ศึกษาบทลงโทษ  พ.ร.บ. กีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556

ติดตามรายละเอียด http:www.tnews.co.th

 

          หลังจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ผลักดันให้พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 130 ตอนที่ 118 ก. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันวาเลนไทน์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 เป็นต้นมานั้น

          พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกขับเคลื่อนวงการกีฬาของเมืองไทยในยุทธศาสตร์กีฬาอาชีพ

พรบ.กีฬาอาชีพดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองบุคลากรกีฬาในทุกองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร เจ้าของสโมสร / ทีม นักกีฬา สต๊าฟโค้ช เจ้าหน้าที่ทีมอื่นๆ รวมถึงผู้ตัดสิน ให้ทำหน้าที่ไปตามครรลองอย่างถูกต้องโดยไม่มีการละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน

ในทางตรงกันข้าม พรบ.กีฬาอาชีพ ยังเป็นเครื่องมือในการป้องกัน และปรามไม่ให้เกิดการทุจริต หรือกระทำผิดจนนำไปสู่หายนะในวงการกีฬาอาชีพ โดยจะให้สิทธิเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่นายทะเบียน พรบ.กีฬาอาชีพ คือ เจ้าหน้าที่ กกท. ในการดำเนินการเอาผิดตามบทลงโทษที่ระบุไว้ทั้งโทษทางปกครอง และโทษทางอาญา

          บทกำหนดโทษที่ระบุไว้ใน พรบ.กีฬาอาชีพ จะอยู่ในหมวดที่ 8 หน้า 15 จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 โทษทางปกครอง จะแบ่งออกเป็น 6 มาตราดังต่อไปนี้

มาตรา 58 สโมสรกีฬาอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพใดไม่จดแจ้งการดำเนินการตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง หรือไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดข้อมูล หรือรายการหลักฐานที่ได้เคยยื่นขอจดแจ้งไว้แล้วตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

มาตรา 59 สโมสรกีฬาอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพใดไม่จัดทำสัญญาจ้างหรือความตกลงร่วมกันเป็นหนังสือ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการจ้างที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา 60 สโมสรกีฬาอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 มาตรา 23 หรือมาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา 61 สโมสรกีฬาอาชีพและสมาคมกีฬาอาชีพใดไม่ดูแลนักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพ และบรรดากองเชียร์ หรือผู้เข้าชมการแข่งขันซึ่งนิยมชมชอบนักกีฬาอาชีพ หรือทีมของตนที่อยู่ภายในบริเวณสถานที่จัดการแข่งขันให้อยู่ในความเรียบร้อยตามมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา 62 ผู้จัดการแข่งขันกีฬาอาชีพใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 ต้องระวางโทษปรับทางปกครองวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

                                        ศึกษาบทลงโทษ  พ.ร.บ. กีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556

มาตรา 63 การกำหนดโทษปรับทางปกครองในส่วนนี้ และการพิจารณาลงโทษทางปกครองให้คณะกรรมการคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติการณ์แห่งการกระทำความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

ส่วนที่ 2 โทษทางอาญา จะอยู่ในหมวดที่ 8 มีอยู่ 5 มาตรา ดังต่อไปนี้

มาตรา 64 ผู้ใดให้ หรือขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่นักกีฬาอาชีพหรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้นักกีฬาอาชีพกระทำการล้มกีฬา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 65 ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเพื่อให้มีการกระทำการล้มกีฬา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 66 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ตัดสินหรือผู้อื่นเพื่อจูงใจให้ผู้ตัดสินทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบ หรือกติกาการแข่งขัน หรือทำหน้าที่ตัดสินอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 67 ผู้ตัดสินใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกาการแข่งขันหรือทำหน้าที่ตัดสินอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 68 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) ไม่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐานหรือสิ่งอื่นใดตามคำสั่งของคณะกรรมการ (2) ขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่

          นี่คือบทลงโทษใน พรบ.กีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ที่บุคลากรกีฬาในทุกองคาพยพต้องศึกษารายละเอียดไว้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งช่วยกันขับเคลื่อนกีฬาอาชีพของเมืองไทย...