ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

เปิดประวัติ "กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ" พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้า วังหน้าพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ #วันนี้ในอดีต !!

               วันนี้ในอดีต วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๒๘ วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม เมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ตรงกับวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๓๘๑ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้ายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เปิดประวัติ "กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ" พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้า วังหน้าพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ #วันนี้ในอดีต !!

             เมื่อแรกประสูติพระองค์มีพระอิสริยยศที่หม่อมเจ้า โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า "ยอร์ชวอชิงตัน" ตามชื่อของจอร์จ วอชิงตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนแรก คนทั่วไปออกพระนามว่ายอด ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชทานพระนามให้ใหม่ว่า "พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร" และได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ "กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ และได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

            เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์โต คือ "เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์" (รัชกาลที่ ๕) ยังทรงพระเยาว์เพียง ๑๒ พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งถูกสงสัยมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนม์ว่าคิดจะชิงราชสมบัติจึงได้เสนอให้ทรงแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็น กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ แต่ไม่ได้ตั้งให้เป็นวังหน้า

           ก่อนหน้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต ๑ วัน ได้มีการประชุมพระญาติวงศ์และขุนนาง ที่ประชุมอันมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นประธาน ตกลงที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ แต่เรื่องนี้ไม่เป็นมติเอกฉันท์ของที่ประชุม เพราะพระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ทรงคัดค้านว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ตามโบราณราชประเพณีเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของที่ประชุม ซึ่งทำความไม่พอใจให้แก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านจึงได้ย้อนถามว่า "ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ" กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จึงตอบว่า "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม" จึงเป็นอันว่าที่ประชุมเห็นสมควรที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าองค์สุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์

          เนื่องจากเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สนับสนุนให้ได้เป็นแต่งตั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ จึงทรงเกรงใจเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นอันมาก ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๑๘ ทรงริเริ่มปฏิรูปปรับปรุงการปกครองประเทศให้ทันสมัยโดยโยงอำนาจเข้าศูนย์กลาง ทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ (Auditing Office ปัจจุบันคือกระทรวงการคลัง) เพื่อรวมรวมการเก็บภาษีมาอยู่ที่เดียวกัน ซึ่งกระทบกระเทือนต่อการเก็บรายได้ สร้างความไม่พอใจแก่เจ้านายและขุนนางเก่าแก่เป็นอันมาก โดยเฉพาะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งเดิมมีรายได้แผ่นดินถึง ๑ ใน ๓ มีทหารในสังกัดถึง ๒๐,๐๐๐ นาย และมีข้าราชบริพารเป็นจำนวนมาก และเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ มีการสะสมอาวุธ มีความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า จนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งเรียกเหตุการณ์ขัดแย้งนี้ว่า วิกฤตการณ์วังหน้า

          กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี และเข้าไปคบค้าสนิทสนมกับนายโทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ ประกอบกับในสมัยนั้น อังกฤษคุกคามสยาม ถึงขั้นเรียกเรือรบมาปิดปากแม่น้ำ ทางวังหลวงจึงหวาดระแวง เชื่อว่ามีแผนการจะแบ่งดินแดนเป็นสองส่วนคือ ทางเหนือถึงนครเชียงใหม่ ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าครอง ทางใต้ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญครอง นัยว่าเมื่อแบ่งสยามให้เล็กลงแล้วจะได้อ่อนแอ ง่ายต่อการเอาเป็นเมืองขึ้น

เปิดประวัติ "กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ" พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้า วังหน้าพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ #วันนี้ในอดีต !!

         เหตุการณ์บาดหมางเกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่ง เกิดระเบิดขึ้นที่ตึกดินในวังหลวง ไฟไหม้ลุกลามไปถึงพระบรมมหาราชวัง ทางวังหลวงเข้าใจว่าวังหน้าเป็นผู้วางระเบิด และไม่ส่งคนมาช่วยดับไฟ ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็เสด็จหลบหนีไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษไม่ยอมเสด็จออกมา เหตุการณ์ตึงเครียดนี้กินเวลาถึงสองสัปดาห์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เดินทางกลับจากราชบุรี เข้ามาไกล่เกลี่ย โดยฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสถือว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการเมืองภายในของสยาม และไม่ได้เข้ามาก้าวก่าย

        กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นเจ้านายที่มีความสามารถหลายด้าน ด้านนาฏกรรม ทรงพระปรีชา เล่นหุ่นไทย หุ่นจีน เชิดหนัง และงิ้ว ด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง

หลังจากนั้นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตเมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๔๗ ตรงกับวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ พระชันษา ๔๘ ปี พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใด ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง จนถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสยามมกุฎราชกุมาร และยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช ตั้งแต่นั้นมา

 

 

ที่มาจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