ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

การภาวนาพุทโธพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเป็นวิธีเจริญกรรมฐานที่พระสงฆ์ไทยนิยมปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือเมื่อหายใจเข้าก็ภาวนาว่าพุท” และเมื่อหายใจออกก็ภาวนาว่า “โธ” ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะมาจากเหตุผล ๕ ประการ คือ

๑. เพราะสร้างศรัทธาให้หนักแน่น จึงทำให้จิตใจสงบได้เร็วขึ้น

๒. เพราะภาวนาง่าย ไม่อึดอัด

๓. เพราะเป็นตัวยึดที่สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจให้อยู่กับที่ได้ง่าย เหมือนเด็กที่ได้ของเล่นก็ย่อมเพลิดเพลินอยู่กับของเล่นนั้น หรือเหมือนราวบันไดสำหรับเกาะตอนที่เรายังขึ้นบันไดไม่ชำนาญ

๔. เพราะอานาปานสติ (การกำหนดลมหายใจเข้าออก) มีผลมาก มีอานิสงส์มาก สามารถใช้ได้ทั้งในขั้นสมถะและวิปัสสนา ยิ่งเมื่อนำเอาพุทโธเข้ามาภาวนาควบคู่กัน พลังแห่ง “พุทธานุสติ” กับ “อานาปานสติ” ที่ผนวกกันก็ยิ่งทำให้จิตใจสงบมากขึ้น

๕. เพราะเมื่อภาวนาพุทโธไปได้สักระยะหนึ่ง คำว่า “พุทโธ” ที่ผู้ภาวนายึดเหนี่ยวเป็นอารมณ์จะค่อยๆ หายไป จนกระทั่งเหลือแต่การกำหนดลมหายใจเป็นหลัก คล้ายๆ กับว่า “พุทโธ” เป็นเพียงสิ่งเบิกทางให้จิตทำงานได้คล่องเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง การภาวนาพุท” เมื่อหายใจเข้า และภาวนา “โธ” เมื่อหายใจออก ก็คือ “อานาปานสติ” นั่นเอง

 

อานุภาพของบทภาวนาพุทโธ

“พุทโธ” เป็นบทภาวนาที่นิยมกันมากในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน (แม้จะไม่ได้ถือปฏิบัติกันทุกสำนักก็ตาม) เพราะภาวนาแล้วก่อให้เกิดอานุภาพต่างๆ มากมาย เช่น ทำให้จิตใจสงบ เป็นสมาธิ หรือแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ

บางคนนอนทำสมาธิภาวนาจนกระทั่งหลับไปกับพุทโธ หรือแม้แต่ในเวลาป่วยหนักใกล้ตาย นักปฏิบัติกรรมฐานส่วนใหญ่ก็ไม่ทิ้งบทภาวนาพุทโธ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้จิตยึดเหนี่ยวอารมณ์ที่เป็นกุศลไว้ได้ตลอดเวลา แม้ตายก็ย่อมไปสู่สุคติ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ...

จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา

จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา”

 

“เมื่อจิตเศร้าหมองเสียแล้ว ทุคติก็เป็นอันหวังได้เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง (ผ่องใส) สุคติก็เป็นอันหวังได้

(มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๙๒.)

 

ชาวพุทธทั่วไปจึงนิยมใช้บทภาวนาพุทโธในโอกาสและสถานการณ์ต่างๆ ของชีวิต (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาใกล้ตาย) เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ จิตใจจะได้ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง

อนุภาพของพุทโธนั้นหลวงปู่มั่นเล่าว่า ...มีพระภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่งมรณภาพด้วยโรคท้องร่วงอย่างกะทันหัน ท่านภาวนาพุทโธ พุทโธ แม้ขณะมรณภาพก็ภาวนาพุทโธอยู่ หลวงปู่มั่นตามดูจิตของพระภิกษุรูปนั้น ทราบว่าไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

