ย้อนรอยมหาสงครามเอชียบูรพา เสี้ยวประวัติศาสตร์สงครามโลก “ท่าแพ” รอยทราย มิอาจกลบอดีต ๓

ย้อนรอยมหาสงครามเอชียบูรพา เสี้ยวประวัติศาสตร์สงครามโลก “ท่าแพ” รอยทราย มิอาจกลบอดีต ๓

๓. “บ้านแตก...........สาแหรกขาด”

ปี พ.ศ. 2484 ไม่มีชาวบ้านคนไหนที่ “ท่าแพ” คิดว่าเภทภัยแห่งสงครามจะมาเยี่ยมเยือนถึงหัวกระไดบ้าน เด็กหญิงวัย 5 ขวบต้อง หนีตายไปอยู่บนภูเขาที่ไกลออกไปจากสมรภูมิรบ โดยอาศัยอยู่กินกับญาติ โดยไม่รู้ถึงชะตากรรมของผู้เป็นแม่ และพ่อ แม้แต่น้อย………….

ในความโกลาหล แม่ของเธอที่ต้องพลัดพรากกับเธอ และนอนเป็นไข้อยู่นั้นได้เล่าให้ “เด็กหญิง” ฟังว่า ตอนที่  กำลังนอนป่วยทรงกายไม่ขึ้นอยู่ในบ้านนั้น ไม่อาจหนีไปไหนได้ หลังจากที่ฝากฝัง “เด็กหญิง” ผู้เป็นลูก กับ ชายหนุ่มผู้เป็น “น้าหลวง พ่อของเพื่อนลูกสาว” และชาวบ้านที่ต้องมารับเคราะห์ 

เดชะบุญที่ทหารหน่วยที่เข้ามาที่บ้าน เป็นทหารหน่วยพยาบาล เสนารักษ์ ที่จิตใจยังไม่ดิบเถื่อน

เมื่อหัวหน่วย เสนารักษ์ พบว่า เธอที่ล้มป่วยอยู่ และเป็นเจ้าของสถานที่ พวกเขาก็ให้ความเคารพ และในความโกลาหลของการ นำร่างทหารผู้บาดเจ็บเข้ามา คนแล้ว คนเล่า เสนารักษ์ญี่ปุ่นท่านนึง หยิบยื่นยารักษาโรคให้ แต่แม่ของ “เด็กหญิง”ไม่สู้สนิทใจที่ยอมรับความช่วยเหลือ 

หรืออาจจะเป็นเคราะห์ดีของเธอ หากเธอไม่ได้ส่งปืนลูกโม่ให้กับ “น้าหลวง” ชายหนุ่ม ผู้เป็นพ่อของเพื่อนลูกสาว เธอก็คงเสียชีวิต ณ บ้านของเธอเอง หรือหากน้องชายของเธอที่เป็นทหาร ยังอยู่ในบ้าน พร้อมปืนลูกซอง เธอก็อาจจะถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพที่ 2 ต่อจากน้องชาย

ส่วนพ่อของเด็กหญิง เคราะห์ซ้ำกรรมชัดไปมากกว่านั้น เรือเมล์ที่เขาดูแลอยู่เจอเข้ากับพายุในวันที่เกิดวิกฤติสงครามขึ้นนั่นเอง...

เรือทั้งลำล่ม...ถูกท้องทะเลกลืนหายไป โชคดีที่เขา และลูกเรือทั้งหมดมีเรือประมงผ่านเข้ามาพบ และช่วยเหลือเอาไว้ทัน รอดชีวิตมาอย่างหวุดหวิด 

เขาก็ทำได้เพียงเดินเท้าโซซัดโซเซจากปากอ่าวกลับบ้าน..............

ครั้งมาถึงบ้านเขาก็ยิ่งสับสน เพราะบ้านที่เคยกินอยู่ หลับนอนกับลูกเมีย กลายเป็นสถานพยาบาลของทหารญี่ปุ่น ที่มีคนบาดเจ็บนอนเกลื่อนไปแล้ว 

เมื่อจะพรวดพราดเข้าไปในบ้านถามหาลูกเมีย พลทหารญี่ปุ่นก็ห้าม พร้อมเล็งปืนยาวติดดาบปลายปืนที่ขึ้นลำ เตรียมพร้อมลั่นกระสุนเข้าใส่มาขวางไว้ก่อน
“ยาเมะ” ยาเมะ” 
(หยุดนะ หยุดนะ)

โชคดีที่เขายังไหวตัวทัน รีบชี้ไปที่รูปถ่ายของตน และครอบครัวที่ติดอยู่บนฝาผนัง ซึ่งเป็นรูปใบเดียวที่มีอยู่ในบ้าน นายทหารญี่ปุ่นเสนารักษ์จึงได้เข้าใจว่า 
ที่แท้ก็คือเจ้าของบ้านนี่เอง..........

