ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม

ท่านเป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่งของจังหวัดนครปฐม เป็นพระผู้ทรงอภิญญา มีญาณทัศนะหยั่งรู้วาระจิต อีกทั้งเรืองวิทยาคม มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมาย

ตามคำบอกเล่า เมื่อเด็กท่านออกจะเกเร แต่คำว่าเกเรของคนบ้านนอกสมัยนั้น ไม่ถึงขั้น “อันธพาล” อย่างสมัยนี้ ท่านไม่เกเรในทำนองตีหัวหมา ด่าแม่เจ็ก ลักเล็กขโมยน้อยหรือปล้นสะดมใคร แต่ท่านเป็นคนจริงไม่กลัวคน ไม่ว่าจะรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือโตกว่าจะชกค่อยตีกันท่านไม่กลัว สู้ไม่ถอย เที่ยวเก่งดื่มเหล้าเป็นตั้งแต่เด็กรุ่นร่างกายแข็งแรง แต่ถึงแม้ท่านจะเที่ยวเก่งสำมะเลเทเมาบ้าง ถ้าพูดถึงการทำงาน (บิดา – มารดาอาชีพทำนา) ท่านก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของพ่อแม่ ได้เป็นอย่างดี ต่อมาโยมพ่อเห็นว่าจะเอาไว้ไม่อยู่กลัวเสียคน เลยจับไปบวชเป็นเณรอยู่กับพระอาจารย์มีชื่อในขณะนั้นในขณะเป็นเณรได้เล่าเรียนหนังสือไทย – ขอม และเรียนพระธรรมจนแตกฉานเปลี่ยนนิสัยเดิมหมดมาสนใจรักในทางนี้มาก…

            ตอนที่ท่านมีอายุอยู่ในวัยรุ่น ได้มีความสนใจในวิชาเวทมนต์คาถาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพบปะกับคนสูงอายุจะต้องคุยและถามถึงเรื่องเหล่านี้ อยู่เสมอ ๆ ต่อมาได้ทำการอุปสมบทที่วัดพระประโทนเจดีย์โดยมี พระครูอุตรการบดี (หลวงพ่อทา) วัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสมถกิตติคุณ (กลั่น) วัดพระประโทน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ชุ่ม ซึ่งเป็นน้าชายของท่าน ไม่ใช่น้องดังที่บางคนกล่าวไว้ (ซึ่งต่อมาได้รับสมณศักดิ์พระครูสมถกิตติคุณ และเป็นเจ้าอาวาสวัดพระประโทนต่อจากพระอาจารย์กลั่น)เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และจำพรรษาอยู่ที่วัดเป็นเวลา ๘ พรรษา ระหว่างที่อยู่ในพรรษาได้พยายามพากเพียรเรียนวิชาสมถกรรมฐานและวิปัสนากรรมฐานอย่างคร่ำเคร่ง พอออกพรรษาทุกปีท่านจึงเที่ยวธุดงค์ไป เพื่อเล่าเรียนวิชาจากพระอาจารย์ ผู้มีความรู้ในทางไสยศาสตร์ เช่น จากอาจารย์ชาวเขมรบ้าง จากอาจารย์ชาวกะเหรี่ยงบ้างและชอบเดินไปต่างบ้านต่างเมือง อย่าง ลาว เขมร พม่า จนทั่ว มีหลักฐานอยู่ คือ ตำราของหลวงพ่อท่านเขียนเป็นตัวหนังสือขอมและหนังสือพม่าหลังจากนั้นหลวงพ่อได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสามง่าม ๑ พรรษา แล้วจึงมาอยู่ที่วัดตาก้อง ซึ่งเวลานั้นมีเจ้าอาวาสคือ พระอธิการเกริ่น พอตำแหน่งต่อมาคือ สมภารกร่าย เป็นคนบ้านตาก้อง

ผมเชี่ยวชาญอิติปิโส..ว่าทะแยงก็ได้ ถอยหลังก็ได้.."หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง"โดนเจ้าคณะสอบสวน แต่ไร้ความผิด ด้วยมีอิทธิฤทธิ์ จริงๆ..

