ต้นตำรับอาคมขลัง!! เปิดตำนาน "แช่ว่านอาบยา" พิธีกรรมเสริมความขลังให้หนังเหนียว สุดยอดวิชาคงกระพัน "วัดเขาอ้อ" ชุมทางไสยศาสตร์อันลือลั่น !!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

ต้นตำรับอาคมขลัง!! เปิดตำนาน "แช่ว่านอาบยา" พิธีกรรมเสริมความขลังให้หนังเหนียว สุดยอดวิชาคงกระพัน "วัดเขาอ้อ" ชุมทางไสยศาสตร์อันลือลั่น !!

         หากจะพูดถึงสำนักตักศิลาในเมืองไทยนับเนื่องมาแต่สมัยโบราณนั้น คิดว่าน่าจะไม่มีสำนักไหนเทียบเท่าได้กับ "วัดเขาอ้อ" เมื่อครั้งกระโน้น วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของพระเกจิอาจารย์ดี ๆ มีชื่อสเยงทางด้านอาคมขลัง วิทยาคมสูงส่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมายที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาไปจากเจ้าอาวาสเขาอ้อในยุคนั้น จนเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของชุมทางไสยศาสตร์ใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้ตั้งอยู่ที่นี่

ต้นตำรับอาคมขลัง!! เปิดตำนาน "แช่ว่านอาบยา" พิธีกรรมเสริมความขลังให้หนังเหนียว สุดยอดวิชาคงกระพัน "วัดเขาอ้อ" ชุมทางไสยศาสตร์อันลือลั่น !!

           วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณที่ผ่านการก่อสร้างมานานหลายชั่วอายุคนจนนับได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งในจังหวัดพัทลุง โดยตั้งอยู่ที่ริมทางรถไฟก่อนที่จะถึงสถานีรถไฟปากคลองเพียง ๒ กิโลเมตร ขึ้นอยู่ในเขตตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน ซึ่งเป็นอำเภอที่ถือว่าเป็นถิ่นคนดุที่สุดในจังหวัดแห่งนี้ พิธีกรรมต่าง ๆ ตามหลักไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อนั้น ปัจจุบันนี้ได้รับการแพร่หลายออกไปสู่ในจังหวัดใกล้เคียงอย่างทั่วถึงกันเนื่องจากส่วนใหญ่แล้วเจ้าอาวาสในวัดนั้น ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์ที่มาร่ำเรียนวิชาไปจากวัดเขาอ้อทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวัดดอนศาลา, วัดบ้านสวน, วัดประดู่เรียง ซึ่งอยู่ในอำเภอควนขนุน ตลอดไปจนถึงวัดปากสระ และวัดยางในอำเภอเมือง เป็นต้น

           แต่ไม่ว่าวัดใดจะนำเอาวิชาไสยศาสตร์จากที่นี่ไปใช้แม้ว่าจะได้ผลด้วยวิทยาคมขลัง แต่ก็มีพิธีอีกอย่างหนึ่งซึ่งวัดเหล่านั้นไม่สามารถที่จะทำได้ จะต้องใช้สถานที่ในวัดเขาอ้อเท่านั้นทำการบวงสรวงทำพิธีนั่นก็คือ "การอาบว่าน และแช่น้ำยา"  เพื่อที่จะสร้างความขลังให้กับผู้ที่เข้าร่วมพิธี ซึ่งศาสตร์แห่งการอาบว่านแช่น้ำยานี้ถือได้ว่าเป็นสุดยอดวิชาวัดเขาอ้ออย่างแท้จริง ผู้ใดที่ได้ลงไปนอนแช่น้ำยา อาบว่านและผ่านการปลุกเสกตามหลักวิชาไสยศาสตร์ของพระอาจารย์ผู้มีกฤติยาคมแกร่งกล้าของวัดเขาอ้อแล้วหากคนๆ นั้นประพฤติปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของอาจารย์ผู้ทำพิธีให้ก็สามารถเชื่อน้ำยากินได้เลยว่าคนๆ นั้นจะอยู่ยงคงกระพันชาตรี ฟันแทงไม่เข้าอย่างแน่นอน ดังนั้นด้วยเหตุนี้เองวัดเขาอ้อจึงได้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งตามคำเรียกขานของชาวบ้านทั่วไปว่า "วัดพระอาจารย์ขลัง"  และที่น่าแปลกประหลาดใจยิ่งนั่นก็คือว่า ที่วัดแห่งนี้ล้วนแล้วแต่มีเจ้าอาวาสซึ่งมีชื่อนำหน้าตัวแรกว่า "ทอง" ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นท่านอาจารย์ทองเฒ่า หรือท่านอาจารย์ทองปาน ซึ่งล้วนแล้วแต่ชื่อทองด้วยกันทั้งสิ้นจนต้องกล่าวกันว่า ถ้าหากจะสืบประวัติของท่านอาจารย์แต่ละท่านที่วัดเขาอ้อนั้น ต้องระบุลงไปด้วยว่า ต้องการทราบประวัติของท่านอาจารย์ทองท่านใด เพราะมีหลายทอง จนแม้แต่ท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเองท่านก็ยังยอมรับว่าสับสนเหมือนกัน

           สำหรับพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นในวัดเขาอ้อนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปลุกเสกพระเครื่อง หรือทำพิธีอะไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วพระอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมของวัดแห่งนี้มักจะใช้สถานที่ประกอบพิธีกรรมที่มิดชิด และเป็นสถานที่ซึ่งคนธรรมดาไม่กล้าจะเหยียบย่างเข้าไป ดังนั้นบนยอดเขาอ้อเองหรือที่ถ้ำฉัททันต์ด้านหลังของวัดซึ่งติดอยู่ริมเชิงเขานั้น จึงมักได้รับการตกแต่งให้เป็นที่ประกอบพิธีอยู่เสมอ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในถ้ำแห่งนี้ก็คือพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย จำนวน ๑๑ องค์ ที่ประดิษฐานเรียงรายกันไปตามความยาวของผนังถ้ำและมีพระสาวกที่เชื่อกันว่าเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่หลังจากนั้นนั่งพนมมืออยู่อีก ๒ องค์ ตามหลักสารตราของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ที่มีมาถึงพระยาแก้วโกรพพิชัยบดินทร์ เดชอภัยพิริยะพาหะ เจ้าเมืองพัทลุง เขียนลงวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๐๓ (พ.ศ.๒๒๘๔) ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา มีใจความตอนหนึ่งว่า

"ด้วยขุนศรีสมบัตินายกองสุราเข้าไปฟ้องว่า ที่วัดเขาอ้อ นี้เป็นวัดสร้างมาก่อนแล้วกลับรกร้างสิ่งก่อสร้าง ชำรุดทรุดโทรมลงคราวหนึ่ง พระมหาอินทร์ มาจากเมืองปัตตานีได้เป็นเจ้าวัด และได้จัดการปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่ โดยมีปะขาวขุนแก้วเสานา, ขุนศรีสมบัติ เป็นหัวหน้าฝ่ายคฤหัสถ์ช่วยกันซ่อมแซมพระพุทธรูปภายในถ้ำ ๑๐ องค์ซึ่งปรักหักพังเสร็จแล้วดำเนินการสร้างเสนาสนะอื่นๆ"

            จึงสามารถสรุปได้ว่า พระพุทธรูปดังกล่าวนั้นสร้างมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนพ.ศ. ๒๒๘๔ แต่ต่อมาเกิดปรักหักพัง จึงได้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่ และทำให้ได้มีการสร้างพรพุทธรูปสาวกอีกคือ พระพุทธรูป ๑ องค์ ขึ้นมาเพิ่มเติมตามศรัทธาของคนสร้าง ปัจจุบันนี้พระพุทธรูปดังกล่าวนี้ถูกพอกปูนเสียใหม่จนมองดูไม่สวยงามอย่างเช่นแต่ก่อน และที่ตรงกลางถ้ำนั้น ในกาลต่อมา จึงได้มีการสร้างรูปปั้นของท่านอาจารย์ทองเฒ่าอดีตเจ้าอาวาส รูปหนึ่งของวัดเขาอ้อมา ขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปไม้จำหลักปางมารวิชัย ๒ องค์ฝีมือช่างพื้นบ้านสมัยรัตนโกสินทร์ การที่ส่วนใหญ่แล้วเจ้าอาวาสของวัดเขาอ้อมักจะเอาสถานที่ในถ้ำฉัททันต์แห่งนี้มาปลุกเสกเครื่องรางของขลังแล้ว นอกจากที่ว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นสถานที่เงียบสงบแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นเสริมอยู่ด้วยนั่นก็คือ ความเชื่อที่ว่าหากได้ปลุกเสกหรือทำพิธีกรรมภายในถ้ำ หรือในโบสถ์ที่มีประตูทางเข้าด้านเดียวนั้น จะทำให้วัตถุมงคลดังกล่าวมีความขลัง มีพลังฤทธานุภาพในทางคงกระพันชาตรี หรือที่เรียกว่ามหาอุตม์นั่นเอง แต่สำหรับการทำพิธีอาบน้ำว่านแช่น้ำยานั้น แปลกและแตกต่างไปจากที่เคยปฏิบัติมา นั่นก็คือพิธีกรรมดังกล่าวนี้ จะจัดให้มีขึ้นที่ไหล่เขา ในราวเดือนเมษายน-ตุลาคมของทุกปี โดยจัดให้มีการก่อสร้างเป็นรูปอ่างน้ำสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือในบางครั้งก็ใช้เรือมาใส่น้ำยาให้คนลงไปนอนแช่ครั้งละประมาณ ๔-๕ คน ซึ่งรางดังกล่าวนั้นเรียกว่า "รางยา"