ท่าทีที่ขมึงตึง จึงเปลี่ยนเป็นต้อนรับมากขึ้น อาจจะเรียกได้ว่า “รอดตายเพราะรูปใบเดียว” 
ต่อมา “พ่อของเด็กหญิง” สามารถพักอยู่ในบ้านได้ แต่นั่นไม่วายเป็น “ชนวนเหตุ” ให้เกิด “เภทภัย” กับเขาในเวลาต่อมา

แม้วิกฤติสงครามจะคลายตัวลงไป แต่ความตึงเครียดในหมู่คนไทย ด้วยกันเองยังไม่ผ่านพ้น มีคำสั่งอย่างลับๆ ให้สืบหาและ “จัดการ” กับคนไทยที่เป็น “ไส้ศึก” หรือให้ความช่วยเหลือกับ “แนวที่ห้า” ของญี่ปุ่นที่แฝงกายเข้ามาตั้งรกรากอยู่ก่อน 
เมื่อถึงวันยกพลขึ้นบก บรรดาแนวที่ 5 ต่างก็แต่งกายเป็น “พลเรือนติดยศ” กันเป็นทิวแถว

ตอนนั้นพ่อของเด็กหญิงใช้เวลาหลังจากรอดชีวิตกลับมาจากเรือเมล์ล่ม เที่ยวตามหาครอบครัวที่พลัดพรากสูญหาย
โดยหารู้ไม่ว่าชื่อของตนปรากฏอยู่ในบัญชีดำว่าเป็น  “ไส้ศึก” ที่พร้อมจะถูก “จัดการ” ได้ทุกเวลา

นับว่าโชคดีที่ยังมีนายทหาร ที่เคยมักคุ้นกันช่วยออกปากรับรองกับ หลวงเสนาณรงค์ ว่า “พ่อของเด็กหญิง” มิใช่ “สาย” ของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน
และชี้แจงว่าเป็นการเข้าใจผิดกัน ด้วยเหตุที่ ตัวเขาเป็นคนไทยเชื้อสายจีน “ไหหลำ” ซึ่งมีลักษณะรูปร่างผิวพรรณต่างจากชาวจีนแต้จิ๋ว หรือชาวจีนฮกเกี้ยน เพราะชาวจีนไหหลำจะมีคิวหนา ผิวคล้ำ ผมยักเล็กน้อย ซึ่งหากมองเผินๆ โดยไม่ฟังสำเนียงการพูด ก็อาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นชาวญี่ปุ่น ที่มีรูปร่างลักษณะ หน้าตา คล้ายคลึงกัน

ประกอบด้วยพ่อของเด็กน้อยมีความสนิทสนม เคยไปไหนมาไหนกับ “แนวที่ห้า” คนหนึ่งของญี่ปุ่นบ่อยๆ อยู่ก่อนหน้านี้  ซึ่งหากมองรูปร่างผิวเผิน ไม่ฟังน้ำเสียงการพูด คนทั่วไป โดยเฉพาะทหารที่พยายามหา “แพะ” มาลงโทษ ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจผิด คิดว่าพ่อของเธอ เป็นคนญี่ปุ่น
    
“พ่อของเด็กหญิง” จึงรอดพ้นจากการตกเป็นผู้ต้องสงสัยของคนไทยด้วยกันไปได้อย่างหวุดหวิด

อีกร่วม 4 เดือนกว่า “ครอบครัว” ที่พลัดพรากกันไปจึงกลับมาพบกันอีก “พ่อของเด็กหญิง” ตามหาจนพบแม่ของเธอที่ย้ายออกมาจากบ้านที่ตนเป็นเจ้าของ ออกมาอยู่กับชาวบ้านต่างตำบล ต่างอำเภอ โดยที่ พ่อกับแม่ของเธอ คลาดกันนิดเดียวที่จะเจอหน้ากัน เพราะในวันรุ่งขึ้นของวันที่ 9 ธันวาคม 2484 แม่ของเธอ และชาวบ้านที่เหลือ ที่รอดชีวิต ได้พากันย้ายออกจาก บ้านท่าแพ ตอนเช้าตรู่ ทั้งๆ ที่พิษไข้ยังไม่ซา แต่ก็ไม่วายที่จะมีคนหารถยนต์แล้วพากันย้านออกไป แบบแทบยกหมู่บ้านท่าแพ 

