ติดตามเรื่องราวดีๆอีกมากมาย ได้ที่ http://www.tnews.co.th

วันที่ ๑๙ มกราคมเป็นวันครบรอบ ๒๒ ปี วันคล้ายวันมรณภาพหลวงปู่หล้า เขมปัตโต “พระอริยเจ้าผู้น้อมตนเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” หลวงปู่หล้า อดีตเจ้าอาวาสวัดภูจ้อก้อ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร พระเถราจารย์ฝ่ายพระกัมมัฏฐาน ท่านบากบั่น อุตสาหะ พยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อหาทางพ้นทุกข์ บารมีธรรมคำสั่งสอนเป็นที่ซาบซึ้งถึงใจ และหยั่งรากฝังลึกลงในหัวใจของมหาชน สั่งสอนศิษย์ด้วยเมตตาธรรม ดุจพ่อแม่อบรมสั่งสอนลูก หลวงปู่หล้า ท่านเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของพระอาจารย์มั่น ที่สำคัญยิ่งรูปหนึ่ง

เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ หลวงปู่หล้า ท่านฝากตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น และตั้งสัจวาจาว่า "ขอมอบกายถวายชีวิตต่อท่านพระอ.มั่น ผูกขาดทุกลมปราณ ตลอดทั้งคณะสงฆ์ในที่นี้ทุก ๆ องค์ด้วย" จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่น สอนสั้น ๆ ว่า... "กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เป็นน้องอาปานสติ อานาปานสติเป็นยอดมงกุฎของกรรมฐานทั้งหลาย" องค์หลวงตามหาบัว ซึ่งเป็นพระเถระที่ดูแลหมู่คณะสงฆ์ในขณะนั้น ได้กล่าวเตือนว่า..."เอาให้ดีนะ เมื่อคุณได้มอบกายถวายตัวกับองค์ท่านแบบแจบจมอย่างนี้แล้ว ต้องเข่นหนักนะ"

หลวงปู่หล้า ท่านถวายอุปัฏฐากแด่ท่านพระอาจารย์มั่น อย่างใกล้ชิด มีภาระหลายหน้าที่ เช่น สรงน้ำ ซักย้อมสงบจีวร ตามไฟถวายเมื่อองค์ท่านจงกรมในยามค่ำคืน ดูแลไฟให้ความอบอุ่นยามหนาวเย็น ชำระอุจจาระปัสสาวะเมื่อองค์ท่านอาพาธ ท่านมีความเคารพในองค์หลวงปู่มั่น พระอาจารย์ของท่านมากขนาดใช้มือกอบอุจจาระของอาจารย์แทนการใช้เครื่องมือไปตัก ท่านกล่าวว่า พระอาจารย์มั่น ท่านทรงคุณถึงเพียงนี้ จะหารังเกียจไม่ กับเป็นความปีติที่ได้ถวายงานท่านมากกว่า หลวงปู่หล้า ท่านได้สังเกตศึกษา ปฏิปทา และจริยาวัตรของท่านพระอาจารย์มั่น อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องตลอดเวลา ๔ ปีสุดท้ายของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน พระอาจารย์ของหลวงปู่หล้าได้มาเยี่ยมอาการอาพาธของหลวงปู่หล้า ซึ่งแพทย์กราบเรียนว่าไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นอีกได้ องค์หลวงตามหาบัวได้เมตตาแนะนำว่า เมื่อการรักษาไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ก็ควรหยุดการรักษา ปล่อยให้ท่านอยู่กับธรรมชาติของท่าน" องค์หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ได้เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ เวลา ๑๓.๕๙ น. สิริอายุ ๘๔ ปี ๑๑ เดือน พรรษา ๕๑ และมีพิธีถวายเพลิงสรีระสังขารหลังการมรณภาพเพียง ๙ วัน ตรงกับวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ โดยหลวงตามหาบัวเป็นประธาน หลังหลวงปู่หล้า ท่านละสังขารไม่นาน อัฐท่านแปรเป็นพระธาตุ องค์หลวงตามหาบัว ได้ชมและยกย่องหลวงปู่หล้า ท่านว่า "เป็นพระที่ซื่อสัตย์ต่อครูอาจารย์ เอาใจใส่ในอาจาริยวัตรเสมอ แม้ถูกดุด่าก็อดทนต่อคำสั่งสอน ไม่เหนื่อยหน่ายต่อโอวาทธรรมที่ครูอาจารย์พร่ำสอน และเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าของท่านอาจารย์มั่น" จึงขอน้อมนำอัตโนประวัติของหลวงปู่หล้า มาเผยแพร่เพื่อน้อมเป็นสังฆานุสติ และมรณานุสติ

