รู้จริง... รู้แจ้ง... ทุกเรื่องราวพระอริยสงฆ์   http://www.tnews.co.th

หลวงปู่หล้า “พระอริยเจ้าผู้น้อมตนเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” ศิษย์รุ่นสุดท้ายหลวงปู่#น้อมรำลึกการมรณภาพ ครบ ๒๒ปี

วันนี้วันที่ ๑๙ มกราคมเป็นวันครบรอบ ๒๒ ปี วันคล้ายวันมรณภาพหลวงปู่หล้า เขมปัตโต “พระอริยเจ้าผู้น้อมตนเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” หลวงปู่หล้า อดีตเจ้าอาวาสวัดภูจ้อก้อ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร พระเถราจารย์ฝ่ายพระกัมมัฏฐาน ท่านบากบั่น อุตสาหะ พยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อหาทางพ้นทุกข์ บารมีธรรมคำสั่งสอนเป็นที่ซาบซึ้งถึงใจ และหยั่งรากฝังลึกลงในหัวใจของมหาชน สั่งสอนศิษย์ด้วยเมตตาธรรม ดุจพ่อแม่อบรมสั่งสอนลูก หลวงปู่หล้า ท่านเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของพระอาจารย์มั่น ที่สำคัญยิ่งรูปหนึ่ง
 

หลวงปู่หล้า “พระอริยเจ้าผู้น้อมตนเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” ศิษย์รุ่นสุดท้ายหลวงปู่#น้อมรำลึกการมรณภาพ ครบ ๒๒ปี
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ หลวงปู่หล้า ท่านฝากตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น และตั้งสัจวาจาว่า "ขอมอบกายถวายชีวิตต่อท่านพระอ.มั่น ผูกขาดทุกลมปราณ ตลอดทั้งคณะสงฆ์ในที่นี้ทุก ๆ องค์ด้วย" จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่น สอนสั้น ๆ ว่า... "กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เป็นน้องอาปานสติ อานาปานสติเป็นยอดมงกุฎของกรรมฐานทั้งหลาย" องค์หลวงตามหาบัว ซึ่งเป็นพระเถระที่ดูแลหมู่คณะสงฆ์ในขณะนั้น ได้กล่าวเตือนว่า..."เอาให้ดีนะ เมื่อคุณได้มอบกายถวายตัวกับองค์ท่านแบบแจบจมอย่างนี้แล้ว ต้องเข่นหนักนะ"
หลวงปู่หล้า ท่านถวายอุปัฏฐากแด่ท่านพระอาจารย์มั่น อย่างใกล้ชิด มีภาระหลายหน้าที่ เช่น สรงน้ำ ซักย้อมสงบจีวร ตามไฟถวายเมื่อองค์ท่านจงกรมในยามค่ำคืน ดูแลไฟให้ความอบอุ่นยามหนาวเย็น ชำระอุจจาระปัสสาวะเมื่อองค์ท่านอาพาธ ท่านมีความเคารพในองค์หลวงปู่มั่น พระอาจารย์ของท่านมากขนาดใช้มือกอบอุจจาระของอาจารย์แทนการใช้เครื่องมือไปตัก ท่านกล่าวว่า พระอาจารย์มั่น ท่านทรงคุณถึงเพียงนี้ จะหารังเกียจไม่ กับเป็นความปีติที่ได้ถวายงานท่านมากกว่า หลวงปู่หล้า ท่านได้สังเกตศึกษา ปฏิปทา และจริยาวัตรของท่านพระอาจารย์มั่น อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องตลอดเวลา ๔ ปีสุดท้ายของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
 

หลวงปู่หล้า “พระอริยเจ้าผู้น้อมตนเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” ศิษย์รุ่นสุดท้ายหลวงปู่#น้อมรำลึกการมรณภาพ ครบ ๒๒ปี
เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน พระอาจารย์ของหลวงปู่หล้าได้มาเยี่ยมอาการอาพาธของหลวงปู่หล้า ซึ่งแพทย์กราบเรียนว่าไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นอีกได้ องค์หลวงตามหาบัวได้เมตตาแนะนำว่า เมื่อการรักษาไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ก็ควรหยุดการรักษา ปล่อยให้ท่านอยู่กับธรรมชาติของท่าน" องค์หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ได้เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ เวลา ๑๓.๕๙ น. สิริอายุ ๘๔ ปี ๑๑ เดือน พรรษา ๕๑ และมีพิธีถวายเพลิงสรีระสังขารหลังการมรณภาพเพียง ๙ วัน ตรงกับวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ โดยหลวงตามหาบัวเป็นประธาน หลังหลวงปู่หล้า ท่านละสังขารไม่นาน อัฐท่านแปรเป็นพระธาตุ องค์หลวงตามหาบัว ได้ชมและยกย่องหลวงปู่หล้า ท่านว่า "เป็นพระที่ซื่อสัตย์ต่อครูอาจารย์ เอาใจใส่ในอาจาริยวัตรเสมอ แม้ถูกดุด่าก็อดทนต่อคำสั่งสอน ไม่เหนื่อยหน่ายต่อโอวาทธรรมที่ครูอาจารย์พร่ำสอน และเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าของท่านอาจารย์มั่น" จึงขอน้อมนำอัตตโนประวัติของหลวงปู่หล้า มาเผยแพร่เพื่อน้อมเป็นสังฆานุสติ และมรณานุสติครับ
 ชีวประวัติ(ย่อ)หลวงปู่หล้า เขมปัตโต 
วัดบรรพตคีรี ( ภูจ้อก้อ ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร
ชีวประวัติ ของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นชีวิตแห่งสมณะผู้ละวางลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มุ่งสู่ ความหลุดพ้นอย่างจริงจังมั่นคง ท่านเกิดเมื่อ วันจันทร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๔ ที่บ้านกุดสระ อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อนายคูน เสวตร์วงศ์ มารดาชื่อ นางแพง เสวตร์วงศ์ เป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง ๘ คน อาชีพของครอบครัว คือ ทำนา อายุ ๑๘ บวชเป็นเณรเมื่ออายุครบเกณฑ์ก็ได้บวชเป็นพระตามประเพณี  ครั้นปี พ.ศ.๒๔๘๖ บวชเป็นพระมหานิกายที่วัดบ้านยางมีพระครูคูณเป็นอุปัชฌาย์ พรรษาแรกก็สอบนักธรรมโทได้ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านได้ญัตติเข้าในคณะธรรมยุต ที่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ครั้งเป็นพระเทพกวีเป็นอุปัชฌาย์ และให้ท่านไปพำนักฝึกการปฏิบัติกับหลวงปู่บุญมี ชลิตโต ที่วัดโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็ม อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เคยอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปพำนักครั้งที่ท่านกลับจากเชียงใหม่ และหลวงปู่บุญมี เคยได้รับการศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์มั่น และดำเนินปฏิปทาตามพระบุพพาจารย์ ถวายตัวต่อ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
คณะสงฆ์คณะศิษย์ที่อยู่ร่วมสำนัก อาทิ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน , พระอาจารย์วัน อุตตโม พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโน หลวงปู่มั่น ท่านเมตตาปฏิสันฐานบอกให้พระเณรนำบริขารไปที่กุฏิว่าง
หนังสืออัตตโนประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต 
ที่ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสฺสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย อาราธนาหลวงปู่ให้เขียนขึ้น
ที่มา FB : เพจท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน