รำลึก 2 มี.ค.2477 รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ อ่านลายพระราชหัตถ์ พาดพิงคณะราษฏร

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ความไม่ลงตัวระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับคณะผู้ก่อการก็มีขึ้นเรื่อยมา แม้คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองจะยังคงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ แต่สุดท้ายก็เกิดความหวาดระแวงระหว่างกัน 

และด้วย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์นัก ซึ่งเมื่อทรงประชวรก็ต้องเดินทางไปทำการรักษาอยู่ในต่างประเทศบ่อยครั้ง กระทั่งในระหว่างเสด็จไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อทำการผ่าตัดพระเนตร จากนั้นวันที่ 2 มีนาคม 2477  จึงมีลายพระราชหัตถ์มาถึงรัฐบาล เรียกว่า การสละราชสมบัติ ดังนี้

บ้านโนล แครนลี ประเทศอังกฤษ
 

 

“เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหาร ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯ และพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลายซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่าง ๆ อันจะเปนผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้ว และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เปนไปตามรูปแบบนั้น โดยมิได้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้ว และเมื่อมีผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เปนอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ 

ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเปนไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้ แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง และจากรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับจะพึงเห็นได้ว่าอำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่าง ๆ นั้น จะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเปนพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือก เช่น ในฉบับชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ จะไม่ให้เปนผู้แทนราษฎรเลย ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ตามคำร้องขอของข้าพเจ้าแต่ให้มีสมาชิกซึ่งตนเองเป็นผู้เลือกเอง เข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่ง๑ การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดเปนพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอกแต่ฉะเพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ นอกจานี้คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่นแปลงโครงการณ์เศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงเกิดแตกร้าวขึ้นกันเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยคำแนะนำของรัฐบาลซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้เปนเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯ กับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ ๒ และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เปนไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง
         
เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริงและประชาชนไม่ได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่าง ๆ จึงเป็นเหตุให้มีการกบฎขึ้น ถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย 

         
เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้เข้ารูปประชาธิปตัยอันแท้จริงเพื่อให้เปนที่พอใจแก่ประชาชน คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุ่มอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ ก็ไม่ยินยอม ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายอันสำคัญ มีผลได้เสียแก่พลเมืองรัฐบาลก็ไม่ยินยอม และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่นเรื่องคำร้องขอต่าง ๆของข้าพเจ้า สมาชิกก็มิได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้และละเอียดละออเสียก่อน เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วนภายในวาระประชุมเดียว นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคลซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุตติธรรมของโลก คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผยซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ ในเมื่ออำนาจอันสิทธิขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้าเองและข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกวิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม 

         
ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุตติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ 

        
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร 

        
บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เปนผลสำเหร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความคุ้มครองให้แก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เปนต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเปนของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เปนพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเปนของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ 

         
อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะบ่งนามผู้ใดผู้หนึ่ง ให้เปนผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไปตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ 
 

 

อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้าถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เปนไปโดยความยินยอมเห็นชอบ หรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า 

         
ข้าพเจ้ามีความเสียใจเปนอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อ กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอให้ประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขความสบาย

รำลึก 2 มี.ค.2477 รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ อ่านลายพระราชหัตถ์ พาดพิงคณะราษฏร

รำลึก 2 มี.ค.2477 รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ อ่านลายพระราชหัตถ์ พาดพิงคณะราษฏร

รำลึก 2 มี.ค.2477 รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ อ่านลายพระราชหัตถ์ พาดพิงคณะราษฏร