เรื่องเล่าผีทหารในรั้ววัง!! ธรรมเนียมกราบบังคมทูลลาตาย วิญญาณมาปรากฏต่อหน้าพระพักตร์ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานลาตาย!!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

 

               ธรรมเนียมการกราบบังคมทูลลาถึงแก่ชีวิตนั้น เป็นธรรมเนียมแต่โบราณที่ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งถวายงานจนถึงแก่กรรมนั้น เป็นมารยาทที่คนไทยยึดถือคือ "ไปลามาไหว้" เมื่อเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายงานแล้ว จะเกษียณอายุ หรือ ถึงแก่กรรม ก็ควรจะต้องแจ้งเจ้านายของตนเพื่อให้ทราบ วัตถุประสงค์แท้จริงนั้นคือจะได้จัดหาบุคคลมารับผิดชอบในหน้าที่นั้น ๆ ต่อไป จะได้ไม่เสียราชการ ต่อมาจึงใช้เป็นขั้นตอนในการขอรับพระราชทานเกียรติยศ อาทิ น้ำหลวงอาบศพ และเพลิงหลวงหรือดินฝังศพ โดยทายาทจะต้องจัดดอกไม้กระทง ๑ กระทง ธูปไม้ระกำ ๑ ดอก เทียน ๑ เล่ม มีพานรองพร้อม ไปกราบถวายบังคมทูลลาพร้อมหนังสือกราบบังคมทูล สำนักพระราชวังจะเตรียมเครื่องประกอบเกียรติยศอันเป็นเครื่องสนองคุณงามความดีของผู้วายชนม์ให้แก่เจ้าภาพรับไปประกอบเกียรติยศจนเสร็จการ

เรื่องเล่าผีทหารในรั้ววัง!! ธรรมเนียมกราบบังคมทูลลาตาย วิญญาณมาปรากฏต่อหน้าพระพักตร์ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานลาตาย!!

                มีเรื่องเล่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เกี่ยวกับการขอพระราชทานลาตายของผีนายทหารราชองครักษ์มาเข้าเฝ้าหลังจากเสียชีวิตไปแล้วว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอุดร เพื่อไปประทับรถพระที่นั่งที่จอดรออยู่หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน เสด็จไปพระราชทานน้ำสรงอาบพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งในขณะนั้นพระองค์เสด็จเพียงประองค์เดียว

 

เรื่องเล่าผีทหารในรั้ววัง!! ธรรมเนียมกราบบังคมทูลลาตาย วิญญาณมาปรากฏต่อหน้าพระพักตร์ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานลาตาย!!

               ขณะที่พระราชดำเนินไปตามเฉลียงนั้น ทรงทอดพระเนตรเห็นนายพันโท พระฤทธิรณจักร รองผู้บังคับการกรมทหารรักษาพระราชวัง และเป็นพระราชองครักษ์เวร มายืนเฝ้ารับเสด็จ และถวายความเคารพ ในขณะที่ทรงรับการเคารพนั้น พระองค์ทรงสงสัยว่าทำไมพระฤทธิรณจักร ไม่ไปรอรับเสด็จที่พระที่นั่งอัมพรสถาน และทำไมไม่แต่ชุดเต็มยศขาว แต่กลับแต่งชุดเต็มยศเครื่องใหญ่ ครั้นเสด็จจากการพระราชทานน้ำสรงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ มาถึงพระที่นั่งอุดร ก็ทรงทอดพระเนตรเห็นพานกะไหล่ทอง ซึงบนพานประกอบด้วยดอกไม้ธูปเทียน ที่จัดแบบกราบถวายบังคมทูลลาตายตั้งอยู่ ซึ่งเป็นระเบียบของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนข้าราชสำนักจะต้องมีญาติ พี่น้องทำหนังสือกราบบังคมทูลในนามผู้ตาย ถวายบังคมลาตาย ส่งไปที่กระทรวงวัง พร้อมดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงวัง จะได้นำพานและหนังสือ ทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทราบใต้ฝ่าละอองฯ หลังจากนั้นสำนักพระราชวัง ก็จะจัดน้ำหลวงอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศส่งไปให้ผู้ถึงแก่กรรมเมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรจึงทรงหยิบหนังสือขึ้นมา มีข้อความว่า

