ติดตามเรื่องราวดีๆอีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th/

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ร.ศ.๑๑๒ ที่ไทยต้องเผชิญภัยอย่างหนักเกือบเอาตัวไม่รอด หลังจากที่ฝรั่งเศสยึดญวนได้แล้วก็พยายามจะรุกคืบเข้าสู่ดินแดนไทย เมืองใดที่เคยเป็นของญวนมาตั้งแต่สมัยไหน ฝรั่งเศสก็อ้างว่าต้องเป็นของฝรั่งเศสด้วย แม้ไทยจะครอบครองมานานแค่ไหนก็ตาม

ขณะนั้นดินแดนของไทยครอบคลุมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปจนจรดเขตแดนญวน โดยมีเมืองคำม่วน เมืองคำเกิดเป็นเมืองชายแดน ขึ้นกับเมืองท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครพนม) ฝรั่งเศสจึงใช้อำนาจบาตรใหญ่ส่งทหารเข้าขับไล่ข้าราชการไทย จะให้ออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด เพื่อขยายอาณานิคมของตนจนจรดแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ

ตำนานวีรบุรุษ "พระยอดเมืองขวาง" !! ยืนท่องคาถา "เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร" กลางดงกระสุนฝรั่งเศส !! ต้นแบบข้าราชการไทย ปกป้องเอกราชด้วยชีวิต

(พระยอดเมืองขวาง)

 

ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ทหารฝรั่งเศสได้เข้าล้อมเมืองคำม่วน ตามรายงานกล่าวว่า พระยอดเมืองขวางมีทหารอยู่เพียง “สองโหล” เท่านั้น จึงต้องยอมให้ฝรั่งเศสเข้าเมืองแต่โดยดี
       
นายลูซอ้างว่าดินแดนแถบนี้เป็นของญวนจึงต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย พระยอดเมืองขวางก็เถียงว่าเป็นของไทยและปกครองมาหลายปีแล้ว ให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสตกลงกันก่อน เมื่อสั่งการมาอย่างไรจะยอมปฏิบัติตาม แต่นายลูซไม่ฟัง ใช้กำลังบังคับให้ข้าราชการไทยทั้งหมดออกจากเมือง

ทั้งนายลูซ ได้สั่งให้ นายกรอสกุรัง นำทหารคุมพระยอดเมืองขวางไปส่งที่เมืองท่าอุเทน อ้างว่าราษฎรเกลียดชังพระยอดเมืองขวางเกรงจะมีอันตรายระหว่างทาง แต่เดินทางมาได้ ๒ คืนถึงบ้านนาหลักหิน เขตติดต่อเมืองท่าอุเทน นายกรอสกุรังเกิดไม่สบายจึงแยกไปพักที่บ้านแก่งเกียด หรือที่ไทยเรียกว่าแก่งเจ๊ก พระยอดเมืองขวางและคณะจึงพักที่บ้านนาหลักหินนั้น แต่แล้วในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ นายกรอสกุรัง ก็ส่งทหารมาจับหลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยของพระยอดเมืองขวาง อ้างว่าหลวงอนุรักษ์ไปปลุกปั่นราษฎรให้กระด้างกระเดื่องต่อฝรั่งเศส โดยฉุดกระชากลากตัวไปต่อหน้า พระยอดเมืองขวางพยายามเจรจาขอให้ปล่อย ทหารฝรั่งเศสก็จะจับพระยอดเมืองขวางอีกคน จึงต้องพากันถอยไปที่เวียงกระแสนซึ่งอยู่ห่างระยะเดินทาง ๔-๕ ชั่วโมง
       
เมื่อถึงเวียงกระแสน พระยอดเมืองขวางก็ได้พบกับนายทุ้ย นายแปลก และขุนวัง ซึ่งหลวงวิชิตสารสาตร ข้าหลวงเมืองท่าอุเทนให้คุมทหารหน่วยแรก ๕๐ คนมาช่วย ทั้ง ๔ จึงปรึกษากันที่จะไปช่วยหลวงอนุรักษ์ก่อนอื่น

ตำนานวีรบุรุษ "พระยอดเมืองขวาง" !! ยืนท่องคาถา "เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร" กลางดงกระสุนฝรั่งเศส !! ต้นแบบข้าราชการไทย ปกป้องเอกราชด้วยชีวิต

(สื่อต่างชาติตีพิมพ์คดีนี้ว่าฝรั่งเศสเป็นหมาป่าแกล้งลูกแกะสยาม)

ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๓๖ พระยอดเมืองขวางพร้อมด้วยนายทุ้ย นายแปลก และขุนวังได้นำทหาร ๑๙ คน แต่มีอาวุธเพียง ๖ คน ไปพบนายกรอสกุรังที่บ้านพัก และให้ขุนวังเป็นผู้เข้าไปเจรจา ส่วนที่เหลือยืนอยู่ห่างราว ๗ วา นายกรอสกุรังปฏิเสธที่จะปล่อยหลวงอนุรักษ์ และจับข้อมือดึงจากระเบียงจะกลับเข้าไปในห้อง พระยอดเมืองขวางได้ตะโกนให้หลวงอนุรักษ์หนี หลวงอนุรักษ์จึงสะบัดมือจากนายกรอสกุรังแล้วกระโดดลงเรือนวิ่งเข้าหากลุ่มคนไทย จากนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้น ๑นัด ถูกทหารที่ยืนอยู่หน้าพระยอดเมืองขวางตาย และยังมีกระสุนที่ยิงมาจากบนบ้านอีก ๒-๓ นัด ถูกฝ่ายไทยตายอีกรวมทั้งขุนวังคนเจรจา พระยอดเมืองขวางจึงสั่งยิงตอบทันที
       
ทั้งสองฝ่ายสาดกระสุนเข้าใส่กัน แม้ฝ่ายฝรั่งเศสจะมีกำลังคนและอาวุธที่เหนือกว่า ฝ่ายไทยก็ไม่ถอย พระยอดเมืองขวางนอกจากจะเคียงบ่าเคียงไหล่อยู่กับทหารแล้ว ยังร่ายกลอนกลางเสียงปืนปลุกขวัญให้ทหารฮึกเหิมด้วยว่า
       
“เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร”
       
ซึ่งประโยคนี้เลยเป็นคาถาที่ทหารและข้าราชการไทยใช้ปลุกใจกันต่อมา

ตำนานวีรบุรุษ "พระยอดเมืองขวาง" !! ยืนท่องคาถา "เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร" กลางดงกระสุนฝรั่งเศส !! ต้นแบบข้าราชการไทย ปกป้องเอกราชด้วยชีวิต

(นายกรอสกุรัง)

จากเหตุการณ์นี้ นายออกุสต์ ปาวีไม่พอใจ กล่าวหาว่าพระยอดเมืองขวางเป็นฆาตกร บุกเข้าไปทำร้ายนายกรอสกุรังขณะนอนป่วยอยู่ในที่พัก และนำเรื่องขึ้นพิจารณาคดีในศาลรับสั่งพิเศษ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร แม่ทัพใหญ่อีสานใต้เป็นประธานคณะผู้พิพากษา ซึ่งประกอบด้วย พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ พระยาธรรมสารนิติ์ พระยาฤทธิรงค์ พระยาธรรมสารเนตติ์ มีหลวงสุนทรโกษา และนายหัสบำเรอ อัยการเป็นทนายฝ่ายโจทย์ มีนายตีเลกี (William Alfred Tilleke ต่อมารับราชการเป็น พระยาอรรถการประสิทธิ์ ต้นสกุล คุณะดิลก) และนายเวอร์นอน เพจ (Vernon Page ชาวอังกฤษ) เป็นทนายจำเลย

การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง ดำเนินเป็นเวลา ๒๒ วัน ตั้งแต่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ถึง ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ศาลมีคำพิพากษาว่า พระยอดเมืองขวางไม่มีความผิดตามฟ้อง และให้ปล่อยตัวเป็นอิสระ สร้างความไม่พอใจให้กับนายลาเนสซัง ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน และขอให้จัดตั้งศาลผสมไทย-ฝรั่งเศส ประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส ๓ คน เดินทางมาจากไซ่ง่อน สยาม ๒ คน พิจารณาคดีเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ และตัดสินให้จำคุกพระยอดเมืองขวาง ๒๐ ปี ด้วยเสียงข้างมาก ๓ เสียงของฝ่ายฝรั่งเศส

พระยอดเมืองขวางถูกจำคุกอยู่ ๔ ปี ก็ได้รับอิสรภาพ จากคำร้องขอของรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบำนาญให้เป็นพิเศษเดือนละ ๕๐๐ บาท เขาได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษผู้รักชาติ ต่อมาได้ล้มป่วยด้วยวัณโรค และเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) อายุได้ ๔๘ ปี เป็นต้นสกุล "ยอดเพ็ชร์" และ "กฤษณมิตร"

ตำนานวีรบุรุษ "พระยอดเมืองขวาง" !! ยืนท่องคาถา "เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร" กลางดงกระสุนฝรั่งเศส !! ต้นแบบข้าราชการไทย ปกป้องเอกราชด้วยชีวิต

อ้างอิงข้อมูลจาก - th.wikipedia.org , talk.mthai.com