เสียงสะท้อน‘ลูกยางลีกอาชีพไทย’ สู่มิติใหม่พัฒนาไปสู่มาตรฐานโลก

ติดตามเพิ่มเติม www.tnews.co.th

       การแข่งขันวอลเลย์บอลลีกอาชีพของไทยเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2549 จวบจนถึงในปีนี้จัดการแข่งขันเข้าสู่ครั้งที่ 14 ซึ่งก็ได้มีการพัฒนามาตรฐานของการแข่งขันขึ้นมาตามลำดับจากเสียงสะท้อนต่างๆ วอลเลย์บอลถือเป็น 1 ใน 13 ชนิดกีฬาอาชีพที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นว่าเป็นข้อกฏหมายสำคัญของภาครัฐในการช่วยส่งเสริมให้กีฬาแต่ละชนิดมีความเป็นอาชีพอย่างมั่นคง และยั่งยืน

      พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ส่งเสริมวอลเลย์บอลอาชีพ จำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย วอลเลย์บอลชายไทยแลนด์ลีก, วอลเลย์บอลหญิงไทยแลนด์ลีก, วอลเลย์บอล ซุปเปอร์ลีก ชาย-หญิง และวอลเลย์บอลชายหาดหญิง เอฟไอวีบี บีช วอลเลย์บอล เวิลด์ ทัวร์ ไทยแลนด์ โอเพ่น

เสียงสะท้อน‘ลูกยางลีกอาชีพไทย’ สู่มิติใหม่พัฒนาไปสู่มาตรฐานโลก

       แต่สำหรับรายการที่ได้รับกระความนิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ศึกวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก ทั้งทีมชายและหญิง ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับตามเสียงสะท้อนต่างๆ จนช่วยสร้างกระแสความนิยมต่อยอดไปสู่การเป็นกีฬาอาชีพ

     นายธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม อุปนายกฝ่ายกีฬาอาชีพ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ ร่วมมือกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการแข่งขันวอลเลย์บอลลีกสูงสุดของประเทศในตลอด 4 ปีข้างหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2562-2565 เพื่อพัฒนาไปสู่กีฬาอาชีพอย่างแท้จริง

 

เสียงสะท้อน‘ลูกยางลีกอาชีพไทย’ สู่มิติใหม่พัฒนาไปสู่มาตรฐานโลก

“สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ มีความจริงใจที่จะพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลของประเทศทุกระดับให้มีมาตรฐาน และมีฐานแฟนคลับมากยิ่งขึ้น การร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้นักกีฬาวอลเลย์บอลอาชีพ และสโมสรกีฬาวอลเลย์บอลอาชีพสามารถพัฒนาโดยใช้ลีกภายในประเทศให้เป็นอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายธิติ กล่าว

 

ในปีนี้สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ เข้ามาดูแลวอลเลย์บอลลีกอาชีพเองเต็มตัว ร่วมกับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ที่มี พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ เป็นเครื่องมือการส่งเสริม บวกกับการจับมือกับภาคเอกชนอย่างกลุ่มทรู ทำให้ปีนี้ศึกลูกยางอาชีพลีกไทยมีความน่าสนใจอย่างมาก

 

การจัดการแข่งขันปีนี้จะคัดเลือกทีมอันดับ 1 ถึง 4  มาแข่งขันในรอบ 4 ทีมสุดท้าย เพื่อเฟ้นหาหนึ่งทีมชนะเลิศในฤดูกาลนี้ ซึ่งหวังว่าจะได้รับความสนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดกระแสการเล่นกีฬาวอลเลย์บอลอย่างแพร่หลาย และทำให้เกิดผู้เล่นดาวรุ่งที่มีโอกาสพัฒนาขึ้นมาเป็นนักกีฬาทีมชาติ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต

 

การแข่งขันครั้งนี้มีการเพิ่มระบบวิดีโอ ชาลเลนจ์ แบบนานาชาติ เข้ามาใช้อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้แฟนๆ สามารถติดตามผลการแข่งขัน ข้อมูลสถิติ ความสามารถของนักกีฬา ได้แบบ "Real Time" อาทิ ช็อตเด็ดของนักกีฬา หรือ สุดยอดช็อตตบ ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งต่อให้แก่แฟนกีฬาผ่านเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อลีกนี้โดยเฉพาะ

 

อีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่ผ่านก็คือเรื่องโควต้านักกีฬาทีมชาติ ซึ่งในฤดูกาลนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยแต่ละทีมสามารถมีได้ไม่เกิน 3 คน และลงสนามพร้อมกันได้ทั้ง 3 คน จากเดิมมีได้ 3 คน แต่ลงสนามได้ 2 คน ส่วนโควตา นักกีฬาต่างชาติ ยังมีได้ทีมละไม่เกิน 2 คนเช่นเดิม

ขณะที่เรื่องรางวัลสำหรับการแข่งขันที่ทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลถึง 2 ล้านบาทเลยทีเดียว พร้อมยังได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันในวอลเลย์บอลสโมสร ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ในปี 2019 อีกด้วย


เสียงสะท้อน‘ลูกยางลีกอาชีพไทย’ สู่มิติใหม่พัฒนาไปสู่มาตรฐานโลก

ปิดท้ายที่อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้วงการลูกยางลีกอาชีพไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งก็คือ การที่นักตบลูกยางสาวซุปเปอร์สตาร์ไทยคืนกลับมาเล่นให้กับสโมสรในไทยอีกครั้ง โดย “ซาร่า” นุศรา ต้อมคำ มือเซตยอดเยี่ยมของโลก ที่กลับมาเล่นให้กับทีมนครราชสีมา เดอะมอลล์ วีซี พร้อมกับลั่นขอพาทีมทวงแชมป์ให้ได้

นับเป็นมิติใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการวอลเลย์บอลลีกอาชีพไทย ซึ่งจากเสียงสะท้อนในอดีตต่างๆ ที่ผ่านมา ทำให้สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ วางแผนยกระดับให้การแข่งขันมีแรงดึงดูดมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างกระแสความนิยมต่อเนื่องยิ่งขึ้นไปอีก

 

จากเสียงสะท้อนในอดีตที่ผ่านมาทำให้วอลเลย์บอลลีกอาชีพไทยพัฒนาไปสู่การเป็นกีฬาอาชีพอย่างเต็มตัว และด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนจะช่วยทำให้ลีกลูกยางอาชีพไทยยกระดับมาตรฐาน

เพื่อเป้าหมายสำคัญก็คือ การช่วยให้ทีมวอลเลย์บอลทีมชาติไทยคว้าโควต้าไปโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ให้ได้!