 

ต้นตำรับอาคมขลัง!! เปิดตำนาน "แช่ว่านอาบยา" พิธีกรรมเสริมความขลังให้หนังเหนียว สุดยอดวิชาคงกระพัน "วัดเขาอ้อ" ชุมทางไสยศาสตร์อันลือลั่น !!

             เนื่องจากพิธีแช่ยา เป็นพิธีใหญ่มากและทำได้ลำบากด้วย ดังนั้นเครื่องบูชาครูหรือไหว้ครูจึงต้องมีมากเป็นของธรรมดา ซึ่งเครื่องบูชาครูต้องมีได้แก่หัวหมู ๑ หัว บายศรีใหญ่ ยอดบายศรีมีแหวนทองคำหนัก ๑ บาทสวมไว้ หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ หนังเสือ หนังหมี เครื่องยาหรือว่านที่ต้องใช้ในพิธีมี ๑๐๘ ชนิดแต่ตัวยาหรือพันธุ์ว่านที่สำคัญพอจะทราบได้ดังนี้ คือเจ็ดหมูน (บอระเพ็ด) ชิงช้าชาลีทั้งสองอย่างนี้จะต้องใช้จำนวนมาก ฝอยหย็อย, ฝอยยง, ข่อยชนิดหนาม ๑๐๘ ชนิด, กำลังควายถึก, พระยามือเหล็ก, พระยาดาบหัก, อ้ายต้าน, อ้ายเหนียว, อ้ายหนังนุ้ย, อ้ายหนังใหญ่, โคกกระสุน, อ้ายกลิ้งกลางดง, ดงกลางดอน, ฤาษีสม, กำลังคชสาร, ปราบทวีปฯ ซึ่งต้นว่านเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปตามป่าเขาในจังหวัดพัทลุง

            การประกอบพิธีกรรมแต่ละครั้ง ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเวลานาน เพราะบางครั้งต้องเสียเวลาในการค้นหาตัวยา ซึ่งอาจจะต้องหาเอง หรือจ้างให้คนอื่นหาให้ก็ได้ และในบางครั้งตัวอาจารย์ผู้ประกอบพิธีต้องลงไปหาเองเพื่อป้องกันความผิดพลาดของเครื่องยา และยาทุกชนิดที่นำมาประกอบพิธีกรรมนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบจากอาจารย์ผู้ประกอบพิธีเสียก่อนจึงจะใช้ได้ ในการทำพิธีแช่ยานี้จะใช้เวลาประมาณ ๑๐-๑๕ วัน โดยการแช่ยานั้นทำได้สองทางคือ การแช่ยาดิบ กับการแช่ยาต้ม เจ้าพิธีหรือผู้ประกอบพิธีกรรมจะต้องเป็นอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมทางไสยศาสตร์สูงมาก จึงจะประกอบพิธีกรรมได้ขลังและศักดิ์สิทธิ์

            ในการแช่ยาดิบนั้นไม่มีพิธีกรรมที่ยุ่งยากนักคือ นำตัวยาที่ได้มาประเภทต้นว่านซึ่งยังไม่ได้ต้ม เอามาทุบให้ละเอียด และนำไปใส่รางยา หรือเรือที่เตรียมไว้จากนั้นจึงนำน้ำธรรมดาเทใส่ลงไปพอสมควรก็นอนแช่ได้แล้ว พิธีแช่ยาดิบจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมของนักเลงทางไสยศาสตร์มากนักด้วยเกรงว่าจะไม่ขลังเหมือนตัวยาต้ม ส่วนการแช่ยาต้มนั้น ก่อนการแช่ยาสำหรับผู้ที่ไม่บริสุทธิ์จะต้องสะเดาะ หรือทำพิธีเกิดใหม่เสียก่อนเพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์ สิ่งที่นำมาประกอบพิธีคือด้ายขาว ด้ายดำ ด้ายแดง และหญ้าคา นำมาฟั่นเป็นเชือกยาวเท่ากับความสูงของคนที่จะแช่ยาเครื่องบูชาประกอบด้วย ธูปเทียน หมากพลู แล้วนำเข้าพิธีโดยให้ผู้ที่จะสะเดาะใหม่นั่งลงในท่าของทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดาและให้อยู่แต่ภายในขอบเขตของเชือกหญ้าคา

