ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

จาก..พระบ้าน สู่..พระป่า!! น้อมกราบรำลึก ครบรอบ ๑๕ ปี วันละสังขาร "หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล" พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม !!

 

           เนื่องในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ เป็นวันคล้ายวันมรณภาพครบ ๑๕ ปี ของหลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล “พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม” ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ชำนาญทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ท่านละทิ้งเกียรติยศตำแหน่งในการบริหารคณะสงฆ์ มุ่งเพียงเกียรติอันยิ่งใหญ่คือพระนิพพาน ละจากความเป็นพระบ้านเข้าสู่ความเป็นพระป่าได้อย่างสนิทใจ องค์ท่านละขันธ์ด้วยอาการสงบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖

จาก..พระบ้าน สู่..พระป่า!! น้อมกราบรำลึก ครบรอบ ๑๕ ปี วันละสังขาร "หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล" พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม !!

 

           ในวันรุ่งขึ้น วันพุธที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๑๑.๓๐ น. องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้มาที่วัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์ และ ได้ปรารภถึงหลวงปู่มหาเขียน ว่า "...สนิทสนมกันถึงขนาดว่าเป็นเสี่ยวกันนั่นแหล่ะ ตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ด้วยกันติดพันกันมาตั้งแต่โน้นนะ ที่ได้ห่างกันก็ตอนเราออกปฏิบัติ ท่านก็ออกมาจากเจ้าคณะจังหวัดมาอยู่ทางนี้นะ ทีนี้ห่างกันตรงนี้ ทางร่างกายนะ ความเคลื่อนไหวไปมาไม่ค่อยได้พบกัน แต่ทางด้านจิตใจนะมันสนิทสนมกันมาตลอดนะ เป็นอย่างนั้น บางทีคนทั้งหลายก็จะไม่ทราบว่าเป็นอะไรกันกับเรา เป็นเพื่อนสนิทสนมกันกับเรา เป็นเสี่ยวกันนั่นแหละ..."

            หลวงปู่มหาเขียน พระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นที่น่าเคารพสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์ฯ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้ง เป็นเพื่อนสหธรรมิกกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) และพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ตั้งแต่ครั้งสมัยที่ท่านทั้งสามยังมี อายุพรรษาไม่มากนัก ท่านเป็นพระมหาเถระผู้ทรงคุณ ทั้งพระปริยัติธรรม เปรียญธรรม ๙ ประโยค ทั้งปฏิบัติธรรม คือท่านสละลาภยศ ทั้งหมดออกปฏิบัติธรรมในสำนักของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และที่สุดท่านได้ทรงพระปฏิเวธธรรม คือความหลุดพ้น

 

พระอริยเวที (หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

            "พระอริยเวที" หรือ "หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล" ท่านถือกำเนิดตรงกับวันพุธ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ปีฉลู ณ หมู่บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ท่านมีอุปนิสัยพูดจริงทำจริง เรียนจริงปฏิบัติจริง บากบั่นมุมานะ ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคที่มาถึง รักสงบ สำรวมระวัง ปฏิบัติตนเคร่งครัดในธรรมวินัย ไม่ชอบคลุกคลี ซื่อตรงต่อธรรมวินัย หนักแน่นด้วยหิริโอตตัปปะธรรม มักน้อย สันโดษ เรียบง่าย มีระเบียบบริบูรณ์ด้วยข้อปฏิบัติไตรศึกษา ถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

            ครั้งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น กัณฑ์แรกเรื่อง "โทษของการเกิด" และกัณฑ์ที่ ๒ เรื่อง "มุตโตทัย" ท่านถึงกับลุกจากที่นั่งไปกราบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พร้อมกล่าวคำปฏิญาณว่า "สาสเน อุรํ ทตฺวา ขอมอบกายถวายชีวิตนี้แก่พระพุทธศาสนา ชีวิตทั้งชีวิตนี้ขอมอบไว้ในพระศาสนา ขอให้ท่านพระอาจารย์เป็นสักขีพยานด้วย" จากนั้นตราบจนสิ้นอายุขัย ท่านได้ทำสัจวาจานั้นให้เป็นที่ปรากฏแก่ชนทั้งหลาย หลวงปู่มหาเขียน ท่านได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทั้งด้านการศึกษา ด้านการปกครอง ด้านการเผยแผ่ ตั้งแต่บรรพชาอุปสมบทจนตลอดอายุขัย

             หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาลำดับที่ ๓ ท่านมีแนวคิดกว้างไกล บริหารภายในวัด ตั้งเป้าไว้สูงให้พระเณรศิษย์วัดปฏิบัติตามเคร่งครัดและคัดเลือกหมู่คณะเข้ารับการอบรมที่วัดบวร ให้กลับมาเป็นบุคคลากรบริหารวัดช่วยเจ้าอาวาส ท่านริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ "สุทธจินดาราชสีมามูลนิธิ" ได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ ทุนทรัพย์เติบใหญ่ เมื่อวางรากฐานการปกครองและการศึกษา เข้าสู่ความเจริญตามเป้าหมาย ท่านได้ประกาศท่ามกลางคณะสงฆ์อย่างอาจหาญว่า "จะออกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในป่า" ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้น ท่านได้สร้างวัดป่ารังสีปาลิวัน บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ และได้ออกบำเพ็ญตามถ้ำ เงื้อมผาหลายแห่ง         

           หลวงปู่มหาเขียน ท่านปรารภถึงชีวิตท่านขณะเป็นพระอยู่ในเมืองว่า... "ชีวิตวันหนึ่งคืนหนึ่ง รู้สึกว่าจะน้อยมาก สำหรับที่จะทำความเพียร ไม่เพียงพอเลย วันหนึ่ง ๆ มีแต่ต้อนรับผู้คน พูดคุยเรื่องต่าง ๆ เสียเวลาทำความเพียร เป็นการทำชีวิตให้เป็นหมัน เพราะเรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องข้างนอกทั้งนั้นเป็นการคลุกคลีด้วยหมู่คณะจนเกินไป อันเป็นทางให้เกิดความประมาท เป็นปปัญจธรรม คือธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้าในคุณธรรมอันยิ่งขึ้นไป หลงตัวลืมตัวมัวเมามืดมน อนธการ คิด ๆ ดูแล้ว ก็สงสารหมู่คณะที่อยู่ในเมือง ถ้าจะให้เรากลับมาอยู่ในเมืองอีก ให้ตายเสียยังจะดีกว่า เพราะรู้สึกอึดอัดคับแค้นใจมาก ฟัง คิด พิจารณา เกิดมากี่ภพกี่ชาติ จึงจะมีโอกาสงามสำหรับบำเพ็ญสมณธรรมเช่นชาตินี้ "ทุลฺลภขณสมฺปตฺติ" สมณศักดิ์ ตำแหน่ง ห้ามอบายภูมิไม่ได้ แต่คุณความดี และศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ที่ห้ามอบายภูมิได้.."

           เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เมื่ออายุ ๗๑ ปี ท่านป่วยเป็นอัมพาตและเส้นโลหิตในสมองแตก ทำให้ประสาทสมองบางส่วนต้องสูญเสียไป ผลก็คือ พูดออกมาไม่เป็นคำพูด ฟังยาก แขนขาซีกขวาไม่ทำงาน ช่วยตัวเองไม่ได้ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านป่วยอยู่นานถึง ๑๙ ปี ลูกศิษย์ใกล้ชิดช่วยกันสับเปลี่ยนดูแลพยาบาลมาโดยสม่ำเสมอ ๓ ปีพรรษาสุดท้ายแห่งการอาพาธ ท่านต้องอยู่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ตลอด เมื่อคณะแพทย์เห็นว่าสุดวิสัยที่จะช่วยพยุงธาตุขันธ์ให้ดำรงอยู่ต่อไป จึงนิมนต์ท่านกลับวัดรังสีปาลิวัน กระทั่งท่านได้ละสังขารมรณภาพเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๒๐.๒๕ น. สิริรวมอายุได้ ๙๐ พรรษา ๖๘ 

           ทั้งนี้ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ได้มีเมตตานุเคราะห์เป็นอเนกประการ นับแต่เป็นประธานสรงน้ำศพ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖, เป็นประธานจัดงานจัดงานประชุมเพลิงศพ แสดงพระธรรมเทศนา และรับผ้าป่าช่วยชาติ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และเป็นประธานวางศิลาฤกษ์เจดีย์พิพิธภัณฑ์ฯ แสดงพระธรรมเทศนา และรับผ้าป่าช่วยชาติในงานวันทำบุญครบ ๑ ปีแห่งการมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟสบุ๊ค ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน