เจ้าฟ้าผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม!! ครบรอบ ๑๓๖ ปี เทิดพระเกียรติ "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ" ผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ ๗

๒๙ มิถุนายน ครบรอบ ๑๓๖ ปี วันคล้ายวันประสูติของ "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ เจ้าฟ้าผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม ผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ ๗

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ

            เนื่องในวันที่ ๒๙ มิถุนายน เป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ชาววังออกพระนามโดยลำลองว่า ทูลกระหม่อมชาย หรือ ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหาร ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เสนาธิการทหารบก เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

            นอกจากนี้ยังทรงพระปรีชาสามารถในงานดนตรี ทรงได้รับการขนานพระนามเป็น "พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม" ทรงพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงฝรั่งและเพลงไทยเดิมไว้มากมาย ทรงนิพนธ์เพลง วอทซ์ปลื้มจิต, วอทซ์ชุมพล, สุดเสนาะ, เพลงมหาฤกษ์, เพลงพญาโศก

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ พระราชโอรส ร.5

             สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔ ในพระบรมมหาราชวัง มีพระเชษฐภคินีพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ถึงวันศุกร์ที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

"สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ดิลกจันทรนิภาพงษ์ มหามกุฏวงษ์นราธิราช จุฬาลงกรณ์นาารถราชวโรรส อดุลยยศอุภโตพงษพิสุทธิ นรุตมรัตน ขัตติยราชกุมาร กรมขุนมไหสูริยสงขลา"  และมีพระราชพิธีมงคลการโสกันต์ระหว่างวันที่ ๓๐ ธันวาคม ถึงวันที่ ๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓

             ทรงศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเสนาธิการ ประเทศเยอรมนี เมื่อเสด็จกลับมารับราชการ สมเด็จพระบรมชนกนารถทรงพระดำริว่าพระนามกรมเดิมไม่สมพระเกียรติยศ จึงโปรดเกล้าให้เปลี่ยนพระนามกรมเป็น กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๔ พระองค์ประทับที่วังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นวังที่มีความใหญ่โตโอ่อ่าที่สุด กอรปกับทรงมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย จึงได้รับการกล่าวขานอีกฉายาหนึ่งจากคนทั่วไปว่า "จอมพลบางขุนพรหม" หรือ "เจ้าฟ้าวังบางขุนพรหม" ทรงเป็นต้นราชสกุลบริพัตร

           วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๒ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์พิเศษ ต่อมาในวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ ศกนั้น ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และวันที่ ๑๙ มีนาคม ศกเดียวกัน ได้ทรงสาบานตนและรับพระราชทานตราตั้งเป็นองคมนตรี

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนคำนำพระนามเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และในวันต่อมาพระองค์ท่านได้เข้าถือน้ำและรับตั้งเป็นองคมนตรี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

ทรงดนตรี

            ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ นั้น วังบางขุนพรหมเป็นศูนย์กลางการประชันวงปี่พาทย์ การแสดงดนตรี และการละเล่นต่าง ๆ และเป็นที่เกิดของเพลงที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก ส่วนวงปี่พาทย์วังบางขุนพรหมนั้น ก็เป็นวงที่มีชื่อเสียงมาก และได้เข้าร่วมในการประชันวงที่วังบางขุนพรหมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศ เป็นต้นตำรับการขับร้องที่สืบทอดมาแต่โบราณ

           ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ โปรดใช้เวลาว่างส่วนพระองค์ในการศึกษาวิชาดนตรี ทั้งด้านประสานเสียง และการประพันธ์เพลง จนทรงสามารถประพันธ์เพลง และทำหน้าที่เป็นวาทยากรได้อย่างคล่องแคล่ว เคยทรงเล่าประทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดา ฟังว่า

“…ถ้าพ่อเลือกได้ พ่อจะเรียนดนตรีและภาษา และจะทำงานด้านดนตรีอย่างเดียว แต่พ่อเลือกไม่ได้ เพราะพ่อบังเกิดมามียศตำแหน่ง ต้องทำงานให้ประเทศชาติ ทูลหม่อม (รัชกาลที่ ๕) สั่งให้พ่อไปเรียนวิชาทหารเพื่อกลับมาปรับปรุงกองทัพไทย พ่อก็ไปเรียนวิชาทหาร บางครั้งพ่อเบื่อบางวิชาที่ต้องเรียนจนทนไม่ไหว ต้องเก็บพ็อกเก็ตมันนี่เอาแอบไปเรียนดนตรี แอบไปเรียนเพราะพวกผู้ใหญ่สมัยนั้นเห็นว่าวิชาดนตรีไม่เหมาะกับชายชาติทหาร เมื่อได้เรียนดนตรีที่พ่อรักก็สบายใจ เกิดความอดทนที่จะเรียนและทำงานที่พ่อเบื่อ…”

