เผยประวัติความเป็นมาของ”พระโกศจันทน์” ที่หลายๆคนอาจยังไม่เคยรู้

เผยประวัติความเป็นมาของ”พระโกศจันทน์” ที่หลายๆคนอาจยังไม่เคยรู้

วันนี้ผู้เขียนขอเสนอเรื่องราวของ “พระโกศจันทน์”ค่ะ ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆท่านอาจจะยังไม่ทราบความหมายแฝงของ”พระโกศจันทน์” ว่าแท้จริงแล้วมีความลึกซึ้งมากเพียงใดอย่างไรบ้าง ดังนั้นผู้เขียนจะนำท่านผู้ชมมาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของ”พระโกศจันทน์”กันอย่างใกล้ชิดแบบเกาะติดทุกเกร็ดทุกขั้นตอนกันเลยทีเดียวค่ะ

การนำ“ไม้จันทน์” มาใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรว่า สำหรับงานพระบรมศพ มีมาตั้งแต่ในอดีต เดิมทีจะนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ในการก่อสร้างพระเมรุมาศ โดยต้องชักลากมาจากป่าในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อมาสร้างเป็นส่วนต่างๆ ของพระเมรุมาศ ปัจจุบัน วัสดุหรือเทคนิคการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไป และมีวัสดุที่สามารถใช้ทดแทนวัสดุธรรมชาติ แต่ก็ยังคงมีไม้อีกประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ใช้เพื่อการก่อสร้าง นั่นคือ “ไม้จันทน์” ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีในทุกหมู่เหล่าของคนไทยอยู่แล้วว่า ไม้ชนิดนี้มีกลิ่นหอม และเป็นไม้ที่คนส่วนใหญ่ถือว่ามีค่า เพราะเชื่อว่ามีคุณค่าและหายาก จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง จึงนำมาใช้ในงานที่ต้องเชิดชูพระเกียรติยศ และในเวลาที่ถวายพระเพลิง

พระบรมโกศ หรือพระโกศ เป็นภาชนะเครื่องสูงสำหรับบรรจุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระศพของพระบรมวงศ์ รวมถึงผู้มีบรรดาศักดิ์สูงในสมัยกรุงศรีอยุธยา “มีอยู่ในบันทึกของลาลูแบร์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุว่า ชาวสยามเผาเครื่องหอมใกล้ๆ โลงศพ การเผาไม้จันทน์เช่นนี้คงเป็นลักษณะเดียวกับการจุดธูปตามพิธีศพอย่างในปัจจุบัน การใช้ไม้จันทน์เนื่องในงานพระบรมศพต่อเนื่องมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เห็นได้จากหมายรับสั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุให้เตรียมเครื่องหอมต่างๆ เชิญไปยังพระเมรุมาศ มีทั้งกฤษณา จันทน์เทศ จันทน์คนา กรักขี จากรายชื่อดังกล่าวมีไม้จันทน์รวมอยู่ด้วย”

ไม้จันทน์ที่ใช้ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชใช้ไม้จันทน์หอมจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งพบไม้จันทน์หอมมากที่สุดในประเทศไทย … ไม้จันทน์ทั้งหมดถูกใช้เพื่อสร้างพระโกศจันทน์ ท่อนฟืนไม้จันทน์ 24 ท่อน ดอกไม้จันทน์ 7 แบบ และยอดพระจิตกาธานสำหรับพระโกศจันทน์ที่สร้างขึ้นเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ลักษณะทรง 8 เหลี่ยม มีความสูง 2 เมตร 31 เซนติเมตร สามารถแยกได้เป็น 3 ชิ้นคือ องค์พระโกศ 2 ชิ้น และฝาอีก 1 ชิ้น ส่วนของฝาปิดมีปลายยอดเป็นทรงมงกุฎ ปลายยอดอีกชั้นเป็นทรงพุ่ม เติมปลายยอดอีกที 
ในส่วนของลวดลายประดับผู้ออกแบบคือ นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร โดยได้แนวคิดการออกแบบและพัฒนาลวดลายมาจากพระโกศจันทน์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระโกศจันทน์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งมีความโดดเด่นของลายที่ตื้นลึก มีมิติชัดเจน การออกแบบลวดลายพระโกศจันทน์ครั้งนี้มีความพิเศษกว่าทุกครั้ง เนื่องจากได้เพิ่มลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ตรงกลางเป็นพระครุฑ ส่วนประกอบรอบฐานรองพระโกศจันทน์ และลายบัวกลีบขนุนเทพนม ส่วนประกอบรอบพระโกศจันทน์ และยังมีลวดลายอื่นๆ อีกประมาณ 30 ลาย ได้แก่ กุดั่นดอกจอก กระจังฝา กระจังรวน ช่อไม้ไหวบัวถลา ขอบคิ้วบัวถลา อุบะ และบัวปากฐาน เป็นต้น

