อาวุธชั้นดี อาคมชั้นเลิศ!! เปิดตำนาน "พระแสงกริช" ประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ๑ ใน ยอดศาสตราวุธแห่งแผ่นดิน จากบันทึกของกรมหลวงชุมพรฯ

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

          "...อย่ากลัวมัน... อย่ากลัวตาย ตั้งใจอาสาพระรัตนตรัยแลพระมหากษัตริย์ เดชะผลกตัญญูนั้นจะช่วยอภิบาลรักษา ก็จะหาอันตรายมิได้..." พระราชดํารัสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งถูกข้าศึกบุกกระนาบเข้าตั้งค่ายประชิดถึง ๔ ทิศ เพื่อปลุกขวัญว่าศัตรูแม้นจะมียุทธกําลังมหาศาล แต่ก็มิได้ยิ่งใหญ่เกินกว่าความห้าวหาญของทะแกล้วกล้าทหารไทย ที่มีหัวใจเป็นอาวุธ

          วิชาโลหศาสตร์โบราณของไทย แม้ว่าจะมีบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชาการสมัยใหม่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาแห่งปราชญ์ ที่สั่งสมโดยผ่านการคิดค้นและทดลอง ส่วนผสม ชนิดของแร่ และองศาความร้อน จนได้เนื้อโลหะที่แกร่ง มีคุณสมบัติเหมาะกับการใช้ขึ้นรูปเป็นของมีคมชั้นดี คุณวิเศษของโลหะชนิดต่างๆ ก็เป็นไปตามมูลเหตุแห่งลัทธิความเชื่อ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้พกพา

          การที่จะได้เป็นชายชาตรีนั้น โบราณจารย์ระบุว่า ต้องมี "อาวุธชั้นดี อาคมชั้นเลิศ" ฉะนั้นการเดินทางเพื่อแสวงหาผู้ประสาทวิชาจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องเป็นผู้สามารถบ่มเพาะต้นกล้าแห่งคุณธรรม แล้วเมื่อเจนจบสรรพวิทยา ผู้ทรงคุณวิเศษก็มักลงอักขระไว้บนเครื่องศาสตราไว้เพื่อคอยเตือนสติ ของมีคมสําหรับประหัตประหารทั้งหลาย จึงกลับกลายเป็นอาวุธที่ใช้สําหรับป้องกัน ดังพระนิพนธ์ "ดาบของชาติ" ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ว่า ดาบนี้มีไว้ "ให้มิตร ให้เมีย ให้ลูกแล้ชาติไทย" เรียกได้ว่า "กว่าจะได้โลหะครบถ้วนมาหลอมหล่อเข่นคมให้สมใจ ก็ละลายตนเป็นคนไปโดยสมบูรณ์"

          สําหรับความเชื่อดั้งเดิมในเรื่อง "ลวดลายต่างๆบนศาสตรา" จากการศึกษาได้พบว่า มีการจารลวดลายต่างๆบนอาวุธ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสถิตของจิตวิญญาณอยู่ในศาสตรา เช่นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีความเก่าแก่มากที่สุด สืบเนื่องกันมานานนับพันปี บางท้องถิ่นเชื่อในเทพเจ้า ดังมีสัญลักษณ์ของเทพในอาวุธ เช่น ท้าวเวสสุวัณ ฤๅษี นาคาแลราหู ซึ่งพบได้เด่นชัดในวัฒนธรรมการสร้าง "กริช"

           "กริช" จัดเป็นอาวุธประเภทมีดสั้น ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ได้อธิบายเรื่อง "กริช" ไว้ว่า เป็นสิ่งแสดงความเป็นชายชาตรี และฐานะทางสังคมของผู้ครอบครอง ชื่อเรียกส่วนประกอบต่างๆของตัวกริช ล้วนเสริมให้เห็นถึงความมีชีวิตอยู่ เช่น คอ คาง เครา ตา หู กระดูก ฯลฯ รูปทรงของกริชได้พัฒนาไปตามกลุ่มวัฒนธรรมจนมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือเป็นพระขรรค์บ้าง เป็นตรีศูทรก็มี ซึ่งล้วนมีต้นแบบมาจากวัชระ (สายฟ้า) นามของราชวงศ์ "จักรี" ก็เคยมีผู้กล่าวไว้ว่ามาจาก "จักร" และ "กริช" ตามคัมภีร์มูลศาสนาของพราหมณ์ ในขณะที่ความเชื่อดั้งเดิมในพระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ (วัชรยาน) ก็มีสัญลักษณ์เป็นสายฟ้า อันเป็นอาวุธประจําองค์ของพระอินทร์ เทพผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์ที่มีปรากฏมากที่สุดในเครื่องศาสตราวุธของไทย

