5 วิธีสร้างบุญ ชำระโรคกรรม! เจ็บป่วยเรื้อรัง สุขภาพไม่แข็งแรง หมั่นทำบุญทั้ง 5 อย่าง โดยสม่ำเสมอ เชื่อ! ช่วยบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บได้

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

ความเชื่อในกฎแห่งกรรมตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ผู้ที่มักประสบด้วยโรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพไม่แข็งแรง เป็นคนอายุสั้น มักจะเกิดจากเหตุของกรรม ทั้งกรรมในปัจจุบัน คือ การกระทำของตนเอง เช่น ไม่รักษาสุขภาพ รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย หรือ การกระทำอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนชีวิต ซึ่งกรณีนี้ จะมีทั้งกรรมปัจจุบันและกรรมในอดีต  ทำให้ผู้กระทำต้องประสบเคราะห์กรรมเจ็บป่วยด้วยโรคภัยที่รักษาไม่หายขาด  กลับมาป่วยซ้ำๆ บางคนเป็นโรคเรื้อรังตั้งแต่ยังเด็กก็มี  บางคนอายุสั้น เชื่อว่าเป็นผลจากเศษกรรมของปาณาติบาต (กรรมจากการฆ่าสัตว์ การเบียดเบียนชีวิต) ที่สามารถให้ผลได้ จากการทำกรรมในชาตินี้ หรือ ชาติก่อนๆก็ตาม  ส่วนถ้าทำกรรมปาณาติบาตในชาตินี้จะให้ผลเร็วแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงของกรรมและความสม่ำเสมอในการกระทำกรรมนั้นๆ  บางคนอาจเห็นผลได้ในไม่ช้า บางคนอาจเห็นผลในบั้นปลายของชีวิต หรือบางคนอาจเห็นผลในชาติหน้าหรือชาติต่อๆไปก็ย่อมได้ เพราะลำดับการให้ผลของกรรมนั้นขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย

5 วิธีสร้างบุญ ชำระโรคกรรม! เจ็บป่วยเรื้อรัง สุขภาพไม่แข็งแรง หมั่นทำบุญทั้ง 5 อย่าง โดยสม่ำเสมอ เชื่อ! ช่วยบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บได้

แต่สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม นอกจากการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน การดูแลสุขภาพของตนเอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายแล้ว  ตามคติความเชื่อเพื่อบรรเทาความเจ็บป่วยให้ทุเลาลงอย่างที่ปฏิบัติต่อๆกันมา  คือ การสร้างบุญสร้างกุศลในรูปแบบต่างๆ  ได้แก่

รักษาศีล การรักษาศีลโดยเฉพาะศีลข้อ ๑  คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ การเบียดเบียนชีวิต เมื่อละเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียนจะถือเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลโดยทันที บุญย่อมเกิดขึ้นในทันที  ขณะเดียวกันการละเว้นจากการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นถือเป็น “มหาทาน”  คือการให้ความปลอดภัยกับชีวิตของผู้อื่น จะเกิดอานิสงส์ผลบุญให้ตนเองเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่ถูกปองร้าย ไม่ถูกเบียดเบียน ไม่มีศัตรู  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นผู้มีอายุยืน  ฉะนั้นหากใครที่เจ็บป่วยอยู่และปรารถนาบรรเทาวิบากกรรมตามความเชื่อ ก็ให้พึงละเว้นจากการเบียดเบียน การทำลายชีวิต หรือแม้แต่การยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทำลายชีวิต ก็ควรละเว้นเช่นกัน  เพราะการรักษาศีลเป็นการสร้างบุญและไม่ก่อกรรมชั่วเพิ่ม โดยจะให้ผลในทันทีทางด้านจิตใจ คือ เมื่อไม่ได้เบียดเบียนใคร ไม่ได้ทำร้ายใคร จิตใจย่อมผ่องใส มีความสุข ไม่หวาดระแวงภัยร้ายต่างๆ และถ้าปฏิบัติได้เป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ  ย่อมเกิดพลังใจที่ดี พลังกายที่ดี เกิดอานิสงส์ของการรักษาศีล  คือ จากที่เจ็บป่วยอยู่ก็จะไม่มีโรคใดๆเพิ่ม หรืออาการร้ายแรงต่างๆก็ไม่เกิดมากไปกว่านี้ มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้ว โรคบางอย่างอาจรักษาไม่หายขาด แต่ก็จะทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไม่ทรมาน  และทำให้อายุยืนยาวจวบจนอายุขัยของตน ไม่ตายก่อนอายุ  

 

ทำบุญปล่อยสัตว์ การทำบุญสร้างกุศลโดยการปล่อยสัตว์ หรือการไถ่ชีวิตนั้น ถือว่าเป็นบุญที่ได้อานิสงส์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเจตนาเพื่อให้สัตว์นั้นรอดชีวิต มีเจตนาในการช่วยเหลือสัตว์โดยไม่หวังผลตอบแทน หากใครที่เจ็บป่วยอยู่บ่อยๆ สุขภาพไม่แข็งแรง การทำบุญปล่อยสัตว์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดอานิสงส์ เกิดพลังที่ดี ช่วยบรรเทาความเจ็บป่วย หรือความร้ายแรงของโรคไม่มากไปกว่าเดิม

