ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

เปิดสาส์นลับ!!! เบื้องหลังเหตุเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุที่ "รัชกาลที่ ๗" ทรงรู้สึกว่า “คณะราษฎรเอาพระองค์ใส่ลงในที่ที่เลวทราม” !!

 

...วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๗.๑๕ น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลพลพยุหเสนา กับหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม มาเฝ้าที่วังสุโขทัย 

เรื่อง “เตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญ”

             ...มีพระราชดำรัสว่าอยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ตั้งแต่ได้รับราชสมบัติทรงนึกว่าถูกเลือกทำไม บางทีเทวดาต้องการให้พระองค์ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง... ทรงเห็นว่าควร จะต้องให้ Constitution (พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน) มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ แล้ว และเมื่อทรงรับราชสมบัติก็มั่นพระราชหฤทัยว่าเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ ครั้นเมื่อพระกัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์ ปรึกษาด้านการต่างประเทศ) เข้ามา ได้ทรงปรึกษาร่างโครงขึ้น (Outline of Preliminary Draft) ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรี ในส่วนพระราชดำริในขั้นต้น อยากจะทำเป็น ๒ ทางทั้งล่างทั้งบน ข้างล่างให้มีเทศบาลเพื่อสนองราษฎรให้รู้จักเลือกผู้แทน จึงโปรดให้กรมร่างกฎหมายขึ้น ดังที่หลวงประดิษฐ์ฯ ทราบอยู่แล้ว แต่ก็ช้าไป ในส่วนข้างบนได้ทรงตั้งกรรมการองคมนตรีขึ้นเพื่อฝึกสอนข้าราชการ เพราะเห็นพูดจาไม่ค่อยเป็น จึงตั้งที่ประชุมขึ้นหวังให้มีที่คิดอ่านและพูดจา

             ครั้นเสด็จไป อเมริกาก็ได้ให้ Interview (สัมภาษณ์) ว่าจะได้ให้ Constitution เมื่อเสด็จกลับมายิ่งรู้สึกแน่ว่าจะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้ จึงได้ให้ปรึกษา นายสตีเวนส์ (เรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ) กลับว่ายังไม่ถึงเวลา ฝ่ายพระยาศรีวิสารวาจาที่โปรดให้ปรึกษาด้วยผู้หนึ่งก็ Influence (โน้มน้าว) ไปด้วยกับนายสตีเวนส์ เมื่อพระยาศรีวิสารวาจาและนายสตีเวนส์ขัดข้องเสียดังนี้ก็เลยเหลวอีก

 

เปิดสาส์นลับ!!! เบื้องหลังเหตุเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุที่ "รัชกาลที่ ๗" ทรงรู้สึกว่า “คณะราษฎรเอาพระองค์ใส่ลงในที่ที่เลวทราม” !!

 

             ต่อมาได้เตรียมว่าจะไม่ประกาศก่อนงานสมโภชพระนคร ๑๕๐ ปีแล้ว เพราะจะเป็นที่ขลาด รอว่าพองานแล้วจะประกาศ ได้เสนอในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เนื่องจากนายสตีเวนส์ไม่เห็นด้วย ที่ประชุมก็ขัดข้องว่าเป็นเวลาโภคกิจตกต่ำ ถึงกระนั้นก่อนเสด็จไปหัวหินก็ได้ทรงพระราชดำริที่จะให้มี Prime Minister (อัครมหาเสนาบดี) ให้มีสภา Interpellate (กระทู้ถาม) เสนาบดีได้ ให้ถวายฎีกาขอเปลี่ยนเสนาบดีได้ และให้มีผู้แทนจากหัวเมือง แต่ว่าแต่ละอย่าง ๆ จะเป็นได้ก็ลำบากเหลือเกิน หวังว่าจะเห็นด้วยว่าพระองค์ยากที่จะขัดผู้ใหญ่ที่ทำการมานานตั้ง ๒๐ ปีก่อนพระองค์

