เปิดกฏมณเฑียรบาล!! ตำนาน "การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" พระราชอาญาของเจ้านายชั้นสูง เผย..ทำไมต้องเป็นท่อนจันทน์ เหตุผลที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

เปิดกฏมณเฑียรบาล!! ตำนาน "การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" พระราชอาญาของเจ้านายชั้นสูง เผย..ทำไมต้องเป็นท่อนจันทน์ เหตุผลที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

(สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)

 

            ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีการประมวลความรู้ของพราหมณ์เป็นลายลักษณ์อักษรและใช้เป็นหลักราชการ เรียกชื่อว่า "กฎมณเฑียรบาล" ได้มีการประชุมปรึกษาพราหมณ์และบัญญัติ กฎมณเฑียรบาลขึ้น โดยถือกันว่า เป็นการนำเอาความที่มีมาแต่โบราณมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรมิใช่การสร้างสรรค์ขึ้นใหม่แต่อย่างใด การตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นใช้บังคับนี้สันนิษฐานว่า ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตามที่ระบุพระนามไว้ในคำปรารภกฎมณเฑียรบาลซึ่งเป็นฉบับเก่าที่สุดตามที่เหลือร่องรอยให้ตรวจชำระใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ๓ แผนก คือ แผนกแรกจะเป็นแบบแผนกพระราชพิธีและพระราชานุกิจทั้งในทางปกครองและส่วนพระองค์ แผนกที่สองจะเป็นแบบแผนว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการ และแผนกสุดท้ายจะเป็นแบบแผนว่าด้วยวิธีปฏิบัติในราชสำนัก

           

เปิดกฏมณเฑียรบาล!! ตำนาน "การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" พระราชอาญาของเจ้านายชั้นสูง เผย..ทำไมต้องเป็นท่อนจันทน์ เหตุผลที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

            สำหรับกฎมณเฑียรบาล ไม่ว่าในสมัยใดย่อมมีสภาพบังคับหรือโทษกำหนดไว้ด้วยเสมอ หลายคนที่สนใจเรื่องของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี คงเคยได้ยินคำว่า "การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" ซึ่งเป็นการประหารชีวิตของพระราชวงศ์ไทย แต่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนว่า "การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

             การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เป็นวิธีการประหารพระราชวงศ์ไทยโดยการใช้ท่อนจันทน์เป็นอุปกรณ์ วิธีการดังกล่าวไม่มีการปฏิบัติอีกต่อมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และได้เลิกเสียอย่างเป็นทางการตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ในรัชกาลต่อมา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การประหารชีวิตบุคคลทุกชนชั้นกระทำโดยการตัดศีรษะ

            สำหรับเรื่องราวของไม้จันทน์เป็นเรื่องที่ติดอยู่ในพงศาวดารของไทยมาช้านาน เป็นไม้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและประเพณี มีเรื่องที่ควรแก่การศึกษาอยู่มาก ที่กล่าวว่ามีเรื่องอยู่ในพงศาวดาร ก็คือการประหารด้วยท่อนจันทน์ ธรรมเนียมการประหารเจ้านายสมัยก่อนเขาจะใช้วิธีประหารด้วยท่อนจันทน์ทั้งนั้นอย่างเมื่อครั้งพระศรีศิลป์ จับเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ออกจากราชสมบัติ "ก็ให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เอาพระศพไปฝัง ณ วัดโคกพระยา" นี่เป็นข้อความที่กล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดาร ซึ่งเราจะเห็นว่า การสำเร็จโทษเจ้านายที่เป็นเชื้อพระวงศ์นั้นใช้ท่อนจันทน์สำเร็จโทษทั้งนั้น และวัดที่ฝังพระศพเจ้านายในสมัยนั้นก็คือวัดโคกพระยาแห่งเดียว

           เมื่อมีการประหารคราวใดก็ต้องพูดถึงวัดนี้ทุกครั้ง และดูเหมือนว่าได้บ่งไว้ในกฎหมายทีเดียว เมื่อประหารแล้วจะต้องฝังที่วัดโคกพระยา หรือใช้วัดโคกพระยานี้เองเป็นที่ประหาร คำว่า โคกพระยา ก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นสถานที่เฉพาะเจ้านาย ในสมัยรัตนโกสินทร์เขาก็ประหารนักโทษกันแถววัดโคกเหมือนกัน แต่ว่าเป็นวัดโคกเฉยๆ ไม่ใช่โคกพระยา หลายคนเกิดความสงสัยว่าการประหารชีวิตนั้น เขาแบ่งชั้นกันด้วย คือคนธรรมดาสามัญประหารที่แห่งหนึ่ง เจ้านายประหารอีกแห่งหนึ่งไม่ปะปนกัน นอกจากนี้วิธีประหารก็ไม่เหมือนกันอีก ต้องเป็นไปตามยศตามศักดิ์ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าเป็นเจ้านายก็ใช้ท่อนจันทน์ประหาร คือตีด้วยท่อนจันทน์ ถ้าเป็นคนธรรมดาก็ใช้ดาบฟันคอ

