ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

พลิกคดี "พระ" กราบไหว้ "คฤหัสถ์" สมัยพระเจ้าตากฯ

พระเจ้าตากฯตัดสินลงโทษเพราะพระเถระไม่แตกฉานในพระวินัย ไม่ใช่ทรงสำคัญตนว่าเป็นพระอริยะ 

----------

โดย เวทิน ชาติกุล (จากหนังสือ  ธรรมะของพระเจ้าตาก ๑๐ ชั่วโมงสุดท้ายปลายกรุงธนบุรี)

----------
 

พลิกคดีประวัติศาสตร์!! “พระ” กราบไหว้ “คฤหัสถ์” ...ไม่ใช่เพราะ “เจ้าตาก” สำคัญตนเป็นพระอริยะ แต่เพราะพระเถระไม่แตกฉานพระวินัย


ปลายสมัยกรุงธนบุรีมีเรื่องอื้อฉาวที่รู้กันดีว่าพระเจ้าตากฯนั่งกรรมฐานจนสำคัญพระองค์ว่าเป็นอริยบุคคล

 ข้อกล่าวอ้างในเรื่องนี้ปรากฏทั้งในพระราชพงศาวดารและจดหมายเหตุโหร

มาดูกันที่จดหมายเหตุโหรก่อน

 "...(ปี ๒๓๒๓) ราชาคณะวิวาทกันด้วยไหว้คฤหัสถ์ผู้นั่งสมาบัติ ข้างหนึ่งว่าไหว้ได้ ข้างหนึ่งว่าไหว้ไม่ได้ ได้เป็นโทษ..." (จดหมายเหตุโหร ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์)

อ้างตามที่ระบุไว้ในจดหมายเหตุโหร  เรื่องนี้ชัดเจนว่าน่าจะเป็นการวิวาทกันในหมู่พระผู้ใหญ่ก่อนแล้วจึงลุกลามบานปลายมาถึงการตัดสินความของพระเจ้าตากฯ

ตรงนี้มีนัยสำคัญยิ่ง!!

หนึ่งในความเป็นไปได้แบบไทยๆก็คือ เมื่อเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดในพระกรรมฐานมากคงจะมีพระสงฆ์บางรูปที่อยากทำให้ทรง "พอพระทัย" เป็นกรณีพิเศษ?

กรณีนี้อาจเทียบเคียงกับเมื่อครั้งก่อนหน้านี้ ที่พระเจ้าตากฯทรงปรารพถึงพระกรรมฐานของพระองค์ว่า พระนาภีของพระองค์แข็ง กระเหม็บมิเข้า "ผิดกับสามัญโลกทั้งปวง อัศจรรย์นี้ต้องด้วยพระบาลีในพระกรรมฐาน" จากนั้นจึงตรัสถามพระสังฆราช เรื่อง "พระรูปพระลักษณะ" ซึ่งพระราชาคณะก็ถวายพระพรว่าเป็นพระลักษณะเดียวกับพระพุทธเจ้า และได้แปลพระบาลีพระพุทธลักษณะถวายด้วย  

แต่ในครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวินิจฉัยเองด้วยแล้วตรัสว่า รูปลักษณะของพระองค์ตรงตามพุทธลักษณะ ๑๒ ประการ(จาก ๓๒ ประการ) และ "ที่ไม่ต้องก็ทรงบอกว่าไม่ต้อง"  ซึ่งก็น่าจะเข้าใจได้ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรง "รู้พระองค์" ดีอยู่ (อันจะเป็นที่สงสัยได้ว่า การกล่าวพระองค์ในเวลาต่อมาว่าอวดอ้างตนสำเร็จเป็นโสดาบันนั้นมีมูลแค่ไหน?)

ถ้าพระเจ้าตากฯยังทรง "รู้พระองค์" ดี ก็น่าจะทรงรู้ว่า เรื่องที่เถียงกันจะเป็นจะตายในหมู่พระนั้นไม่เป็นประเด็น เพราะเทียบเคียงจากในหมู่สมณะด้วยกันเองนั้นเบื้องต้น การไหว้หรือเคารพนั้นดูกันตามอายุพรรษา มิได้ดูที่ระดับการสำเร็จมรรคผล(หรือแม้แต่ชั้นยศสมณศักดิ์)  พระที่บวชทีหลังแต่สำเร็จมรรคผลก่อนก็ต้องไหว้พระที่บวชเข้ามาก่อนแต่ยังไม่สำเร็จ  ด้วยเหตุนี้เหตุผลของการไหว้น่าจะเป็น "เหตุผลของการอยู่ร่วมกันในสังคม" เสียมากกว่าเป็น "เครื่องบ่งชี้สถานะหรือระดับการฝึกจิต"

ประเด็นก็คือเรื่องนี้น่าจะรู้อยู่ตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่เป็นประเด็น(และก็ไม่เคยมีประเด็นแบบนี้แม้ในครั้งพุทธกาล)  คำถามที่เป็นปริศนาก็คือทำไมพระผู้ใหญ่จึงตั้งประเด็นเถียงกันเอาเป็นเอาตายทั้งๆที่มันไม่เป็นประเด็น?