หลวงพ่อแช่มเองมีฐานะเป็นเพียงพระลูกวัดธรรมดาและตัวท่านก็รักความสันโดษ ไม่ยินดีในลาภยศสมณศักดิ์ใดใด ชอบความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ สมถะ ไม่สะสมทรัพย์สมบัติและไม่พิถีพิถัน นุ่งห่มแต่จีวรเก่าๆ กุฏิหรือที่พักเป็นกระต๊อบหลังคามุงจาก ไม่ปูพื้นและปราศจากฝากั้นปลูกอยู่ข้างกำแพงพระอุโบสถหลังเก่า ที่สำหรับใช้จำวัดเป็นไม้กระดานกว้างศอกเศษเพียงแผ่นเดียว ตั้งอยู่บนพื้นดินมีขอนไม้รองรับและไม่มีเครื่องนอนแม้กระทั่งเสื่อ อาหารก็ฉันตามมีตามเกิดเพียงมื้อเดียว ปีหนึ่งจะสรงน้ำเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น ซึ่งจะทำเมื่อมีสานุศิษย์ร้องขอเพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิต และก็ไม่เคย ปรากฏว่าหลวงพ่อจะมีกลิ่นตัวให้ผู้ใกล้ชิดได้สัมผัสรับรู้ วัตรปฏิบัติของท่านก็ค่อนข้างประหลาด เช่นเดียวกับหลวงพ่อโอภาสี พฤติกรรมที่ต่างไปจากพระภิกษุอื่นนี้เป็นเหตุให้หลวงพ่อแช่มต้องอธิกรณ์ มีการร้องเรียนกล่าวหาว่า ไม่อยู่ในสมณวิสัยประพฤติผิดพระธรรมวินัย

เมื่อท่านจำพรรษาอยู่ ณ กุฏิแห่งนี้ ชาวบ้านพากันมากราบท่านทุกวี่วัน ซึ่งคงขัดนัยน์ตาสมภารกร่ายยิ่งนัก ที่หลวงพ่อแช่มมีญาติโยมมาเยี่ยมกราบมิได้ขาด ความไม่ชอบใจหลวงพ่อแช่มของสมภารกร่ายได้นำไปสู่การร้องเรียนต่อเจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัดโดยสมภารกร่ายเป็นผู้ร้องเรียนด้วยตัวเอง ที่สุดนำไปสู่การสอบสวนด้วยข้อกล่าวหาที่ฉกรรจ์หลายข้อด้วยกัน คือ

๑. ไม่ยอมอยู่ในปกครองของเจ้าอาวาส

๒. ไม่บอกเล่าให้ทราบว่าจะไปไหน ไปทำอะไร

๓. หายไปจากวัดหลายๆ วันเสมอ ไม่ทราบว่าไปทำอะไรที่ไหน

๔. ไม่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ ไม่สวดมนต์ทำวัตรเช้า วัตรเย็นพร้อมพระภิกษุอื่น

๕. ไม่ลงฟังพระสวดปาติโมกข์ในวันพระ

๖. ไม่ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ตามธรรมเนียมของพระภิกษุ

๗. หุงข้าวกินเอง ตั้งครัวทำครัวเหมือนชาวบ้าน

๘. รดน้ำมนต์ ให้หวย ทำเสน่ห์ เป็นหมอรักษาไข้ให้ชาวบ้าน ผิดกิจของสงฆ์

๙. อวดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ผิดศีลของพระภิกษุ

ต่อการแก้ข้อกล่าวหาต่างๆ หลวงพ่อแช่มท่านสามารถแก้ได้ทุกข้อ จนมาข้อสุดท้ายที่ทำให้เจ้าคณะจังหวัดต้องยอมหลวงพ่อ เจ้าคณะจังหวัดว่า “ที่เค้าว่าท่านอวดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ผิดศีลของพระภิกษุเล่า” หลวงพ่อแช่มตอบว่า “ผมไม่เคยอวดอ้างความวิเศษอะไรที่ผมไม่มีถึงความวิเศษที่ผมมีมากกว่าพระภิกษุอื่นๆ ผมก็ไม่เคยอวด นอกจากมีคนมาถามผมก็ตอบเขาไป ใครมีพยานหลักฐานว่าผมอวดฤทธิ์อย่างไรบ้าง ก็ยืนยันมาเถิด”

