ ปี 1955 (The UN Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners,1955) ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมาตรฐาน

           ผู้ต้องขังหญิงที่จัดทำขึ้นครั้งนี้ เป็นเสมือนข้อกำหนดเพิ่มเติม ที่ให้ความสำคัญของความแตกต่างและความต้องการที่เพศหญิงมีและแตกต่างจากเพศชาย โดยภายหลังจากการดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนต่างๆเสร็จเรียบร้อย และข้อกำหนดเพิ่มเติมนี้ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (UN General Assembly) ให้บังคับใช้ ประเทศไทยก็จะได้รับเกียรติในฐานะเป็นผู้ผลักดันข้อริเริ่มนี้ ซึ่งตามธรรมเนียมก็จะมีการเรียกชื่อข้อกำหนดฉบับนี้ว่า ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) อันจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น

          โดยสหประชาชาติได้เห็นถึงพระกรณียกิจของพระเจ้าหลานเธอฯ ในฐานะที่ทรงงานด้านกฎหมายในฐานะพนักงานอัยการ การดำเนินงานตามโครงการกำลังใจ และการต่อต้านความรุนแรงในฐานะองค์ทูตสันถวไมตรี (UNIFEM Goodwill Ambassador) ที่ทรงรณรงค์ในกิจกรรมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงจุดยืนในการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก กว่า 3,000,000 คน ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน การรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกในเรื่องการต่อต้านความรุนแรงผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เป็นต้น

ทูลกระหม่อมปู่ คือแรงบันดาลใจ!! ต้นแบบจากพระเมตตาบารมี "ในหลวง ร.๙" สู่โครงการ "กำลังใจ" ตามพระดำริ "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา"

ข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) คือ

องค์การสหประชาชาติโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 (65th United Nations General Assembly –UNGA) ณ สำนักงานใหญ่ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ต่อข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำ ความผิดที่เป็นหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non - Custodial Measures of Women Offenders) หรือ เรียกเพื่อเป็นเกียรติกับประเทศไทยว่าข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules)

การจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันให้เป็นข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ หรือ โครงการ ELFI (Enhancing Lives of Female Inmates) เป็นโครงการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่มุ่งหวังให้มีการยกระดับมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในประเทศต่างๆ ให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะยังประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่เป็นประชากรกลุ่มน้อยที่มักจะถูกละเลยในระบบราชทัณฑ์ ให้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น เนื่องจากข้อกำหนดสหประชาชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ (The UN Standard Minimum Rules) ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ ค.ศ. 1955 ไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องเพศหญิง จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะมีการผลักดันให้มีขึ้น การจัดทำข้อเสนอในนามประเทศไทยเพื่อผลักดันให้มีการออกข้อกำ หนดสหประชาชาติในเรื่องนี้ เป็นการดำเนินการทางการทูตเชิงรุกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งมีสถานะเป็นเพียงประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่งแต่สามารถออกไป แสดงบทบาทนำ ( Leading Role ) ในการผลักดันเจรจาโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั่วโลกให้ความเห็นชอบในข้อกำหนดนี้

แนวทางการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) เป็นมาตรฐานขั้นตํ่าของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ

1. เป็นมาตรฐานสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยโดยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงผลักดันให้เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับ

2. เป็นข้อกำหนดที่ใช้สำหรับผู้ต้องขังหญิง จากปกติที่มีกำหนดแมนเดลา (Mandela Rule) ของสหประชาชาติ แต่ข้อกำหนดกรุงเทพฯ จะเน้นลักษณะเฉพาะของผู้หญิง ที่มีเรื่องสุขภาพอนามัย การทำ หน้าที่แม่ และบทบาทต่อครอบครัว

3. การบริหารจัดการระบบเรือนจำ เมื่อผู้หญิงถูกจำกัดเสรีภาพทำอย่างไร จะดูแลและปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ในเรือนจำ

4. ต้องมีมาตรการลดปริมาณผู้หญิงเข้าสู่เรือนจำ รวมถึงมาตรการไม่ควบคุมตัวผู้หญิงให้มากที่สุด ตรงนี้ไม่ใช่การละเว้นการลงโทษผู้กระทำผิดแต่พยายามใช้มาตรการอื่นที่เหมาะสม โดยดูประวัติย้อนหลังเพื่อหาสาเหตุความผิด ที่อาจเกิดจากความกดดัน ได้รับความรุนแรงในครอบครัว หรือ ปัญหาความยากจน นำมาประกอบการวินิจฉัยก่อนศาลพิพากษา

ทูลกระหม่อมปู่ คือแรงบันดาลใจ!! ต้นแบบจากพระเมตตาบารมี "ในหลวง ร.๙" สู่โครงการ "กำลังใจ" ตามพระดำริ "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา"

         นอกจากนี้ในการเสด็จเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ของพระเจ้าหลานเธอฯ ยังถือเป็นเกียรติภูมิของประเทศไทยอย่างมากที่ สหประชาชาติได้ถวายรางวัลเกียรติยศสูงสุดแด่พระเจ้าหลานเธอฯในฐานะที่ทรงมีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังหญิง และผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

         นับเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมากที่ พระบรมวงศานุวงศ์ได้ทรงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ และเป็นผู้ที่ริเริ่ม ผลักดันให้เกิดการดูและผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยและกระทรวงยุติธรรมย่อมรำลึกถึงคุณูปการของพระเจ้าหลานเธอฯ อย่างมิลืมเลือน

 

 

ที่มาจาก : เพจ ตามรอยพ่อ

ขอบคุณที่มา: กระทรวงยุติธรรม http://www.moj.go.th/  และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ http://www.nhrc.or.th/