 “ดอกไม้ธูปเทียนของข้าพระพุทธเจ้า นายพันโท พระฤทธิรณจักร (กรับ โฆษะโยธิน) ขอพระราชทานกราบบังคมลาถึงแก่กรรม ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ”

           พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ทรงระลึกได้ทันทีว่าบ่ายนี้ที่จมื่นฤทธิ์ฯ มาเฝ้าในเครื่องแต่งกายเต็มยศใหญ่ ก็คงเป็นเพราะประสงค์ จะมาถวายบังคมลาตายด้วยตัวเอง เมื่อความได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเช่นนั้น พระองค์ทรงเสียพระราชหฤทัยและเสียดายจมื่นฤทธิ์รณจักร เป็นอย่างมาก ถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า "จมื่นฤทธิ์รณจักร แกรักฉัน อุตส่าห์นำวิญญาณในเครื่องแบบเต็มยศมาลาฉัน"

           การกราบบังคมทูลลาตายนั้นเป็นธรรมเนียมของข้าราชสำนักที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือ เมื่อได้เข้ารับราชการถวายตัวเป็นข้าพระบาทคอยถวายงาน เมื่อถึงแก่กรรมแล้วก็จะต้องกราบบังคมทูลลาเพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวรับทราบและมีพระราชวินิจฉัยพระราชทานเกียรติยศสมกับคุณงามความดีในตำแหน่งหน้าที่บริหารบ้านเมืองและข้าในพระองค์ 

เรื่องเล่าผีทหารในรั้ววัง!! ธรรมเนียมกราบบังคมทูลลาตาย วิญญาณมาปรากฏต่อหน้าพระพักตร์ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานลาตาย!!

                ธรรมเนียมนี้ยังมีการสืบทอดมาถึงรัชกาลปัจจุบัน สำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการกระทรวงหรือเป็นข้าในราชสำนักหรือข้าราชการที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามชั้นที่กำหนด หรือเชื้อพระวงศ์ เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ที่เป็นทายาทหรือเจ้าภาพจะต้องจัดดอกไม้กระทง1กระทง ธูปไม้ระกำ ๑ ดอก เทียน ๑ เล่ม  มีพานรองพร้อม ไปกราบบถวายบังคมทูลลา โดยติดต่อที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังภายในพระบรมหาราชวัง พร้อมกับถือหนังสือกราบบังคมทูลลา ๑ ฉบับพร้อมใบมรณะบัตร หลักฐานการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด จากนั้นทางสำนักพระราชวังจะจัดน้ำหลวงพระราชทานอาบศพให้อย่างหนึ่งกับหีบหรือโกศเครื่องประกอบเกียรติยศต่างๆ รวมถึงจะจัดปี่ กลองชนะประโคมในเวลาพระราชทานน้ำสรงศพด้วยโดย จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นจากการได้รับพระราชทานเครื่องเกียตริยศประกอบศพ เช่น

๑.น้ำหลวงอาบศพ
๒.หีบพระราชทานหรือโกศ(ขึ้นอยู่กับเครื่องราชฯ)
๓.เจ้าพนักงานปฏิบัติ
๔.พาหนะรับส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง
๕.ปี่ กลองชนะ ที่ใช้ประโคม เป็นต้น

         ปัจจุบัน ธรรมเนียมการขอพระราชทานลาถึงแก่กรรม ยังคงปฏิบัติสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

 

 

 

ที่มาจาก : เพจ คลังประวัติศาสตร์ไทย , https://www.clipmass.com/story/79303

อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักพระราชวัง. (2552). รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.

                         สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา