ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพพระราชทาน ที่ปราศจากเสา

ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพพระราชทาน ที่ปราศจากเสา โรงหนังเฉลิมกรุง โรงมหรสพพระราชทานแก่ชาวสยาม

    ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพพระราชทาน ที่ปราศจากเสา  ๑.ความสำคัญในการก่อสร้างโรงหนังมหึมานี้มีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งที่บรรดานักสถาปัตย์ในสมัยนั้นตื่นเต้นมาก  คือโรงหนังเฉลิมกรุงไม่มีเสาเลยสักต้นเดียว
    โรงหนังเฉลิมกรุงสร้างใน พ.ศ.๒๔๔๗ โรงหนังเฉลิมกรุงนี้สร้างขึ้นโดยทุนรอนจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์  ซึ่งต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  โรงหนังที่ว่านี้สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗  
     ซึ่งในสมัยนั้นเมืองไทยเรายังไม่มีโรงหนังชั้นหนึ่ง หรือ โรงหนังชั้นดี  และยิ่งในสมัยนั้นมีฝรั่งที่พูดได้ (ในฟิล์ม) ส่งมาฉายในเมืองไทยมากแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องมีโรงหนังดีๆ ชั้นหนึ่งไว้สำหรับฉายหนังดีๆ
    โรงหนังเฉลิมกรุงนั้นในสมัยหนึ่งเป็นโรงหนังที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย  เป็นโรงหนังชั้นเอกที่ฉายหนังชั้นดีจากต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่มีหนังเสียงคือหนังพูดในฟิล์มเป็นต้นมา  
     และที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นโรงหนังโรงเดียวในเมืองไทยที่พระมหากษัตริย์มีพระราชประสงค์สร้างให้คนไทยได้มีโรงหนังที่ดีที่สุดได้ชม
    ในสมัยที่สร้างขึ้นมาใหม่ๆ นั้น เป็นโรงหนังที่ใหญ่ที่สุดยอดเยี่ยมที่สุดในภาคตะวันออกไกล แต่ในปัจจุบันนี้เห็นจะไม่เป็นเช่นนั้น  เพราะโรงหนังเฉลิมกรุงได้เปลี่ยนแปลงมาตรฐาน จากการฉายหนังฝรั่งมาฉายหนังไทย  สมกับที่เป็นรงหนังของไทยแท้ๆ
    สถานที่สร้างโรงหนังเฉลิมกรุงนั้น แต่เดิมเป็นตลาดนั้นขายผ้าที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย  เป็นตลาดนัดขายผ้าแบกะดิน เรียกกันว่า สนามน้ำจืด  เป็นที่ดินของพระมหากษัตริย์เหมือนกัน  
     เมื่อทางราชการต้องการที่สำหรับโรงหนังให้กับประชาชน ตลาดขายผ้าที่เรียกว่าสนามน้ำจืดก็ต้องย้ายทำเลไปที่อื่น คือตลาดมิ่งเมือง  ซึ่งสร้างเป็นตลาดใหญ่ขึ้นแทน เหมาะแก่การขายผ้าผ่อน ท่อนสไบยิ่งกว่าสนามน้ำจืด  เพราะมีร่มมีเงาคุ้มแดดคุ้มฝนได้ดีกว่า
     ส่วนผู้ที่ออกแบบโรงหนังเฉลิมกรุงนั้นได้แก่ หม่อมเจ้าเฉลิมสมัย กฤดากร  ซึ่งสำเร็จวิชาสถาปัตย์มาจากประเทศฝรั่งเศสใหม่ๆ เพราะฉะนั้นแบบของโรงหนังเฉลิมกรุงจึงค่อนข้างจะภูมิฐานอยู่สักหน่อย  สำหรับในวงการสถาปัตยกรรมในสมัยนั้น 
     วงการสถาปนิกรู้สึกจะตื่นเต้นต่อแบบแปลนและเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็เป็นตึกคอนกรีตที่สมัยใหม่ที่สุดในสมัยนั้น เพราะตัวตึกรูปทรงสี่เหลี่ยมสูงตระหง่าน มั่นคงแข็งแรง ดูองอาจผึ่งผายตามแบบฝรั่ง
    ความวิจิตรพิสดารของอาคาร  หรือตัวตึกที่เรียกกันว่าโรงหนังเฉลิมกรุงนั้น  ไม่เฉพาะแต่ภายนอกที่ดูสวยงามตามแบบฝรั่งเท่านั้น  เนื่องจากหม่อมเจ้าเฉลิมสมัยสำเร็จวิชาสถาปัตย์มาจากต่างประเทศใหม่ๆ จึงได้ทรงออกแบบเป็นฝรั่ง แต่แบบฝรั่งนั้น ดูแต่เพียงเผินๆ ภายนอกโรงเท่านั้น ส่วนภายในโรงได้แปลงแบบไปอีกแบบหนึ่ง คือเป็นแบบไทย 
      เพราะประตูของโรงหนังเฉลิมกรุงนี้ ได้ทำบานประตูแบบไทย  ทารัก ปิดทอง และมีลายไทยอย่างสวยงาม  ทั้งนี้เพราะท่านผู้ทรงออกแบบมีความเห็นว่า โรงหนังนั้น ภายในโรงหนังจะได้รับความสนใจจากประชาชนมากกว่านอกโรง  ความวิจิตรพิสดาร จึงมีอยู่ในโรงหนังเฉลิมกรุงมากกว่านอกโรง ซึ่งเราๆ ท่านๆ เห็นกันว่าเป็นฝรั่งจ๋าจนเกินไป
    ความสำคัญในการก่อสร้างโรงหนังมหึมาซึ่งจุคนดูนับจำนวนพันจำนวนหมื่นนี้  มีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งที่บรรดาสถาปนิกในสมัยนั้นตื่นเต้นกันยิ่งนัก  คือโรงหนังเฉลิมกรุงไม่มีเสาเลยสักต้นเดียว 
     ทั้งที่ชั้นบนซึ่งสร้างยื่นเป็นชั้นลอยออกมานั้นยื่นออกมาประมาณ ๑ ใน ๓ ของโรงหนัง  แต่เป็นการประหลาดที่สามารถรับน้ำหนักเอาไว้ได้  

ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพพระราชทาน ที่ปราศจากเสา

     โดยที่การออกแบบเพื่อให้เป็นโรงหนังของประชาชนชั้นหนึ่งจริงๆ เพราะฉะนั้นในบริเวณของโรงหนังนี้ ท่านผู้ออกแบบจึงได้ออกแบบให้พร้อมสรรพทุกอย่าง คือห้องเล็กสำหรับลองฉายหนังก่อนที่จะนำออกมาฉายโรงใหญ่  
     ซึ่งต่อมาก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพิจารณาเซ็นเซอร์หนังทุกเรื่องก่อนที่จะนำออกมาฉาย  นอกจากนั้นก็มีห้องสำหรับเครื่องทำไฟขนาดใหญ่ เพื่อเวลาฉุกเฉินและเนื่องจากเป็นโรงหนังที่เกือบจะเรียกได้ว่า สูงที่สุดในบรรดาโรงหนังในเมืองไทย  จึงมีที่สำหรับใช้ลิฟต์ขนลง แต่น่าเสียดายซึ่งสถานที่ที่เตรียมไว้สำหรับทำลิฟต์นั้น ไม่มีโอกาสใช้ แม้กระทั่งทุกวันนี้ 
    นอกจากนั้นก็มีบริเวณที่เรียกว่า สตอลล์สำหรับขายลูกกวาด ขายหนังสือพิมพ์ มีห้องอาหารประเภทบาร์ หรือสแนคบาร์อย่างต่างประเทศ  ซึ่งท่านผู้ออกแบบได้พยายามที่จะให้เมืองไทยริเริมในเรื่องทำนองนี้ แต่แล้วก็ไม่ได้ผล  เพราะต่อมากลายเป็นอะไรก็ไม่รู้
     ในสมัยที่นายฮาเวอร์เบค ซึ่งเป็นฝรั่งเป็นผู้จัดการโรงหนังนี้ เคยเอะอะถึงเรื่องการขายอาหาร  เพราะมีคนนำหาบเนื้อสะเต๊ะเข้าขายกันในบาร์ เหม็นตลบไปหมด ถึงกับผู้จัดการเฉลิมกรุงในสมัยนั้นต้องออกเป็นคำสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด

    ๓. ความพิเศษของโรงหนังเฉลิมกรุงในสมัยนั้น คือมีเครื่องทำความเย็นในตัว ไม่ต้องใช้พัดลมเหมือนกับโรงหนังอื่นๆ และประชาชนคนดูก็ตื่นเต้นต่อเครื่องทำความเย็น  ซึ่งในระยะนั้นถือว่าสมัยใหม่ที่สุด ถึงกับมีผู้พูดกันว่า ถ้าจะไปเที่ยวเมืองนอกก็ไม่ต้องไปไกล ไปเพียงแค่โรงหนังเฉลิมกรุง ซื้อตั๋วเข้าไปดูเท่านั้นก็เหมือนเมืองนอกและก็เป็นความจริง 
     เวลาไปดูหนังที่โรงหนังนี้จะต้องแต่งตัวเป็นพิเศษ คือมีเสื้อนอกกันหนาว ซึ่งในสมัยนั้นเรียกกันว่าเสื้อเบเซอร์ และนอกจากเสื้อหนาวแล้วก็มีผ้าพันคออีกผืนหนึ่งดูหรูหราเสียเต็มที่  ส่วนผู้หญิงที่ไปดูหนังที่เฉลิมกรุงสมัยนั้นอย่าบอกใครเชียว  เป็นที่รวมของแฟชั่นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นแบบเสื้อใหม่ๆ จากปารีสหรือที่โรมก็ต้องไปเตร่คอยดูกันที่หน้าโรงหนังเฉลิมกรุง เพราะในสมัยนั้นไม่มีงานประกวดหรืองานบอลล์อะไรต่ออะไรเหมือนอย่างทุกวันนี้  โรงหนังเฉลิมกรุงจึงเป็นศูนย์กลางของบรรดาแฟชั่น (หญิง)
    ความวิจิตรพิสดารอีกอย่างหนึ่งก็คือ แสงสีภายในโรงหนัง ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีโรงหนังใดๆ จะเทียบเท่าการเปิดม่านให้เห็นภายใน ใช้ระบบไฟฟ้าอัตโนมัติ 
     ซึ่งม่านผืนแรกที่ปิดหน้าจอเงินอยู่ (ม่านผืนเดิมถูกไฟไหม้เสียหายหมดแล้ว ที่ใช้อยู่ในขณะนี้เป็นของใหม่)  ว่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระกระแสรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชร์อัครโยธินเป็นผู้ที่ทรงจัดซื้อ นัยว่าราคาแพงมาก แต่สวยงามยากที่จะหาที่ไหนเสมอเหมือน 
     เมื่อเปิดม่านชั้นแรกด้วยระบบอัตโนมัติ คือค่อยๆ เปิดด้วยการรูดไปรวมทั้งสองข้างแล้วผู้ชมจะได้ยินเสียงเพลง ซึ่งแม้จะไม่ใช่ระบบสเตอริโอก็ตาม  แต่เพลงนั้นก็แผ่วๆ เบา ไม่กระโชกโฮกฮาก  
     สำหรับจอซึ่งเรียกกันว่าจอเงินนั้น จะมีม่านแพรกันไว้อีกชั้นหนึ่ง และจะเปิดก่อนถึงเวลาฉายหนังประมาณ ๕ นาที และในระยะเวลานี้เอง จะมีการเล่นสีไฟ ซึ่งเป็นสีสลับอันเกิดจากแม่สี คือ สีน้ำเงิน แดง เหลือง 
     สีไฟนั้นจะสลับและผสมผสานกลมกลืนกันเป็นสีรุ้งต่างๆ โดยใช้ระบบอัตโนมัติเช่นกัน  ว่ากันว่าในสมัยนั้น เพียงแต่เข้าไปในโรงหนัง เสียค่าผ่านประตูไปนั่งรับความเย็น  และชมความวิจิตรพิสดารของโรงหนัง รวมทั้งการฟังเพลงและอาบแสงสีของไฟ ก็คุ้มราคาที่เสียไปเสียแล้ว  
    ในวันเปิดประเดิมวันแรกนั้น  ทางโรงหนังจัดเอาหนังฝรั่งเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า นรกใต้ทะเล มาฉายเป็นประเดิม  การฉายหนังเรื่องนี้เป็นการประเดิมเพื่อทดสอบ เพราะตามประกาศของโรงหนังที่แท้จริงนั้น ประกาศว่าจะฉายเรื่องทาร์ซาน ซึ่งเป็นหนังทาร์ซานชุดแรกของหนังทาร์ซานที่พูดในฟิล์ม  ผู้แสดงหนังทาร์ซาน และเป็นตัวทาร์ซานคือ จอห์นนีไวซ์ มูลเลอร์  
    ค่าดูหนังของโรงหนังเฉลิมกรุงในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ จะให้คนทุกชั้นได้ดูหนังที่อัตราค่าดูอย่างต่ำไว้ ๗ สตางค์  คือนั่งแถวหน้าติดเวทีหรือจอเลยทีเดียว  และต่อมาก็มีราคา ๑๒ สตางค์ เป็นที่นั่งชั้นล่าง ส่วนแถวหลังชั้นล่าง ๒๕ สตางค์ ชั้นบนจะ ๕๐ สตางค์  
    นับได้ว่า ศาลาเฉลิมกรุง นอกจากเป็นสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยแล้ว ยังเป็นโรงมหรสพพระราชทานที่สร้างขึ้นเพื่อพสกนิกรชาวไทยทุกระดับอย่างแท้จริง