ข้อควรรู้และข้อห้ามในการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เพจความจริง และ www.tnews.co.th

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 60 ที่ศูนย์สื่อมวลชน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (กอร.พระราชพิธีฯ) แถลงข่าวเรื่องคติ ความเชื่อ การจัดสร้าง และประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ แนวปฏิบัติงานพระราชพิธีฯ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และจิตอาสาในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ

ข้อควรรู้และข้อห้ามในการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวถึงความเชื่อในการจัดสร้างศิลปกรรมประกอบการจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ในครั้งนี้มีการสร้างประติมากรรมกว่า 800 ชิ้น สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 มากที่สุด ออกแบบโดยยึดตามแบบโบราณราชประเพณี เช่น การออกแบบพระเมรุมาศจะสื่อถึงเขาพระสุเมรุ เพื่อสื่อถึงความเป็นสรวงสวรรค์ มีเทพเทวดาทั้งแบบยืนและแบบนั่งรอบพระเมรุมาศ ถือเป็นการถวายพระเกียรติยศอย่างสูงสุดให้กับพระองค์ หรือการจัดสร้างสระอโนดาตประกอบพระเมรุมาศ ก็จะมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการในพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

น.ส.เสาวรีย์ อัมภสุวรรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหารกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ในการเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ มีข้อปฏิบัติและข้อห้ามที่ประชาชนจะต้องปฏิบัติ โดยข้อควรปฏิบัติ 8 ข้อ ได้แก่
1.แสดงบัตรประจำตัวประชาชนกับเจ้าหน้าที่ เมื่อเดินเท้าผ่านจุดคัดกรองและพกพาบัตรประจำตัวประชาชนติดตัวตลอดเวลา 
2.เมื่อผ่านจุดคัดกรองประชาชนสามารถจับจองพื้นที่บริเวณทางเท้าริมถนนมหาราช ถนนสนามไชย และยาวถึงศาลหลักเมือง เฉพาะฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวังเท่านั้น 
3.อยู่ในอาการสุภาพเรียบร้อย น้อมถวายอาลัยด้วยอาการสงบ สำรวม 
4.เมื่อริ้วขบวนซึ่งประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินในริ้วขบวนผ่าน จิตอาสาต้องถอดหมวกและก้มกราบ
5.เครื่องแต่งกาย สัมภาระ และอุปกรณ์ต่างๆ โดยสุภาพบุรุษ ให้สวมเสื้อดำ เชิ้ตดำ กางเกงดำขายาว รองเท้าสุภาพหุ้มส้นสีดำ สุภาพสตรี สวมใส่เสื้อดำ กระโปรงยาวสีดำคลุมเข่า รองเท้าสุภาพหุ้มส้นสีดำ จิตอาสา แต่งชุดจิตอาสาพระราชทาน เสื้อดำ สวมหมวก ผ้าพันคอ กางเกง/กระโปรงสีดำเท่านั้น สามารถสวมรองเท้าผ้าใบได้ ตามความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถนำร่ม หมวก แว่นกันแดดมาใช้ได้โดยควรเป็นสีดำหรือสีโทนสุภาพ และเมื่อริ้วขบวนซึ่งประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินในริ้วขบวนผ่านต้องเก็บร่ม พัด หมวก แว่นตากันแดด และถวายความเคารพ ทั้งนี้ สามารถถ่ายภาพโดยใช้กล้องธรรมดา และกล้องโทรศัพท์มือถือได้ 
6.พกเฉพาะสิ่งของจำเป็นเท่านั้น เตรียมความพร้อมยา อาหาร น้ำดื่ม ยาประจำตัว 
7.ห้ามถ่ายภาพในเขตราชวัติ 
8.เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่จิตอาสา ไม่ควรมีผู้ติดตามเข้าในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงาน

ข้อควรรู้และข้อห้ามในการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นอกจากนี้ จากการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะครั้งที่ 2 พบว่ายังมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติ ดังนี้
1.งดพกพาอาวุธ วัตถุโลหะที่อาจเป็นอันตรายเข้าพื้นที่เด็ดขาด 
2.งดสวมใส่ ยีนส์ เสื้อผ้ารัดรูป เสื้อแขนกุด เสื้อสายเดี่ยว 
3.งดเปล่งเสียงถวายพระพร "ทรงพระเจริญ" 
4.งดแสดงอาการหยอกล้อ อยู่ในอาการสำรวม 
5.งดถ่ายภาพโดยกล้องเลนส์ซูม และงดใช้ขาตั้งกล้อง 
6.หลีกเลี่ยงการใช้ร่ม พัด หมวก แว่นตากันแดดที่หลากสี 
7.อย่าออกนอกพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ ไม่วิ่งตัดหน้าหรือห้อมล้อม กีดขวางทางริ้วขบวน
"ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ และข้อห้าม โดยเฉพาะต้องไม่เปล่งเสียงถวายพระพร ทรงพระเจริญ ในระหว่างชมริ้วขบวน และต้องอยู่ในอาการสำรวม ตลอดการชมริ้วขบวน ในงานพระราชพิธีทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จะมีจิตอาสางานประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่คอยให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้มาร่วมงานพระพิธี และจัดเก็บข้อมูล ถ่ายภาพการปฏิบัติงานของจิตอาสาทั้ง 8 ด้าน โดยในต่างจังหวัดจิตอาสาจะถ่ายภาพและนำส่งให้แก่ประชาสัมพันธ์จังหวัด คัดเลือกภาพการปฏิบัติของจิตอาสาทั้ง 8 ด้านหละ 4 ภาพ และส่งมายังส่วนกลางเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์ และเว็บไซต์
www.kingrama9.th"

ข้อควรรู้และข้อห้ามในการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ด้าน นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองใน 76 จังหวัด รวมถึงการจัดสร้างซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ จำนวน 802 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น ซุ้มขนาดกลาง 649 แห่ง และขนาดเล็ก 153 แห่งดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว 100% ส่วนการจัดสร้างพระจิตกาธาน คืบหน้าไปแล้วร้อยละ 90% โดยพระจิตกาธานใน 76 จังหวัดมีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ขณะที่พระจิตกาธานใน 802 อำเภอมีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 ตุลาคม อย่างไรก็ตาม ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการ และประสานงานการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในส่วนภูมิภาคของ มท.ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม จนกว่าจะเสร็จสิ้นงานพระราชพิธี มีหน้าที่ประสานงาน เร่งรัดและแก้ไขปัญหาในภูมิภาค
"ขณะนี้ได้มีการอบรมตัวแทนจิตอาสาเฉพาะกิจฯจังหวัดละ 9 คน ตั้งแต่ 16-20 ตุลาคมนี้ เพื่อให้เข้าใจแนวทางการปฏิบัติงาน โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมปฏิบัติงานประมาณ 4 ล้านคนเศษ สำหรับการใช้โดรนในส่วนภูมิภาคนั้น จะต้องเป็นไปตามระเบียบของที่กำหนด โดยต้องการขออนุญาตใช้จะต้องเป็นโดรนของหน่วยงานราชการเท่านั้น"