             แปลนที่ ๒ คิดจะให้เสนาบดีมุรธาธร Preside เป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดี พระองค์จะไม่ประทับในที่ประชุม และขยายจำนวนกรรมการขององคมนตรี ทำหน้าที่อย่างรัฐสภา ได้ทรงเตรียมไว้ ๒ แปลนใหญ่นี้ เอาติดพระองค์ไปหัวหินด้วย เพื่อจะทำ Memo บันทึกเสนอเสนาบดีสภา ครั้นได้ข่าวเรื่องนี้ (เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิ.ย. ๒๔๗๕) ก็ปรากฏช้าไปอีก ที่คณะราษฎรทำไปไม่ทรงโกรธกริ้วและเห็นใจ เพราะไม่รู้เรื่องกัน พอทรงทราบเรื่องก็คาดแล้วว่าคงจะเป็นเรื่องการปกครอง 


เรื่อง “คำประกาศของคณะราษฎร”

               “...ในวันนั้น ได้ทรงฟังประกาศของคณะราษฎรทางวิทยุ ทรงรู้สึกเสียใจและเจ็บใจมาก ได้กล่าวหาร้ายกาจมากมายอันไม่ใช่ความจริงเลย ในประกาศของคณะราษฎรที่กล่าวหาว่าพระองค์ตั้งแต่งคนสอพลอนั้นไม่จริง ได้ทรงปลดคนที่โกงออกก็มาก แต่ลำพังพระองค์ๆ เดียวจะเที่ยวจับคนโกงให้หมดเมืองอย่างไรได้ แม้คณะนี้ก็คอยดูไป คงจะได้พบคนโกงเหมือนกัน ทรงเชื่อว่าพระราชวงศ์ทุกพระองค์ได้ตั้งพระทัยช่วยราชการโดยจริง ที่ว่าเอาราษฎรเป็นทาษหรือว่าหลอกลวงก็ไม่จริง และเป็นการเสียหายอย่างยิ่ง แต่อาจจะเป็นได้ว่าได้ปฏิบัติการช้าไป ที่ว่าราษฎรช่วยกันกู้ประเทศนั้นก็เป็นความจริง แต่พระราชวงศ์จักรีเป็นผู้นำ และผู้นำนั้นสำคัญ เสียใจที่ได้ทิ้งเสียไม่กล่าวถึงพระคุณควบไปด้วย เป็นการเท่ากับด่าถึงบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นเสียใจมาก

  เปิดสาส์นลับ!!! เบื้องหลังเหตุเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุที่ "รัชกาลที่ ๗" ทรงรู้สึกว่า “คณะราษฎรเอาพระองค์ใส่ลงในที่ที่เลวทราม” !!

 

            เมื่อได้เห็นประกาศ ไม่อยากจะรับเป็นกษัตริย์ แต่โดยความรู้สึกดั่งกล่าวมาข้างต้นว่าเทวดาสั่งเพื่อจะให้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยราบคาบ จึ่งจะทรงอยู่ไปจนรัฐบาลใหม่เป็นปึกแผ่น เมื่อถึงเวลานั้นแล้วจะทรงลาออกจากกษัตริย์ เมื่อเขียนประกาศทำไมไม่นึก เมื่อจะอาศัยกันทำไมไม่พูดให้ดีกว่านั้น และเมื่อพูดดังนั้นแล้ว ทำไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic เสียทีเดียว...

การเขียนประกาศกับการที่ทำของคณะราษฎรเปรียบเหมือนเอาผ้ามาจะทำธง แล้วเอามาเหยียบย่ำเสียให้เปรอะเปื้อน แล้วเอามาชักขึ้นเป็นธง จะเป็นเกียรติยศงดงามแก่ชาติหรือ จึ่งทรงรู้สึกว่าจะรับเป็นกษัตริย์ต่อไปไม่ควร อีกประการ ๑ ประกาศนี้คงตกอยู่ในมือราษฎรเป็นอันมาก ทำให้ขาดเสียความนิยม เมื่อไม่นับถือกันแล้วจะให้เป็นกษัตริย์ทำไม เท่ากับจับลิงที่ดุมาใส่กรงไว้ จึ่งมีประราชประสงค์จะออกเสีย เพราะรู้สึกว่าเสีย Credit ทุกชั้น ทำให้คนเกลียดหมด แต่จะทรงยอมอยู่ต่อไปจนเหตุการณ์สงบ...”