หรือก็เป็นไปได้หรือไม่ที่เรื่อง "ไหว้ได้-ไหว้ไม่ได้" อาจเป็นประเด็นถกเถียงทาง "วิชาการ" อันเนื่องจากธรรมเนียมฝ่ายเถรวาทและธรรมเนียมของพุทธมหายาน(ที่พระเจ้าตากฯน่าจะทรงคุ้นเคยอยู่)มองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน?
 

ส่วนในพระราชพงศาวดาร กล่าวเอาไว้ว่า

 "...(ปี ๒๓๒๔) ฝ่ายการแผ่นดินข้างธนบุรีนั้นก็ผันแปรต่างๆเหตุพระเจ้าแผ่นดินเสียพระจริตฟั่นเฟือนไป ฝ่ายพุทธจักรอาณาจักรทั้งปวงนั้นเล่า ก็แปรปรวนไปเป็นหมู่ๆมิได้เป็นปกติเหมือนแต่ก่อน เหตุพระเจ้าแผ่นดินนั้นทรงนั่งอุรุพันธ์ โดยพระกรรมฐานสมาธิและจะยั้งภิกษุทั้งปวงให้เคารพนบนมัสการแก่พระองค์..." (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับ พันจันทนุมาศ(เจิม))

และที่มีเนื้อหาละเอียดยิบคือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา

 "...(ปี ๒๓๒๔) ครั้นถึง ณ.วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ.โรงพระแก้ว ให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกันและพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส สำคัญพระองค์ว่าได้พระโสดาปัตติผล จึงตรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น จะได้หรือมิได้ประการใด และพระราชาคณะที่มีสันดานโลเล มิได้ถือมั่นในพระบาลีบรมพุทโธวาท ด้วยเกรงพระราชอาญา เป็นคนประสมประสานจะเจรจาให้ชอบพระอัธยาศัยนั้นมีเป็นอันมาก คือพระพุทธโฆษาจารย์ วัดบางหญ้าใหญ่ และพระโพธิวงศ์ พระรัตนมุนีวัดหงส์ เป็นต้น ถวายพระพรว่า สงฆ์ปุถุชนควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดานั้นได้

 แต่สมเด็จพระสังฆราชวัดบางหว้าใหญ่ พระพุฒาจารย์วัดบางหว้าน้อย พระพิมลธรรมวัดโพธาราม สามพระองค์นี้ มีสันดานมั่นคงถือพระพุทธวจนะโดยแท้ มิได้เป็นคนสอพลอประสมประสาน จึงถวายพระพรว่า ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดีแต่เป็นหินเพศต่ำอันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชนก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์เป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระโกรธว่าถวายพระพรผิดจากพระบาลี ด้วยพวกที่ว่าควรนั้นเป็นอันมากกว่าไม่ควรแต่สามพระองค์เท่านี้ จึงดำรัสให้พระโพธิวงศ์ พระพุทธโฆษาจารย์ เอาตัวสมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม กับทั้งถานาบาเรียนอันดับซึ่งเป็นอันเตวาสิก สัทธิงวิหาริกพระราชาคณะทั้งสามพระองค์นั้น ไปลงทัณฑกรรม ณ.วัดหงส์ทั้งสิ้น และตัวพระราชาคณะให้ตีหลังองค์ละร้อยที พระถานาบาเรียนให้ตีหลังองค์ละห้าสิบที

 แต่พระสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่ในศีลสัตย์ว่าไหว้ไม่ได้นั้น ทั้งสามอารามเป็นพระสงฆ์ถึงห้าร้อยรูปต้องถูกตีทั้งสิ้น และพวกพระสงฆ์ทุศีลอาสัตย์อาธรรมว่าไหว้ได้มีมากกว่าทุกๆอาราม แต่พระราชาคณะทั้งสามพระองค์ และพระสงฆ์อันเตวาสิกซึ่งเป็นโทษทั้งห้าร้อยนั้นให้ไปขนอาจมชำระเว็จกุฏีวัดหงส์ทั้งสิ้นด้วยกัน