ส่วนประกอบสำคัญอีกชิ้นคือ “ฐานรองพระโกศจันทน์” หรือ “พระหีบจันทน์” ซึ่งมีการทำครั้งแรกเมื่อคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2539 สำหรับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการจัดสร้างฐานรองพระโกศจันทน์เช่นกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความสูง 1 เมตร 25 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร 77 เซนติเมตร มีผนัง 4 ด้าน รวมฝาตัดแบ่งครึ่งซึ่งแยกเป็น 2 ชิ้น รวมทั้งหมดสามารถแยกส่วนประกอบได้จำนวน 6 ชิ้น ลวดลายประดับรอบฐานพระโกศจันทน์ออกแบบโดย นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ใช้ลวดลายประดับ 19 แบบ ได้แก่ บัวเชิงฐานหน้า กระดานล่าง เท้านรสิงห์ นมสิงห์ บัวปากฐาน ดอกไม้ไหวปากฐาน สังเวียน ช่อก้านแย่งผนัง กระจังรวน ดอกจอกหน้ากระดานบน และช่องไม้ไหว เป็นต้น โดยมีลายสำคัญคือ ลาย พุ่มข้าวบิณฑ์ 33,000 ชิ้น

 “เมื่อประกอบทั้งพระโกศจันทน์และฐานรองหรือพระหีบจันทน์จะได้ลวดลายที่มีความหมายแฝง โดยลายบัวกลีบขนุนมีรูปเทพนมของพระโกศจันทน์เป็นเสมือนพระนารายณ์ ส่วนล่างของพระหีบจันทน์หรือฐานรองพระโกศจันทน์ที่มีลวดลายครุฑเป็นดั่งพาหนะของพระนารายณ์ หรือลายพระนารายณ์ทรงครุฑ เปรียบเทียบพระองค์เป็นเช่นพระนารายณ์ทรงอวตารลงมาเพื่อดูแลปวงชนชาวไทย”


การใช้โกศบรรจุพระศพ เป็นธรรมเนียมที่ทำกันมายาวนาน เริ่มมีหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะอันโดดเด่นของพระโกศ คือรูปทรงกระบอก ปากผาย ก้นสอบเล็กน้อย มียอดแหลม ฝาทรงกลม
ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร จะใช้รูปแบบของ พระโกศทองใหญ่ อันเป็นพระโกศที่มีลำดับชั้นยศสูงสุด สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน

ตั้งแต่อดีตพระบรมโกศ ประดิษฐ์สร้างด้วยความพิถีพิถัน โดยใช้ ไม้จันทน์หอม พันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย จุดเด่นของไม้จันทน์หอม คือ เป็นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ โตช้า จึงมีอายุยืนหลายร้อยปี ความสูง 10-20 เมตร และที่พิเศษคือเมื่อยืนต้นตาย แก่นของต้นจันทน์หอมจะมีกลิ่นอ่อนๆ ยิ่งโดนความร้อนยิ่งส่งกลิ่นหอม ด้วยเหตุนี้จึงถูกนำมาใช้ในงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ในการสร้างพระโกศ ส่วนประกอบสำคัญของพระเมรุมาศ
การคัดเลือก และจัดเตรียมไม้จันทน์เพื่อใช้จัดสร้างพระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพเหนือพระจิตกาธาน บนพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร

กระบวนการตั้งแต่เริ่มคัดเลือกไม้จันทน์หอม ซึ่งต้องเลือกต้นที่ยืนต้นตายตามธรรมชาติ มีการวัดขนาด ถ่ายรูป และทำแผนที่แต่ละจุดไว้อย่างละเอียด หลังจากนั้นทางสำนักพระราชวังได้เข้ามาคัดเลือกไม้จันทน์หอม และต่อมาจัดให้มีพิธีบวงสรวง และตัดไม้จันทน์หอมตามขั้นตอนประเพณีต้องดูอย่างละเอียดจากโคนถึงยอด ว่ามีปริมาตรไม้มากน้อยเท่าใด โดยใช้ค้อนหรือขวานเคาะดูว่าเนื้อไม้มีลักษณะโพรง หรือตัน และกิ่งสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าสมบูรณ์หมายความว่า เนื้อไม้ยังตัน นำไปใช้งานได้ แต่ถ้าโพรง นั่นหมายความว่า น้ำฝนเข้าไปในกิ่งที่โพรงจะทำให้ ไม้ผุ กลวงไม่เหมาะแก่การนำไปใช้
สำนักช่างสิบหมู่ รับไม้ต่อจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อนำไม้จันทน์ที่แปรรูปสมบูรณ์แล้วมาประดิษฐ์เป็นพระโกศ และองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ โดยแบ่งเป็นไม้แผ่น จำนวน 1,415 แผ่น และเป็นไม้ท่อนทั้งสิ้น 46 ท่อน
การออกแบบลายประกอบพระโกศจันทน์ เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ อย่าง พิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ หนึ่งในคณะช่างฉลุลาย ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการออกแบบฐานรองพระโกศจันทน์ เป็นผู้มีประสบการณ์จากการสร้างงานพระโกศจันทน์ของเจ้านายหลายพระองค์ มาในครั้งนี้ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ตั้งใจทำมากที่สุดในชีวิต