ทรงเริ่มแต่งเพลงสากลก่อนเพลงไทย เพลงชุดแรก ๆ มีเพลงวอลทซ์โนรี และเพลงจังหวะโปลก้า ชื่อเพลงมณฑาทอง เป็นต้น

            ทรงนิพนธ์เพลงไทยประสานเสียงแบบเพลงสากล เช่น เพลงมหาฤกษ์ เพลงมหาชัย เพลงสรรเสริญเสือป่า เพลงสาครลั่น และทรงแยกเสียงประสานเพลงไทยสำหรับบรรเลงด้วยวงโยธวาฑิต ทำให้แตรวงบรรเลงเพลงไทยได้ไพเราะ มีหลักการประสานเสียงดียิ่งขึ้น ได้ทรงประดิษฐ์เพลงแตรวงไว้หลายเพลง เช่น โหมโรงสะบัดสะบิ้ง เพลงเขมรใหญ่ เถา เพลงแขกมัสหรี เถา เพลงแขกสี่เกลอ เถา

       

          หลังจากรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๖  ทูลกระหม่อมบริพัตรก็ยังดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานสำคัญๆหลายตำแหน่ง ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา พระองค์ท่านเป็นที่รักของเจ้านายด้วยกัน รวมไปถึงเหล่าบรรดาเสนาอำมาตย์ในราชสำนัก และเป็นที่รักของพวกข้าราชบริพาร ช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น ตอนที่พระองค์ท่านจวนเจียนจะสวรรคต ทูลกระหม่อมบริพัตรมีอำนาจและบารมีสูงส่ง เป็นผู้ที่ความรู้ความสามารถในด้านการทหารและการปกครองแผ่นดิน เหล่าเสนาบดีทั้งหลาย มองว่าทูลหม่อมบริพัตร เป็นผู้มีความสามารถที่จะพลิกความตกต่ำ ให้เป็นความเจริญรุ่งเรืองได้ จึงมีการสนับสนุนลับๆเป็นการภายใน 

          กุญแจดอกสำคัญในเวลานั้นคือ พระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ ๖ อันมีใจความสำคัญว่า

"พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งจะมีพระประสูติกาลในเวลาข้างหน้า ถ้าหากพระกุมารประสูติเป็นพระโอรส ก็ให้เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช พระอนุชาร่วมพระครรโภธร (น้องชายพ่อแม่เดียวกัน) เป็นผู้สำเร็จราชการ จนกว่าพระโอรสจะทรงทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าหากว่าประสูติออกมาเป็นพระธิดา ก็ให้เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ขึ้นครองราชย์สืบต่อไป"

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ อย่างที่ทราบๆกัน ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดา คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในช่วงเวลานั้นมีเจ้าฟ้าชายชั้นเอก พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ ที่ประสูติแต่พระมเหสีชั้นลูกหลวง เหลือเพียง ๓ พระองค์ เรียงตามลำดับอายุ ได้แก่

เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช และประชาธิปกศักดิเดชน์ ทุกพระองค์เป็นพี่น้องต่างพระมารดากัน

เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช 

เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์

 

เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช 

เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช 

 

เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์

           โดยที่เจ้าฟ้าประชาธิปกฯน้องคนเล็กสุด ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆของรัชกาลที่๖  มีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ตามพระราชพินัยกรรมที่ระบุไว้ แต่ทว่าในเวลานั้นตามที่ทราบๆกันคือ ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงมีพระราชอำนาจมากมายคือ พระองค์ท่านมีทั้งอำนาจทางทหารและพลเรือน เรียกได้ว่ามีอำนาจสูงสุดในราชสำนักในช่วงเวลานั้น จะด้วยเหตุผลนี้หรือเหตุผลอื่นใดก็ตามที ทำให้เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ (ทูลกระหม่อมเอียดน้อย) ทรงลังเลไม่อยากจะขึ้นครองราชย์ ทรงให้เหตุผลว่า 

พระองค์ไม่มีความรู้ความสามารถเทียบเท่าพระเชษฐาต่างพระมารดา (พี่ชายคนละแม่) และเจ้าฟ้ามหิดล (ทูลกระหม่อมแดง) ก็ทรงให้เหตุผลคล้ายๆกัน 

