โศกนาฏกรรมที่คนไทยไม่อาจลืม.." พระนางเรือล่ม " สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕

ติดตามเรื่องราวดีๆอีกมากมาย ได้ที่ http://www.tnews.co.th

พระนางเรือล่ม หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕

 ได้สิ้นพระชนม์จากเหตุเรือตามเสด็จล่มที่ อำเภอบางพูด จังหวัดนนทบุรี พร้อมพระธิดาซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๑ ปี พร้อมลูกในพระครรภ์ ๕ เดือน เล่ากันว่า... พระองค์ทรงเชี่ยวชาญด้านการว่ายน้ำ แต่สิ้นพระชนม์เพราะทรงห่วงพระราชธิดา จึงทรงว่ายน้ำเข้าไปช่วย ประกอบกับในสมัยนั้นมีกฎมณเฑียรบาลที่เคร่งครัด ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล จึงได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมพระนางสิ้นพระชนม์ พร้อมกับพระธิดาและเจ้าฟ้าในพระครรภ์ และพี่เลี้ยงอีก ๑ คน ทั้งหมดจมอยู่ใต้ท้องเรือ

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี" ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

"สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕" แต่เดิมคือ "พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๓ โดยรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) พร้อมด้วยพระขนิษฐาร่วมพระโสทร (น้องสาวร่วมมารดา) ทั้ง ๒พระองค์ นั้นคือ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "พระอัครมเหสี" และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่นๆ พระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทรงรับราชการรับใช้สนองพระเดชพระคุณชิดใกล้เป็นที่สนิทเสน่หาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จและรับใช้ใกล้ชิดดั่งเป็นปิยมหาราชินีเสมอ นอกจากทรงมีพระรูปโฉมงดงามแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระอัธยาศัยจริงจังเด็ดขาด ปฏิบัติข้อราชการ และรับสั่งด้วยความเฉียบคมชัดเจนเสมอเป็นที่ประจักษ์แก่หมู่ข้าหลวงชาววังทั่วไปซึ่งเล่าขานกันว่าพระอุปนิสัยรับสั่งเฉียบคมนี้ทรงมีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์แล้ว ทำให้พระองค์เป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก

เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระประสงค์เสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน พร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ โดยทาง พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ไม่ปรารถนาที่จะตามเสด็จไปพระราชวังบางประอินในครั้งนี้เท่าไหร่นัก เนื่องด้วยก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพระดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไป พระองค์สามารถคว้าพระหัตถ์เอาไว้ได้ แต่พระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ก็ลื่นหลุดจากพระหัตถ์พระองค์ไป พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์พระเจ้าลูกเธอจนทรงตกลงไปในน้ำด้วยกันทั้งสองพระองค์ ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงหวั่นพระทัย แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางปะอินตามพระราชประสงค์

ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่างๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ ๘ โมงเช้า ณ ท่าราชวรดิษฐ์ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕เสร็จจากพระราชกิจแล้ว จึงจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือตามไป และเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น...

โศกนาฏกรรมที่คนไทยไม่อาจลืม.." พระนางเรือล่ม " สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕

๑.เมื่อเรือกลไฟราชสีห์ (จูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี) ซึ่งอยู่หน้าสุดกำลังวิ่งผ่านวัดแห่งหนึ่ง ปัจจุบันคือวัดกู้ จ.นนทบุรี จึงเบนหัวเรือแล่นเข้าไป เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ในเรือได้ทอดพระเนตรทิวทัศน์ริมฝั่ง ส่วนเรือยอร์ช (จูงเรือกรมพระสุดารัตนราชประยูร) ก็วิ่งแล่นขึ้นมาขนานกับเรือราชสีห์ทำนอนแข่งความเร็วกันอยู่

๒.เรือปานมารุต (จูงเรือพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์) พยายามเร่งฝีจักรความเร็วขึ้นมาให้ทันเรือราชสีห์ และเรือยอร์ช และการเบนหัวเรือแซงขึ้นไปด้วยความรีบร้อนจึงไม่ได้คิดถึงเรือกลไฟโสรขจร (จูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี) ซึ่งแล่นตามหลังเรือราชสีห์มาอย่างกระชั้นชิด

๓.ทันใดนั้นเอง ผู้ที่คุมเรือโสรขจรก็รู้สึกว่า เรือตนเองได้แล่นผิดร่องน้ำ เสียงพรืดพราดหลายครั้งใต้ แสดงว่าใบจักรเรือได้พัดเอาทรายเข้าแล้ว ด้วยสัญชาตญาณของผู้คุมเรือ จึงเบนหัวเรือออกเพื่อหลบการเกยตื้น

๔.การหักหลุบการเกยตื้นเช่นนั้น ส่งผลต่อ เรือปานมารุต (จูงเรือพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์) ที่กำลังแล่นเข้ามา ทำให้เรือปานมารุตต้องเบนหน้าหนี และด้วยการที่เป็นเรือลากจูง เมื่อเรือจูงเบนออกอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เรือที่ถูกจูงเสียการทรงตัว ทันใดนั้น ทางด้านเรือโสรขจรหลังจากที่เบนหัวเรือหลบร่องน้ำเข้ามา จึงทำให้เกิดคลื่นที่เกิดจากเรือโสรขจรสะท้อนเข้าสู่เรือปานมารุต จนเรือโคลงซ้ายขวา

