ย้อนรอยมหาสงครามเอชียบูรพา เสี้ยวประวัติศาสตร์สงครามโลก “ท่าแพ” รอยทราย มิอาจกลบอดีต ๔

ย้อนรอยมหาสงครามเอชียบูรพา เสี้ยวประวัติศาสตร์สงครามโลก “ท่าแพ” รอยทราย มิอาจกลบอดีต ๔

๔. ชะตากรรมหลังสงคราม

    แม้ว่าสงครามไปย้ายฉากไปจาก “ท่าแพ” นานแล้ว แต่ชีวิตระหว่างสงคราม ก็ใช่ว่าจะกลับคืนเป็นปกติ  ยามค่ำคืนผู้คนยังต้องเงี่ยหูฟังเสียงหวอ ส่งสัญญาณเตือนให้ดับไฟ ให้รอดพ้นจากการตกเป็นเป้าหมาย ของเครื่องบินทิ้งระเบิด ความหวาดหวั่น ไม่แน่ใจในชะตากรรมเบื้องหน้ายังไม่หมดสิ้นไปจากใจ

    แต่แล้ววันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง
    4 ปีผ่าน... ญี่ปุ่นยอมรับความพ่ายแพ้สงคราม เตรียมจะถอนทัพกลับประเทศ

    ผู้คนเริ่มอพยพกลับคืนมายังถิ่นฐานบ้านเดิม ตอนนั้นเด็กหญิงมีน้องตัวเล็ก อายุได้ไม่กี่เดือนมาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว ถึงแม้จะตกระกำลำบากอย่างไร ประเทศไทยเมื่อ 70 ปีก่อนยังอุดมสมบูรณ์มากๆ เพียงแต่ทรัพยากรบางส่วนถูกซื้อเหมาจากญี่ปุ่นไปอย่างสิทธิ์ขาด เรื่องปากท้องจึงไม่ค่อยมีปัญหา จะยกเว้นก็แต่เพียง ยารักษาโรค ปัญหาทหารญี่ปุ่นรังแกชาวบ้าน มีน้อยมาก หากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
    จนผู้หญิงชาวบ้านร้านถิ่น ในนครศรีธรรมราช เมื่อ 70 ปีก่อน ถึงกับแต่งงานกับทหารญี่ปุ่น เพราะนั่นเท่ากับการอยู่สุขสบายกว่าเดิม และช่วยญาติมิตรไปโดยทางอ้อม เพราะเป็นการนำ ควิกนิน ออกมาจำหน่ายจ่ายแจกสู่คนไทยได้ เพราะ ทหารญี่ปุ่นเท่านั้น ที่มี ควิกนิน มากกว่าใครในช่วงสงคราม ที่ราคาแพง และมีค่ายิ่งกว่าทองคำในสมัยนั้น และหายากมากๆ ถึงแม้มีเงินก็ไม่อาจจะซื้อหาได้
    หลังสงครามสภาพชีวิตปกติค่อยๆ หวนคืน ผู้คนเริ่มกลับมาทำการค้าขายดังเดิม ผัก ปลา อาหารที่อุดมสมบูรณ์ในนครศรีธรรมราช ถูกนำมาขายให้ทหารญี่ปุ่น และแลกเปลี่ยนกันระหว่างคนไทยกันเอง วันหนึ่งซึ่งเป็นวันที่แม่ของเด็กหญิงอุ้มน้องออกมาขายของที่ตลาด โดยเธอเป็นผู้ช่วยตัวน้อยที่คอยแบก คอยอุ้มน้องไว้ ไม่ให้ไปซนกวนการค้าขายของคุณแม่ และพาเดินเล่นไปมา รอบๆ ตลาดชั่วคราว 

