เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

1.พระนารายณ์ราชนิเวศน์
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ ณ เมืองลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง พระองค์ทรงประทับ ณ พระราชวัง8-9 เดือนในช่วงปลายรัชกาลและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2231ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระนารายณ์ราชนิเวศน์ถูกทิ้งร้าง จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2399 และพระราชทานนามว่า ‘”พระนารายณ์ราชนิเวศน์” และรัฐบาลใช้เป็นศาลากลางจังหวัด และต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่พระที่นั่งจันทรพิศาลในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2467 เรียกว่า ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน และในปี พ.ศ. 2504 จึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ปัจจุบันได้จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุตามอาคารและพระที่นั่งต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนกว่า 1,864 รายการ

เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

2.พระนครคีรี
พระนครคีรี เป็นพระราชวังใน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2402 บนเขาสมณ (สะ-หมน) หรือ เขามไหศวรรย์ (เพี้ยนมาจากเขามหาศวรรค์) ซึ่งเป็นภูเขาที่มียอดใหญ่ 3 ยอด มีความสูง 95 เมตร จากระดับน้ำทะเล เมื่อสร้างพระราชวังแล้วจึงพระราชทานนามว่า ยอดเขามหาสวรรค์ คนทั่วไปเรียกว่า เขาวัง
พระนครคีรีเป็นที่ประทับในฤดูร้อนเมื่อเสด็จประพาสเพชรบุรี โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เป็นแม่กองก่อสร้าง และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ บนเขาทั้ง 3 ยอดนี้ว่า พระนครคีรี นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดสมณะแล้วพระราชทานนามว่าวัดมหาสมณาราม พระนครคีรีประกอบด้วยพระที่นั่งต่าง ๆ คือ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา พระตำหนักสันถาคารสถาน หอพิมานเพชรมเหศวร หอจตุเวทปริตพงษ์ และหอชัชวาลเวียงชัย
ใน พ.ศ. 2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เสด็จมาดูความก้าวหน้าของการก่อสร้าง จากนั้นใน พ.ศ. 2404 พระองค์จึงเสด็จมาประทับที่พระนครคีรีอย่างเป็นทางการ และเสด็จมาประทับแรมอีกหลายครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประทับที่พระนครคีรีเป็นครั้งคราว แต่หลังจากรัชสมัยของพระองค์เป็นต้นมา พระนครคีรีไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์อีก ในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมพระราชวังแห่งนี้ และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระนครคีรี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม

เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

3.พระราชวังจันทรเกษม
พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระราชวังที่ปรากฏหลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2120 ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยามเสด็จจากเมืองพิษณุโลกเพื่อมาเฝ้าพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา พระราชวังแห่งนี้พระนเรศวรทรงใช้เป็นกองบัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ. 2129 นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์
ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 พระราชวังจันทรเกษมได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงได้มีปรับปรุง บูรณะ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และโปรดพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2436 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า โดยใช้พระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ทำการ จนพระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้มีการจัดสร้างอาคารที่ทำการภาค ขึ้น แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาค พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้รวบรวมวัตถุสิ่งของสำคัญในบริเวณกรุงเก่าและบริเวณใกล้เคียงไว้เป็นจำนวนมาก มาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม จนในปี พ.ศ. 2445 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแนะนำให้พระยาโบราณราชธานินทร์ จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เรียกว่า โบราณพิพิธภัณฑ์ โดยใช้ตึกโรงม้าพระที่นั่งเป็นที่เก็บรวมรวม

เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

 

4.พระราชวังสราญรมย์
พระราชวังสราญรมย์ เป็นวังที่ตั้งอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง กับวัดราชประดิษฐ์ ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นบ้านพักรับรองพระราชอาคันตุกะ

พระราชวังสราญรมย์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ออกแบบโดย เฮนรี อาลาบาศเตอร์ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2409 โดยมีเจ้าพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อใช้เป็นที่ประทับ พระราชทานนามว่า สราญรมย์ แต่เสด็จสวรรคตก่อนที่จะสร้างเสร็จ

ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานวังสราญรมย์ให้เป็นที่ประทับชั่วคราว ของเจ้านายเมื่อแรกออกจากวังหลวง ก่อนที่วังประทับถาวรจะก่อสร้างแล้วเสร็จ อาทิเช่น เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ทรงประทับเมื่อ พ.ศ. 2419 – 2424 ระหว่างก่อสร้างวังบูรพาภิรมย์ ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประทับรับรองพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ เช่น อาทิ เจ้าชายแห่งญี่ปุ่น มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย (พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2) เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซ พระราชอาคันตุกะพระองค์แรกที่เข้ามาประทับคือ เจ้าชายออสการ์ เมื่อ พ.ศ. 2427

