ก้าวย่าง!! "พรบ.กีฬาอาชีพ" เครื่องมือคุ้มครองบุคลากรกีฬา

ติดตามข่างสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tnews.co.th

ปัจจุบันการแข่งขันกีฬาอาชีพถือเป็นนวตกรรมกีฬาที่สร้างมูลค่ามหาศาลเพราะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่นักกีฬา, บุคลากรกีฬา และผู้เกี่ยวข้อง จนถูกพัฒนากลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บนเวทีโลกที่ทุกชาติหันมาให้ความสนใจกันอย่างเต็มตัว ประเทศไทยก็เช่นกัน กีฬาอาชีพ ถูกส่งเสริมผลักดันจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจนกีฬาอาชีพของเมืองไทยก้าวมาอยู่ในจุดที่แข็งแกร่งพอที่จะสร้างรายได้อย่างมั่นคงให้กับบรรดานักกีฬา และบุคลากรกีฬาในทุกองคาพยพ


ไทยยังถือเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ริเริ่มจัดทำ "พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556" ขึ้นโดยมีการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นนายทะเบียน
พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 130 ตอนที่ 118 ก. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันวาเลนไทน์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 เป็นต้นมา


วัตถุประสงค์หลักในการจัดทำ พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 เพื่อเป็นกฎหมายที่จะส่งเสริมกีฬาอาชีพของประเทศไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ และกำหนดมาตรการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนานักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพ และผู้เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ เนื่องจากเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมกีฬาอาชีพของเมืองไทยกำลังเติบโตไปอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่มีกฎหมายในการคุ้มครองทุกองคาพยพดังกล่าว

ที่มาที่ไปของการริเริ่มผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 นั้น ทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพ และกีฬามวย เล่าให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2548 กกท.เริ่มมีแนวคิดตั้งฝ่ายกีฬาอาชีพขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนดำเนินการจัดการกีฬาอาชีพของเมืองไทย และจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่จะเข้ามาพัฒนา ส่งเสริม คุ้มครองบรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้แก่ สมาคม สโมสร นักกีฬา บุคลากรทั้งหมด ซึ่งเครื่องมือที่ดีที่สุดคือ กฎหมาย เราก็เลยเริ่มเก็บข้อมูล ยกร่างขึ้นมาจนได้ข้อมูลชั้นต้นนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม.เห็นชอบในหลักการ และส่งต่อให้กฤษฎีกาเพื่อดูรายละเอียด กระทั่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

 

ก้าวย่าง!! "พรบ.กีฬาอาชีพ" เครื่องมือคุ้มครองบุคลากรกีฬา


ทนุเกียรติ จันทร์ชุม เล่าให้ฟังต่อไปว่า เนื้อหาในพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 จะกำหนดขอบเขตหน้าที่ของบุคลากรกีฬาทุกส่วนไว้เป็นข้อๆ เป็นหมวดหมู่เหมือนกฎหมายทั่วไป ซึ่งบุคลากรกีฬาอาชีพดังกล่าวจำเป็นต้องปฏิบัติตามโดยละเมิดมิได้เป็นอันขาดเพราะหากละเมิดก็จะมีมาตรการให้สิทธินายทะเบียนหรือเจ้าพนักงานรัฐดำเนินการลงโทษได้ตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ มาตรการคุ้มครองสำหรับพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ไม่ใช่แค่คุ้มครอง


นักกีฬา แต่หมายรวมถึงทุกส่วน ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ หากมีการพบว่าเข้าข่ายละเมิด หรือมีผู้ร้องแจ้งความที่สถานีตำรวจใดก็จะพิจารณาไปตามกระบวนการขั้นตอนโดยยึดพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ซึ่งโทษที่กำหนดไว้มีตั้งแต่การปรับเงินหลักหมื่น หลักแสน ไปจนถึงจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเชื่อว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวจะช่วยยกระดับกีฬาอาชีพของเมืองไทยให้มีความโปร่งใส แข่งขันกันแบบนักกีฬา ไม่มีการล็อกผลใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีของวงการกีฬาไทยต่อสายตาชาวโลก


รูปแบบการบริหารจัดการกีฬาอาชีพของเมืองไทย จะมีคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ซึ่งจะมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานโดยตำแหน่ง โดยมีผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นเลขานุการบอร์ด กีฬาอาชีพ ซึ่งบอร์ด กีฬาอาชีพดังกล่าว จะเป็นผู้กำหนดทิศทาง นโยบายดำเนินการ โดยที่มี กกท. เป็นหน่วยธุรการเพื่อทำงานตามนโยบาย

ในปี 2560 กกท. ได้ประกาศรับรอง 13 ชนิดกีฬาเดิมเพื่อรับงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาไปสู่อาชีพ จำนวน 40 รายการ จำแนกเป็น ฟุตบอล 6 รายการ, กอล์ฟ 11 รายการ, เจ็ตสกี 2 รายการ, วอลเลย์บอล 4 รายการ, ตะกร้อ 2 รายการ, โบว์ลิ่ง 1 รายการ, แข่งรถจักรยานยนต์ 3 รายการ, จักรยาน 2 รายการ, แข่งรถยนต์ 4 รายการ, สนุกเกอร์ 1 รายการ, เทนนิส 2 รายการ และบาสเกตบอล 1 รายการ


ซึ่งจากการประเมินตามหลักเกณฑ์ในการอุดหนุนของปี 2559 ที่ผ่านมานั้น กีฬาประเภททีมที่ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม 13 กีฬาอาชีพแน่นอนว่า ฟุตบอลมาเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 คือ วอลเลย์บอล รองลงมาอันดับ 3 คือ บาสเกตบอล


ส่วนกีฬาบุคคล อันดับ 1 คือ กอล์ฟ อันดับ 2 คือ แบดมินตัน อันดับ 3 คือ เทนนิส อันดับ 4 สนุ้กเกอร์ และอันดับ 5 คือ จักรยาน
นี่เป็นภาพกว้างพัฒนาการกีฬาอาชีพของเมืองไทย ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ จนก้าวมามี "พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556" ประเทศแรกในเอเชีย...