๕.พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงตกพระทัย เรือพระที่นั่งยิ่งโคลงใหญ่ เพราะลูกคลื่นได้ซัดเข้ามาไม่หยุด ด้วยสัญชาติญาณแห่งความเป็นแม่ ทรงอุ้มพระราชธิดาเข้ามาไว้ในอ้อมพระอุระ ทรงผวากับจังหวะของเรือ และสุดท้ายน้ำก็พรุ่งพรูมาทางห้องเรือ และล่มลงในที่สุด โดยในขณะที่เรือล่มนั้น พระยามหามนตรี หรืออ่ำ พระสมุหองค์รักษ์ ก็ได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือ ด้วยเป็นการขัดต่อกฎมณเฑียรบาลที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ ๕ ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ด้วยเพราะเป็นพระราชเทวีที่รักยิ่งกว่าพระองค์ใดในขณะนั้น หลังจากผ่านพ้นงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็ได้สร้างพระราชานุสรณ์ขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ โดยแต่ละแห่งนั้น เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เคยตามเสด็จฯ และทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ อาทิ

๑.พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ณ น้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ภายในบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไว้ด้วย มีลักษณะเป็นรูปทรงพีระมิดพร้อมคำจารึก โดยเหตุที่สร้างสถูปเป็นรูปทรงนี้ก็มาจากพระราชดำริของรัชกาลที่๕ ที่ว่า "ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว"

๒.พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ณ สวนสราญรมย์ ตัวอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อนสีขาวมียอดเป็นปรางค์ ภายในบรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ไว้ด้วย และมีคำจารึกแสดงความทุกข์โทมนัสของรัชกาลที่ ๕ บนแผ่นหินอ่อน

๓.พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ณ พระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าหัวทรงโศกเศร้าโทมนัสในพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความเสียดายอาลัยรักเป็นที่สุด ดังจารึกที่อนุสาวรีย์ที่บางปะอิน ดังนี้ที่ระลึกถึงความรักแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวีอัครมเหสี อันเสด็จทิวงคตแล้ว ซึ่งเคยมาอยู่ในสวนนี้ โดยความสุขสบายจะเป็นที่เบิกบานใจ พร้อมด้วยผู้ซึ่งเป็นที่รักและสนิทอย่างยิ่งของเธอ อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์บรมราช ผู้เป็นสามีอันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์อันแรงกล้า ในเวลานั้นแทบจะถึงแก่ชีวิต ถึงกระนั้นก็ยังมิได้หักหาย

๔.โรงเรียนสุนันทาลัย (ปัจจุบันคือ รร.ราชินี)

๕.วังสวนสุนันทา (ปัจจุบันคือพื้นที่ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต)

๖.ศาลพระนางเรือล่ม ศาลสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ศาลพระนางเรือล่ม" ตั้งอยู่ที่วัดกู้ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สร้างขึ้นในบริเวณที่เรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีล่ม ตัวศาลนั้นจำลองแบบจากศาลาจตุรมุขของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ที่พระราชวังบางปะอิน ซึ่งเดิมทีนั้น วัดกู้มีชื่อว่าวัดหลังสวน แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่มและได้มีการกู้พระศพและซากเรือขึ้นที่วัดนี้ คนทั่วไปจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดกู้ตั้งแต่นั้นมา

โศกนาฏกรรมที่คนไทยไม่อาจลืม.." พระนางเรือล่ม " สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕

แม้ว่าจะมีหลักฐานว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แต่สถานที่เกิดโศกนาฏกรรมยังถกเถียงกันถึงปัจจุบัน โดยคนส่วนใหญ่จะเข้าใจและนิยมไปกราบไหว้กันที่วัดกู้ ขณะที่น้อยคนจะรู้ว่ายังมีอีกสถานที่ที่มีตำนานเล่าขานว่า นี่อาจเป็นสถานที่จริงที่เรือล่ม คือ บริษัท สักทอง(ไทย) จำกัด ในปัจจุบัน

ลาภยศใดใดไม่พึงปราถน์

นางใดใครปราถน์พี่ไม่ข้อง

นางเดียวนางในหทัยปอง

นางน้องแนบในหทัยเรา

ด้านบนนี้เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประพันธ์ถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี แสดงถึงความห่วงหาอาลัยในนางอันเป็นที่รัก และจากโศกนาฏกรรม "พระนางเรือล่ม" ได้นำความโทมนัสเศร้าใจยิ่งมาสู่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างมาก กินเวลานานหลายปี จนกลายเป็นประวัติศาสตร์เล่าขานในที่คนไทยไม่อาจลืม

โศกนาฏกรรมที่คนไทยไม่อาจลืม.." พระนางเรือล่ม " สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

วิกิพีเดีย

 www.sunandhanews.com

 www.bloggang.com https

www.dek-d.com