หลวงพ่อฤาษีลิงดำเล่าว่า ... "ก่อนภาวนา ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนถือเป็นพุทธานุสสติ เวลาภาวนาจะใช้เวลาไหนบ้างก็ตามชอบ ใจถ้าเวลาอื่นไม่มี ก็นอนอย่าลืม ถ้าศีรษะถึงหมอน ภาวนาพุทโธทันที นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เราชอบคิด ว่าองค์นี้คือ พระพุทธเจ้า แล้วก็ภาวนา อาจจะภาวนา "พุทโธ" หายใจเข้านึกว่า "พุท" หายใจออกนึกว่า "โธ" สัก ๒-๓ ครั้งก็ ได้ตามความพอใจมากก็ได้น้อยก็ได้แล้วก็หลับไป พอตื่นขึ้นมาใหม่ๆ ก็นึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้นอีกแล้วก็ภาวนาว่า "พุทโธ" อีก ทำอย่างนี้ทุกวัน จนกระทั่งวันไหน ถ้าเราไม่มีโอกาสจะทำ วันนั้นรำคาญ ต้องทำเป็นอารมณ์ชิน อย่างนี้ ถือว่า ทรง ฌานในพุทธานุสสติกรรมฐานแล้ว แม้ศีลมันจะขาดมันจะบกพร่องบ้าง ถึงยังไงก็ตาม ตายแล้วต้องไปสวรรค์แน่นอน"

 

และแม้แต่ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ยังได้เล่าอนุภาพ และ อานิสสงค์ของ “พุท-โธ” ไว้ดังนี้...

ยังมีหมอพรานคนหนึ่ง เติบใหญ่ขึ้นมาไม่ยอมทำบุญทำทาน ไม่ยอมไหว้พระนบธรรมอย่างใด มีแต่ความปราถนาจะไปฆ่าช้าง ให้ได้พันตัว ก็ออกไปล่าช้างทุกวัน ฆ่า๒-๓ วัน ได้ตัวหนึ่ง ๔-๕ วันได้ตัวหนึ่ง เดือนหนึ่งได้ตัวหนึ่ง ทำไปอย่างนี้จนได้ ๙๙๙ ตัว ยังขาดอีกตัวหนึ่ง พอดีไปเจอช้างตกมันตัวหนึ่ง ช้างเห็นก็วิ่งเข้ามาจะมาแทงพรานช้างคนนั้น ชายคนนั้นก็กระโดดขึ้นต้นไม้ ช้างก็ไล่แทงที่ต้นไม้ ชายคนนั้นก็จับกิ่งไม้ไม่มั่นก็ร่วงลงมา ไม่ทันนึกอันใด พอตกลงมาก็นึกพุทโธได้คำเดียวก็ตกถึงดิน ช้างก็เหยียบแทงกินชิ้น(เนื้อ) หมด บุญที่ร้องว่า พุทโธ นำเอาวิญญาณไปเกิดเป็นเทพอยู่บนชั้นฟ้า มีปราสาทสูง ๖ โยชน์ เสวยสุขอยู่นั่น สุขที่นึกคำว่า พุทโธ ได้ แต่ก่อนก็ไม่ได้นึก นึกแต่จะฆ่าช้างอย่างเดียว คงจะเป็นตัวกรรมตัวเวร ใช้กรรมใช้เวรหมดกันช้างตัวนั้นก็ไม่มีเวรติดกันทำให้นึกคำว่าพุทโธได้ก่อนจะตาย

 เพราะดวงจิตจะยึดเอาอารมณ์สุดท้ายที่จิตเสวยอยู่นั้นมาเป็นอารมณ์จิตและติดเข้าไปยังปรโลกด้วย ไปก่อให้เกิดภพภูมิของจิต อันเปรียบเสมือนมิติแห่งความคิดที่ดวงจิตวิญญาณ เมื่อผ่านเข้าไปยังปรโลกใหม่ไปสร้างมิติแห่งความฝันนี้ให้บังเกิดขึ้น

 

อารมณ์ของจิตสุดท้ายก่อนตายนี้นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะดวงจิตวิญญาณจะยึดเอาไว้ เพื่อเป็นการน้อมนำไปสู่การเกิดใหม่ หรือบางครั้งอารมณ์จิตติดอยู่ในเรื่องราวอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

จึงสำคัญมากที่จะต้องรักษาจิตสุดท้าย ไม่ให้ฟุ้งซ่าน มีสติอยู่เสมอ และภาวนาคำว่า “พุทโธ”

 

 

อ้างอิง : 

 มหัศจรรย์แห่งพระรัตนตรัย โดย พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวัณโณ) 

ธรรมเทศนา หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา