ติดตามเรื่องราวดีๆอีกมากมาย ได้ที่ http://www.tnews.co.th

ประวัติ ตำนาน ความเชื่อและความเป็นมาเรื่องพญานาค และบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย

พญานาค หรือ นาค งูใหญ่มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และนาคยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล นาคยังถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งท้องน้ำ บางแห่งก็ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฟ้า

ตำนานพญานาค

ตำนานความเชื่อเรื่องพญานาคมีความเก่าแก่มาก ดูท่าว่าจะเก่ากว่าพุทธศาสนาอีกด้วย สืบค้นได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ ด้วยเหตุจากภูมิประเทศทางอินเดียใต้เป็นป่าเขาจึงทำให้มีงูอยู่ชุกชุม และด้วยเหตุที่งูนั้นลักษณะทางกายภาพคือมีพิษร้ายแรง งูจึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้การนับถือว่ามีอำนาจ ชาวอินเดียใต้จึงนับถืองู

เป็นสัตว์เทวะชนิดหนึ่งในเทพนิยายและตำนานพื้นบ้าน บ้างก็ว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีความเชื่อเรื่องพญานาคแพร่หลายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วทวีปเอเชีย โดยเรียกชื่อต่างๆ กัน

ต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคน่าจะอยู่ที่อินเดีย ด้วยมีนิยายหลายเรื่องเล่าถึงพญานาค โดยเฉพาะในมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งถือเป็นปรปักษ์ของพญาครุฑ ส่วนในตำนานพุทธประวัติ ก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้งด้วยกัน

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีตำนานเรื่องพญานาคอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่าพญานาคอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษาโดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่ และเมื่อไปเล่นน้ำในแม่น้ำโขงควรยกมือไหว้เพื่อเป็นการสักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์

ตำนานพญานาคในพระพุทธศาสนา

ตามตำนาน พญานาค มีอยู่ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ดังเช่น หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว ได้เสด็จไปตามเมืองต่างๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา มีครั้งหนึ่งได้เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธ ไปยังร่มไม้จิกชื่อ "มุจลินท์" ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ ๗ วัน คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด ๗ วัน ได้มีพญานาคชื่อ "มุจลินท์" เข้ามาวงด้วยขด ๗ รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นมานพมายืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า

ความเชื่อดังกล่าวทำให้ชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก แต่มักจะสร้างแบบพระนั่งบนตัวพญานาค ซึ่งดูเหมือนว่าเอาพญานาคเป็นบัลลังก์ เพื่อให้เกิดความสง่างาม และทำให้คิดว่า พญานาค คือผู้คุ้มครองพระศาสดา

พญานาคสะพาน (สายรุ้ง) ที่เชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ โลกศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อที่ว่า พญานาค กับ รุ้ง เป็นอันเดียวกัน ก็คือสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์นั่นเอง

นาคสะดุ้งที่ราวบันไดโบสถ์นั้นได้สร้างขึ้นตามความเชื่อถือ "บันไดนาค" ก็ด้วยความเชื่อดังกล่าว แม้ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ก็โดยบันไดแก้วมณีสีรุ้ง ที่เทวดาเนรมิตขึ้นและมีพญานาคจำนวน ๒ตน เอาหลังหนุนบันไดไว้

หรือแม้แต่ ตุง ของชาวล้านนา และพม่าก็เชื่อกันว่าคลี่คลายมาจากพญานาค และหมายถึงบันไดสู่สวรรค์

ความเชื่อของชาวฮินดู ก็ถือว่า นาคเป็นสะพานเชื่อมภาวะปกติ กับที่สถิตของเทพ ทางเดินสู่วิษณุโลก เช่น ปราสาทนครวัด จึงทำเป็น พญานาคราช ที่ทอดยาวรับมนุษย์ตัวเล็กๆ สู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือก็บั้งไฟของชาวอีสานที่ทำกันในงานประเพณีเดือนหก ก็ยังทำเป็นลวดลาย และเป็นรูปพญานาค พญานาคนั้นจะถูกส่งไปบอกแถนบนฟ้าให้ปล่อยฝนลงมา

ในสมัยพระพุทธเจ้า มีพญานาคตนหนึ่งนั่งฟังธรรมเทศนา ของพระพุทธเจ้าแล้วได้เกิดศรัทธา จึงได้แปลงกายเป็นมนุษย์ขอบวชเป็นพระภิกษุ แต่อยู่มาวันหนึ่งเข้านอนในตอนกลางวัน หลังจากหลับแล้วมนต์ได้เสื่อมกลายเป็นงูใหญ่ จนพระภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้า ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงให้พระภิกษุนาคนั้นสึกออกไป เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน นาคตนนั้นผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า นาค ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน

ต่อจากนั้นมาพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติไม่ให้สัตว์เดรัจฉาน ไม่ว่าจะเป็นนาค ครุฑ หรือสัตว์อื่นๆ บวชอีกเป็นอันขาด เพราะก่อนที่อุปัชฌาย์จะอุปสมบทให้แก่ผู้ขอบวชจะต้องถาม อันตรายิกธรรม หรือข้อขัดข้องที่จะทำให้ผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ รวม ๘ ข้อเสียก่อน ในจำนวน ๘ ข้อนั้น มีข้อหนึ่งถามว่า "ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า"

ขึ้น ๑๕ ค่ำ..ออกพรรษาพระพุทธเจ้าทรงเสด็จลงจากดาวดึงส์..เหล่าพญานาคแสดงความยินดี กำเนิดตำนาน"บั้งไฟพญานาคลุ่มแม่น้ำโขง"

คุณลักษณะและคุณสมบัติของ พญานาค

พญานาค หรือ งูใหญ่มีหงอน ในตำนานของฝรั่ง หรือชาวตะวันตก ถือว่าเป็นตัวแทนของกิเลส ความชั่วร้าย ตรงข้ามกับชาวตะวันออก ที่ถือว่า งูใหญ่ พญานาค มังกร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังอำนาจ ชาวฮินดูถือว่า พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่างๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณ์ ที่เชื่อว่า นาค เป็นเทพแห่งน้ำ เช่นปีนี้ นาค ให้น้ำ ๑ตัว แปลว่า น้ำจะมาก จะท่วมที่ทำการเกษตร ไร่นา ถ้าปีไหน นาคให้น้ำ ๗ตัว น้ำจะน้อย ตัวเลขนาคให้น้ำจะกลับกันกับเหตุการณ์ เนื่องจาก ถ้านาคให้น้ำ ๗ตัว น้ำจะน้อยเพราะนาคกลืนน้ำไว้

พญานาค งูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และ บันไดสายรุ้งสู่จักรวาล เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จากการจำศีล บำเพ็ญภาวนา ศรัทธาในพุทธศาสนา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เราจะพบเห็น เป็นรูปปั้นหน้าโบสถ์ ตามวัดต่างๆบันไดขึ้นสู่วัดในพุทธศาสนา ภาพเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง กับศาสนาพุทธอีกมากมาย

พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น

พญานาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่ในสภาวะ ๕อย่างนี้ จะต้องปรากฏเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม

พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง ๖๔ ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก ๑๕วัน

พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน ๑โยชน์ หรือ ๑๖ กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง ๗ ชั้น เรียงซ้อนๆ กัน ชั้นสูงๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์

พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว ๓, ๕และ๗ เศียร

สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขึ้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้นๆ

จะเห็นว่า พญานาค หรือ งูใหญ่ นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก จะมีเป็นบางครั้งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ พญานาค เป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดี และความไม่ดี