             การสำเร็จโทษด้วนท่อนจันทน์เป็นการประหารชีวิตพระราชวงศ์ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๖ แห่งกฎมนเทียรบาล กฎหมายตราสามดวงฉบับชำระในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่า

"ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังแลนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดู หมื่นทะลวงฟันกราบสามคาบ ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาลงขุม นายแวงทะลวงฟันผู้ใดเอาผ้าทรงแลแหวนทองโทษถึงตาย เมื่อตีนั้นเสื่อขลิบเบาะรอง"

 

เปิดกฏมณเฑียรบาล!! ตำนาน "การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" พระราชอาญาของเจ้านายชั้นสูง เผย..ทำไมต้องเป็นท่อนจันทน์ เหตุผลที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

(วัดโคกพระยา สถานที่ที่ใช้สำเร็จโทษราชวงศ์ชั้นสูง)

         

           สำหรับกฎมนเทียรบาลเช่นว่านี้จะประกาศใช้เมื่อใดเป็นครั้งแรกยังคงเป็นที่ถกเกียงกันอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ในบานแผนกของกฎมนเทียรบาลฉบับที่เก่าที่สุดปรากฏความว่า "ศุกมัสดุ ศักราช ๗๒๐ วันเสาร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ ชวดนักษัตรศก สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ  (ข้อความต่อไปเกี่ยวกับว่า ทรงประกาศใช้กฎหมายดังต่อไปนี้) " ศักราชดังกล่าวเป็นจุลศักราช

             ปรามินทร์ เครือทอง ผู้เขียนหนังสือ "สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" ได้ตรวจสอบพระราชพงศาวดารต่าง ๆ ปรากฏปีเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแตกต่างดังต่อไปนี้

๑. พระราชวงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม (ฉบับหมอบรัดเล) : เสด็จขึ้นทรงราชย์ จ.ศ. ๗๙๖ (พ.ศ. ๑๙๗๗)
๒. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา : เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อปีขาล จ.ศ. ๗๙๖ (พ.ศ. ๑๙๗๗)
๓. พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ : เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อปีมะโรง จ.ศ. ๘๑๐ (พ.ศ. ๑๙๙๑)

           นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่าศักราชอย่างลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐนั้นถูก..."

           ในกรณีนี้ ปี จ.ศ. ที่ระบุไว้ในบานแผนกได้แก่ จ.ศ. ๗๒๐ ก่อนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นทรงราชย์เก้าสิบปี (จ.ศ. ๘๑๐) ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแก้ว่า น่าจะเป็นเพราะอาลักษณ์เขียนผิด โดยเขียนเลข ๘ เป็นเลข ๗ ที่ถูกคือ จ.ศ. ๘๒๐ ทั้งนี้ หากนับตามปีปฏิทินแล้ว จ.ศ.๗๒๐ ตรงกับปีจอ ซึ่งในบานแผนกว่าปีชวด และปีชวดจะตรงกับ จ.ศ. ๗๒๒

           ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า น่าจะเป็นเพราะอาลักษณ์เขียนผิดเช่นกัน แต่ที่เขียนผิดคือเลข ๐ ที่ถูกต้องเป็น ๒ อันได้แก่ จ.ศ. ๗๒๒ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง)

 

เปิดกฏมณเฑียรบาล!! ตำนาน "การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" พระราชอาญาของเจ้านายชั้นสูง เผย..ทำไมต้องเป็นท่อนจันทน์ เหตุผลที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง))

 

          ปรามินทร์ เครือทอง เชื่อว่า ปีที่ระบุในบานแผนกน่าจะเป็นปีรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ไม่น่าใช่ปีรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เนื่องจากการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ได้มีมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว โดยปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาดังต่อไปนี้

ศักราช ๗๔๔ ปีจอ จัตวาศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๑๓ ปี

จึงเจ้าทองจันทร์ ราชบุตร พระชนม์ได้ ๑๕ พรรษา ขึ้นเสวยราชสมบัติ ๗ วัน

สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้ กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้

ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ


             หากสรุปเอาตามพระบรมราชวินิจฉัยและความคิดเห็นของปรามินทร์ เครือทองข้างต้น ก็จะได้ว่ากฎมนเทียรบาลอันกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์นั้นประกาศใช้เป็นครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระราชาธิบดีที่ ๑

              นี่เป็นกฎมณเฑียรบาลที่บัญญัติการลงโทษเจ้าฟ้าและเจ้านายชั้นสูงไว้ ดังนี้จะเห็นว่า การตีด้วยท่อนจันทน์นั้นได้เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นแล้ว หลายคนคงสงสัยว่า "ทำไมจึงต้องใช้ท่อนจันทน์"

              การที่คนไทยเราไม่นิยมใช้วิธีประหารชีวิตเจ้านายด้วยการตัดศีรษะนั้น เขากล่าวว่า คงจะเนื่องมาจากไม่ต้องการให้เลือดตกถึงพื้นดินนั่นเอง ดังนั้นจึงหาทางประหารด้วยการทุบด้วยท่อนจันทน์ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีเลือดตกลงแผ่นดินให้เป็นอุบาทว์แก่บ้านเมือง

               การทุบด้วยท่อนจันทน์จึงเท่ากับเป็นการให้เกียรติอย่างหนึ่ง เพราะไม้จันทน์เป็นไม้ที่ถือกันมาแต่โบราณว่า เป็นไม้ดีมีค่าหายากราคาแพง นี่เป็นเหตุผลประการแรก และอีกประการหนึ่งนั้น การถูกประหารด้วยมีดเป็นการทำให้ศีรษะขาดออกจากตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือกันมาก ตามประเพณีจีนเขาก็ถือกันว่า การถูกลง โทษตัดศีรษะนั้น ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศยิ่งกว่าการลงโทษแบบใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นพวกขุนนางหรือเจ้านายของจีนจึงถือว่าการที่พระเจ้าแผ่นดินประทานผ้าแพรให้รัดคอตายนั้น เป็นเกียรติอย่างยิ่งทีเดียว

 

เปิดกฏมณเฑียรบาล!! ตำนาน "การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" พระราชอาญาของเจ้านายชั้นสูง เผย..ทำไมต้องเป็นท่อนจันทน์ เหตุผลที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

ความผิดและผู้กระทำความผิดอันระวางโทษนี้

มาตรา ๑๗๖ ของกฎมนเทียรบาล ในกฎหมายตราสามดวง บัญญัติไว้ว่า

"ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังและนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา..."

           โดยมิได้ระบุรายละเอียดโทษดังกล่าวไว้ ทั้งนี้ ในกฎมนเทียรบาลเองมีบัญญัติข้อปฏิบัติ ข้อห้าม และข้อกำหนดโทษสำหรับพระราชวงศ์ตลอดจนนางสนมกรมในไว้ โดยโทษมีตั้งแต่ระดับโบย จำ เนรเทศ และประหารชีวิต ส่วนข้อปฏิบัติและข้อห้ามนั้นส่วนใหญ่เพื่อป้องกันความไม่เหมาะสมทางเพศ เช่น การพูดจา ไปมาหาสู่ และ/หรือมีสัมพันธ์กับนางสนมกรมใน นอกจากนี้ ในส่วนเฉพาะสำหรับพระราชกุมารยังมีข้อห้ามอื่น ๆ เพื่อป้องกันการกบฏต่อพระราชบัลลังก์อีกด้วย เป็นต้นว่า มาตรา ๗๗ ห้ามมิให้ขุนนางที่มีศักดินาตั้งแต่แปดร้อยถึงหนึ่งหมื่นไร่ไปมาหาสู่กับพระราชโอรสและ/หรือพระราชนัดดา หากขุนนางใดละเมิดฝ่าฝืนต้องระวางโทษประหารชีวิต

          อย่างไรก็ดี ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ผู้รับโทษประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์นี้มักเป็นพระราชวงศ์ที่ต้องโทษทางการเมือง เป็นต้นว่า มีการชิงพระราชบัลลังก์ และผู้กระทำการดังกล่าวสำเร็จจะสั่งให้ประหารพระมหากษัตริย์พระองค์เดิม ตลอดจนพระราชวงศ์ และบุคคลใกล้ชิดทั้งปวงของพระมหากษัตริย์ดังกล่าวอีกด้วย เพื่อป้องกันความสั่นคลอนของพระราชบัลลังก์ในภายหลัง อีกกรณีหนึ่งคือการที่พระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์และมีพระราชบุตรทรงอยู่ในพระราชสถานะที่จะเสด็จขึ้นทรงราชย์ได้ แต่มีบุคคลที่สามต้องการพระราชบัลลังก์เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการกำจัดพระราชบุตรคนดังกล่าวตลอดจนผู้เกี่ยวข้องไปให้พ้นทาง

           สำหรับสถานที่สำเร็จโทษนั้นจะใช้ที่วัดโคกพญา หรือ โคกพระยาซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าจะใช้โคกพญาเดียวกันกับในกฏมนเทียรบาล และวิธีการนั้นถ้าเป็นแบบปรกติจะต้องใส่ถุงแดงให้เรียบร้อยก่อน เจ้าหน้าจึงอัญเชิญไปยังลานพิธี แล้วปลงพระชนม์ตามพระราชอาญา นอกจากนี้ยังมีการสำเร็จโทษด้วยวิธีอื่นๆ อีกเช่น ใส่หลุมอดอาหาร ฝังทั้งเป็น ถ่วงน้ำ ตัดพระเศียร และวิธีพิสดาร

          การประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ของไทยเรานั้น เข้าใจว่าจะสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ ๓  เพราะปรากฏว่าพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์คือกรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งถูกสำเร็จโทษเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ ต่อจากนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนจันทน์กันอีก

 

 

 

 

ขอบคุณที่มาจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

                         https://th.wikibooks.org/wiki/พระมหากษัตริย์/กฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์/กฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์

                         http://www.vichakaset.com