และมีอีกความตอนหนึ่งว่า

“...มีพระราชดำรัสว่า กระดาษที่ประกาศออกไปเกลื่อนเมือง ล้วนเป็นคำเสียหายจะปรากฏในพงศาวดาร เมื่อมีดังนี้แล้วถึงจะแก้ไขใหม่ก็ลำบาก เมื่อสิ้นธุระแล้ว ขอให้ปล่อยพระองค์ออกจากกษัตริย์ดีกว่า เพราะทรงรู้สึกว่า คณะราษฎรเอาพระองค์ใส่ลงในที่ๆ เลวทราม หรือมิฉะนั้น พระองค์ก็ตาขาวเต็มที ซึ่งที่จริงมีถึง 3 ทาง ทั้งสู้ ทั้งหนี คนไม่รู้หาว่าขี้ขลาด…”

เรื่อง “ริบทรัพย์” และ “ถอดเจ้า”

“...มีความอีกข้อ ๑ ได้ทรงทราบข่าวเรื่องจะยึดเงิน ไม่ทราบว่าจะทำจริงหรือไม่เพียงไร ถ้าจะริบ ทรงขอลาออกเสียก่อน เพราะจะยอมเป็นหัวหน้าบอลเชวิคร่วมมือริบทรัพย์ญาติด้วยไม่ได้ เป็นยอมตาย ที่คณะราษฎรจะคิดหาเงินจากคนมั่งมีด้วย Taxation นั้น ทรงยอมได้ แต่ในประกาศของคณะราษฎรที่พูดออกไปนั้นทำให้ต่างประเทศมีความสงสัย ทรงขอบอกว่าเมืองไทยจะทำอย่างเมืองจีนไม่ได้ และจะเปรียบกับอาฟกานิสตานก็ไม่ได้ เพราะภูมิประเทศผิดกัน เมืองไทยประเทศใกล้เคียงเอาเรือรบมาเมื่อไรก็ได้ จึงขอทรงทราบว่า คณะราษฎรได้คิดอย่างนั้นจริงหรือ

พระยาปกรณ์ฯ กราบบังคมทูลว่า คณะราษฎรมิได้คิดอย่างนั้นเลย คิดจะหาเงินโดยทางภาษี กับทาง Internal Loan เท่านั้น มีพระราชดำรัสว่า เมื่อได้รับคำยืนยันว่าไม่ริบทรัพย์ จะจัดทางภาษีและทางกู้เงินในประเทศจะทรงช่วยได้ พระคลังข้างที่มีอยู่ ๖ ล้านจะยอมให้

“...อีกอย่าง ๑ ขอบอกว่าที่มีเสียงต่างๆ ว่าจะให้ถอดเจ้านั้น ทำไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อคณะราษฎรจะทำก็ขอให้พระองค์ออกจากกษัตริย์เสียก่อน ทรงเห็นว่าจะทำอย่างนี้ได้คือในฝรั่งอย่าให้เรียกหม่อมเจ้าว่า His Highness ให้เรียกแต่ว่าหม่อมเจ้าเฉยๆ และที่จะให้เจ้ามีน้อยก็ทรงเห็นด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีมากนัก แต่จะถอดถอนไม่ได้ ต้องปล่อยให้ตายไปเอง แล้วตีวงจำกัดเสียสำหรับภายหน้า



พระยามโนปกรณ์ฯ กราบบังคมทูลว่า เรื่องถอดเจ้ายังไม่ได้คิด
.
มีพระราชดำรัสว่า ใน 2 อย่าง เป็นไม่ยอมทำคือ ‘ริบทรัพย์’ กับ ‘ถอดเจ้า’พระองค์ได้มีพระราชประสงค์อยู่ในการที่จะช่วยราษฎรทุกคนได้ถือที่ดินและมีที่นาเป็นของตนเอง…”
.
เรื่อง “สืบสันตติวงศ์”

“...อีกอย่างหนึ่ง อยากจะแนะนำเรื่องสืบสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า และพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงพระราชดำริ ที่จะออกจากราชสมบัติ เมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติ คงทนงานไปได้ไม่นาน เมื่อการณ์ปกติแล้ว จึงอยากจะลาออกเสีย ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ ก็ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่จะสืบสัตติวงศ์ต่อไป ควรจะเป็นพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลานครินทร์ ฯลฯ...”
 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ความบางส่วนจากบันทึกลับที่จดโดยเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) อดีตเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เรื่องเล่าของรอยใบลาน

ติดตามเรื่องราวประวัติศาสตร์ และบทความดีๆ ได้ที่เพจ : เรื่องเล่าของรอยใบลาน / โบราณนานมา /ตำนานประวัติศาสตร์สยาม