แต่พ่อของเด็กน้อยที่รอดชีวิตจากเรือล่ม เดินโซซัดโซเซ ผ่านซากปรักหักพังจากการสู้รบมาบ้านอย่างงุนงง เมื่อกลับมาถึงบ้านของตนในตอนเย็นก็ไม่มีใครเหลืออยู่นอกจาก ทหารญี่ปุ่นหน่วยเสนารักษ์ และทหารญี่ปุ่นที่นอนบาดเจ็บ เลือดนองพื้นบ้าน 

4 เดือนกว่าๆ ที่พ่อของเด็กน้อยพยายาม ถามหา จนเจอภรรยาผู้โชคดีรอดตาย แต่โชคร้ายที่ต้องพลัดบ้าน ให้กลับมาอยู่ที่บ้าน ซึ่งตอนนั้นทหารญี่ปุ่นได้ถอนกำลังกลับไปอยู่กันบนเรือรบที่ทอดตัวอยู่นอกอ่าวแล้ว

ไม่นานเมื่อสถานการณ์คลี่คลายตัวลงไป  ผู้คนที่อพยพขึ้นไปบนภูเขา ต่างบ้าน ต่างถิ่น ต่างก็ทยอยกลับลงมาสู่บ้านเดิมของตนที่เคยทิ้งไว้เพื่อหนีภัยเป็นแรมเดือน เด็กหญิงจึงได้เดินทางกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง

พลันที่พบเห็นแม่ของเธอทั้งคู่ก็ต่างร้องไห้วิ่งโผมาตั้งแต่ไกลเข้ากอดกัน

แม้ไม่อาจพูดได้ว่าที่เมืองท่าเล็กๆ อย่าง “ท่าแพ” จะไม่มีความบัดซบแห่งสงครามเกิดขึ้นที่นั่น 

แต่ “ท่าแพ” หรือที่ใดๆ ทางตอนใต้ของสยามประเทศ จะว่าไปก็นับว่ายังโชคดีว่า “นานกิง” หรือหัวเมืองอื่น ๆ ที่ถูกทัพญี่ปุ่นตราประทับ ว่าเป็นศัตรู และถูกทหารญี่ปุ่นปล้น ฆ่า ข่มขืน ย่ำยี ผู้คนมากมายราวกับว่ามิใช่มนุษย์ด้วยกัน

ระหว่างนั้นมีข่าวหนาหูให้ได้ยินว่า “ผู้หญิง” อย่าเดินไปไหนมาไหนคนเดียว ค่ำๆ มืดๆ ก็ให้อยู่แต่ในบ้าน เพราะอาจจะถูกทหารญี่ปุ่นฉุดคร่าไปข่มขืน 

ด้วยความกลัวที่เกิดขึ้นประกอบกับความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่มีอยู่เดิม 

ชาวบ้านอย่างพ่อของ “เด็กหญิง” ตัดสินใจอีกครั้งที่จะพาครอบครัว ญาติมิตรอพยพโยกย้ายกันไปอยู่ ณ  ที่ที่ไกลจากจุดยุทธศาสตร์ทางทหารอย่างบ้านท่าแพ ซึ่งบ้านท่าแพ บ้านที่เธออยู่นั้นใกล้กับค่ายทหารที่ถูกทหารญี่ปุ่นใช้เป็นฐานทัพเพียงแค่ เดินไม่ทันเหงื่อแตก ก็ถึงค่ายทหารแล้ว

เภทภัยแห่งสงครามไม่ว่าจะหนักหรือเบา มันก็ไม่เคยทำให้ผู้ใดเป็นสุข

ที่ “ท่าแพ” ในตอนนั้น 4 ปีกว่าๆ ที่ผู้คนต้องอยู่ในสภาพข้าวยากหมากแพง ไม่นับว่าต้องหวาดกลัวเสียงหวอ เตือนภัย และเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ในระหว่างที่ทางการยังคงประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน”  และปลุกระดมให้ผู้คนรักชาติ และร่วมมือกับญี่ปุ่น เพื่อก้าวเข้าสู่วงศ์ไพบูลย์ใหม่ ตะวันออก เพื่อตะวันออก อยู่ทุกวี่ ทุกวัน 

สำหรับเด็กหญิงที่นั่นมีลำธารใสไหลผ่านให้เธอลงไปเล่นสนุก ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็ได้อาศัยหนีตาย จนอีกร่วมหลายเดือนที่ภาวะแห่งความฉุกเฉินเริ่มทุเลาเบาบางลง

ฉากสงครามได้ย้ายไปยังที่อื่นๆ บรรดาผู้คนจึงกล้าออกมาจากที่ซ่อนที่หลบภัย

 

อ่านบทความต่อเนื่องได้ที่ที่ลิงก์
http://www.tnews.co.th/contents/399277
http://www.tnews.co.th/contents/401778
http://www.tnews.co.th/contents/421106
http://www.tnews.co.th/contents/422655