             ต่อจากนั้นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางไสยเวทก็จะทำพิธีคลอดให้เหมือนอย่างที่ทารกคลอดจากท้องของมารดาทุกประการ และหลังจากนั้นก็นำน้ำพระพุทธมนต์มารดคนที่สะเดาะใหม่ ซึ่งหมายความว่าคนๆ นั้นได้เกิดใหม่แล้ว มีความบริสุทธิ์ สะอาดทั้งกาย ใจ วาจา หลังจากนั้นจึงให้คนที่จะแช่ว่านอาบว่าน นำว่านทั้งหมดมาตัดเป็นชิ้นเล็ก นำไปต้มส่วนหนึ่ง และใช้แช่ดิบอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก่อนที่จะแช่นั้นต้องหาฤกษ์หายามให้ดีเสียก่อน แล้วทำความสะอาดรางยาหรือเรือให้เรียบร้อย วงสายสิญจน์ไปรอบ ๆ เป็นการกำหนดมณฑลพิธี เสร็จแล้วจึงนำตัวยาที่เหลือไปต้ม ใส่ลงในรางยา นำน้ำยาที่ต้มแล้วเทใส่ลงไปต้มหลายๆ ครั้ง จนได้น้ำยามากพอสมควรที่ขอบรางยาอาจารย์ผู้ทำพิธีจะลงอักขระ เลขยันต์เอาไว้ เมื่อเครื่องยาครบตามที่ต้องการแล้ว ก็ตั้งเครื่องไว้พระบูชาครู ทำพิธีปลุกเสก

 

 

ต้นตำรับอาคมขลัง!! เปิดตำนาน "แช่ว่านอาบยา" พิธีกรรมเสริมความขลังให้หนังเหนียว สุดยอดวิชาคงกระพัน "วัดเขาอ้อ" ชุมทางไสยศาสตร์อันลือลั่น !!

            ในขณะที่ปลุกเสกนั้น อาจารย์ก็จะตบมือลงไปที่รางยาเรื่อย ๆ และผู้ที่จะแช่ยาก็จะต้องนุ่งห่มผ้าขาวผืนเดียว ประนมมืออยู่ใกล้ ๆ กับอาจารย์ จนเมื่ออาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมปลุกเสกครบ ๑๐๘ คาบแล้ว พระภิกษุสงฆ์ก็จะเจริญพระพุทธมนต์บนปากรางยาเมื่อเสร็จแล้วอาจารย์ก็จะลงอักขระที่ฝ่ามือฝ่าเท้า และศีรษะของคนที่จะแช่ยาให้พร้อมกับสอนคาถาเวลาลง กับเวลาขึ้นรางยา ในการลงรางยาแต่ละครั้งนั้นจะต้องเลือกเอาคนที่มีกำลังวันมากกว่าคนอื่น  ลงก่อนโดยแบ่งเป็นกำลังตามวันเกิดดังนี้ คือ วันอาทิตย์ กำลัง ๖ วันจันทร์ กำลัง ๑๕ วันอังคาร กำลัง ๘ วันพุธ กำลัง ๑๗ วันพฤหัสบดี กำลัง ๑๙วันศุกร์ กำลัง ๒๑ วันเสาร์ กำลัง ๑๐ สำหรับการลงรางยานั้นจะลงรางละกี่คนก็ได้ แล้วแต่ขนาดความจุของรางยา ซึ่งส่วนมากไม่เกิน ๕ คน โดยอาจารย์จะนำหนังหมีครอบศีรษะให้ศิษย์ และใช้เท้าเหยียบเหล็กกล้าที่วางอยู่บนหนังเสือพร้อมกับจับมือของผุ้ที่แช่ยา ส่งลงรางครั้งละ ๑ คน จนครบตากจำนวนที่ต้องการ

          หลังจากนั้นทุกคนก็จะต้องนอนลงแช่น้ำยาให้ท่วมอก ศีรษะอยู่เหนือน้ำยาและห้ามไม่ให้น้ำยาเข้าหู เข้าตา เพราะอาจทำให้หูหนวก ตาบอดได้ ผู้แช่ยาจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นอันมาก แม้จะพูดคุยกันก็ไม่ใด้เช่นกันเพราะผู้ที่แช่ยานั้นจะต้องนอนแช่ยาไป ภาวนาคาบไป ซึ่งคาถาที่ใช้ท่องในการแช่ยานั้นมีใจความว่าดังนี้ "เพ็ดชะคง ๆ มะอึกเพ็ดชะด้าน ๆ มะอึก มะอะอุ"  ตลอดเวลาที่นอนแช่ยาอยู่นั้นผู้ที่แช่ยาจะต้องใช้ความอดทนอย่างสูงสุด ที่จะไม่ให้เสียสมาธิและทนไม่ได้ในการแช่เพราะบอระเพ็ดหรือเจ็ดหมูนตามคำเรียกขานของชาวใต้นั้นจะขมมาก แม้ว่าจะเพียงแค่นอนแช่ไม่ได้กินเข้าไปแต่กลิ่นและความขม ก็จะซึมซาบเข้าไปในจมูก, ปาก, ลำคอ จนแทบไม่ไหวเอาทีเดียว ในช่วงที่ต้องการแช่ยานั้น การรับประทานอาหารของผู้ที่แช่ยาแต่ละคนนั้นจะต้องกินอาหารภายในเขตมณฑลพิธีเท่านั้นโดยมีญาตินำอาหารมาให้ แต่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างเด็ดขาดแม้จะรับของจากมือผู้หญิงก็ไม่ได้ และการถ่ายหนัก ถ่ายเบานั้น ก็ทำได้แต่ภายในเขตพิธีเท่านั้น ซึ่งตลอดเวลาทั้ง ๑๕ วันนี้อาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดขึ้นมา และในทุกเช้าก็จะมีพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ให้

ต้นตำรับอาคมขลัง!! เปิดตำนาน "แช่ว่านอาบยา" พิธีกรรมเสริมความขลังให้หนังเหนียว สุดยอดวิชาคงกระพัน "วัดเขาอ้อ" ชุมทางไสยศาสตร์อันลือลั่น !!

 

           ในการแช่ยาแต่ละครั้ง ผู้ที่ต้องการความขลังนี้จะต้องแช่ยาอย่างน้อย ๓ วัน หรือวันเดียวก็ได้ แล้วแต่ความอดทนของแต่ละคน ซึ่งอย่างมากไม่เกิน ๗ วัน และคน ๆ นึ่งนั้นจะแช่ได้ไม่เกิน ๗ ครั้ง เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องขึ้นจากรางยา อาจารย์ผู้ชำนาญเวทก็จะนำขึ้นครั้งละ ๑ คนจนหมด จากนั้นก็นำธูปเทียน ดอกไม้ หมากพลู ผลไม้ต่าง ๆ ทำพิธีบูชาครูอีกครั้งหนึ่งจึงเป็นอันเสร็จพิธีโดยสมบูรณ์ สำหรับคุณค่าของการแช่ว่านอาบยานี้เชื่อกันว่า ทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรีมาก มีตบะเชาแก่กล้าสามารถแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวงได้ น่าเสียดายที่ทุกวันนี้พิธีแช่ว่านอาบยาที่วัดเขาอ้อนั้นได้เสื่อมสูญหายไปตามกาลเวลาผ่านไป คนในสมัยใหม่ไม่เชื่อถือในเรื่องเหล่านี้และมองข้ามไม่เห็นความสำคัญในพิธีดังกล่าวทั้ง ๆ ที่ในอดีตนั้นคนที่ผ่านพิธีการนี้สามารถแสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นแก่สายตามาแล้วว่า ตนเองนั้นอยู่ยงคงกระพันได้จริง ๆ ถ้าหากว่าประพฤติตนเหมาะสมเคร่งครัดตามคำสั่งของอาจารย์ผู้ประกอบพิธี

