สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เสด็จฯถึงไทยแล้วเพื่อทรงเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.๙

เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๕.๑๐ น. สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เสด็จถึงประเทศไทยเพื่อทรงเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูตร องคมนตรี ในฐานะผู้แทนพระองค์ และพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ถวายการต้อนรับที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เสด็จฯถึงไทยแล้วเพื่อทรงเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.๙

สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เสด็จฯถึงไทยแล้วเพื่อทรงเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.๙

สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เสด็จฯถึงไทยแล้วเพื่อทรงเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.๙

โดยไทยและสวีเดนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศได้ทำสนธิสัญญามิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (The Treaty of Friendship, Commerce and Navigation of 1868) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2411 และตั้งแต่ปี 2425 ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดนด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง โดยหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย อัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดนคนแรก

เมื่อปี 2487 ไทยได้เปิดสถานอัครราชทูตประจำกรุงสตอกโฮล์มขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่อมา เมื่อปี 2497 ไทยได้ปิดสถานอัครราชทูตฯ และให้อัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดน จวบจนกระทั่งปี 2502 ไทยและสวีเดนได้ยกฐานะความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต และไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อปี 2506 โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศฟินแลนด์และเอสโตเนียด้วย ต่อมา เมื่อปี 2545 ไทยได้เปิดสำนักงานการท่องเที่ยว (ททท.) ประจำกรุงสตอกโฮล์ม และได้เปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน (BOI) ณ กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552
ปัจจุบัน นายเกีตรติคุณ ชาติประเสริฐ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม นอกจากนี้ ไทยยังมีกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์และกงสุลกิตติมศักดิ์ในสวีเดน ดังนี้

1. กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงสตอกโฮล์ม คือ นางวีเวกา อักซอน ยูนซอน (Viveca Axson Johnson) และมีนางฟรานเซส บรูมอน (Frances Broman) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ (ประเทศไทยได้มีกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำประเทศ สวีเดนมาตั้งแต่ปี 2431(ค.ศ. 1888) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งนาย Axel Johnson เป็นกงสุลสยามคนแรกประจำประเทศสวีเดนเมื่อปี 2426 (ค.ศ. 1883) และหลังจากนั้นครอบครัว Johnson ได้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยต่อมาเป็นเวลา 4 ชั่วอายุคน ปัจจุบันนาง Viveca Axson Johnson ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงสตอกโฮล์มคนใหม่สืบแทนนาย Bo Axelson Johnson บิดา ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 (ค.ศ. 1997) นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายไทยยังได้แต่งตั้งนาง Frances Broman ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำกรุงสตอกโฮล์ม)

2. กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองโกเธนเบอร์ก คือ นายเคนเนท ออร์เกรน (Kenneth Orrgren)

สำหรับสวีเดน สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศ ลาว กัมพูชา พม่า และฟิลิปปินส์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ นายคลอส มูลีน (Klas Molin) นอกจากนี้ ยังมีสถานกงสุลสวีเดนประจำประเทศไทย จำนวน 3 แห่ง คือ สถานกงสุลสวีเดนประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุม 10 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และอุตรดิตถ์ มีนางศุภจี นิลอุบล ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ สถานกงสุลสวีเดนประจำเมืองพัทยา ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีนายชัชวาล ศุภชยานนท์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ และสถานกงสุลสวีเดนประจำจังหวัดภูเก็ต อยู่ระหว่างการสรรหาบุคคล

ปัจจุบัน คนไทยในสวีเดนมีจำนวนประมาณ 35,554 คน มีวัดไทย/สำนักสงฆ์ จำนวน 9 แห่ง สมาคมไทย จำนวน 24 สมาคม และมีร้านอาหารไทยจำนวนประมาณ 400 ร้าน

ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับสวีเดนเป็นไปโดยราบรื่น ทั้งสองฝ่ายได้ให้การสนับสนุนและร่วมมือกันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศด้วย ดีมาโดยตลอด รวมทั้งในกรอบความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) EU, ASEM (ซึ่งไทย ฟิลิปปินส์ และสวีเดน มีความร่วมมือในโครงการต่อต้านการลักลอบการค้าสตรีและเด็ก) รวมทั้งความสัมพันธ์ในกรอบอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU)

 

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุองสตอกโฮล์ม  กระทรวงการต่างประเทศ