วิธีการที่ดีสำหรับการทำบุญปล่อยสัตว์คือ การปล่อยสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า  เช่น การซื้อปลาที่กำลังจะถูกฆ่าได้แก่ปลาหน้าเขียงในตลาดสด  หรือ การไถ่ชีวิต โคกระบือ  ตลอดจนการช่วยชีวิตสัตว์ประเภทอื่นๆที่กำลังจะถูกฆ่าย่อมทำได้ทั้งนั้น และควรทำเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือมากกว่านั้นก็จะดีมากตามโอกาสอันเหมาะสม อานิสงส์ของการไถ่ชีวิตนี้ จะช่วยบรรเทาบาปเคราะห์ อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บได้ และยังเชื่อว่า อานิสงส์การปล่อยสัตว์จะทำให้ผู้นั้นมีอายุยืน   โดยมีเรื่องเล่า ของสามเณรติสสะศิษย์ของพระสารีบุตร ที่ภายใน 7 วันต้องหมดอายุขัย แต่ระหว่างทางที่เขาเดินทางกลับไปหาบิดามารดา เห็นปลาน้อยใหญ่กำลังจะตายเพราะน้ำในลำธารเหือดแห้ง เขาจึงได้ช่วยเหลือไว้โดยนำปลาไปปล่อยในที่ที่มีน้ำเพียงพอ อานิสงส์นี้จึงช่วยต่ออายุให้สามเณรติสสะให้ยืนยาวออกไป 

ถวายสังฆทานยา การถวายสังฆทาน ถือเป็นทานที่ไม่จำเพาะเจาะจง  เป็นการให้แก่สงฆ์โดยส่วนรวม เป็นทานที่มีอานิสงส์มาก โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วย ร่างกายไม่แข็งแรง มีความเชื่อว่า หากการถวายสังฆทานด้วยยารักษาโรค จำพวกยาสามัญประจำบ้าน อย่างน้อยๆเดือนละ 1 ครั้ง อานิสงส์ของบุญก็จะช่วยให้บรรเทาจากอาการเจ็บป่วยได้  สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น   นอกจากนี้ยังมีการทำบุญอีกหลายประเภทที่เชื่อว่า อานิสงส์ของบุญนั้นจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยได้ เช่น การทำบุญกับสงฆ์อาพาธ   ซึ่งการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บของพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคด้วยปัจจัยหรือการช่วยรักษาพยาบาลดูแลอุปัฏฐากก็ดี ถือว่าได้อานิสงส์มาก เท่ากับการได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า   โย ภิกขเว มํ อุปฏฐเหยย โส คิลานํ อุปฏฐเหยย  แปลว่า ผู้ใดปราถนาจะอุปปัฏฐากเราตถาคต ผู้นั้นพึงรักษาภิกษุป่วยไข้ และการบริจาคปัจจัยบำรุงภิกษุอาพาธ ยังถือเป็นการทำสังฆทานอย่างหนึ่ง เพราะได้ถวายอุปัฏฐากภิกษุที่ป่วยไข้จำนวนมาก โดยไม่ได้เจาะจงว่าเป็นรูปใดรูปหนึ่ง  อานิสงส์ของการทำบุญช่วยสงฆ์อาพาธนี้ มีอยู่หลายประการ หนึ่งในนั้น คือ การบรรเทาวิบากกรรมที่ประสบอยู่ จากหนักให้กลายเป็นเบา  ทำให้เป็นผู้อายุยืน ไม่เจ็บป่วยไข้ นอกจากนี้ ยังมีการทำบุญอื่นๆ  เช่น การสร้างโรงพยาบาล ซื้อเครื่องมือแพทย์ เปรียบได้ว่า การทำบุญโดยการช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร ตนเองก็จะได้รับเช่นนั้น

สวดโพชฌงคปริตร สำหรับบทสวดมนต์ที่เชื่อว่ามีอานุภาพบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ นิยมสวดให้กับผู้ป่วย หรือคนที่เจ็บป่วยสามารถสวดได้ด้วยตนเองก็ยิ่งดี คือ โพชฌงคปริตร   โดยที่มาแห่งบทสวด  โพชฌงคปริตร มีอยู่ว่า ย้อนไปในสมัยพุทธกาล พระมหากัสสปะได้เกิดอาพาธรุนแรง ความนี้ทราบถึงพระบรมศาสดา พระองค์จึงทรงออกเยี่ยม พระมหากัสสปะ พร้อมแสดง โพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ( องค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ ) คือ สติ ความระลึกได้, ธรรมวิจยะ ความใคร่ครวญในธรรม , วิริยะ ความเพียร, ปีติ ความอิ่มใจ ,ปัสสัทธิ ความสงบ, สมาธิ ความตั้งใจมั่น, อุเบกขา ความวางเฉย เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้โดยชอบแล้ว ถ้าบุคคลได้เจริญให้มาก ย่อมเป็นปัจจัยนำไปสู่มรรคผลนิพพาน  เมื่อพระมหากัสสปะสดับรับฟัง แล้วน้อมจิตพิจารณา เกิดความปิติยินดีในธรรม จึงกราบแทบฝ่าพระบาทด้วยจิตอันเคารพศรัทธาเหนือเศียรเกล้า แล้วอาการอาพาธที่เป็นมาอย่างยาวนานก็หายเป็นปลิดทิ้ง และยังมีเหตุการณ์อื่นๆที่แสดงอานุภาพของโพฌงคปริตร จนทำให้ผู้ฟังหายป่วยได้  แต่การสวดโพชฌงคปริตรนั้น ไม่ว่าจะสวดให้กับผู้อื่น หรือผู้ป่วยสวดเอง ต้องสวดด้วยความศรัทธา น้อมจิตไปกับบทสวดนั้นโดยรู้ความหมายด้วยก็จะยิ่งดี และการสวดมนต์ใดๆก็ตามต้องใช้เวลา อย่าใจร้อน เพราะกรรมของแต่ละคนที่สร้างมาไม่เหมือนกัน ศรัทธาไม่เท่ากัน ความปิติอิ่มใจไม่เท่ากัน ฉะนั้นการบรรเทาโรคภัยด้วยการสวดมนตก์ก็ย่อมต้องใช้เวลา

 

เจริญภาวนา  การเจริญภาวนาเป็นวิธีที่ผู้ป่วยพึงกระทำ เพราะการจะเยียวยารักษากายให้ดีขึ้น ก็ต้องเยียวยารักษาใจ ด้วยเชื่อว่าจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว หากจิตใจแข็งแรง เบิกบาน กายก็ย่อมเป็นไปตามนั้น การเจริญภาวนาด้วยการทำสมาธิมีอยู่หลายรูปแบบที่สามารถบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำสมาธิวิปัสสนาโดยการพิจารณากายว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเขา ของเราหรือของใคร พึงพิจารณาให้ถ่องแท้จนเกิดการปล่อยวาง จิตใจผ่องใส ไม่ยึดมั่นในร่างกาย ย่อมทำให้บรรเทาจากโรคภัยที่เป็นอยู่ได้  หรือวิธีเฉพาะของครูบาอาจารย์ท่านนั้นๆ เช่น วิธีของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วิธีของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย และอื่นๆอีกมาก ซึ่งผู้ป่วยสามารถศึกษาและนำมาปฏิบัติได้ แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอจึงจะเห็นผล  

อย่างไรก็ดี แม้จะทำบุญโดยการปล่อยสัตว์ การทำสังฆทานยา การรักษาศีล เจริญภาวนา ก็อย่าลืม “แผ่เมตตา” เป็นการส่งความปรารถนาดีไปให้แก่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย พร้อม “ขออโหสิกรรม” ต่อเจ้ากรรมนายเวรที่เคยล่วงเกินไว้ ด้วยกาย วาจา ใจ เป็นเหตุให้ต้องมารับกรรมและเจ็บป่วยอยู่เช่นนี้ เพราะการแผ่เมตตาคือการส่งความปรารถนาดีไปสู่ผู้อื่น เป็นการฝึกให้จิตใจอ่อนโยน ลดอารมณ์จากความโกรธ ความหงุดหงิด ความอาฆาตพยาบาทได้ดี สร้างอารมณ์ที่แจ่มใสให้กับใจได้ จึงเป็นผลดีต่อผู้ป่วยในด้านของจิตใจ ที่จะช่วยส่งเสริมร่างกายให้ดีขึ้น  

สำหรับโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเผชิญอยู่จะบรรเทาได้เร็วหรือไม่? ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งกรรมของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน การสร้างกุศลทั้ง 5 อย่างที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และต้องเข้าใจสัจจธรรมของความไม่เที่ยงในทุกสรรพสิ่ง รวมถึงร่างกายด้วยว่า ร่างกายเกิดขึ้นเพราะการรวมตัวกันของธาตุ ต้องมีเกิด มีเจ็บป่วย เป็นของธรรมดา ไม่ใช่ของเรา ของเขา หรือของใคร…  ร่างกายจึงเป็นเพียงบ้านชั่วคราวในชาตินี้เท่านั้น เมื่อถึงเวลาก็ต้องทิ้งไปในที่สุด?!!  

 

5 วิธีสร้างบุญ ชำระโรคกรรม! เจ็บป่วยเรื้อรัง สุขภาพไม่แข็งแรง หมั่นทำบุญทั้ง 5 อย่าง โดยสม่ำเสมอ เชื่อ! ช่วยบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บได้

 

 

 

เครดิตภาพ : วัดป่าโนนวิเวก