จู่ ๆ ก็มีนายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เข้ามาหาซื้อเสบียงในตลาดเข้ามา แย่งตัวน้องของเธอไปอุ้ม ทุกคนที่เห็นต่างตกใจ “เด็กหญิง” รีบวิ่งไปตามแม่มาให้ช่วย 
เมื่อเธอ และ แม่ พอถึงก็กลับพบว่านายทหารญี่ปุ่นคนนั้นจ้องมอง และกอดลูกสาววัยทารก ด้วยสายตา และท่าทีที่รัก และเอ็นดูราวกับ เป็นลูกของตนเอง
    แม้จะสื่อความกันไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่ทั้งสองฝ่ายก็พอเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น ทหารญี่ปุ่นชี้ไปที่เด็กทารกแล้วชี้ไปยังทิศตะวันออก อันเป็นประเทศของตน ก่อนที่จะชี้กลับมายังตัวเขาเอง และยกมือเสมอสายรัดดาบซามูไรกึ่งกลางขา เหมือนต้องการสื่อความว่าเขาเองก็มีลูกสาวอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันอยู่ที่บ้าน และสงครามทำให้เขาต้องจากลูกสาวมาแดนไกล ป่านฉะนี้ คงโตเท่านี้แล้วล่ะ
    
เมื่อไร้สิ้นความขัดแย้ง ยามได้มาพบเจอเด็กทารกตัวน้อยๆ  นั่นทำให้ความคิดถึงลูกสาวของตนที่มีอยู่นั้นมันล้นปรี่ ถึงกับต้องขอตัวเด็กน้อยมาอุ้มเป็นการทดแทน
    แม้จะตกอยู่ในฐานะผู้รุกราน และสร้างความสูญเสียให้กับแผ่นดินอื่น แต่ผู้รุกรานเช่นเขาก็ต้องประสบชะตากรรมแห่งความพลัดพรากที่ตนเองลิขิตเองไม่ได้เช่นกัน ซึ่งไม่ได้ต่างอันใดกับผู้ที่ถูกชะตากรรมที่เขาไม่ได้ลิขิตเอง มาบังคับให้รุกรานผู้อื่น

    “ลูกรัก...อีกไม่นานเราก็จะได้กลับไปพบหน้ากันแล้ว” ถึงแม้จะพูดเป็นภาษาญี่ปุ่น ที่เธอไม่รู้ความหมายแต่ในใจของ เด็กน้อยคิดว่าคงไม่ต่างอะไรกับคำคำนี้เป็นแน่ๆ ในใจเขาคงครุ่นคิดโหยหาคิดถึงลูกอย่างแสดงออกมาได้ชัด

    เมื่อทหารญี่ปุ่นหลับไปหมดชุมชนเล็ก ๆ อย่างท่าแพก็กลับสู่วิถีเดิม
    “เด็กหญิง” เติบโตขึ้นที่นั่น...หลายสิบปีผ่านไป เธอกลายเป็น “คุณแม่”...
อีก 65 ปีผ่านมา เธอกลายเป็น “ คุณย่า” 

ไม่น่าเชื่อว่าชีวิตในช่วงสงครามของเด็กหญิงวัย 5 ขวบจะตราติดอยู่ในความทรงจำของเธอมาอีกแสนนาน เธอยังคงย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ลูกหลานได้ฟังราวกับว่ามันเพิ่งเกิดขึ้น เมื่อไม่นานนัก อย่างไม่รู้เบื่อ
    
แต่ช่วงระหว่างนั้น เธอพบว่า “ท่าแพ” เปลี่ยนไปมาก

    “เดี๋ยวนี้ ท่าแพไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อนแล้วเรือเข้ามาเทียบท่าน้อยลง เพราะธุรกิจนากุ้งเป็นที่นิยมกันมากกว่าธุรกิจทำเรือ เรือที่มีอยู่ก็มักจะขึ้นเทียบที่ท่าข้างนอกแล้วให้พวกรับซื้อกุ้งปลาเป็นธุระหารถเข้าไปรับเอง เรือที่ต้องมาขึ้นน้ำแข็ง ถ้าหากไม่มากนักก็จะหารถมาซื้อไปจากที่นี่ แล้วบรรทุกไปลงเรือที่ท่าด้านนอกแทน เรือจึงบางตาลงไปมาก” 
ผู้สูงวัยที่ผมเรียกว่า  “แม่” พูดถึง “ท่าแพในปัจจุบัน” ให้ฟัง เวลาเปลี่ยนไป ชะตากรรมของ บุคคล เหตุการณ์ สถานที่ ย่อมเปลี่ยนไป

