เปิดที่มา คำถวายพระพรใหม่ สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่9  นาถปรมราชินี อ่านอย่างไร แปลว่าอะไร?

คำถวายพระพรแบบใหม่ สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 9

เป็นปีแรกและครั้งแรกกับคำถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อสำนักงานราชบัณฑิตยสภา สอบถามไปยังจากกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งผู้ให้คำอธิบายก็คือ คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ ตำแหน่งประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ระดับ 9 กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9

 

โดยตามที่เคยใช้คำว่า “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี” เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ให้มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน มาโดยตลอดนั้น ในปัจจุบันเพื่อความเหมาะสม กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เห็นว่าหากประสงค์จะถวายพระพรชัยมงคลเป็นภาษาบาลี ควรใช้ว่า “ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี

 

 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชินี

 

สำหรับคำว่า “นาถปรมราชินี” (อ่านว่า นา-ถะ-ปะ-ระ-มะ-รา-ชิ-นี) นั้น คุณหญิงอุไรวรรณ  ได้ขอความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาบาลีโดยพระภิกษุ และอาจารย์ผู้สอนภาษาบาลีแล้วเห็นว่า คำที่เหมาะสมที่จะใช้ต่อท้ายคำว่า “ทีฆายุกา โหตุ” แทนคำว่า “มหาราชินี” ควรใช้คำว่า “นาถปรมราชินี” เพื่อให้หมายถึง “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ” และกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เห็นพ้องด้วยว่าควรใช้ว่า “ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี” ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการจัดทำคำถวายพระพร

 

พระราชินีในรัชกาลที่ 9

 

       ทั้งนี้ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ เคยอธิบายถึง คำว่า ทีฆายุโก เป็นภาษาบาลี ใช้ ท แปลว่า มีอายุยืน เมื่อรวมข้อความที่ว่า ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ตามตัวอักษรก็แปลว่า ขอพระมหาราชาจงทรงมีพระชนมายุยั่งยืนนาน แปลอย่างรวบรัดว่า ขอจงทรงพระเจริญ ที่ใช้ว่า ทีฆายุโก สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ทีฆายุกา สำหรับพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้น เป็นการเปลี่ยนรูปตามไวยากรณ์ เพราะคำว่า มหาราชา เป็น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย จึงต้องใช้ ทีฆายุโก ส่วน มหาราชินี เป็น อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง จึงใช้ ทีฆายุกา

 

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

 

 

ประกาศจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

 

        ขณะที่ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร  เกี่ยวกับคำว่า  นาถ(มค. นาถ) น. ที่พึ่ง, ผู้เป็นที่พึ่ง เช่นเดียวกับความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ให้ความหมาย

นาถ  [นาด นาถะ] (แบบ) น. ที่พึ่ง ผู้เป็นที่พึ่ง. (ป. ส.)

 

       นอกจากนี้ ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร สำหรับ ปรม[ปะ-ระ-มะ, ปอ-ระ-มะ] (มค. ปรม) ว. แปลว่า อย่างยิ่ง (ใช้นำหน้าคำอื่นโดยมาก) ซึ่งก็ตรงกับฉบับความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน

ปรม  [ปะระมะ- ปอระมะ-] ว. อย่างยิ่ง (ใช้นําหน้าคําอื่นโดยมาก)

 

ฉะนั้น นาถปรม จึงมีความหมาย ผู้เป็นที่พึ่งอย่างยิ่ง และ นาถปรมราชินี จึงให้ความหมายว่า ราชินีผู้เป็นที่พึ่งอย่างยิ่ง  นั่นคือ สมเด็จพระราชินี ผู้เป็นที่พึ่งของเหล่าพสกนิกร กล่าวอย่างภาษาชาวบ้านก็คือ แม่ของแผ่นดินผู้เป็นที่พึ่งของลูกๆชาวไทยนั่นเอง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-ในหลวงร.10 เสด็จออกพร้อมด้วย สมเด็จพระราชินีใน ร.9 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12ส.ค.61

-ครั้งสมเด็จพระราชินี ทรงห่วงพระสงฆ์ภาคใต้เหลือน้อย เปิดสถิติภิกษุถูกทำร้ายทั้งระเบิด ยิง ฟัน

 

ตราสัญลักษณ์