หลวงปู่มั่นสอนพลิกชีวิต ด้วยอานิสงส์บุญ  ... ทำบุญอย่าให้มากพิธีรีตรอง ทำตามนี้เจริญแน่นอน วันพระกินอะไร แบบไหน ยิ่งได้บุญ?!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

หลวงปู่มั่นสอนพลิกชีวิต ด้วยอานิสงส์บุญ  ... ทำบุญอย่าให้มากพิธีรีตรอง ทำตามนี้เจริญแน่นอน วันพระกินอะไร แบบไหน ยิ่งได้บุญ?!

การสั่งสอนญาติโยมชาวบ้านหนองผือของท่านพระอาจารย์มั่นในสมัยนั้น ส่วนมากท่านจะเน้นให้ญาติโยมสมาทานศีลห้าเป็นหลัก ส่วนศีลแปดหรือศีลอุโบสถท่านไม่ค่อยจะเน้นหนักเท่าไหร่ท่านกล่าวว่า ศีลห้าเหมาะสมที่สุดสำหรับฆราวาสญาติโยมผู้ครองเรือน ถ้างดเว้นตลอดไปไม่ได้ ก็ขอให้งดเว้นให้ได้ในวันพระวันศีล สำหรับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้น ท่านบอกว่า สัตว์ที่มีบุญคุณนั้นห้ามเด็ดขาดนอกนั้นท่านกล่าวว่าเป็นธรรมดาของฆราวาสผู้ครองเรือน แต่ถ้าวันพระวันศีลแล้วท่านให้งดเว้นสัตว์ทุกชนิด ท่านกล่าวว่า จะงดเว้นไม่ได้ดอกหรือ เพียงวันสองวันเท่านั้น การกินในวันรักษาศีลจะกินอะไรก็คงได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์ที่ฆ่าเอง แค่นี้ทำไม่ได้หรือ ไม่ตายดอก...
การถวายทานในงานบุญต่างๆ ท่านก็ไม่นิยมให้กล่าวคำถวายเช่นกัน ท่านอธิบายว่า บุญนั้นผู้ถวายได้แล้ว สำเร็จแล้วตั้งแต่ตั้งใจหรือเจตนาในครั้งแรก ตลอดจนนำมาถวายสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรอีกเพียงแต่ตั้งเจตนาดีเป็นกุศล หวังผลคือความสุข การพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เท่านี้ก็พอแล้ว นั่นมันเป็นพิธีการหรือกฎเกณฑ์อย่างหนึ่งของเขา ไม่ต้องเอาอะไรทุกชั้นทุกตอนดอก

ครั้งนั้นมีศรัทธาญาติโยมจากสกลนคร เขาเป็นคนเชื้อสายจีน มีชื่อว่า เจ๊กไฮ แซ่อะไรนั้นเขาไม่ได้บอกไว้ เขามีความเลื่อมใสศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมาก ขอเป็นเจ้าภาพทอดกฐินในปีนั้น เมื่อถึงวันเวลากำหนดกรานกฐินแล้ว จึงได้ตระเตรียมเดินทางมาพักนอนค้างคืนที่บ้านหนองผือหนึ่งคืน โดยพักนอนที่บ้านของทายกวัดคนหนึ่ง เพื่อจะได้จัดเตรียมอาหารคาวหวานสำหรับไปจังหันตอนเช้าด้วย พอเช้าขึ้น พวกเขาจึงพากันนำเครื่องกฐินพร้อมกับเครื่องไทยทานอาหารต่าง ๆ เหล่านั้นไปที่วัด เมื่อถึงวัด ล้างเท้าที่หัวบันไดแล้วพากันขึ้นบนศาลา วางเครื่องของ คุกเข่ากราบพระประธาน แล้วจึงรวบรวมสิ่งของ เครื่องผ้ากฐิน พร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่าง ๆ วางไว้ที่หน้าพระประธานในศาลา
ส่วนเจ๊กไฮผู้เป็นหัวหน้านำผ้ากฐินมานั้น เมื่อจัดวางผ้ากฐินพร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว นั่งสักครู่เห็นว่ายังไม่มีอะไร จึงพากันกราบพระประธาน (เจ๊กไฮก็กราบเหมือนกัน ท่าทางเหมือนคนจีนทั่วไปเขากราบนั่นแหละ) แล้วเขาก็ลงจากศาลาไปเดินเลาะเลียบชมวัดวาอารามเฉยอย่างสบายอารมณ์ จนกระทั่งพระเณรกลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นบนศาลาเตรียมจัดแจกอาหารลงบาตรจนเสร็จสรรพเรียบร้อยทุกองค์ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้เรียกเจ๊กไฮมาเพื่อจะได้อนุโมทนารับพรต่อไป แต่เจ๊กไฮก็ไม่ได้มารับพรด้วย มีคนถามเขาว่า