เมื่อ พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงขอพระราชทานวังสราญรมย์ ให้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาจึงย้ายไปที่ตึกราชวัลลภ ในพระบรมมหาราชวัง ใน พ.ศ. 2430 วังสราญรมย์ จึงใช้เป็นบ้านพักรับรองพระราชอาคันตุกะ เรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์โปรดให้เรียก “วังสราญรมย์” เป็น “พระราชวังสราญรมย์” ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2459

เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

 

5.พระราชวังดุสิต
ตั้งอยู่ที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่เสด็จประทับชั่วคราว เนื่องจากภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับนั้น ประกอบด้วย พระราชมณเฑียร หมู่พระตำหนัก หมู่เรือนในเขตพระราชฐานชั้นใน และหมู่เรือนข้าราชบริพาร ปลูกสร้างอยู่กันอย่างแออัด ปิดทางลม ทำให้ที่ประทับร้อนจัด ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระประชวรกันเสมอ ต่อมา จึงสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระราชวังที่ประทับถาวรจนตลอดรัชกาล โดยได้สร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชวังดุสิตเป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2440 โดยใน พ.ศ. 2441 โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ตอนชายทุ่งนาในระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาขึ้นเป็นที่เสด็จประทับแรมชั่วคราว และพระราชทานนามว่า “สวนดุสิต” เนื่องจากเดิมนั้น นายแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบบังคมทูลว่า ในพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับมาแต่เดิมไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระประชวรกันเสมอ ต่อมา เมื่อมีการสร้างพระที่นั่งขึ้น และพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาประทับบ่อยครั้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชนิเวศน์แห่งใหม่ และพระราชทานนามว่า “วังสวนดุสิต”

เมื่อมีการขยายพระนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสามเสน, ถนนราชดำเนินใน, ถนนราชดำเนินนอก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่ประทับถาวรขึ้น และเสด็จมาประทับบ่อยครั้ง จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระที่นั่งต่าง ๆ ขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีได้เช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเปลี่ยนนามวังสวนดุสิตเป็น พระราชวังสวนดุสิต จนกระทั่ง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระราชวังสวนดุสิตว่า “พระราชวังดุสิต”

เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

 

6.พระราชวังบางปะอิน
พระราชวังบางปะอิน มีประวัติความเป็นมาตามพระราชพงศาวดารครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า พระเจ้าปราสาททองหรือพระศรีสรรเพ็ชญ์ที่ ๕ ( พ.ศ. ๒๑๗๒ –๒๑๙๙ ) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นบนเกาะบ้านเลนในลำแม่น้ำเจ้าพระยาพระราชวังบางปะอินได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับมีเรือนแถวสำหรับฝ่ายใน และมีพลับพลาริมน้ำ เป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕พระองค์โปรดที่จะเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินอยู่เสมอ ด้วยทรงปรารภว่าเป็นเกาะอยู่กลางน้ำเงียบสงบ ร่มรื่น และเคยเป็นที่ประทับประพาสของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆขึ้น ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยังคงใช้เป็นที่ประทับ ที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงรับรองในโอกาสต่างๆ เป็นครั้งคราว

ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าปราสาททองเป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระเอกาทศรถประสูติแต่หญิงสาวชาวบ้าน ซึ่งพระองค์ทรงพบ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งแล้วเกิดล่มลงตรงเกาะบางปะอิน เมื่อพระเจ้าปราสาททอง ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๑๗๓ แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๗๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งบนเกาะบางปะอิน ตรงบริเวณเคหสถานเดิมของพระมารดาพระราชทานชื่อว่า “วัดชุมพลนิกายาราม” และให้ขุดสระน้ำสร้างพระราชนิเวศน์สถานขึ้นกลางเกาะเป็น ที่สำหรับเสด็จประพาส แล้วสร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งขึ้นริมสระน้ำนั้น พระราชทานนามว่าพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ พระราชวังแห่งนี้คงเป็นที่ประพาสสำราญพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมา และคงรกร้างทรุดโทรมไปแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นต้นมา

เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

 

7.พระราชวังสนามจันทร์
พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ห่างจากกรุงเทพฯ ลงไปทางใต้ ๕๖ กิโลเมตร บริเวณที่เป็นพระราชวังสนามจันทร์ อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางตะวันตก ประมาณ ๑ กิโลเมตร ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณซึ่งเดิมเรียกว่าเนินปราสาท สันนิษฐานว่าเดิมคงเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ในสมัยโบราณ ใกล้กับเนินปราสาทมีสระน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันมาแต่เดิมว่า สระน้ำจันทร์ (ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่าสระบัว) อยู่หน้าโบสถ์พราหมณ์
ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังที่ประทับขึ้น ณ เมืองนครปฐม สำหรับเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในโอกาสเสด็จฯ มาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ และเพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ทรงเลือกจังหวัดนครปฐม ด้วยเหตุที่ทรงคุ้นเคยกับภูมิประเทศของเมืองนี้ ทรงเห็นว่าบริเวณเนินปราสาทนั้นเป็นทำเลที่เหมาะ จึงทรงขอซื้อที่ดินจากราษฎรที่อยู่รอบๆ เนินปราสาท เพื่อจัดสร้างพระราชวังขึ้น รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น ๘๘๘ ไร่ ๓ งาน ๒๔ วา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิทักษ์มานพ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนยศเป็น พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ ( น้อย ศิลปี ) เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว รัชกาลที่ ๕ การก่อสร้าง พระที่นั่ง และพระตำหนักต่างๆ ได้ดำเนินการติดต่อกันนานถึง ๔ ปี จึงแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระราชทานนามว่า ” พระราชวังสนามจันทร์ ”

เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

8.พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี เป็นพระราชวังสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยเป็นพระตำหนักประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพอพระราชหฤทัยที่สถานที่ที่ตำบลบางควายจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการก่อสร้างพระราชนิเวศน์ใหญ่ใน พ.ศ. 2466 โดยที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างและพระองค์ได้ทรงร่างแผนผังการก่อสร้างพระราชนิเวศน์ด้วยพระองค์เอง โดยพระองค์ได้ทรงเพิ่มพระตำหนักฝ่ายใน ทรงเลือกแบบพระราชนิเวศน์เป็นอาคารแบบไม้ชั้นเดียว หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องสี่เหลี่ยม ใต้ถุนสูง เทพื้นคอนกรีตตลอด โดยที่พระตำหนักต่างๆ ได้แบ่งกระจายกันอยู่เป็นหลังๆ มีรูปทรงแบบเดียวกันหมด แต่ทุกหลังจะมีระเบียงและบันได ส่วนทางเดินจะมีลูกกรงและหลังคาเชื่อมติดต่อถึงกันตลอดเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเดินติดต่อกันระหว่างพระตำหนักต่างๆ ได้จัดวางห้องบรรทมอยู่กลางติดกับห้องแต่งพระองค์ มีห้องเสวยด้านหลัง มีสะพานทอดออกไปทางด้านขวามือเป็นส่วนของฝ่ายใน ด้านหน้ามีสะพานทอดยาวไปเป็นห้องทรงพระอักษรใกล้ชายหาด

เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

 

9.พระราชวังพญาไท

พระราชวังพญาไท หรือ วังพญาไท ตั้งอยู่ที่ริมคลองสามเสน ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พระราชทานนามให้ว่า”พระตำหนักพญาไท หรือวังพญาไท” ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชวังพญาไท

วังพญาไท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จทอดพระเนตรการทำนา การปลูกผักและการเลี้ยงสัตว์ วังนี้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักเป็นที่ประทับ รวมถึงส่วนพื้นที่ด้านตรงข้ามกับพระตำหนัก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ทำนา รวมทั้ง โรงนา ขึ้นเพื่อประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญหลายครั้ง ณ วังพญาไท
วังพญาไทใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในระยะเวลาอันสั้น เพราะเมื่อหลังจากมีการขึ้นเรือนใหม่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็สวรรคต
ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทูลเชิญสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชมารดา มาประทับที่พระราชวังแห่งนี้ด้วย จนกระทั่งสวรรคตเมื่อปี 2463 หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงรื้อพระตำหนักพญาไท เหลือไว้เพียง พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งใหม่หลายพระองค์ด้วยกัน รวมทั้งได้รับการสถาปนาวังเป็น พระราชวังพญาไท

เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

 

10.พระรามราชนิเวศน์
พระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน ตั้งอยู่ที่เขตบ้านปืน ริมแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อเสด็จประพาสจังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายคาร์ล ดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมนีเป็นผู้เขียนแบบ, ดร.ไบเยอร์ ชาวเยอรมนี เป็นนายช่างก่อสร้าง, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) ทรงควบคุมการก่อสร้าง, และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (พระยศขณะนั้น) ทรงควบคุมด้านการไฟฟ้า
พระรามราชนิเวศน์เป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2453

การก่อสร้างพระที่นั่งแห่งนี้ มาสำเร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2461 และพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนาม “พระราชวังบ้านปืน” โดยพระราชทานนามพระราชวังใหม่ว่า “พระรามราชนิเวศน์” นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำเนินการหล่อรูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืนเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ยังหน้าพระที่นั่ง (ปัจจุบัน รูปปั้นนี้ย้ายมาไว้ยังหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) แต่คนทั่วไปจะเรียกติดปากว่าพระราชวังบ้านปืนตาม ชื่อเดิมของถิ่นที่อยู่นั่น

เป็นบุญตายิ่งนัก!! เปิดภาพ 10 อันดับพระราชวังที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย(รายละเอียด)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก dek-d