ความเชื่อเรื่องพญานาค

ตามความเชื่อในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันไป แต่พื้นฐานคือพญานาคนั้น มีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลามีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีดำ หรือบ้างก็มี๗สี และที่สำคัญคือนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจาก พญาเศษนาคราช(อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียณสมุทร อนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศีรษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในนำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ มีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ นาคนั้นมักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม

ความเชื่อเกี่ยวพันกับธรรมชาติ

จะได้ยินอยู่เสมอว่า ปีนี้นาคให้น้ำเท่าไร กี่ตัว ฝนฟ้าดี หรือไม่ดี นาคให้น้ำสร้างความอุดมสมบูรณ์แก่สรรพชีวิต ทั้งปวง พญานาค ที่อาศัยอยู่ในสวรรค์ใต้น้ำ ตามคติฮินดู พญาอนันตนาคราช แท่นบรรทมของพระนารายณ์ ที่นับถือเป็นเทพเจ้า พญานาค เปรียบได้กับท้องน้ำทั้งหลายในจักรวาล นาคมีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกหรือไม่ตกก็ได้ ตลอดจนสามารถแปลงกายเป็นเมฆฝนได้ พญานาคเป็นที่มาของแม่น้ำต่างๆ อันหมายถึงผู้รักษาพลังแห่งชีวิตทั้งหลาย

ตามความเชื่อของชาวพุทธ เทวดาแห่งน้ำ คือ วรุณและสาคร ที่ต่างก็เป็นจอมแห่งนาคราช นอกจากที่เกี่ยวข้องกับน้ำบนโลกแล้ว นาคยังเกี่ยวข้องกับน้ำในสวรรค์อีกด้วย คนโบราณเชื่อว่า สายรุ้ง กับ นาค เป็นอันเดียวกัน ที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ข้างหนึ่งของรุ้งจะดูดน้ำจากพื้นโลก ขึ้นไปข้างบน เมื่อถึงจุดที่สูงสุดก็จะปล่อยน้ำลงมาเป็นฝนที่มีลำตัวของนาคเป็นท่อส่ง

ในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลง กายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง ๔ด้าน เป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช

ที่เห็นได้ชัดก็คือ ที่ปราสาทพนมรุ้ง จะมีคูเมืองที่เป็นสระน้ำ ๔ ด้าน รอบปราสาทและมี พญานาค อยู่ด้วย ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณ นาคจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากน้ำ เช่น การสร้างศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ นาคที่ราวบันได จึงมี พญานาค ซึ่งตามความเป็นจริง (ความเชื่อ) การสร้างต้องสร้างกลางน้ำ เพื่อให้ดูเหมือนว่าศาสนสถานนั้นลอยอยู่เหนือน้ำ แต่ก็ไม่ต้องสร้างจริงๆ เพียงแต่มีสัญลักษณ์ พญานาค ไว้ เช่น ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

แม้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ก็จะมีอยู่ในราศีเกิด เช่นของคนนักษัตรปีมะโรง ที่มีความหมายถึง ความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ที่มี พญานาค เป็นสัญลักษณ์

ขึ้น ๑๕ ค่ำ..ออกพรรษาพระพุทธเจ้าทรงเสด็จลงจากดาวดึงส์..เหล่าพญานาคแสดงความยินดี กำเนิดตำนาน"บั้งไฟพญานาคลุ่มแม่น้ำโขง"

ความเชื่อในดินแดนต่างๆ ของไทย

ภาคเหนือ

มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคอยู่เช่นกัน ดังในตำนานสิงหนวัติซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ของทางภาคเหนือเอง “เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลง กายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมืองเป็นเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมายกทัพปราบเมืองอื่นได้และรวมดินแดนเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนคร ต้นวงศ์ของพญามังรายผู้ก่อกำเนิดอาณาจักรล้านนานั่นเอง”

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นาคล้วนมีส่วนร่วมในตำนานอย่างชัดเจน เช่น ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อว่า แม่น้ำโขงเกิดจากการแถตัวของพญานาค นอกจากนี้ยังรวมถึงบั้งไฟพญานาค โดยมีตำนานว่าในวันออกพรรษาหรือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พญานาคแห่งแม่น้ำโขงต่างชื่นชมยินดี จึงเฮ็ด(จุด)บั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นประเพณีทุกปี

และเนื่องจากเชื่อว่าพญานาคเป็นเจ้าบาดาล เป็นผู้ให้กำเนิดน้ำ ดังนั้นเมื่อชาวนาจะทำพิธีแรกไถนา จึงต้องดูวัน เดือน ปี และทิศที่จะบ่ายหน้าควายเพื่อไม้ให้ควายลากไถไปในทิศที่ทวนเกล็ดนาค ไม่อย่างนั้นการทำนาจะเกิดอุปสรรคต่างขึ้น

ลูกไฟแดงอมชมพู ที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง สู่ท้องฟ้าในวันออกพรรษา ที่บริเวณเขต อ.โพนพิสัย เห็นจนชินและเรียกสิ่งนี้ว่า "บั้งไฟพญานาค" เพราะลูกไฟที่ว่านี้จะเป็นลูกไฟ สีแดงอมชมพู ไม่มีเสียงไม่มีควัน ไม่มีเปลว ขึ้นตรง ไม่โค้งและตกลงมาเหมือนลูกไฟทั่วไป จะดับกลางอากาศ สังเกตได้ง่ายจากลูกไฟทั่วไป จะเกิดขึ้นในเขตตั้งแต่ บริเวณค่าย ตชด.(อ่างปลาบึก), วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่, ท่าน้ำวัดหลวง ต.วัดหลวง เรื่อยลงไปจนถึง เขตบ้านน้ำเป กิ่ง อ.รัตนวาปี แต่ก่อนจะเห็นเกิดขึ้นเฉพาะท่าน้ำวัดหลวง, วัดจุมพล, วัดไทย และท่าน้ำวัดจอมนาง อ.โพนพิสัยแต่ทุกวันนี้จะเห็นเกิดที่บ้านน้ำเป, บ้านท่าม่วง, ตาลชุม, ปากคาด และ แก่งอาฮง อ.บึงกาฬ

ก่อนนี้คน อ.โพนพิสัย เห็นแล้วเฉยๆ เพราะเห็นประจำทุกปีในวันออกพรรษา ผู้เขียนสมัยเมื่ออายุยังน้อย เมื่อปี ๒๕๐๘ (เป็นคน อ.โพนพิสัย) เมื่อวันออกพรรษา ได้ไปนั่งดูอยู่ที่ท่าน้ำวัดไทย อ.โพนพิสัย และได้ลงเรือไปไหลเรือไฟด้วย เมื่อไหลเรือไฟมาถึงบริเวณท่าน้ำวัดหลวงก็จะเริ่มเห็นลูกไฟดังกล่าวพุ่งขึ้น จากแม่น้ำโขง ขึ้นสูงไม่เกิน ๒-๓ วา นานๆ จะพุ่งขึ้นที จะขึ้นก็ต่อเมื่อประชาชนบนฝั่งเวียนเทียนเสร็จ เงียบ ลูกไฟถึงจะขึ้นให้เห็น แต่ทุกวันนี้ เมื่อ ๑๘.๐๐ น. ก็ขึ้นแล้วขึ้นสูงถึง ๒๐๐-๓๐๐ เมตร และขึ้นแต่ละทีก็มากด้วย ตั้งแต่ ๕-๒๐ลูกติดต่อกัน

