เปิดที่มา "พระเมรุมาศทรงบุษบก" ที่เป็นแบบพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์เท่านั้น จากพระราชดำริของพระพุทธเจ้าหลวง !!

ประวัติ "พระเมรุมาศทรงบุษบก" ต้นแบบพระเมรุมาศ สำหรับพระมหากษัตริย์ มีที่มาจากพระราชดำริของพระพุทธเจ้าหลวง

พระเมรุมาศ

            พระเมรุมาศ และพระเมรุ คือ สถาปัตยกรรมชั่วคราว หรือสถาปัตยกรรมเฉพาะกิจที่สร้างขึ้น ณ กลางใจเมืองเป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ มีลักษณะเป็น "กุฎาคาร หรือ เรือนยอด" คือเรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม โดยในอดีตนิยมสร้างเป็นแบบ ยอดปรางค์ อาจมีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้

            พระอภิมหาเมรุมาศ เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคต ภายในพระเมรุมาศมี "พระเมรุทอง" ลักษณะของพระเมรุมาศที่ปรากฏการสร้างมี ๒ รูปแบบคือพระเมรุมาศทรงปราสาท ที่สร้างมาแต่โบราณ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และพระเมรุมาศทรงบุษบก ส่วนพระเมรุ เช่นเดียวกับพระเมรุมาศ แต่มีขนาดเล็กลง และไม่มีพระเมรุทองภายใน ใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ใช้ราชาศัพท์ว่า "ทิวงคต" หรือ "สิ้นพระชนม์"

            การออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระเมรุ ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ออกแบบจากผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร โดยมีหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงว่าพระเมรุมาศของพระองค์ใด ที่แสดงลักษณะของพระองค์นั้น ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์

รัชกาลที่ 5

           ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ลักษณะของพระเมรุมาศเป็นเพียงพระเมรุชั้นเดียว ได้ถอดเอาพระเมรใหญ่ ซึ่งเป็นพระเมรุทรงปรางค์ที่คลุมอยู่ภายนอกออกไป คงไว้เพียงพระเมรุทอง ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า พระเมรุมาศ และในสมัยนั้นประเทศไทยได้ติดต่อกับต่างประเทศ รับวัฒนธรรมจากภายนอก ทั้งชาวไทยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างให้สอดคล้องตามสมัย การสร้างพระเมรุมาศทรงปราสาท ซึ่งเป็นงานใหญ่โต ทรงเห็นว่าการสร้างแบบเดิมเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงให้มีขนาดเล็กลงและประหยัดขึ้น โดยมีพระราชดำรัสสั่งห้ามความว่า

"แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็น แล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่โตเพียงใด เปลืองทั้งแรงคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมควรกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยืนยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพของผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์อันควรจะได้เป็นเกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอนด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจว่า เพราะฉะนั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งสมควรจะได้ เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอควร ในท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป"

 

พระเมรุ ในสมัยโบราณ

(พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕)

 

            งานพระบรมศพของ รัชกาลที่ ๕ จึงไม่ได้สร้างเขาพระสุเมรุตามแบบโบราณราชประเพณี เปลี่ยนมาก่อสร้างพระเมรุมาศทรงบุษบก บนพื้นราบ ดัดแปลงอาคารปราสาทเป็นเรือนบุษบกบัลลังก์ หรือเป็นการขยายพระเมรุทอง ในปราสาทเป็นเรือนบุษบกบัลลังก์แต่เดิมให้ใหญ่ขึ้น แวดล้อมด้วยเมรุราย ๔ ทิศ ลดรูปเป็นคดซ่าง ระเบียง ทับเกษตร อย่างไรก็ตาม ยังคงสถาปัตยกรรมวิจิตรงดงาม เป็นต้นแบบพระเมรุมาศแบบใหม่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์           

 

พระเมรุมาศในอดีต

(พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)

           พระเมรุมาศทรงบุษบก ได้นำมาใช้งานพระบรมศพองค์พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ยกเว้น งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ถวายพระเพลิง ณ สุสานในประเทศอังกฤษ งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ และงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระเมรุมาศทรงบุษบก ถือเป็นแบบพระเมรุมาศสำหรับกษัตริย์เท่านั้น

 

พระเมรุมาศ สถาปัตยกรรม

(พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘)

             การสร้างพระเมรุมาศตามแบบโบราณราชประเพณีได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคต แต่การจัดสร้างพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์กินเวลายาวนานถึง ๓ ปี จากอุปสรรคในการวางแผนกำหนดระยะเวลาการก่อสร้าง ด้วยเหตุว่ากำหนดการเสด็จนิวัติพระนครของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพต้องเลื่อนไปจากการที่ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ การก่อสร้างพระเมรุมาศได้สำเร็จลงในปี พ.ศ.๒๔๙๓ และได้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้นในวันที่ ๒๘ มีนาคม ของปีนั้น หลังจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระเมรุมาศองค์นี้เป็นพระเมรุตามเสด็จ สำหรับงานพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์อีก ๔ พระองค์คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย โดยเปลี่ยนนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่ยอดพระเมรุมาศเป็นพระเศวตฉัตร ๕ ชั้น ตามพระอิสริยยศของพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ก็ได้มีการสร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงอีกครั้ง เพื่อใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระเมรุมาศองค์นี้ได้สร้างขึ้นใหม่โดยใช้แบบพระเมรุมาศทรงบุษบกจากงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเป็นพื้นฐานในการออกแบบ หลังจากนั้นการสร้างพระเมรุมาศและพระเมรุที่ท้องสนามหลวงได้ว่างเว้นไปเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ในระยะต่อมาไม่ทรงมีพระอิสริยยศสูงถึงชั้นที่จะสร้างพระเมรุกลางเมือง และได้มีการพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสทั้งสิ้น

พระเมรุมาศ ร.9

(พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙)

             สำหรับพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เป็นพระเมรุทรงบุษบก ๙ ยอด วางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร สูง ๕๕ เมตร เท่ากับตึก ๑๗ ชั้น การจัดสร้างพระเมรุมาศ ดำเนินการโดยกรมศิลปากร ถือเป็นพระเมรุมาศทรงบุษบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรอบ ๑๐๐ ปี

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจโบราณนานมา

                           https://th.wikipedia.org/wiki/พระเมรุมาศ

                           ศูนย์ข้อมูลข่าวสารงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช , คณะกรรมอนุกรรมการจัดทำจดหมายเหตุและจัดพิมพ์                                   หนังสือที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  งานพระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์  กรุงเทพฯ อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๑๘  หน้า ๒๑๑