    ในความเงียบเหงา บริเวณท่าน้ำของ “ท่าแพ” ที่ว่ากันว่าเคยมี “อดีตทหารญี่ปุ่น” ผู้ชราภาพ ตามกาลเวลา ที่ปฎิภาคผกผันเหมือนเด็กหญิงตัวน้อย ได้เติบโตขึ้น เป็นคุณแม่ของผม และเป็นคุณย่าของหลานสาวตัวน้อยของเธอ” ได้เดินทางมาที่ “ท่าแพ”
ชายชราที่ครั้งนึง เคยมีชะตากรรมรวมหมู่ ณ ที่นี้ มาเพียงเพื่อคารวะต่อดวงวิญญาณของผู้ที่ได้ล้มตายไป  แต่ปัจจุบันสมัยของ “ท่าแพ” คงมิได้ร่วมรับรู้อะไรด้วยเว้นจะเห็นเป็นเพียง “คนต่างชาติแก่ๆ” ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวก็เป็นได้

    ผู้เฒ่าที่เคยจดจำเรื่องราว “ประวัติศาสตร์” ของที่นี่นับวันก็เริ่มน้อยลง
    อีกไม่นานคนรุ่นปัจจุบันก็คงไม่รู้ หรือสนใจว่าในอดีตอะไรเกิดขึ้นบ้าง.....ที่นี่ ….. ที่ “ท่าแพ” …….

    ทางหลวง 4 เลนที่ตัดใหม่ยิ่งทำให้ “ท่าแพ” เปลี่ยนไปจาก “ท่าเทียบเรือ” ที่เคยคึกคัดครึกครื้นเหลือสภาพเป็นเพียง “ทางผ่าน” ที่เปลี่ยวเหงาริมถนน ที่มุ่งเข้าไปสู่ “ ความเจริญกึ่งสำเร็จรูป” ในตัวเมืองที่ถอดแบบกันมาจากศูนย์กลางมาจากมหานครของประเทศ
    อีกไม่นาน “คลื่นแห่งปัจจุบัน” “คลื่นแห่งความทันสมัย” ถาโถมม้วนตัวซัดเข้ากลบ “รอยทราย” แห่งอดีตของ “ท่าแพ” ไปเสียสิ้น 
ดังเช่น รสชาติดั่งเดิมของชีวิตใจกลางชุมชนชนบท ริมทางหลวงแห่งหนึ่งที่ฟุ้งตลบอบอวลขึ้นมาเพียงครั้งคราว ในยามที่ผู้เฒ่า ที่คอยเฝ้าพร่ำย้ำเตือน ถึงความหลัง “อันเป็นชะตากรรม และประวัติศาสตร์แห่งตัวเธอ” “ชะตากรรม และประวัติศาสตร์แห่งชุมชน”  “ชะตากรรม และประวัติศาสตร์แห่งเสี้ยวนึงของประเทศ” ให้ฟุ้งกระจายเป็นบางช่วง บางตอน 
แต่ในที่สุดก็ต้องจางหายไปกับรอยทรายที่โถมตัวมาพร้อมคลื่นแห่งยุคสมัยที่พัดผ่านไปสักวัน
    
“ท่าแพ” ก็คงไม่อาจจะต้านทาน “รอยทราย” เช่นนี้ได้เช่นกัน เพียงแต่จะต้านทานมันได้นานเท่าไหน
    คำตอบสำหรับผม ก็คง เท่ากับชีวิตที่เหลือของ “เด็กหญิง” ที่ผมเรียกว่า “แม่” ในวัย 75 ปี 

ชีวิตที่เหลือที่คอยประคับประคอง ความทรงจำของชุมชนท่าแพ  อันขาดวิ่นของชุมชนแห่งนี้ ไม่ให้สลายไปกับคลื่นแห่งยุคสมัยเร็วเกินไปก่อนกลายเวลาอันควร
……………………………………………………………………………………………………………………..

แด่...”นายหยาว แซ่เบ้า ผู้ที่ผมเรียกว่า อากง”
แด่...”นางเหี้ยง แซ่เบ้า ผู้ที่ผมเรียกว่า ยาย”
แด่...”ทุกชีวิตที่มีชะตากรรม และประวัติศาสตร์รวมหมู่กับ “เด็กหญิงตัวน้อย” ที่ผมเรียกว่า คุณแม่”

 

อ่านบทความต่อเนื่องได้ที่ที่ลิงก์
http://www.tnews.co.th/contents/399277
http://www.tnews.co.th/contents/401778
http://www.tnews.co.th/contents/421106
http://www.tnews.co.th/contents/422655