"เพียงศีลห้าก็เอาเถอะ ไม่ต้องตั้งกฎหมายมากหรอก กฎหมายจะตั้ง สักกี่ล้านก็ตามเถิด ธรรมโลกบาลคุ้มครองโลกสองอย่าง ความละอายต่อบาป ความกลัวต่อบาปเท่านั้น จะคุ้มครองโลกได้ ถ้าไม่ละอายต่อบาป ไม่กลัว ต่อบาปแล้วจะตั้งธรรมวินัยสักเพียงไหนก็ไม่อยู่หรอก ถ้าไปฆ่ามันลูกหลาน มันก็มี มันก็มาฆ่าอีกเหมือนกัน เวรสนองเวร ภัยสนองภัย ไฉนโลกมันจึงตั้งอยู่ได้ เพราะมีคนดีอยู่ด้วย ถ้าไม่มีคนดี มีแต่คนชั่ว มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมันมีคนดีปนอยู่มันจึงตั้งอยู่ได้ โลก ถ้ามันมีคนชั่วก็ตั้ง อยู่ไม่ได้ เท่านั้นก็พอแล้ว" โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่หล้า เขมปัตโต

๑๙ มกราคม ๒๕๖๑ ครบรอบ ๒๒ ปี คล้ายวันละสังขาร "หลวงปู่หล้า เขมปัตโต"พระอริยเจ้าผู้น้อมตนเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต.

เช่าพระคลิ๊กที่นี่
เช่าพระที่นี่

 

ชีวประวัติ(ย่อ)หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

วัดบรรพตคีรี ( ภูจ้อก้อ ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

ชีวประวัติ ของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นชีวิตแห่งสมณะผู้ละวางลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มุ่งสู่ ความหลุดพ้นอย่างจริงจังมั่นคง ท่านเกิดเมื่อ วันจันทร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๔ ที่บ้านกุดสระ อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อนายคูน เสวตร์วงศ์ มารดาชื่อ นางแพง เสวตร์วงศ์ เป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง ๘ คน อาชีพของครอบครัว คือ ทำนา ท่านศึกษาในโรงเรียนชั้นประถม ปีที่ ๒ ก็ต้องออกมา ในวัยเยาว์ท่านได้มีโอกาสรับใช้พระธุดงค์ที่จาริกมา ในละแวกบ้านซึ่งมีส่วนช่วย หล่อหลอมจิตใจให้ใฝ่ในทางธรรม อายุ ๑๘ บวชเป็นเณรเมื่ออายุครบเกณฑ์ก็ได้บวชเป็นพระตามประเพณี จากนั้นก็ลาสิกขา มาครองเรือนได้ประสพความเป็นอนิจจัง ทุกขัง แห่งสังขาร และการพลัดพราก

ครั้นปี พ.ศ.๒๔๘๖ บวชเป็นพระมหานิกายที่วัดบ้านยางมีพระครูคูณเป็นอุปัชฌาย์ พรรษาแรกก็สอบนักธรรมโทได้ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านได้ญัตติเข้าในคณะธรรมยุต ที่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ครั้งเป็นพระเทพกวีเป็นอุปัชฌาย์ และให้ท่านไปพำนักฝึกการปฏิบัติกับหลวงปู่บุญมี ชลิตโต ที่วัดโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็ม อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เคยอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปพำนักครั้งที่ท่านกลับจากเชียงใหม่ และหลวงปู่บุญมี เคยได้รับการศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์มั่น และดำเนินปฏิปทาตามพระบุพพาจารย์ ถวายตัวต่อ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ออกพรรษาปี พ.ศ.๒๔๘๘ แล้ว ได้กราบลาหลวงปู่บุญมี วัดโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็ม เพื่อไปนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งมาพำนักที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พระหล้า เขมปัตโต ออกเดินทางด้วยเท้าค่ำไหนก็ปักกรดจำวัดได้แวะ พักบำเพ็ญความเพียรที่ถ้ำพระเวสก์อยู่ระยะหนึ่งจากนั้นก็ออกเดินทาง

จุดหมายก็คือวัดป่าบ้านหนองผือนาใน ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในกิตติศัพท์แห่งปฏิปทาบารมีธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทำให้พระหล้า เขมปัตโต อุสาหะ วิริยะ ดันด้นมาจนถึงสำนักป่าแห่งนี้ ความสงบร่มรื่นเป็นสัปปายะสถานแห่งผู้บำเพ็ญ สมณะกรรม โอกาสทองแห่งชีวิตก็มาถึงพระหล้า เขมปัตโต มีโอกาสเข้าไปกราบแทบเท้าท่านพระอาจารย์ใหญ่ สัจจะวาจาแห่งผู้กล้าเอ่ย "ขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์ผูกขาดทุกลมปราณ " ท่ามกลาง

คณะสงฆ์คณะศิษย์ที่อยู่ร่วมสำนัก อาทิ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน , พระอาจารย์วัน อุตตโม พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโน หลวงปู่มั่น ท่านเมตตาปฏิสันฐานบอกให้พระเณรนำบริขารไปที่กุฏิว่าง

เมื่อล่วงถึง ๕ วัน ก็เข้าไปกราบเท้าขอนิสัยกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต องค์ท่านก็ได้กรุณารับ การพำนักที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน พระหล้า เขมปัตโต ได้รับเมตตาจากท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ให้คำแนะนำสั่งสอน ให้อุบายธรรมอันเป็นสิ่งที่ท่านจดจำสำนึกตลอดมา

ในพรรษาปี พ.ศ.๒๔๘๙ ท่านได้จำพรรษาเฝ้าฝึกศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นและถวายการปฏิบัติครูอาจารย์ด้วยความเคารพ ณ วัดป่าบ้านหนองผือนาใน ซึ่งเป็นขุมคลังแห่งพุทธิปัญญา วิปัสสนากรรมฐานแห่งยุคสมัย และยังได้รับเมตตาธรรมจากพระเถราจารย์ ตลอดจนสหธรรมมิกร่วมสำนัก

๑๙ มกราคม ๒๕๖๑ ครบรอบ ๒๒ ปี คล้ายวันละสังขาร "หลวงปู่หล้า เขมปัตโต"พระอริยเจ้าผู้น้อมตนเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต.

ออกวิเวกกับพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน

หลังออกพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ติดตามท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ออกวิเวกไปตามป่าเขา ต่อมาได้มีโอกาสพบท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่ถ้ำบ้านไผ่ และท่านก็เมตตาช่วยเหลืออนุโมทนา ในกิจธุดงค์ด้วยดี เมื่อได้เวลาอันควรพระอาจารย์หล้า เขมปัตโต ก็เดินทางกลับมากราบ

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน และมีโอกาส ถวายการปฏิบัติรับใช้พ่อแม่ครูอาจารย์ ด้วยความเคารพศรัทธา

กระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้บังเกิดเหตุที่นำความเศร้าสลดมาสู่พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต อย่างใหญ่หลวงคือพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เปรียบประดุจร่มโพธิ์แก้วของท่าน ได้ละสังขาร จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ คงเหลือไว้ซึ่งคุณูปการเอนกอนันต์แห่งธรรมและข้อวัตรปฏิบัติอันยอดเยี่ยม

พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต ได้รับเป็นภาระธุระในกิจน้อยใหญ่ โดยไม่เกี่ยงเพื่อบำเพ็ญกุศลถวายท่าน พระอาจารย์ใหญ่ ที่ตนมอบกายถวายชีวิตด้วยเศียรเกล้า เมื่อถวายเพลิงสรีระหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตแล้ว ท่านจึงติดตามหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ออกวิเวก และมีโอกาส ติดตามหลวงปู่เทสก์ลงไปทางใต้แถบจังหวัด ภูเก็ต-พังงา และจำพรรษาที่ ๖ ที่ โคกกลอย พระอาจารย์หล้า ธุดงค์ไปในเกาะภูเก็ต พังงา และจังหวัดตรัง ช่วงระยะหนึ่งจึงกลับมา กรุงเทพฯ พักที่วัดบรมนิวาส ๕-๖ วันแล้วกลับไปอีสาน จุดหมายคือ วัดบ้านห้วยทราย (หรือวัดวิเวกวัฒนาราม) อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านพำนักอยู่ที่นี่ พระอาจารย์หล้า ได้พำนักร่วมกับ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน 3 พรรษา

สู่ภูจ้อก้อ

ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๐ ชาวบ้านบ้านแวงหนองสูงใต้ มากราบนิมนต์ ท่านไปพำนักที่ภูจ้อก้อ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต จึงได้มาพำนักที่ ภูจ้อก้อ หรือวัดบรรพตคีรี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) บ้านแวง ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ตั้งอยู่บนภูเขา ทิวทัศน์งดงามร่มรื่นมีก้อนหินน้อยใหญ่เรียงรายงดงาม ศาสนสถานแห่งนี้ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ท่านเป็นผู้นำศรัทธา ในการสร้างเพื่อถวายไว้เป็น ศาสนสมบัติ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ท่านเป็นพระธุดงคกรรมฐานที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ธรรมเทศนาของท่าน เป็นธรรมะพระป่าที่เข้มข้นตรงไปตรงมา

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ในปัจฉิมวัย ท่านอาพาธด้วยโรคาพยาธิ และในที่สุด ท่านมรณภาพ ด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๙ ก่อนมรณภาพ ท่านขอให้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล เพียง ๓ วัน จากนั้นให้ฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย ชีวิตสมณะของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นชีวิตพระป่า พระธุดงคกรรมฐานที่องอาจกล้าหาญเด็ดเดี่ยว แต่นอบน้อมต่อครูอาจารย์ผู้มีพระคุณเป็นที่สุด

๑๙ มกราคม ๒๕๖๑ ครบรอบ ๒๒ ปี คล้ายวันละสังขาร "หลวงปู่หล้า เขมปัตโต"พระอริยเจ้าผู้น้อมตนเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต.

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

fungdham.com 

dharma-gateway.com/monk

ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน

เพื่อเผยแผ่กิตติคุณเป็นสังฆบูชา