ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

โอวาทสมเด็จพระสังฆราช!! ทรงมอบสิ่งล้ำค่าให้พุทธศาสนิกชน "ธรรมะที่ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ" ใช้สติหมั่นทบทวนตนเอง อย่ามัวไปเพ่งโทษผู้อื่น

เช้าวันพฤหัสบดี ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปยังบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ทรงเปิดอาคารที่ทำการใหม่ของบริษัท

โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความตอนหนึ่งว่า

"​การจะประสบความเจริญรุ่งเรืองในธุรกิจการงานนั้น บุคคลผู้เป็นสมาชิกขององค์กร จะขาดคุณธรรมที่ทำไปสู่ความสำเร็จที่เรียกว่า 'อิทธิบาท ๔' ไปมิได้เลย

อิทธิบาททั้ง ๔​ ประการ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้เป็นหนทางแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย ฉันทะ คือความพอใจ วิริยะ คือความเพียร จิตตะ คือความเอาใจใส่ และวิมังสา คือการหมั่นตรวจสอบทบทวน อาตมาเชื่อว่าเป็นหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาที่ท่านทั้งหลายได้ยินจนชินหูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว

วันนี้จะขอหยิบยกธรรมะเฉพาะข้อสุดท้ายในอิทธิบาท ๔ คือ 'วิมังสา' มาให้ท่านพินิจพิจารณา เพราะอาตมาเห็นว่าเป็นข้อสำคัญที่องค์กรขนาดใหญ่เช่นองค์กรของท่านจะละเลยหลงลืมไปเสียมิได้

วิมังสา มีความหมายถึงการไตร่ตรอง หรือการทดลอง หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ ตรวจหาเหตุผล และตรวจสอบข้อดีข้อด้อยในสิ่งที่ทำนั้น เพื่อนำไปสู่การวางแผน วัดผล และคิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ การจะพัฒนาตนหรือพัฒนาองค์กรนั้น ย่อมต้องทบทวนถึง 'บทเรียน' ที่ผ่านมา เพื่อให้ตระหนักว่าสิ่งที่คิดและที่ทำมานั้นดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ที่สำเร็จเป็นเพราะอะไร และที่ล้มเหลวเป็นเพราะอะไร เพื่อที่จะได้หาแนวทางแก้ไข หรือหาทางหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น

ความมีสติ ความรู้เนื้อรู้ตัว รู้ว่ากำลังคิด พูด และทำอะไรอยู่ ย่อมเป็นเครื่องมือในการพิจารณาทบทวน สติจะช่วยอุปการะให้สามารถมองตนเองได้ชัดเจนขึ้น รู้ว่าขณะนี้ปัญหาคืออะไร และจะแก้ไขอย่างไร เพราะธรรมชาติของคนเรา ย่อมสอดส่ายสายตาทอดมองออกไปข้างนอก ทำให้ไม่เห็นตัวเองและสภาวะที่เป็นไปในตน จนเผลอไปเพ่งโทษแต่ผู้อื่น ไม่เคยเพ่งโทษตนเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านทั้งหลายหมั่นถามตนเองบ่อยๆ ถึงกิจการงานที่กำลังทำในแต่ละขณะๆ ของตน จิตเราก็ย่อมหาคำตอบได้พบ เกิดวิถีแห่งการพัฒนาสู่ความสำเร็จ ธรรมะในลักษณะที่กล่าวมานี้แลที่เรียกว่าวิมังสา สามารถก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล เป็นแรงผลักดันไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในการงานของตนเอง ขององค์กร และของสังคมส่วนรวมได้อย่างแน่นอน"