สังเกตว่า ลูกไฟนี้หากขึ้นกลางโขงจะเบนเข้าหาฝั่ง หากขึ้นใกล้ฝั่งจะเบนออกกลางโขง ลูกไฟนี้จะขึ้นเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น แต่ถ้าหากวันพระไทยไม่ตรงกับวันขึ้น ๑๕ค่ำ ของลาว ลูกไฟนี้ก็จะไม่ขึ้น ปีไหน (วันออกพรรษา) ตรงกันทั้งไทย และ ลาว ลูกไฟนี้จะขึ้นมาก เชื่อกันว่าที่ เขต อ.โพนพิสัย มีเมืองบาดาล อยู่ใต้พื้นดินและเป็นทางออกสู่เมืองมนุษย์ เรียกว่า เป็นเมืองหน้าด่านจึงมีบั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นเป็นประจำที่นี้ ส่วนเมืองหลวงนั้นอยู่ที่ แก่งอาฮง อ.บึงกาฬ ที่ว่าอย่างนั้นเพราะที่แก่งอาฮง เมื่อหน้าแล้งจะมีสะดือแม่น้ำโขง ตลอดความยาวของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านหลายประเทศ ตรงที่ลึกที่สุดก็อยู่ที่แก่งอาฮง เมื่อหน้าแล้ง ชาวประมงวัดโดยใช้เชือกผูกก้อนหินหย่อนลงไปได้ ๙๙วา ที่นี้จะมีลูกไฟขึ้นเป็นสีเขียวนวล บ่อยครั้งที่ชาวลุ่มแม่น้ำโขงต้องเสียชีวิตลงในระหว่างการเดินทางทางน้ำ

พวกเขาเชื่อว่าเป็นการกระทำผิดต่อเจ้าแม่สองนาง หรือ เทพเจ้าทางน้ำ จึงถูกลงโทษเหตุนี้เรียกว่า “เงือกกิน” “เงือก, งู” เป็นสิ่งเดียวกันกับพญานาค แต่พญานาคนั้นมีภพเป็นที่อยู่อีก มิติหนึ่ง สามารถแปลงร่างได้หลายชนิด แปลงกายเป็นมนุษย์ หรือ อะไรก็ได้ เพียงแค่คิดเท่านั้นรูปร่างก็เปลี่ยนไปแล้ว จึงได้ปรากฏอยู่บ่อยๆ ว่ามีคนเห็นงูใหญ่ หรือเห็นคนเดินลงไปในน้ำ หรือหลายครั้งที่มีคนพบรอยประหลาดแต่ก็เชื่อว่าเป็นรอยพญานาคที่เกิด ขึ้นในเขต อ.โพนพิสัยหรือที่อื่นๆ แม้แต่กลางกรุงเทพ ฯ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่หากคิดว่าทำไมและเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น และทำไมจะต้องเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษาเท่านั้น และจะต้องตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ของลาวจึงเชื่อได้ว่าพญานาค มีสัญชาติเชื้อชาติ ลาว ถึงแม้จะเกิดขึ้นทางฝั่งไทยก็ตาม

นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ และเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขงที่แท้จริง เพราะลูกไฟประหลาดหรือที่เรียกว่า “บั้งไฟพญานาค” นี้เกิดขึ้นเฉพาะในเขต จ.หนองคายเท่านั้น ตามแนวแม่น้ำโขง ไม่มีขึ้นที่อื่นแม้จะอยู่ตามริมแม่น้ำโขงเช่นกัน จึงนับได้ว่าหนองคายกับเวียงจันทน์ สมัยก่อนนั้นการปกครองและการสร้างเมืองโดยพญานาค จึงได้รับอิทธิพลนี้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะถูกแยกการปกครอง และแยกประเทศออกจากกัน แต่ในความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ก็เป็นพื้นที่เดียวกัน ตำนานประเพณีต่างๆ ของคนแถบลุ่มแม่น้ำโขง จะเกี่ยวข้องกับพญานาคกันทั้งนั้น เพราะพญานาค หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และความเป็นอยู่ของมนุษย์