จึงตั้งพระโพธิวงศ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระวันรัตน  ครั้งนั้นมหาภัยพิบัติบังเกิดในพระพุทธศาสนาควรจะสังเวชยิ่งนัก บรรดาชนทั้งหลายซึ่งเป็นสัมมาทิฐินับถือพระรัตนตรัยนั้น ชวนกันสลดจิตคิดสงสารพระพุทธศาสนา มีหน้านองไปด้วยน้ำตาเป็นอันมากที่มีศรัทธาเข้ารับโทษให้ตีหลังตนแทนพระสงฆ์นั้นก็มี และเสียงร้องไห้ระงมทั่วทั้งเมือง..." (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา)

 

จากที่ยกมาข้างต้นมักถูกพูดถึงเสมอโดยนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยว่าเป็นกรณี "ฟางเส้นสุดท้าย"  ที่สังคมในขณะนั้นจะยอมทนกับวัตรปฏิบัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

และเป็นกรณีที่นำไปสู่ความเข้าใจว่าพระเจ้าตากฯนั่งกรรมฐานมากจนเสียสติคิดว่าพระองค์เองสำเร็จเป็นโสดาบัน

จนชวนให้เข้าใจกันไปว่าใครที่นั่งสมาธิจะต้องถูกมองว่าเพี้ยนๆหรือถึงขนาดเสียสติ
 

แต่ถ้าอ่านพระราชพงศาวดารให้ละเอียด  ว่ากันตามตัวอักษรในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ที่ระบุว่าพระเจ้าตากฯนั่งกรรมฐานจนฟั่นเฟือนและสำคัญตนว่าเป็นโสดาบัน) พระเจ้าตากฯก็ไม่เคยตัดสินว่า "ไหว้ได้"

 

พลิกคดีประวัติศาสตร์!! “พระ” กราบไหว้ “คฤหัสถ์” ...ไม่ใช่เพราะ “เจ้าตาก” สำคัญตนเป็นพระอริยะ แต่เพราะพระเถระไม่แตกฉานพระวินัย

 

แต่เหตุผลทรงลงโทษก็เพราะ

 "...สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระโกรธว่าถวายพระพรผิดจากพระบาลี..."

 ที่ ผิดจากพระบาลีก็เพราะ คำตอบของพระฝ่ายที่ตอบว่า "ไม่ควรไหว้" และถูกลงโทษ ตอบว่า

 "...อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชนก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ..."

น่าแปลกพงศาวดารมิให้ให้เหตุผลในคำตอบของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ตอบว่า "ไหว้ได้" ว่าเป็นเช่นไร

ประเด็นก็คือ...พิจารณาตามตัวอักษรที่ยกมานั้นก็คือ "ไม่ควรไหว้" เพราะพระสงฆ์อยู่ในเพศที่สูงกว่าเพราะ "ห่มผ้าเหลือง" และ "ถือศีลมากกว่า" เท่านี้ก็พอจะให้เข้าใจได้แล้วว่าทำไมพระเจ้าตากฯถึงกริ้วว่า "ถวายพระพรผิดพระบาลี"

ในสมัยนั้นความเสื่อมในหมู่สงฆ์มีมาก มีคนมากมายหนีตาย หนีความลำบาก หนีความอดอยากปลอมมาบวช แล้วก็ไม่ได้ประพฤติตนอยู่ในพระธรรมวินัย ดังเกิดกรณี "ดำน้ำพิสูจน์ความเป็นพระ" เป็นต้น  ในทางหลักการการบอกว่าห่มผ้าเหลืองแล้วมีสถานะสูงกว่าโดยไม่ต้องดูว่ามีวัตรปฏิบัติอย่างไรนั้นขัดกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปแน่ เพราะแยกไม่ได้ระหว่าง "พระจริง"(พระที่ยังเป็นปุถุชน)กับ "พระปลอม"(ปุถุชนในคราบพระ)

ในทางปฏิบัติก็ต้องเป็นพระผู้ใหญ่ที่ควรจะเข้มงวดให้พระปฏิบัติตามพระธรรมวินัยซึ่งอนุมาณได้ว่าคงไม่มีในช่วงนั้น ยิ่งคำตอบที่ว่านี้(ถ้าเป็นเรื่องจริง)มาจากปากของพระราชาคณะอีก  ก็ไม่น่าแปลกที่ตามวิสัยของพระเจ้าตากฯพระองค์จะทรงกริ้วเรื่องนี้มาก

ถ้าเป็นไปตามนี้ ก็มีวิธีอธิบายได้ว่าเหตุผลที่พระสงฆ์ถูกลงโทษนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความเป็นหรือไม่เป็นอริยบุคคลของพระเจ้าตากฯแม้แต่น้อย

(โปรดติดตามตอนต่อไป พระเจ้าตากฯไม่เคยอ้างพระองค์ว่าเป็นโสดาบัน)