           แต่ถ้าหากผู้ใดกระทำความผิดไปจากคำสั่งสอนนั้นก็จะทำให้เสื่อมความขลังได้ทันทีเช่นกัน อย่างเช่นเมื่อครั้งหนึ่งในสมัยที่บิดาของผู้เขียนยังเป็นหนุ่มฉกรรจ์อยู่ท่านเองก็เป็นคนที่นิยมชมชอบในเรื่องความขลังนี้เช่นกัน ในครั้งนั้นท่านเล่าว่าให้ฟังว่าในจำนวนบรรดาลูกศิษย์วัดเขาอ้อที่เป็นฆราวาสผ่านการอาบว่านแช่ยา และผ่านการปลุกเสกต่าง ๆ จากท่านอาจารย์ทองเฒ่านั้นถ้าหากจะพูดถึงความเหนียวของการอยู่ยงคงกระพันแล้วก็ไม่มีใครเกินนายพลัดบ้านประดู่เรียงไปได้อีกแล้ว เล่ากันว่านายพลัดผู้นี้เป็นศิษย์ที่ท่านอาจารย์ทองเฒ่าโปรดปรานมาก ท่านให้ความเอ็นดู เมตตาเป็นพิเศษถ่ายทอดวิชาอาคมต่าง ๆ ให้มากมายโดยไม่ได้ปิดบังแต่อย่างใด เพื่อหวังที่จะให้นายพลัดเป็นผู้สืบวิชาต่อไปในสายฆราวาส ทำให้นายพลัดมีความคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า

           แต่แล้ววันหนึ่ง ขณะที่ทุกคนกำลังนั่งพักผ่อนอยู่บนบ้านนั่นเองก็ได้มีพวกโจรบุกขึ้นปล้นบ้าน ทำการต่อสู้กันอยู่นาน ก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายนายพลัดได้พวกโจรจึงได้กำลังใจเสีย พากันล่าถอยไป แต่ในขณะเดียวกัน นายพลัดซึ่งถือว่าตนเองก็เป็นหนึ่งในบ้านประดู่เรียงไม่เคยมีใครมากล้าตอแยเช่นนี้ เนื่องจากเคยมีคนเห็นความขลังของตนจนเข็ดขยาดมาหมดแล้ว ก็เกิดความโมโหโกรธาขึ้นมาสุดตัวที่เห็นพวกโจรเหล่านั้นบังอาจมาลูบคมจนถึงบ้านเหมือนจะลบเหลี่ยมตน จึงได้ตะโกนด่าพ่อล่อแม่ตามหลังพวกโจรที่ล่าถอยไป ลูกผู้ชายนั้นฆ่าได้ แต่หยามกันไม่ได้อยู่แล้ว พวกโจรเมื่อถูกด่าก็เกิดความโกรธขึ้นมา คิดว่ายังไงเสียก็ต้องฆ่าฟันกันให้ตายไปข้างหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะทำอันตรายฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ ก็ต้องสู้กันอีกยก เพื่อศักดิ์ศรีของตนเองจึงได้ย้อนกลับขึ้นมาบนเรือนอีกหน

           ในหนนี้นายพลัดเสียทีด่าคำผรุสวาทที่ตนเองลั่นออกไปนั้น ทำให้ความขลังที่มีอยู่ในตนเสื่อมไปอย่างน่าเสียดาย ไม่มีใครเชื่อ แม้แต่ท่านอาจารย์ทองเฒ่า เจ้าอาวาสวัดเขาอ้อผู้เป็นอาจารย์ก็ยังไม่เชื่อว่าศิษย์รักที่มีความเหนียวเป็นหนึ่งในแดนตะลุงจะมาพลาดท่าเสียทีถูกฆ่าตายอย่างง่ายดายเช่นนั้น ท่านเดินทางมาดูด้วยตนเอง ถึงจะเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นความจริง ซึ่งนี่ก็นับได้ว่าเป็นกฤตยาคมที่แกร่งกล้าของเวทวิทยาคมแห่งวัดเขาอ้อที่แท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่นับได้ว่า น่าเสียดายอย่างยิ่งที่พิธีการดังกล่าวนี้ในปัจจุบันไม่มีใครสนใจ หรือคิดประกอบพิธีขึ้นมาอีก ปล่อยทิ้งรางอาบว่านแช่ยา ให้รกร้างว่างเปล่าอยู่บนไหล่เขา ที่วัดเขาอ้อ และปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา

           แต่ตำนานที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของวัดแห่งนี้ก็ใช่ว่าจะลบเลือนไปใม่ เพราะในทุกวันนี้แม้จะไม่มีการประกอบพิธีที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นในอดีตอีกแล้ว แต่ของดีที่วัดเขาอ้อยังมีอยู่และมีผู้ที่มีจิตศรัทธาเดินทางไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดแห่งนี้ ไม่มีขาดสายทุกวัน

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.rmutphysics.com/