         ทั้งเจ้าฟ้ามหิดลและเจ้าฟ้าประชาธิปกทรงปรึกษากันว่า น่าจะถวายราชบัลลังก์แก่ทูลหม่อมบริพัตร ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด และมีความสามารถในด้านการปกครองมากที่สุด ไม่มีใครทรงทราบความในพระราชหฤทัย ของทูลกระหม่อมบริพัตรในเรื่องนั้น แต่พระองค์มิทรงยินยอมในการรับราชบัลลังก์ ทูลกระหม่อมบริพัตรเป็นเจ้านายที่มีอำนาจทางฝ่ายทหารสูงสุดในช่วงเวลานั้นและมีบารมีพระอิสริยยศที่จะขึ้นครองราชย์ได้ แต่ทว่าพระองค์ท่านมีจิตใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรม มิทรงยินยอมใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิชอบ 

"ทรงก้มลงกราบพระบาทพระอนุชาต่างพระมารดา (น้องชายคนละแม่) เพื่อให้ทำตามพระประสงค์ของรัชกาลที่ ๖"

                 นับว่าเป็นเจ้าฟ้าที่มีจิตใจเปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรม ผู้เห็นความถูกต้องเป็นสำคัญ  ถ้าพระองค์ท่านเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง หรือเห็นแก่ลาภ ยศ ในวันนั้นเจ้าฟ้าประชาธิปกก็ขึ้นครองราชย์มิได้ และราชบัลลังก์จะต้องตกอยู่ในสายของราชสกุลบริพัตร นับตั้งแต่นั้นมา 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

            ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเจ้านายพระองค์สำคัญที่ทางคณะราษฎร ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องควบคุมองค์ไว้เป็นองค์ประกันสำคัญสูงสุด เนื่องด้วยทรงเป็นผู้รักษาพระนคร อีกทั้งยังทรงควบคุมหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งทหาร และตำรวจ ซึ่งในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้น พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) เป็นผู้นำในการบุกวังบางขุนพรหม เพื่อควบคุมพระองค์ ซึ่งทรงกำลังจะหนีทางท่าน้ำหลังวัง พร้อมกับครอบครัวและข้าราชบริพาร แต่ทว่ามีเรือตอร์ปิโดหาญทะเลของทางทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรที่ควบคุมโดย เรือโท จิบ ศิริไพบูลย์ คอยดักอยู่ จึงยังทรงลังเล จนในที่สุดพระองค์จึงทรงยินยอมให้ทางคณะราษฎรควบคุมองค์ และเสด็จไปประทับยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมกับเจ้านายพระองค์อื่น ๆ และบุคคลสำคัญต่าง ๆ ซึ่งก่อนเสด็จมา ได้ทรงต่อรองขอเปลี่ยนเครื่องทรงจากชุดกุยเฮง ซึ่งเป็นชุดบรรทม ก็ได้รับการปฏิเสธ หลังจากนั้นในวันต่อมา ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยอย่างกะทันหัน โดยเสด็จไปด้วยรถไฟขบวนพิเศษ ซึ่งวิ่งตลอดไม่มีหยุดพักจนถึงปีนังวันที่ ๑๐ กรกฎาคม และย้ายไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ 

          ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงไม่กี่วันนั้น พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจได้ถวายรายงานต่อพระองค์ถึงรายชื่อของบุคคลต่าง ๆ ในคณะราษฎรว่ามีท่าทีจะกระทำการกระด้างกระเดื่องประการใดประการหนึ่งต่อบ้านเมือง แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อ ด้วยทรงเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ไม่น่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะกระทำการใด ๆ ได้ เนื่องจากทรงคุ้นเคยกับบุคคลเหล่านี้ดี ซ้ำบางคนยังทรงชุบเลี้ยงและรู้จักมาตั้งแต่ยังเด็กด้วยซ้ำ

         จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไตและพระหทัย เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่ตำหนักประเสบัน เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ทรงพระชนพรรษา ๖๓ พรรษา และได้มีการพระราชทานเพลิงพระศพ ที่พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เรื่องเล่า...ในรั้ววัง "หัวขโมยลึกลับ" ที่พระพุทธเจ้าหลวง ร.๕ สั่งให้ทหารดักจับตัว "แต่ไม่เคยมีใครจับได้" !!! ยังคงเป็นปริศนาจนทุกวันนี้
- สุดยอดพระคาถา ที่ "หลวงปู่เอี่ยม" นำเข้าถวาย "เสด็จพ่อ ร.๕" !!! กับคำทำนายสุดแม่นยำ สู่ตำนาน "พระบรมรูปทรงม้า" !!!

 

ที่มาจาก : https://th.wikipedia.org/.../สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์_กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://pantip.com/topic/34550774