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พญานาค ก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และ สำคัญอย่างไร กับเมืองหนองคาย-เวียงจันทน์ และทำไม”บั้งไฟพญานาค”จึง ได้เกิดขึ้นเฉพาะเขต จ.หนองคาย เท่านั้น และที่สำคัญจะเกิดขึ้นเฉพาะวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่ตรงกันระหว่าง ไทย-ลาว หากปีไหนแปดสองหนบั้งไฟพญานาค ก็จะเลื่อนไปขึ้นในวันพระลาว (๑๕ ค่ำ ลาว) เป็นเรื่องที่ท้าทายให้มาดูมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง บั้งไฟพญานาคว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงต้องเกิดในวันดังกล่าวเท่านั้น ใครทำเพื่ออะไร และ ได้อะไรจากการกระทำดังกล่าว เชื่อว่าหลายคนยังต้องการไปพิสูจน์ความมหัศจรรย์นี้อยู่ (ตำนานพระพุทธศาสนา กล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดา บนดาวดึงส์ ครบ ๓เดือน เมื่อเสด็จกลับโลกมนุษย์ พญานาคได้เนรมิตบันไดแก้ว เงิน ทอง เสด็จลงมา มนุษย์ เทวดา พญานาค ได้ฉลองสมโภชด้วยการจุดบั้งไฟถวาย โดยเฉพาะเหล่าพญานาค ดังนั้นต่อมาเหล่าพญานาคจึงได้ถือเอาวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญ)

จุดที่เกิดบั้งไฟพญานาค

* ในเขตอำเภอสังคม บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม , อ่างปลาบึก บ้านผาตั้ง อำเภอสังคม* ในเขตอำเภอศรีเชียงใหม่ วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท

* ในเขตอำเภอเมือง บ้านหินโงม ตำบลหินโงม อำเภอเมือง , หน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเดื่อ ตำลบบ้านเดื่อ อำเภอ เมือง หนองคาย

* ในเขตอำเภอโพนพิสัย ปากห้วยหลวง ตำบลห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย , ในเขตเทศบาลตำบลจุมพล หน้าวัดไทย วัดจุมพล วัดจอมนาง ตำบลจุมพล

* อำเภอโพนพิสัย หนองสรวง อำเภอโพนพิสัย , เวินพระสุก ท่าทรายรวมโชค ตำบลกุดบง อำเภอโพนพิสัย , บ้านหนองกุ้ง ตำบลกุดบง อำเภอโพนพิสัย

* ในเขตกิ่งอำเภอรัตนวาปี ปากห้วยเป บ้านน้ำเป ตำบลน้ำเป กิ่งอำเภอรัตนวาปีบ้านท่าม่วง ,วัดเปงจาเหนือ กิ่งอำเภอรัตนวาปี

* ในเขตอำเภอปากคาด บ้านปากคาดมวลชล ห้วยคาด อำเภอปากคาด

* ในเขตอำเภอบึงกาฬ วัดอาฮง ตำบลหอคำ อำเภอบึงกาฬ

* ที่อื่นๆ นอกจาก ๑๔ แห่งนี้ที่อื่นก็อาจจะมีขึ้นบ้าง นอกจากในลำน้ำน้ำโขงแล้วตามห้วย หนองคลองบึง สระน้ำ กลางทุ่งนาที่มีน้ำขัง แม้แต่บ่อบาดาลที่ชาวบ้านขุดเพื่อเอาน้ำมาใช้ ในเขตจังหวัดหนองคาย ก็มีบั้งไฟพญานาคขึ้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ ปี ๒๕๔๒ เกิดมากที่สุด ที่ชายตลิ่ง หน้าสถานี ตำรวจภูธรตำบลบ้านเดื่อ ห่างจาก อ.เมือง หนองคาย เพียง ๑๕กม.

ขึ้น ๑๕ ค่ำ..ออกพรรษาพระพุทธเจ้าทรงเสด็จลงจากดาวดึงส์..เหล่าพญานาคแสดงความยินดี กำเนิดตำนาน"บั้งไฟพญานาคลุ่มแม่น้ำโขง"

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

 http://group.wunjun.com/nongkhai108/topic/305097-8856

https://board.postjung.com/

เพื่อเผยแผ่เป็นพุทธบูชา และ ธรรมทาน