ทำไมไม่รับพรด้วย
เขาบอกว่า อั๊วได้บุญแล้ว ไม่ต้องรับพรก็ได้ การกล่าวคำถวายก็ไม่ต้องว่า เพราะอั๊วได้บุญตั้งแต่อั๊วตั้งใจจะทำบุญทีแรกแล้ว ฉะนั้น อั๊วจึงไม่ต้องรับพรและกล่าวคำถวายใด ๆ เลย

ภายหลังฉันจังหันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นได้พลิกวิธีคำว่าผ้ากฐินมาเป็นผ้าบังสุกุลแทน ท่านจึงพิจารณากองผ้ากฐินเป็นผ้าบังสุกุล เสร็จแล้วท่านได้เทศน์ฉลองยกย่องผ้าบังสุกุลของเจ๊กไฮเป็นการใหญ่เลย
ท่านกล่าวถึง ผ้ากฐินนั้นได้รับอานิสงส์น้อยเพียงแค่ ๔ เดือนเท่านั้น ไม่เหมือนกับผ้าบังสุกุล ซึ่งได้อานิสงส์ตลอดไป คือผู้ใช้สามารถใช้ได้ตลอดไม่มีกำหนดเขต ใช้จนขาดหรือใช้ไม่ได้จึงจะทำอย่างอื่นต่อไป และสุดท้ายท่านกล่าวอีกว่า
ใครทำบุญก็ไม่เหมือนเจ๊กไฮทำบุญ เจ๊กไฮทำบุญได้บุญมากที่สุด พรเขาก็ไม่ต้องรับ คำถวายก็ไม่ต้องว่า เขาได้บุญตั้งแต่เขาออกจากบ้านมา บุญเขาเต็มอยู่แล้ว ไม่ได้ตกหล่นสูญหายไปไหน บุญเป็นนามธรรมอยู่ที่ใจ อย่างนี้จึงเรียกว่า ทำบุญได้บุญแท้..
ทุกคนที่ไปงานทอดกฐินในครั้งนี้ต่างก็มีความปลาบปลื้มปีติในธรรมะที่ท่านกล่าวออกมา ซึ่งล้วนแต่มีเหตุผลที่แปลกใหม่ ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังมาจากที่อื่นเลย โดยเฉพาะเจ๊กไฮผู้เป็นเจ้าภาพยิ่งมีความปลื้มปีติใจมากกว่าเพื่อน เพราะสิ่งที่เขาได้ทำไปแล้วนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง เป็นที่พออกพอใจของครูบาอาจารย์ที่เขาเคารพเลื่อมใส จึงเป็นที่ตรึงตาตรึงใจของเขาไปจนตลอดสิ้นชีวิต และได้เป็นเรื่องเล่าขานกันมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ปกิณกธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร โดย พระคูรสุทธิธรรมาภรณ์ (พระอาจารย์พยุง ชวนปญฺโญ)
เจ้าอาวาสวัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
 

 

ที่มา FB : เพจวัดป่า @watpah