เจ้าคณะจังหวัดว่าต่อ “เช่นเรื่องหนังเหนียว คงกระพันชาตรี ฟันไม่เข้า ยิงไม่ออก” หลวงพ่อแช่มกล่าวตอบว่า “ผมไม่ได้อวด แต่ผมบอกว่าอานุภาพของคุณพระนั้น ช่วยป้องกันอันตรายได้จริงมีอานุภาพจริง เช่น ทำให้ผิวหนังเหนียว ฟันไม่เข้ายิงไม่ออก คลาดแคล้ว”

“ของดีที่แจกไป เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ จะกันมีดพร้าอาวุธได้จริงหรือ” เจ้าคณะจังหวัดถามต่อหลวงพ่อแช่มได้ตอบไปว่า “ถ้าเขามีศรัทธาเชื่อมั่น แล้วใช้เป็นก็ป้องกันศัสตราวุธได้จริง” เจ้าคณะจังหวัดถามอีก “ถ้าผมจะลองฟันคุณเดี๋ยวนี้จะได้หรือไม่”หลวงพ่อแช่มตอบกลับว่า “ยังไม่เคยมีใครมากล้าผมเลย” เจ้าคณะจังหวัดหัวเราะแล้วกล่าวว่า “ผมก็ไม่กล้าลองคุณเหมือนกัน”

ผมเชี่ยวชาญอิติปิโส..ว่าทะแยงก็ได้ ถอยหลังก็ได้.."หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง"โดนเจ้าคณะสอบสวน แต่ไร้ความผิด ด้วยมีอิทธิฤทธิ์ จริงๆ..

ครั้นแล้วการสอบสวนก็เป็นอันเสร็จสิ้น เจ้าคณะจังหวัดได้บอกว่า “คุณไม่มีความผิดอะไร” จากนั้นก็ได้สนทนากับหลวงพ่อแช่มถึงการเดินธุดงค์ และคาถาอาคมต่างๆ “ในที่สุดเจ้าคณะจังหวัด ก็ถามว่า ไหนคุณว่าคุณมีดีกว่าพระภิกษุอื่น คุณมีดีกว่าอย่างไรหลวงพ่อแช่ม ก็ว่าอิติปิโสแปดบทให้ฟัง แล้วก็ว่าอิติปิโสถอยหลังให้ฟังจบแล้วก็บอกว่าพระองค์อื่นก็ว่า อิติปิโสเดินหน้าได้อย่างเดียว แต่ผมนั้นเชี่ยวชาญขนาดว่าทะแยงก็ได้ ว่าถอยหลังก็ได้ จะไม่ดีกว่าพระอื่นได้อย่างไร เจ้าคณะจังหวัดก็เลยพาคณะกลับ”

ในบรรดาสัตว์เลี้ยงของหลวงพ่อมีอยู่หลายชนิด ที่มากที่สุดคือ วัว ซึ่งเป็นจำนวนหลายสิบตัวด้วยกันวัวเหล่านี้กล่าวกันว่าท่านได้อาศัยเป็นแรงงาน สำหรับการทำไร่ไถนา บ้างก็ว่าไม่ใช่ เพราะวัวเหล่านี้เป็นวัวแก่ ใช้งานไม่ได้แล้วชาวบ้านจึงพากันเอามาถวายเริ่มแรกมีเพียงตัวสองตัว ภายหลังมีผู้นำมาถวายมากเข้า ก็เลยกลายเป็นฝูงย่อม ๆ ขึ้นมา ตอนที่ท่านมรณภาพ วัวจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งหลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง เป็นผู้นำมาเลี้ยง อีกส่วนหนึ่ง หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่ามนำไปเลี้ยงเพราะหลวงพ่อเต๋ท่านเป็นศิษย์รูปหนึ่งของหลวงพ่อแช่ม เช่นเดียวกันกับหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ. เพชรบุรี และหลวงพ่อสี วัดปากคลองบางครก จ.เพชรบุรี หลวงพ่อแช่มท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ รวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี นับพรรษาได้ ๖๕ พรรษา…

ผมเชี่ยวชาญอิติปิโส..ว่าทะแยงก็ได้ ถอยหลังก็ได้.."หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง"โดนเจ้าคณะสอบสวน แต่ไร้ความผิด ด้วยมีอิทธิฤทธิ์ จริงๆ..

อ่านเพิ่มเติม...พระคาถาแก้วสารพัดนึก "หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี"

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

เรื่องเล่าชาวสยาม

แอพเกจิ – AppGeji

เพื่อเผยแผ่กิตติคุณเป็นสังฆบูชา