ผ่าแผนพัฒนา 13 กีฬาอาชีพ แนวทางยกระดับสู่ความยั่งยืน

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th

ผ่าแผนพัฒนา 13 กีฬาอาชีพ แนวทางยกระดับสู่ความยั่งยืน ผ่าแผนพัฒนา 13 กีฬาอาชีพ แนวทางยกระดับสู่ความยั่งยืน

 

พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพได้ประกาศใช้เมื่อปี 2556 ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ คุ้มครอง และพัฒนานักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพในช่วงที่กีฬาอาชีพของไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 74 มาตรา และดูแลกลุ่มบุคคล 5 กลุ่ม ทั้งนักกีฬา, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ, สโมสรกีฬาอาชีพ, สมาคมกีฬาอาชีพ และผู้จัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ ปี 2560 การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และคณะกรรมการกีฬาอาชีพได้ประกาศรับรอง 13 ชนิดกีฬา 40 รายการ เป็นชนิดกีฬาอาชีพ ประกอบด้วย ฟุตบอล 6 รายการ, กอล์ฟ 11 รายการ, เจ็ตสกี 2 รายการ, วอลเลย์บอล 4 รายการ, ตะกร้อ 2 รายการ, โบว์ลิ่ง 1 รายการ, แข่งรถจักรยานยนต์ 3 รายการ, จักรยาน 2 รายการ, แข่งรถยนต์ 4 รายการ, สนุกเกอร์ 1 รายการ, เทนนิส 2 รายการ และบาสเกตบอล 1 รายการ เพื่อรับงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาไปสู่อาชีพ

ปีงบประมาณ 2560 ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย กกท. ได้รับงบประมาณ 230 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าปี 2559 ถึง 132,490,519 ล้านบาท โดยจะต้องนำงบประมาณในส่วนนี้มาสนับสนุน 13 ชนิดกีฬาอาชีพ 40 รายการตามที่แต่ละชนิดกีฬาเสนอของบประมาณสนับสนุนเข้ามา ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนที่มีเพียง 11 ชนิดกีฬาอาชีพ 30 รายการเท่านั้น

 

จากการประเมินตามหลักเกณฑ์ในการอุดหนุนชนิดกีฬาอาชีพของปี 2559 ที่ผ่านมานั้น ชนิดกีฬาอาชีพประเภททีมที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 จะเป็นกีฬามหาชนอย่างฟุตบอล ขณะที่อันดับ 2 วอลเลย์บอล และอันดับ 3 บาสเกตบอล ส่วนชนิดกีฬาบุคคลที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 กอล์ฟ อันดับ 2 แบดมินตัน อันดับ 3 เทนนิส อันดับ 4 สนุกเกอร์ และอันดับ 5 จักรยาน

แน่นอนว่าปี 2560 ฟุตบอลเป็นชนิดกีฬาอาชีพที่เสนอของบประมาณสนับสนุนมากที่สุด โดยสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการแข่งขันฟุตบอลลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 เดิม หรือ ไทยลีก 4 ประจำปี 2559 และปี 2560 รวมทั้งสิ้น 46 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น ปี 2559 เงินรางวัล 7 ล้านบาท ผู้ตัดสิน 12 ล้านบาท ปี 2560 เงินผู้ตัดสิน 17 ล้านบาท และค่าถ่ายทอดสด 10 ล้านบาท แต่ปี 2561 จะยุติให้การสนับสนุนเงินผู้ตัดสิน  นอกจากนี้ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยังขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ลีกคัพ 6.2 ล้านบาท, ฟุตซอลไทยแลนด์ลีก 4.82 ล้านบาท และโครงการฟุตบอลลีกเยาวชน 60 ล้านบาท ทำให้รวมทั้งสิ้นแล้ว ฟุตบอลขอรับการสนับสนุนงบประมาณมากที่สุดถึง 117.02 ล้านบาท ขณะที่ชนิดกีฬาอาชีพอื่นต่างขอสนับสนุนงบประมาณเข้ามาไล่เรียงกันไป ประกอบด้วย กอล์ฟอาชีพชาย 12 ล้านบาท, กอล์ฟอาชีพหญิง 3 ล้านบาท, เจ็ตสกี 7 ล้านบาท, วอลเลย์บอล 2 ล้านบาท, จักรยานยนต์ 13 ล้านบาท, รถยนต์ 8 ล้านบาท และบาสเกตบอล 5 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งหมดแล้วจะมีตัวเลขอยู่ที่ 167,020,000 บาท

คณะกรรมการกีฬาอาชีพจะเป็นส่วนที่คอยกำหนดนโยบายควบคุมดูแลทั้ง 13 ชนิดกีฬาอาชีพ และจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้แต่ละชนิดกีฬาไปตามความเหมาะสม ซึ่งแผนการพัฒนา และงบประมาณนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้แต่ละชนิดกีฬาอาชีพมีการยกระดับพัฒนาขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

แผนการพัฒนา 13 ชนิดกีฬาอาชีพนั้น ไม่ใช่เพียงการเทงบประมาณอุดหนุนลงไปในแต่ละชนิดกีฬาเท่านั้น แต่ในทุกๆ ปีทาง กกท.จะมีหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานของกีฬาอาชีพ แบ่งออกเป็น 3 หลักเกณฑ์ คือ 1.การบริการจัดการองค์กรกีฬาอาชีพ 2.การพัฒนานักกีฬาอาชีพ และบุคลากรกีฬาอาชีพ และ 3.การจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ

ทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผอ.ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย กกท. ระบุว่า คณะกรรมการกีฬาอาชีพจะคอยกำหนดนโยบายการพัฒนา และบวกกับต้องดำเนินการตามกฎหมายคือ พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพที่จะกำหนดทิศทาง และกรอบการทำงานของคณะกรรมการในการช่วยเหลือกีฬาอาชีพภายใต้กรอบของกฎหมาย ส่วนงบสนับสนุนของแต่ละชนิดกีฬานั้นก็จะขึ้นอยู่กับคำขอที่ทำแผนเสนอเข้ามา คณะกรรมการก็ทำงานภายใต้อำนาจหน้าที่ และงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งแต่ละชนิดกีฬาอาจจะไม่ได้งบทั้งหมดตามที่ขอเข้ามาก็ได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

หลังจากพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพมีผลบังคับใช้ราว 3 ปี ทำให้ได้เริ่มเห็นว่า กีฬาอาชีพต่างๆ เริ่มตื่นตัว และพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับ ซึ่งผ่านไปเพียงแค่ 3 ปีมีการก้าวกระโดดมาถึงจุดนี้ได้ก็ถือว่าน่าพอใจ

แน่นอนว่าการพัฒนาคงจะไม่หยุดเพียงเท่านี้...

อนาคตคงจะได้เห็นหลากหลายชนิดกีฬาอาชีพได้กระแสตอบรับที่ดียิ่งขึ้น...