           "กริช" ที่พบว่ามีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือพระแสงกริชประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทรงใช้คราทำลายกําแพงเมืองจันทบูร (จันทบุรี) ในราตรีที่ทรงสั่งไพร่พลให้ทุบหม้อข้าว ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศว่า

"...เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพังคิรีกุญชรฉัททันต์ เข้าทะลายประตูใหญ่ เหล่าทหารซึ่งรักษาประตูและป้อมเชิงเทินนั้นก็ยิงปืนใหญ่น้อยดุจห่าฝน แลจะได้ถูกต้องโยธาผู้ใดผู้หนึ่งหามิได้ กระสุนปืนลอดท้องช้างพระที่นั่งไป ควาญช้างจึงเกี่ยวไว้ให้ช้างพังคิรีกุญชรถอยออกมา พระเจ้าอยู่หัวทรงพระโกรธเงื้อพระแสงจะลงพระราชอาชญา นายควาญช้างขอพระราชทานโทษได้ จึงทรงพระแสงกฤช (กริช) แทงพังคิรีกุญชรขับเข้าทะลายประตูพังลง..."

           สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ทรงใช้เมืองจันทบุรีเป็นฐานที่มั่น แล้วทรงรวบรวมสรรพกําลังไพร่พล จัดหาศาสตราวุธ ยุทธภัณฑ์ แล้วต่อเรือรบที่เมืองจันทบุรี เพื่อกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา กอบกู้อิสรภาพให้ไทยทั้งชาติได้สําเร็จในกาลต่อมา กองทัพเรือยึดถือว่าทรงเป็น "องค์ปฐมบทของกองทัพเรือ" คู่เคียงกับกรมหลวงชุมพรฯ ที่ทรงเป็น "องค์บิดาของทหารเรือ"
 

           พระแสงกริชประจําพระองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ นี้ ถือเป็น ๑ ใน ๗ ยอดศาสตราวุธประเภทของมีคมของแผ่นดิน เช่นเดียวกันกับพระแสงของ้าว (เจ้าพระยาแสนพลพ่าย) และพระแสงดาบคาบค่าย (พระแสงขึ้นค่าย) ประจําพระองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ,พระแสงขรรค์ชัยศรี หนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และราชวงศ์จักรี ,ดาบแดงของพระยาพิชัย ดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน และพระขรรค์โสฬสประจําพระองค์กรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งอาวุธชั้นยอดเหล่านี้ล้วนประกอบไปด้วย ๒ คุณลักษณะใหญ่ คือเมื่อรุกต้องแหลมคม และทานทนเมื่อรับ

           พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี บันทึกเหตุการณ์ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงรวบรวมสรรพกําลัง เข้ายึดเมืองจันทบูรเป็นฐานกำลัง เตรียมพร้อมกลับมากู้กรุงศรีฯ ทรงใช้ "คมความคิด" ปลุกน้ำใจขุนทหาร ที่แม้ว่าไพรีจะมีอาวุธอันแกร่งกล้า ก็หาได้ทานทนไปกว่าหัวใจที่ห้าวหาญและเสียสละ ดังพระราชดำรัส "เจ้าตาก" ที่ปากพิง พ.ศ.๒๓๑๙ ว่า "...อันทหารแล้วองอาจอย่ากลัวตาย... เดชะผลกตัญญูนั้นจะช่วยอภิบาลรักษา ก็จะหาอันตรายมิได้..."

            จากโคลงพระนิพนธ์ "ดาบของชาติเล่มนี้ คือชี- วิตเรา ถึงจะคมอยู่ดี ลับไว้ สำหรับสู้ไพรี ให้ชาติ เรานา ให้มิตรให้เมียให้ ลูกแล้ชาติไทย" ใน "เสด็จเตี่ย" จะเห็นได้ว่าทรงมีพระอาจารย์ดี และทรงลึกซึ้งถึงคุณดาบ จนเป็นอีกตํานานกระบี่ของแผ่นดินไปแล้ว

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ มูลนิธิราชสกุลอาภากร