การสร้างพระโกศจันทน์ เริ่มจากการขยายแบบและนำเหล็กเส้นมาผูกเป็นโครง แล้วปิดโครงทั้งหมดด้วยตาข่ายลวด  ส่วนไม้จันทน์นำไปตัดเป็นท่อนๆ และซอยเป็นแผ่น จนได้ขนาดตามที่ต้องการ จากนั้นนำไปฉลุลายซ้อนไม้เป็นลวดลายต่างๆ ที่สื่อความหมายตามศิลปะไทยอันลึกซึ้ง และนำลายไม้จันทน์ที่ได้มาผูกเข้ากับตะแกรงลวดโดยรอบ จัดวางโดยเน้นความสวยงามเป็นหลัก ให้ดูมีการเคลื่อนไหว และน้ำหนัก สุดท้ายนำแผ่นไม้จันทน์แต่ละแผ่นที่ฉลุอย่างงดงามบรรจงประกอบขึ้นจนครบถ้วนตามแบบสมบูรณ์
ลายละเอียดของ หีบพระบรมศพจันทน์ นั้นจะใช้ลวดลายประกอบ 24 รูปแบบ ประดับลายซ้อนไม้ประมาณ 30,000 ชิ้น ใช้ลายเครือเถาครุฑ จำนวน 132 องค์ในการประดับตกแต่ง
ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ใช้ลายเครือเถาครุฑในการประดับจำนวนมาก ก็เพื่อให้หีบพระบรมศพออกมาสมพระเกียรติมากที่สุด
ส่วนพระโกศจันทน์ ใช้ลวดลาย 46 รูปแบบ ประดับลายซ้อนไม้ราว 10,000 ชิ้น ใช้ลายเทพพนมเป็นลายหลัก ทั้งหมด 64 องค์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการอัญเชิญพระโกศขึ้นเทินบนหีบพระบรมศพจันทน์ เปรียบเสมือนพระนารายณ์อวตารลงมา โดยใช้ครุฑเป็นพาหนะในการส่งเสด็จ
ไม้จันทน์ส่วนหนึ่ง ยังนำมาแปรรูปและสร้างสรรค์เป็น ท่อนฟืนไม้จันทน์ เพื่อใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยจัดวางซ้อนกันบนพระจิตกาธานใต้พระโกศจันทน์ มีทั้งสิ้น 24 ท่อน ขนาดกว้าง 2 นิ้ว ยาว 60 เซนติเมตร ใช้ศิลปะลายรดน้ำ ลวดลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ถือเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง โดยกระบวนการเริ่มจากวาดลวดลายหรือภาพรวมไปถึงภาพประกอบลายต่าง ๆ ที่ปิดด้วยทองคำเปลวบนพื้นรัก จนถึงขั้นตอน
สุดท้าย คือการเอาน้ำรดจนเกิดเป็นลวดลายงดงามเป็นเอกลักษณ์
เมื่อไม้จันทน์หอมสัมผัสกับเปลวไฟ กลิ่นหอมอบอวนย่อมฟุ้งขจรขจาย
ไม่เสื่อมคลายไม่โรยรา เสมือนดั่งพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่จะยังคงสถิตย์และตราตรึงอยู่ในดวงใจของพสกนิกรไทยไปชั่วนิรันดร์

เผยประวัติความเป็นมาของ”พระโกศจันทน์” ที่หลายๆคนอาจยังไม่เคยรู้

 

เผยประวัติความเป็นมาของ”พระโกศจันทน์” ที่หลายๆคนอาจยังไม่เคยรู้

 

เผยประวัติความเป็นมาของ”พระโกศจันทน์” ที่หลายๆคนอาจยังไม่เคยรู้

 

เผยประวัติความเป็นมาของ”พระโกศจันทน์” ที่หลายๆคนอาจยังไม่เคยรู้

 

เผยประวัติความเป็นมาของ”พระโกศจันทน์” ที่หลายๆคนอาจยังไม่เคยรู้

 

เผยประวัติความเป็นมาของ”พระโกศจันทน์” ที่หลายๆคนอาจยังไม่เคยรู้

 

เผยประวัติความเป็นมาของ”พระโกศจันทน์” ที่หลายๆคนอาจยังไม่เคยรู้

 

ขอขอบคุณท่านผู้เป็นเจ้าของเครดิตภาพที่ผู้เขียนได้นำมาจาก (อินเตอร์เน็ต)เพื่อใช้ในการแสดงประกอบเนื้อหาสาระข้อมูลนี้ค่ะ..และขอขอบคุณที่มาของภาพและข้อมูลจาก:หนังสือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” บท “พระเมรุมาศบุษบกประธาน (ชั้นชาลาที่ 4) โดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี
และข้อมูล(บางส่วนจาก) อินเตอร์เน็ต ค่ะ
เรียบเรียงโดย:โชติกา พิรักษา และ ศศิภา ศรีจันทร์ ตันสิทธิ์